ตามรอย 4 เส้นทางชิงบัลลังก์ของ “บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์” (Bonnie Prince Charlie) เจ้าชายรัชทายาทราชวงศ์สจ๊วตแห่งสกอตแลนด์ ผู้นำกองกบฏจาโคไบท์
ปฎิบัติการระทึกขวัญของเจ้าชายชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต (Charles Edward Stuart) หรือที่ชาวโลกเรียกขานว่า บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ ในการกอบกู้บัลลังก์อังกฤษให้ราชสกุลสจ๊วตแห่งสกอตแลนด์ ซึ่งกลายเป็นศึกสายเลือดที่โด่งดังไกลระดับโลก และเป็นต้นกำเนิดซีรีส์ “เอาท์แลนเดอร์”
บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ เจ้าชายวัยเบญจเพสได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังไฮแลนด์ ดินแดนที่ราบสูงทางทิศตะวันตกของสกอตแลนด์ เพื่อรวบรวมกองกำลังจาโคไบท์ ซึ่งเป็นชาวไฮแลนเดอร์ที่สวามิศักดิ์ต่อราชวงศ์สจ๊วต โดยมีเป้าหมายช่วงชิงราชบัลลังก์อังกฤษ เหตุการณ์กบฏครั้งนี้ เรียกว่า “เดอะฟอร์ตี้-ไฟว์” (The Forty-Five เรียกสั้น ๆ ว่า the ‘45) หมายถึงปี ค.ศ.1745 (พ.ศ. 2228) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง (ออเจ้าแฟนละครพรหมลิขิตคงจำสมเด็จพระอนุชาของขุนหลวงท้ายสระได้)
บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ เจ้าชายรูปงามราวกับเทพบุตรโรมัน อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก ทั้งนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี บทความ เพลง ตำนาน ฯลฯ โดยเฉพาะวีรกรรมสุดทึ่งของเจ้าชาย ไม่ว่าจะเป็นการซ่องสุมกำลังพลก่อกบฏจาโคไบท์ โดยมีวาทศิลป์อันชาญฉลาดในการหว่านล้อมให้นักรบชาวไฮแลนเดอร์ยินดีพลีชีพต่อสู้ในสงครามกลางเมืองระหว่างสกอตแลนต์กับอังกฤษ รวมถึงฉากโรแมนติกระหว่างเจ้าชายนัยน์ตาชวนฝันกับสาวชาวเกาะผู้ภักดี
เรื่องราวของเจ้าชายสุดหล่อที่พยายามฮึดสู้หาทางต่อกรกับทางการอังกฤษ กลายเป็นภาพจำของชาวโลก จนดูเหมือนเราเกือบลืมไปว่า เจ้าชายผู้นี้คือผู้นำกองกบฏไปสู่ความพ่ายแพ้ราบคาบ จนต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน และเป็นผู้ต้องหาที่มีค่าตัวนำจับสูงถึง 220 ล้านบาท (เท่ากับ 3 หมื่นปอนด์ ในยุคนั้น)
ภารกิจกู้บัลลังก์ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ โดยบอนนี่ ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ของอังกฤษ หรือที่เรียกว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 7 แห่งสกอตแลนด์ เมื่อครั้งทรงขึ้นครองราชย์รัฐบาลอังกฤษบีบบังคับให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติในปี ค.ศ.1688 (ตรงกับ พ.ศ.2223) เนื่องจากทรงนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่ขัดต่อกฎมณเฑียรบาล เนื่องจากมีข้อกำหนดว่า ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์เท่านั้น โดยในปีเดียวกันนั้นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ทรงลี้ภัยไปประทับที่กรุงโรม และทรงหาทางทวงราชย์บัลลังก์คืนมา โดยมีฝ่ายนิยมราชวงศ์สจ๊วตในสกอตแลนด์ให้การสนับสนุนลับ ๆ
