เมื่อความขี้สงสัยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราเปิดบทสนทนาใหม่ เราได้ค้นพบว่าทุกคำถามและความสงสัยนั้นมีเรื่องราวซ่อนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับบทสนทนานี้ ที่เริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ แต่พอคุยกันลึกซึ้งขึ้น ก็ทำให้เราเห็นโลกของธุรกิจในมุมมองที่แตกต่าง
เนื่องจากงานบ้านและสวนแฟร์ตอนเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเห็นบูทหนึ่งที่มาออกร้านในงานตรงโซนที่ผมปฏิบัติงานอยู่ คือบูทCAPTHAI ซึ่งเป็นร้านขายหมวก ต้องบอกก่อนว่าปกติผมเป็นคนที่ไม่ได้ชอบใส่หมวกสักเท่าไหร่ จะใส่ก็เฉพาะตอนทำกิจกรรมกลางแจ้งเท่านั้น แต่หมวกของร้านนี้ทำให้ผมเดินเข้าไปดู หยิบจับ และอยากซื้อ ซึ่งเป็นที่มาของความสงสัย จนกลายเป็นบทสัมภาษณ์อย่างที่เห็น
ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า “คนที่ขายหมวกเขาคิดอะไร คิดอย่างไร และมีวิธีขายแบบไหน” จนนำไปสู่การนัดหมาย คุณเปิ้ล-พรทิพย์ ศรีสำราญ เจ้าของหมวกแบรนด์ CAPTHAI หรือ “แคปไท” ที่โรงงานย่านพระราม2
“จริง ๆ แล้วเรื่องราวของแคปไทไม่ได้เริ่มต้นจากการผลิตหมวกนะคะ แต่เริ่มจากการผลิตเข็มขัดแฟชั่นมาก่อน เมื่อกระแสเข็มขัดเริ่มจางลง เราจึงต้องค้นหาทิศทางใหม่” คุณเปิ้ลจั่วหัวไว้แบบนี้ ก่อนที่จะสนทนากันอย่างจริงจัง
เริ่มต้นจากเงินทุนเพียงสามร้อยบาท
“เท่าที่จำได้เปิ้ลย้ายมาอยู่ที่โรงงานนี้ ตั้งแต่ตอนเรียนประถมฯ 6 ก่อนหน้านั้นครอบครัวเราอาศัยอยู่ในตึกแถว แถววัดสีสุกย่านบางมด เราโตมากับภาพของป่าป๊าและหม่าม้าที่ต้องทำงานหนักมาตลอด ตอนแรกป๊ากับม้าเริ่มต้นจากศูนย์เลยค่ะ ตอนนั้นมีเงินทุนเพียง 300 บาท ซื้อเข็มขัดมาขายตามแผงลอย เดินสะพายขายแบบมือเปล่า เงินเช่าแผงยังไม่มีเลย ต้องไปยืนขายตามสนามหลวง สมัยก่อนเป็นตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ ขายดีจนเริ่มมีเงินเก็บ ก่อนจะขยับขยายไปเช่าแผงที่บางลำพู ซึ่งเป็นย่านที่ฮิตมากในสมัยนั้น
สำเพ็งคือแหล่งเรียนรู้
“ความขยันและความตั้งใจของป๊าและม้า พวกท่านซื่อสัตย์กับลูกค้าทุกคนเสมอ จนอาม่าเจ้าของร้านเข็มขัดที่ป๊ากับม้าซื้อเป็นประจำที่สำเพ็งเห็นในความกตัญญูและความทุ่มเท เลยเสนอที่จะสอนให้ป๊ากับม้าหัดทำเข็มขัดเองจะได้มีวิชาติดตัว ทั้งสองก็เริ่มต้นจากตึกแถวที่บางมดทำเป็นโรงงานเล็ก ๆ ผลิตเข็มขัดขายด้วยฝีมือของพวกเราเอง จากการขายปลีกเป็นขายส่งที่สำเพ็ง นับว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีมาก จนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงนำไปซื้อที่ดินที่บางขุนเทียน และสร้างโรงงานผลิตเข็มขัดของเราเองอย่างจริงจัง ก็คือที่อยู่ปัจจุบันนี่แหละค่ะ
“หลายปีต่อมาตลาดเข็มขัดแฟชั่นที่เคยขายดีเริ่มซบเซา ตอนนั้นธุรกิจแทบไม่มีออเดอร์เลย แต่ความท้อถอยไม่เคยเป็นทางเลือก ป๊ากับม้าก็มานั่งมองเครื่องจักรที่มีอยู่ แล้วตั้งคำถามว่ามันสามารถผลิตอะไรอย่างอื่นได้อีกไหม นี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ตัวเปิ้ลเองก็จะอยู่ในทุกช่วงเหตุการณ์ของชีวิตป๊ากับม้าตลอดเวลาที่ท่านทำธุรกิจ เขาคุยกันเราได้ยินก็แอบซึมซับความรู้สึกติดตัวมาบ้าง
“หมวก” คือคำตอบ
“ตอนนั้นป๊ามองว่าเข็มขัดมันเป็นมันแฟชั่น อยู่กับแฟชั่นจนเขารู้สึกกลัว เพราะมันมีขึ้นมีลง เวลามันขึ้นมันขึ้นสุดเลย แต่เวลามันหายมันก็หายเลยเหมือนกัน เขาก็เลยมามองหาว่า อะไรที่ดูไม่ต้องเป็นเทรนด์ขนาดนั้น เพราะการวิ่งตามเทรนด์มันเหนื่อย ท้ายที่สุดความคิดมาจบลงที่การผลิต “หมวก” เพราะหมวกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่เน้นใช้งานมากกว่าแฟชั่น ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามเทรนด์ตลอดเวลา และยังมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ เช่น การรับงานสั่งทำ การติดโลโก้ เปิดโอกาสให้หมวกกลายเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ได้ในระยะยาว แถมยังไม่ต้องปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร ป๊าจึงตัดสินใจหันมาฝึกทำหมวกอย่างจริงจัง และตั้งแต่นั้นมา เวลาก็ผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว”
จุดเปลี่ยนของชีวิต
“การทำธุรกิจไม่ได้อยู่ในหัวเปิ้ลเลย มาพีคเอาตอนเรียนจบที่อเมริกานี่แหละ ภาพที่เราเห็นตอนนั้น วันที่เราจะรับปริญญาที่นู่นป๊าม้าเขาบินไป ซึ่งเปิ้ลเรียนอยู่ที่อินเดียนาโพลิส (Indianapolis) เรารู้สึกว่าไม่ได้เจอป๊าม้าครึ่งปี ทำไมเขาดูแก่จัง ตอนแรกคิดจะหางานทำที่นี่ ไม่กลับเมืองไทยแล้ว แต่พอเห็นป๊ากับม้าเรารู้สึกว่าการที่เขาต้องแก่ลงเรื่อย ๆ เขาจะมาหาเราได้เหรอ เราเริ่มเป็นห่วงเขามากกว่า เลยตัดสินใจกลับบ้าน เพราะเรารู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งเราไม่อยากรู้สึกเสียใจว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น การที่เราจะบินกลับไปมันไม่ง่ายนะ หรือการที่เขาจะมาหาเรามันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เปิ้ลจึงตัดสินใจกลับบ้าน นับว่าสำหรับเปิ้ลถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลย วันนั้นถ้าตัดสินใจอยู่ต่อก็ยังไม่รู้ว่าการเดินทางของโรงงานป๊าม้าจะเป็นยังไง”