ท่ามกลางภูเขาโอบล้อมและทุ่งหญ้าเขียวขจีกว้างใหญ่ มีการทำฟาร์มแกะและวัว พร้อมกับวิวทะเลสาบกว้างใหญ่ ผืนน้ำราบเรียบ สะท้อนให้เห็นถึงบ้านเรือนในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งใจกลางดินแดนที่ราบสูงไฮแลนด์ของสกอตแลนด์ บรรยากาศอันเงียบสงบสุดโรแมนติกนี้ ถือเป็นปฐมบทการเริ่มต้นความพยายามกู้ชาติทวงบัลลังก์ของเจ้าชายหนุ่มหล่อ ทั้งยังเป็นที่จุดเริ่มต้นในการปั่นไปตามรอยของสองแม่ลูกนักปั่นจักรยานมือสมัครเล่นในดินแดนไฮแลนด์ ต้นกำเนิดตำนานกบฏจาโคไบท์อันลือลั่นระดับโลกที่เกิดขึ้นเมื่อ 279 ปี ผ่านมา
1 | เกลนฟินน่อน: แถลงการณ์ชิงบัลลังก์
เกลนฟินน่อนตั้งอยู่ในเเมืองฟอร์ต วิลเลียม (Fort William) หนึ่งเมืองสำคัญในซีรีส์เอาท์แลนเดอร์ ตั้งอยู่ในดินแดนที่ราบสูงไฮแลนด์ (Highland) ติดทะเลสาบ Loch Shiel ทะเลสาบติดภูเขาทอดตัวเป็นแนวกั้นล้อมไว้สองฝั่งในลักษณะครึ่งวงกลม ยอดทิวเขาทวีความสูงขึ้นไปเป็นลำดับ มองเห็นขอบเขาลิบ ๆ ของเทือกเขายาวติดกันเป็นพรืดทีมาบรรจบกันตรงกลางทะเลสาบ พื้นที่โดยรอบเป็นแนวป่าสูงสลับทุ่งทึบบางส่วน ป่าโปร่งเกลนฟินน่อนนี้ถือว่าเป็นสถานที่ที่บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ ทรงแถลงการก่อกบฏงัดข้อกับราชวงศ์อังกฤษ ในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1745 ทั้งยังเป็นสถานที่รวมพล และประชุมกลุ่มจาโคไบท์ (Jacobite Rising ปี1745)
“เราไม่มีเวลาปรึกษาหารืออีกต่อไปแล้ว ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ก็ไม่ต้องอีกเลย ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็จะไม่ได้ทำตลอดไป” คำแถลงของ บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์
นี่คือคำประกาศกร้าวของเจ้าชายวัยเบญจเพสรูปร่างใหญ่ผอมสูง 178 เซนติเมตร ผิวขาวอมชมพู ใบหน้ายาวมีออร่า ผมสีแดงหยักศกยาวปรกไหล่ จมูกโด่ง คางมนพองาม ตาใหญ่คบกริบสีน้ำตาล นัยน์ตาเปล่งประกาย รับกับรอยยิ้มอ่อนโยนจากริมฝีปากบางคู่นั้น ตรัสตอบมาเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงอังกฤษแท้ ๆ เจ้าชายจากแดนไกลผู้นี้ได้จุดประกายความหวังใหม่อันเรืองรองให้กับชาวไฮแลนเดอร์ผู้ภักดีที่ต้องการหลุดพ้นออกจากความยากจน และการถูกกดขี่รวมถึงความกระหายในการล้างแค้นให้กับกษัตริย์สายเลือดสกอตที่เนรเทศออกจากประเทศไปอย่างไม่เป็นธรรม
เช้าวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1945 ณ เกลนฟินน่อน หลังจากที่เจ้าชายประกาศถ้อยแถลงออกไป ชาวไฮแลนเดอร์ส่วนน้อยยืนกระจุกตัวเงียบสงบไร้เงากองกำลังของนักรบไฮแลนเดอร์อันเหี้ยมโหดที่เป็นเสี้ยนหนามของทางการอังกฤษ มีเพียงกระแสลมเย็นพัดสายน้ำเข้าฝั่งเสียงใบไม้กระทบกันและเสียงนกป่าร้องเป็นระยะ ๆ เจ้าชายหนุ่มมีสีพระพักตร์เผือดสลด ทรงหายใจไม่ทั่วท้อง ขณะนี้ข้อความสำคัญได้ถูกบอกต่อถึงเจตจำนงค์อันแน่วแน่ในการชิงบัลลังก์เรียบร้อยแล้ว แต่การกบฏจะบังเกิดได้อย่างไรหากปราศจากกองกำลังพลผู้กล้า
เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าไปจนถึงเที่ยงวัน เจ้าชายที่ซุ่มตัวอยู่ในพุ่มไม้ทรงสนับสำเนียงเสียงผู้คนจากระยะไกลที่ดูเหมือนจะเดินมุ่งหน้าใกล้เข้ามา ๆ บัดเดี๋ยวนั้นเอง เสียงปี่สกอตก็ดังกึกก้องขึ้น ท่ามกลางแสงแดดอันอร่ามเรือง ราวกับแสงทองแห่งความหวังของยามสายจัดเช่นนี้ ผู้ที่มาปรากฏตัวตรงหน้าเจ้าชายคือผู้นำชาวไฮแลเดอร์ตระกูลคาเมรอนที่ได้ประกาศกร้าวว่า“หาก (ตระกูล) ล็อกฮิลว์เข้าร่วมกับท่านแล้วไซร้ เมื่อนั้นทุกคนที่อยู่ในดินแดนฝั่งตะวันตกแห่งนี้ก็จะเข้าร่วมกับท่านด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีตระกูลใหญ่ที่นำโดยจอร์จ แม็คเคนซี่ (George Mackenzie) หรือเอิร์ลที่ 3 แห่งโครมาร์ทีย์ (3rd Earl of Cromatie) ซึ่งบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ได้มีลายพระหัตถ์ไปหาเพื่อชักชวนให้มาร่วมประชุมที่เกลนฟินน่อน แต่ท่านเอิร์ลลังเลใจไม่อยากเข้าร่วมก่อกบฏในครั้งนี้ เมื่อความทราบไปถึงหนึ่งในผู้นำจาโคไบท์ และผู้นำตระกูลเฟรเซอร์แห่งโลแวตจึงได้คิดอุบายช่วยเหลือเจ้าชายสุดที่รัก ด้วยการเดินทางไปเจรจากับท่านเอิร์ลผู้นี้ พร้อมกับยื่นดาบของปู่ทวดตระกูลแม็คเคนซี่ที่สลักข้อความไว้ว่า ดาบแห่งชัยชนะ ของตระกูลแม็คเคนซี่ จึงทำให้ตระกูลแม็คเคนซี่มาปรากฏตัวที่เกลนฟินน่อน
หากมองย้อนไปถึงวันแรกที่เจ้าชายเสด็จฯ ถึงสกอตแลนด์วันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1745 คำทักทายแรกหาใช่การยินดีต้อนรับเจ้าชายเลือดผสมไม่กลับกลายเป็นการขับไล่อย่างดูแคลนจากชาวไฮแลนเดอร์ผู้ทรงอิทธิพลตระกูลแม็คโดนัลด์แห่งบอสเดลที่คาดคั้นให้เจ้าชายรีบเดินทางกลับฝรั่งเศสไปเสียเถิด ยืนยันจะไม่มีชาวไฮแลนเดอร์ผู้ใดเข้าร่วมก่อการกบฏกับท่านหรอก
เจ้าชายผู้ชาญฉลาดในการเจรจาต่อรองซ่อนความรู้สึกนึกคิดไว้ใต้รอยยิ้ม และสีหน้าอันอ่อนเยาว์ดูเผิน ๆ ราวกับเป็นไร้ประสบการณ์ในการสู้รบ แต่แท้จริงเคยผ่านศึกสงครามต่างชาติมาตั้งแต่เยาว์วัยใช้อาวุธปืนและดาบได้ดี มีความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การรบจิตวิทยามีความสามารถเกี่ยวกับการล่าสัตว์โดยเฉพาะยิงนก พูดภาษาอังกฤษ อิตาลี โปแลนด์ ฝรั่งเศส และได้เรียนรู้ภาษาเกลิค (ภาษาของชาวไฮแลนเดอร์ และภาษาดั้งเดิมของสกอตแลนด์) แม้วัยเด็กจะเรียนไม่เก่งเท่าน้องชาย (เจ้าชายเฮนรี่) แต่บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ เป็นต่อในเรื่องรูปลักษณ์ และมีความเชื่ออันแรงกล้าที่ถ่ายทอดจากราชสกุลว่า เขาคือผู้ศักดิ์และมีสิทธิ์ในการเป็นพระราชาปกครองอังกฤษสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ และแว่นแคว้นในเครือจักรภพ
“ท่านทั้งหลายข้าพเจ้าได้กลับบ้านแล้ว และข้าพเจ้าจะไม่ยอมกลับไปยังสถานที่ที่ได้จากมา นั่นเป็นเพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าชาวไฮแลนเดอร์ผู้มีใจภักดิ์และศรัทธาจะยืนหยัดเคียงข้างข้าพเจ้าเสมอ” บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ ตรัสอย่างมั่นใจ
บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ คือตัวแทนและเป็นความหวังเดียวในการทวงบัลลังก์สู่สายเลือดสกอตในฐานะรัชทายาทอันดับหนึ่งแห่งราชวงศ์สจ๊วตที่ได้เตรียมความพร้อมในยุทธการรบมาตั้งแต่เยาว์วัยเจ้าชายได้สั่งสมประสบการณ์ทางการทหารอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกขณะที่มีพระชันษาเพียง 14 ชันษา เจ้าชายองค์น้อยทรงร่วมรบในศึกโปแลนด์โดยดยุคแห่งเบอร์วิคได้เป็นสักขีพยาน และกล่าวชื่นชมถึงการปฎิบัติหน้าที่ทางทหาร เมื่อครั้งเจ้าชายวัยรุ่นทรงประจำการรบอยู่ในคูดินที่ขุดขนานกำแพงมีหน้าที่คุ้มกันทหารที่จะวิ่งออกสู่สมรภูมิรบ
“ขณะที่เปลวเพลิงโหมกระหน่ำ หมายเผาผลาญบ้านฟาร์มที่ใช้เป็นฐานทัพหลักเจ้าชายน่าจะรีบหลบหนีออกมาโดยเร็วแต่ทรงวิ่งออกมาจากคูดินที่ซุ่มอยู่ แล้วลักลอบเข้าไปยังบ้านฟาร์มแห่งนั้น แม้เปลวเพลิงแผ่รัศมีสูงเสมอใบหูของเจ้าชายวัยรุ่น แต่ทรงหาได้หวาดกลัวไม่ ยังคงปักหลักสู้อยู่ในบ้านฟาร์มที่ฝ่ายตรงข้ามได้กราดยิงลูกปืนขนาดใหญ่เข้ามา จนทะลุกำแพงบ้านบ่งบอกให้เห็นถึงคุณลักษณะการเป็นฮีโร่ และความองอาจห้าวหาญเกินวัยของราชนิกุลสูงศักดิ์พระองค์นี้”
ทุกวันนี้ผู้สนใจสามารถปีนป่ายขึ้นไปบนยอดป้อมเพื่อชมวิวแบบพานอรามาของไฮแลนด์ (ต้องซื้อบัตรเข้าชมก่อน) วิวธรรมชาติไฮแลนด์งดงามมหัศจรรย์ราวกับภาพในฝัน
ณ เกลนฟินน่อน แห่งนี้ ธงประจำราชสกุลสจ๊วตโบกสะบัดอยู่ท่ามกลางผู้กล้าชาวไฮแลนเดอร์ 1,200 คน ที่พกพาอาวุธมาครบมือ ยืนประจันหน้าอยู่เบื้องพระพักตร์ของเจ้าชายที่นัยน์ตามีประกายนิล เนตรคมกริบ กอปรไปด้วยอำนาจทรนง และทิฐิอันเด็ดเดี่ยว โดยมีเหล่าขุนพลคู่พระทัยยืนเรียงรายอยู่เบื้องหลังทุกคนพร้อมใจมาตามนัดหมายเพื่อดื่มบรั่นดีสาบานจะจงรักภักดีต่อราชวงศ์สจ๊วตสืบต่อไป
“เรามาพร้อมกันที่นี่เพื่อเรียกร้องและสั่งการให้ทุกผู้ทุกนามตั้งแต่อายุ 16 – 60 ปี จงแสดงความจงรักภักดีต่อราชวงศ์สจ๊วต และขอให้ดำเนินการในทันที” แถลงการณ์ก่อกบฏของบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์
ในที่สุดบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ ได้ทรงปลุกเลือดนักสู้และกระตุ้นหัวใจแห่งความฮึกเหิมเหล่าชาวไฮแลนเดอร์ที่อยากปลดแอกจากทางการอังกฤษภารกิจลับพิชิตใจกลุ่มจาโคไบท์ก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
2 | มิวเซียมเวสต์ไฮแลนด์: ภาพลับสุดปัง
แม่ลูกนักปั่นยังคงขี่จักรยานตามรอยค้นหาเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าชายต่อเนื่องจุดหมายต่อไปคือพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองที่เพิ่งผ่านการฉลองอายุ 100 ปี ไปหมาด ๆ ตั้งอยู่ในไฮสตรีทใจกลางเมืองฟอร์ต วิลเลียม เพื่อตามส่องภาพลับเฉพาะของเจ้าชายในผลงานศิลปะสุดครีเอทีฟยุคสมัยจาโคไบท์
ย้อนไปเมื่อเกือบสามร้อยปี ถ้าเทียบกับยุคนี้ไวรัลที่โด่งดังอันดับหนึ่งของชาวไฮแลนเดอร์หนีไม่พ้นข่าวลือที่แพร่สะพัดเกี่ยวกับเจ้าชายในอุดมคติที่พรั่งพร้อมทั้งความอ่อนเยาว์ บุคลิกลักษณะผู้นำ และรูปร่างหล่อเหลาดุจเทวดาจำแลงกายมาจากสรวงสวรรค์เนื่องจากยังไม่มีใครได้พบเห็นเจ้าชายมากนัก
ว่ากันว่ากระแสเสียงตอบรับมีทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ชาวไฮแลนเดอร์ส่วนหนึ่งไม่เชื่อมั่นในตัวพระองค์ด้วยเหตุผลหลากหลาย อาทิ ไม่ได้มีสายเลือดสกอตติชบริสุทธิ์ โดยมีพระบิดาประสูติที่อังกฤษ ขณะที่พระมารดาเป็นเจ้าหญิงโปแลนด์ สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก แทนที่จะเป็นภาษาเกลิค การประทับอยู่ต่างประเทศทำให้ไม่ได้มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสหราชอาณาจักร
ในขณะที่ฝ่ายนิยมราชวงศ์สจ๊วตกระพือข่าวเกี่ยวกับรูปลักษณ์อันหล่อเหลาหาใครเสมอเหมือน ทั้งยังได้เผยแพร่วาทะอันชาญฉลาดที่แสดงถึงภูมิรู้ของเจ้าชายเกี่ยวกับชาวไฮแลนเดอร์ เมื่อครั้งเผชิญหน้ากับคาเมรอนแห่งล็อกฮิลว์ (Cameron of Lochiel) ผู้ทรงอิทธิพลแถวหน้าของจาโคไบท์ได้แสดงความลังเลใจและสงสัยในตัวเจ้าชายทั้งไม่สนใจร่วมก่อกบฏ
เจ้าชายได้ตรัสต่อหน้าคาเมรอนแห่งล็อกฮิลว์ว่า “ดูก่อนล็อกฮิลว์ท่านคือผู้ที่พระบิดาของเราได้ตรัสถึงบ่อยครั้งว่าเป็นสหายสนิทขอท่านจงกลับไปอยู่ที่บ้านและรอคอยฟังข่าวจากหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับชะตาชีวิตของเจ้าชายของท่านเถิด” วาทะนี้กลายเป็นวาทะแห่งชาติที่ทำให้คาเมรอนแห่งล็อกฮิลว์เห็นคล้อยตาม และเชื่อสนิทใจว่าเจ้าชายได้รู้จักจาโคไบท์อย่างถ่องแท้ ว่ากันว่าถ้าตระกูลล็อกฮิลว์ไม่เข้าร่วมด้วยกบฏจาโคไบท์ก็จะไม่บังเกิดขึ้น และก็คงจะไม่ปรากฎบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ ในหน้าประวัติศาสตร์โลก
เมื่อจาโคไบท์ตกลงยอมรับเจ้าชายเป็นผู้บัญชาการก่อกบฏแล้ว ตามธรรมเนียมก็มักมีการแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง แต่จะทำอย่างไรจึงจะรอดพ้นหูตาสับปะรดของทางการอังกฤษละ จุดนี่เองที่ทำให้กลุ่มจาโคไบท์เกิดไอเดียล้ำลึก ออกแบบสุดยอดผลงานศิลปะ “ภาพลับเจ้าชาย” ที่กลายเป็นมรดกแห่งชาติอันล้ำค่าของสกอตแลนด์ในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ อายุหนึ่งศตวรรษแห่งนี้ สะสมของล้ำค่าของบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ ไว้หลายชิ้นเราขอเลือกสองชิ้นที่เป็นซิกเนเจอร์ติดอันดับท็อประดับประเทศ นั่นก็คือ “ภาพลับของเจ้าชายชาร์ลส์เอ็ดเวิร์ดสจ๊วต” (The secret portrit of Chales Stuart) โดยวิคเตอร์ ฮอดจ์สัน ผู้ก่อตั้งมิวเซียมบังเอิญเจอของชิ้นนี้ที่ร้านของเก่าในกรุงลอนดอนในปี พ.ศ. 2467 ได้ซื้อมาในราคาเพียงแปดปอนด์ (ประมาณ 350 บาท)
ภาพลับชิ้นแรก สร้างขึ้นมา 2 ส่วน คือส่วนรูปทรงกระบอกทำจากกระจกตั้งอยู่บนฐานไม้ทรงกลม และกระดานไม้สีดำทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อนำส่วนแรกมาวางบนแผ่นกระดานจะเห็นสีสันสายรุ้ง แต่เมื่อหมุนกระจกในมุมและองศาที่ถูกต้อง สายรุ้งดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นภาพของบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ หรือเจ้าชายชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต โดยจะต้องหันมุมและองศาให้ถูกต้องภาพเจ้าชายก็จะปรากฏตรงหน้า ราวกับเล่นมายากลผลงานสุดว้าว ที่ใช้วิธีอันแยบคายในการเผยแพร่ภาพเจ้าชายแบบลับ ๆ โดยไม่ถูกทางการอังกฤษจับตัวไปเข้าคุก
ของชิ้นนี้แสดงออกถึงความจงรักภักดี (แบบลับ ๆ) ของกลุ่มจาโคไบท์ต่อราชวงศ์สจ๊วต อีกทั้งชาวจาโคไบท์ยังนำไปใช้ยามที่ต้องการจะดื่มอวยพรให้พระราชาของตนเองแบบลับ ๆ
สองแม่ลูกนักปั่นผู้คลั่งไคล้ในงานศิลปะเห็นแล้ว ยังตะลึงลานในความละเอียดอ่อน และซ่อนเร้นความจงรักภักดีได้อย่างแยบยล แนบเนียบ ลูกนักปั่นถึงกับลืมตัวอุทานเป็นศัพท์วัยรุ่นว่า “ต๊าซซซซมากก”
งานศิลปะชิ้นที่ 2 ดูตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน กล่องยานัตถุ์ซ่อนภาพลับ (Hidden portrait snuff box) เป็นกล่องทรงกลมตกแต่งด้วยผ้าตาหมากรุกแบบลงยา ฝาครอบมีบานพับเปิดได้เผยให้เห็นด้านใน โดยออกแบบอย่างล้ำลึกตรงที่มีฝาครอบสองชั้นที่ซ่อนอยู่ เมื่อเปิดฝาชั้นในออกจะเห็นภาพลับเป็นภาพเหมือนลงยาสุดปราณีตของเจ้าชายชาร์ลส์ที่ทรงแต่งกายด้วยเสื้อเจ๊คเก็ตผ้าลายตาหมากรุก ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เก่าแก่สุดของสหราชอาณาจักร สร้างขึ้นโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เมื่อปี ค.ศ.1348 ทั้งยังตกแต่งเสื้อเจ๊คเก็ตด้วยริบบิ้นสีขาว (ติดอยู่บนหมวกสีน้ำเงิน) เป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของกลุ่มจาโคไบท์ พร้อมสื่อถึงความจงรักภักดีต่อราชวงศ์สจ๊วต นอกจากนี้ตัวเสื้อยังประดับดอกทิซเซิล (Thistle) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติสกอตแลนด์ด้วย
ผลงานชิ้นนี้ คือสุดยอดงานศิลปะของยุคจาโคไบท์ ซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์และเก็บรักษาอย่างดี โดยพิพิธภัณฑ์ได้ซื้อมาในงานประมูลที่เอดินบะระในปี ค.ศ.2019 หรือ พ.ศ. 2562 ในราคา 9,750 ปอนด์ (ประมาณสี่แสนกว่าบาท)
สองแม่ลูกนักปั่นขอแสดงความคารวะต่อกลุ่ม (ศิลปิน) จาโคไบท์ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานสุดเนี้ยบ เก็บรายละเอียดในพื้นที่จำกัดจำเขี่ยได้ครบถ้วนทุกอณูจริง ๆ
3 | กองหินเจ้าชาย: ลาก่อนสกอตแลนด์
ภารกิจต่อมาของสองแม่ลูกนักปั่นเป็นสถานที่ที่บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ และกลุ่มจาโคไบท์ตัดใจอำลาจากกันหลังจากที่กบฏจาโคไบท์พ่ายแพ้ย่อยยับสูญเสียไพร่พลมากถึงสองพันชีวิต
สองแม่ลูกตามรอยเจ้าชายไปที่เมืองเล็ก ๆ ริมทะเล ซึ่งมีชื่อว่า Arisaig (อาริเซก) อยู่ใกล้กับเมืองฟอร์ต วิลเลียม โดยมีฝั่งทะเลสาบ Loch nan Uamh (หรือ Loch of the cave แปลว่า ถ้ำแห่งทะเลสาบ) สถานที่สุดท้ายที่เจ้าชายชาร์ลส์วัย 26 ชันษา จำใจอำลาจากสกอตแลนด์แบบไม่หวนคืนชั่วชีวิต
หลักฐานสำคัญที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน คือ The Prince’s Cairn (กองหินของเจ้าชาย) เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชาวไฮแลนเดอร์ในการรำลึกถึงผู้วายชนม์ โดยมีป้ายเหล็กเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “This cairn marks the traditional spot from Prince Charles Edward Stuart embarked for France 20th September 1746” แปลว่า กองหินแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ดั้งเดิมที่เจ้าชายชาร์ลส์เอ็ดเวิร์ดสจ๊วตเสด็จฯ กลับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1746 (พ.ศ. 2289)
กลุ่มจาโคไบท์ผู้จงรักภักดีน้ำตาไหลเป็นทางเมื่อเดินทางมาส่งเจ้าชายเสด็จฯ กลับยุโรป เจ้าชายเม้มโอษฐ์แน่น สีพระพักตร์สลด ข่มความรู้สึกไว้ภายใน ประทานพระหัตถ์ไปให้จับแน่นกระชับ พร้อมตรัสแผ่วเบาว่า “ขอบใจ”
และแล้วนาทีที่สองฝ่ายต้องจำจากก็มาถึงท่ามกลางความเงียบสงบ คณะเจ้าชายก็เริ่มเคลื่อนที่ลงเรือที่เตรียมไว้อย่างรวดเร็ว ได้ยินเสียงฝีเท้าเคลื่อนไหว และหีบห่อสัมภาระถูกนำขึ้นไปบนเรือ แทรกเล็ดลอดออกมาจากเสียงเหล่านั้น คือเสียงที่กลั้นสะอื้นเบา ๆ ของชาวไฮแลนเดอร์ผู้ภักดีที่อยากจะรั้งเจ้าชายอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของพวกเขาไว้ แต่ก็ทำไม่ได้ หากเจ้าชายไม่เสด็จฯ หนีไปตอนนี้ก็อาจจะจนมุมและถูกทางการอังกฤษจับตัวไปลงโทษที่ทาวเวอร์ออฟลอนดอน (Tower of London) ถึงขั้นถูกประหารชีวิต
กองหินเจ้าชายตั้งอยู่บนทางหลวงสาย A830 มีป้ายทางหลวงเขียนว่า The Prince’s Cairn ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1956 (พ.ศ.2499) โดยองค์กรสาธารณะ 1745
นอกจากนี้ในบริเวณทะเลสาบ Loch nan Uamh ยังได้พบหลักฐานใหม่ล่าสุดเกี่ยวโยงถึงบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ เมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2563 นักโบราณคดีชาวสกอตแลนด์ ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับกลุ่มจาโคไบท์บริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของชายฝั่งทะเลสาบแห่งนี้ โดยเจอกระสุนปืนที่ไม่ได้ใช้งาน 215 ชิ้น และเหรียญชุบทองขนาดเท่ากระดุมอายุเก่าแก่ราว 250 ปี สถานที่ค้นพบคือบ้านฟาร์มที่เหลือแต่ซากปรักหักพัง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พักอาศัยช่วงบั้นปลายของอลาสแดร์ (Alasdair MacMhaighstir) อดีตติวเตอร์สอนภาษาเกลิคของเจ้าชาย
ว่ากันว่าหลังจากเจ้าชายเสด็จฯ กลับยุโรปได้สองสัปดาห์ ทางการฝรั่งเศสได้ส่งลูกกระสุนปืนใหญ่ และเงินทองมาให้เพื่อให้บอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ สานต่อภารกิจชิงบัลลังก์ให้สำเร็จ ทว่าการเดินทางที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้คลาดกับเจ้าชายไปอย่างน่าเสียดาย
4 | ล็อกอาร์เคก์: ที่ซ่อนขุมทรัพย์เจ้าชาย
ภารกิจสุดท้ายของการตามรอยบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ ของสองแม่ลูกนักปั่นในตอนนี้คือค้นหาที่ซ่อนหีบทองคำอันล้ำค่าที่ฝรั่งเศสได้ส่งมาให้เจ้าชายเพื่อใช้ในการก่อกบฏ ซึ่งเชื่อกันว่าขุมทรัพย์นี้มาถึงสกอตแลนด์หลังจากที่เจ้าชายเสด็จฯ กลับยุโรปไปแล้ว
ตามตำนานเล่าว่าฝรั่งเศสได้ส่งทองคำแท่งจำนวนมากมาให้เจ้าชายใช้ซื้ออาวุธและสเบียงในการออกรบครั้งต่อไป โดยมีมูลค่าเทียบเท่ากับ 5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 220 ล้านบาท) ทองคำทั้งหมดถูกฝังไว้ที่ล็อกอาร์เคก์ (ทะเลสาบ Loch Arkaig) พื้นที่ริมทะเลสาบในเมืองฟอร์ต วิลเลียม มีข่าวลือว่าฝรั่งเศสส่งทองคำมาจำนวน 6 หีบ บางความเชื่อเชื่อว่าส่งมา 7 หีบ และถูกยึดไป 1 หีบ โดยตระกูลแม็คโดนัลด์แห่งบาริสเดล
ธรรมชาติริมฝั่งทะเลสาบล็อกอาร์เคก์ที่ชาวสกอตเชื่อว่าเป็นที่ซ่อนทองคำล้ำค่าของบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์
ลูกนักปั่นดูมีความหวังกับการถอดรหัสตามรอยเจ้าชายหาขุมทรัพย์ในทริปนี้มาก ถึงขนาดฝันไกลว่าจะนำเงินที่ได้มาเปิดสาขาร้านสะดวกซื้อให้ทั่วไฮด์แลนด์ แม่นักปั่นจำต้องดับฝันว่า ลูกเอ้ย… ขนาดนักล่าขุมทรัพย์ขุดหากันมาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี ยังไม่เจอแล้วเราจะเจอได้อย่างไรกัน
“เจอแล้ว ๆ เจอขุมทรัพย์แล้วจ้า ขุมทรัพย์แบล๊คเบอร์รี่ ต้นแบล๊คเบอร์รี่ป่าที่ออกลูกดกมากอยู่แถวนี้ เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำรสชาติหวานอมเปรี้ยวกลิ่นหอมอ่อน ๆ กินแล้วชื่นใจจริง ๆ” ลูกนักปั่นตะโกนดังลั่น
ที่ปลายขอบฟ้าจรดทะเลแห่งนี้ อาจจะมีหรือไม่มีขุมทรัพย์ของบอนนี ปริ๊นซ์ ชาร์ลีย์ แต่ที่แน่ ๆ สองแม่ลูกนักปั่นได้เรียนรู้ที่จะแปลงสิ่งรอบตัวให้เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาแล้ว
AUTHOR: เอสเคแคมพ์เบลล์
แม่บ้านฟูลไทม์สะใภ้ชาวไฮแลนเดอร์ผู้หลงรักการท่องเที่ยว หากกรีดเลือดมาก็จะเจอสายเลือดนักท่องเที่ยวเต็มตัวขณะเดียวกันก็มีความรักและห่วงใยโลก นำไปสู่แรงบันดาลใจนำสองสิ่งที่เป็นเสมือนลมหายใจมาจับคู่กัน จนสามารถสร้างความสมดุลและความสุขแบบผสมผสาน โดยการปั่นจักรยานท่องเที่ยวได้มอบพลัง ทั้งกำลังกายและกำลังใจให้แก่สองแม่ลูกนักปั่น ผู้รักการปั่นไปเที่ยวไป
เอกสารประกอบการเขียน:
- หนังสือ Walking with Charlie In the footsteps of the Forty-Fiveผู้แต่ง Steve Lord ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 2003
- หนังสือ The Edinburgh History of the Late Rebellion ผู้แต่ง Andrew Henderson ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1752
- หนังสือ Valour does not wait , the Rise and Fall of Charles Edward Stuart ผู้แต่ง Arran Paul Johnston ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 2010
- หนังสือ Jacobite Memoirs of the Rebellion of 1745 ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1834 “I am come home, sir. And I will entertain no notion at all of returning to that place from whence I am come, for that I am persuaded my faithful Highlanders will stand by me.”
- ข้อมูลจากมิวเซียมเวสต์ไฮแลนด์ และภาพ
- ข่าวการค้นพบสิ่งของสมัยจาโคไบท์ครั้งล่าสุด และภาพ
- เดอะฟอร์ตี้ไฟว์กบฏจาโคไบท์กับตระกูลแม็คเคนซี่
- อนุสรณ์สถานเกลนฟินน่อนศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารสำหรับนักท่องเที่ยว