กล้า ๆ กลัว ๆ
“พอกลับมาก็ยังไม่คิดที่จะทำโรงงานนะ เพราะเราเห็นการทำธุรกิจของป๊ากับม้าแล้วมันขึ้น ๆ ลง ๆ เรารู้สึกว่ามันเหนื่อย ไม่มีอะไรที่จะการันตีได้เลย เราเห็นเพื่อนที่เป็นพนักงานเงินเดือนชีวิตเขาอาจไม่ได้หวือหวา แต่ชีวิตเขาเสถียร เราก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรดี ประกอบกับตอนที่เปิ้ลกลับมาช่วงนั้นเป็นเวลาหลังต้มยำกุ้ง หลังตึกเวิลด์เทรดโดนถล่ม เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขาลง ไม่รุ่งเรืองเหมือนยุคพ่อแม่ และเป็นจังหวะที่ประเทศจีนเปิดประเทศอีก ร้านเราที่สำเพ็งยอดขายลดลงแบบไม่น่าเชื่อ แล้วลูกค้าต่างชาติเยอะมาก ไม่ว่าจะเวียดนาม มาเลเซีย หรือปริมาณที่ขายเยอะที่สุดคือแอฟริกาหายหมดเลย เราก็เริ่มคิดอีกแล้วว่าจะทำอย่างไร มันก็ไม่ง่ายอีกเหมือนกัน เราคุยกับป๊าม้าว่า “ให้เราหางานไหม” อนุญาตไหม เพราะเขาก็คือคนที่ลงทุนส่งเราเรียนเนอะ เขาก็บอกว่า “แล้วแต่เราเลย” จริง ๆ เขาคงอยากให้เราช่วยแหละ แต่ก็ไม่อยากบังคับเรา”
ปรับตัว
“เมื่อรับปากว่าจะมาช่วยโรงงาน สิ่งสำคัญคือต้องปรับตัว ทั้งตัวเปิ้ลเอง พนักงาน ไปจนถึงป๊ากับม้าซึ่งแกยังคงคิดวิธีการทำงานในแบบเดิม ๆ ใช้ความสำเร็จเดิม ๆ มาผลิตหมวก ณ เวลานั้นคือ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัดอดทน ไม่พอแล้ว แล้วเราจะไปในทิศทางใด จะไหวหรือเปล่า นั่งบอกตัวเองว่าอย่าเพิ่งคิดอะไรเลยลองก่อนแล้วกัน เราก็ตั้งใจทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ค่อยหางานแล้วกัน ทำอยู่ 7 ปี จนปีที่ 7 เริ่มรู้สึกว่าแบบฉันไม่ไหวแล้ว คำว่าไม่ไหวในที่นี้ คือป๊าม้าเขายังใช้สูตรสำเร็จเดิมไม่เปลี่ยนเลย แต่โลกตอนนั้นมันเปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว มันโลกาภิวัฒน์นะ Globalization โลกมันเปิด โลกมันไม่ใช่คนวิ่งเข้ามาประเทศไทยแล้วมาซื้อเรา แต่มันกลายเป็นใครไปซื้อที่ไหนก็ได้ แต่การที่จะทำความเข้าใจกับคนที่เคยประสบความสำเร็จ มันไม่ง่ายเลย แล้วเราก็ไม่อยากรู้สึกท้อว่าทำไมเรื่องงานต้องกระทบกับความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เป็นความรู้สึกที่ดาวน์มาก ๆ ตอนนั้นดิ่งมาก คิดแต่ว่าเราจะทำอย่างไรดี !”
“ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป หางานดีกว่า อย่างน้อยความสัมพันธ์กับป๊ากับม้าเรายังไม่กระเทือน”
“ที่ผ่านมามันเกิดขัดแย้งกันทางความคิด ป๊าม้าอยู่กับโรงงาน เขาจะพยายามทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด แต่มันไม่ได้เกิดการขาย ถึงแม้ว่าจะทำต้นทุนต่ำที่สุดอย่างไร จีนก็ยังถูกกว่าที่อื่น ถูกกว่าเรา คำว่าถูกที่สุดของเราเริ่มอยู่บนความเครียด เราอยากได้จำนวนเยอะ อยากได้เงินก้อนโตในการนำมาหมุนในระบบ แล้วเราบริหาร Margin ที่มันบางขนาดนั้น มันกดดันมาก ๆ จึงเป็นช่วงที่เราเข้าใจว่าต้องมีเงินหมุน แต่กำไรอยู่ไหน
“มันยากมาก ๆ เราโตมาบนความรุ่งเรือง แล้วเราต้องมาเจอกับภาวะที่กดดัน กลายเป็นว่าตกลงแล้วในความเป็นจริงนี้มันคืออะไร ธุรกิจนี้ดีจริงหรือเปล่า หรือธุรกิจนี้จะไปต่อได้ไหม หรือจริง ๆ แล้วมันจะไปต่อไม่ได้ แล้วมันคืออะไรกันแน่ ป๊ากับม้าพยายามให้เราทำแบบเดิม แต่มันไม่ได้ผลลัพธ์ ซึ่งเขายังเชื่อว่ามันต้องได้สิ
“จนสุดท้ายก็มานั่งจับเข่าคุยกันสามคนพ่อแม่ลูก วันนั้นคือตัดสินใจไปหางานแล้ว แต่คำถามที่เกิดขึ้นกับตัวเอง สมมติเราไปทำงานเราไปได้ดี แต่วันหนึ่งบริษัทไปไม่รอด โรงงานที่เราเคยวิ่งเล่นมาตั้งแต่เด็กไม่รอด พี่ ๆ ที่เขาทำงานอยู่ในนี้ ครอบครัวเขาละ เขาต้องไปหางานที่อื่นหรอ อายุก็มากแล้ว อยู่กับป๊าม้ามาจนสี่ห้าสิบปีแล้ว เรารับได้จริงเหรอ ชีวิตเราดี แต่ชีวิตคนอื่นแย่หมดเลย ถามตัวเองว่า “จะทำอย่างไร จะอยู่แบบให้ตัวเองดี แล้วทำใจได้ไหม” สุดท้ายคำตอบคือ “ไม่ได้ ๆ ถ้าเกิดอะไรขึ้น ก็ขอให้มันเกิดในมือเราแล้วกัน” วันที่กลัวว่าจะเป็นอะไรในมือเรา 7 ปี ที่ผ่านมา เราไม่กลัว จะเป็นอะไรขอให้เป็นในมือเรา ไม่เป็นในมือป๊าม้าก็พอ เรายังรักษาน้ำใจพ่อแม่ได้ ไม่ใช่เขาทำพัง ถ้าเป็นอะไรเราคือคนทำพัง
“สุดท้ายเราไม่มีอะไรจะเสีย เราก็แค่รอเวลา ชีวิตที่เราผ่านมาเราเรียนมาขนาดนี้ จะทำไม่ได้เชียวเหรอ กับป๊าม้ามีแค่สามร้อยบาท มันเทียบกันไม่ได้เลย ต้องพิจารณาตัวเองใหม่ เป็นแรงฮึดสุดท้ายก็เลยลุยมาจนถึงทุกวันนี้”
สิบปีผ่านไป
“จากวันที่จับเข่าคุยกันสามคนพ่อแม่ลูกจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 10 ปี ที่เราฝ่าฟันมาได้ ตอนนั้นต้องคุยกันถึงว่า ป๊าไว้ใจเราไหม ถ้าไว้ใจขอทำในทิศทางเราเองนะ เราต้องยอมเป็นเด็กดื้อ ต้องยอมเป็นเด็กที่ถูกว่า ไม่ฟังพ่อแม่ ทั้งชีวิตไม่เคยเป็นเด็กดื้อเลย เชื่อฟังพ่อแม่มาตลอด แล้วถึงวันหนึ่งที่เราต้องทำในสิ่งที่เขาไม่ได้เชื่อแบบเรา เท่ากับเราเป็นเด็กดื้อ เราก็ยอมดื้อ ถ้าดื้อแล้วรอด ไม่เป็นไร คือเขาจะไม่เข้าใจเราวันนี้ แต่วันหนึ่งเขาต้องเข้าใจเรา เราต้องคุยกัน แล้วเราก็บอกป๊าว่าเอาแบบนี้ดีกว่า เปิ้ลจะทำในทิศทางของเปิ้ล แต่ขอให้โอนทุกอย่างมาเป็นชื่อเรา เพราะทุกอย่างมันอยู่บนดอกเบี้ย เราไม่ทิ้งหรอก อย่างไรก็ต้องดูแล เราไม่ได้อยากจะยึด เราไม่ได้เอาทั้งหมด เราเอาแค่โรงงาน เพราะรู้สึกว่าอันนี้เราต้องดูแลคนเยอะที่สุด ตรงนี้ถ้าเกิดผลกระทบ คนที่เจ็บปวดมันเยอะ เราขอดูแลเองแล้วกัน เราก็เลยขอก้อนนี้ทั้ง ๆ ที่ก้อนนี้ คือก้อนที่หนักและเหนื่อยที่สุด
ถ้าเป็นร้าน Fixed Cost ไม่ได้เยอะขนาดนี้ ดังนั้นจึงอยากให้โอนทรัพย์สินให้ด้วยเพราะไม่อย่างนั้น ไม่สามารถเอามา Cover Fixed Cost ได้ ที่คุยกันวันนั้น เป็นจุดเริ่มต้น ขอวิธีนี้แล้วกัน ไว้ใจไหม ด้วยความที่อายุที่น้อยกว่า Cash in Flow มันจะได้เยอะขึ้น แล้วเราก็ตันสินใจลุย วินาทีนั้นนอกจากเคลียร์กับป๊ากับม้าแล้ว สิ่งที่เราต้องมาเคลียร์ต่อก็คือวิธีการทำงาน ถ้าเราต้องทำจำนวนมาก ๆ แต่ป๊ายังคงลงรายละเอียดในงานเหมือนเดิม คุณภาพยังสูงเหมือนเดิม เราต้องมามองกลุ่มลูกค้าใหม่ ถ้าเรายึดคุณภาพ เราจะต้องมองลูกค้ากลุ่มไหนและอย่างไร
“ลูกค้าที่ซื้อหมวกของเรา เปิ้ลรู้สึกว่า เขาโชคดี เขาได้ของที่เกินราคามาก เราไม่ได้คิดจะเอากำไรเยอะ ๆ แต่สุดท้ายแล้ว ทุกคนต้องอยู่ได้ แล้วเราทำคนเดียวไม่ได้ เราอยู่กับสี่ห้าสิบชีวิต เราต้องยอมรับว่าต้นทุนต่อชิ้นจะต้องถูกคุมทุกอย่าง จะอยู่บนความถูกที่สุดที่เป็นไปได้ ณ เวลานั้น แล้วไม่มีคำว่าเราจะได้ราคาที่มากขึ้นนะ การที่เราจะวิ่งไปหาตลาด มันมีแต่คำว่าถูกได้อีกไหม กับอีกตลาดหนึ่งที่เรื่องราคาสมเหตุสมผล ความยากของตลาดนี้คือ ทำงานน้อยชิ้น ทำงานจุกจิก ทำงานยาก แพตเทิร์นใหม่ เปลี่ยนงานตลอดเวลา แต่เราจะไม่ต้องอยู่บนความกดดันที่ว่า “ถูกกว่านี้ได้หรือเปล่า” เราสามารถคุยกับลูกค้าได้ เพราะเรารู้สึกว่าตอนที่ช่วงทำงานมา
สิ่งหนึ่งที่เห็นเลยว่าลูกค้าที่ต้องการหาของถูก เขาก็มีความกดดันของเขา เขาก็จะส่งความกดดันนั้นมาหาเรา แต่ลูกค้าที่มองหาของที่สมราคาคุยกับเราด้วยเหตุและผล อันนี้คือคนที่เราอยากดีลด้วย ดีลแบบนี้แล้วรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า จริง ๆ ใจเราเลือกแล้วว่าจะมาในแนวทางนี้ ถ้าพนักงานและคนของเราไม่เลือกแนวทางนี้ เราก็ไปต่อไม่ได้
“เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ปลายทางนี้จะเป็นอย่างไร แล้วเราปักธงใหม่ว่า เราต้องรอด เริ่มจากการฟอร์มทีมก่อน จากพนักงานที่มีอยู่สี่ห้าสิบชีวิตก็หายไป คนที่อยู่คือคนที่ใช่ จากนั้นก็มาปรับสินค้าก่อนเลย เรารู้สึกว่าเราคือโรงงาน ถ้าเราไม่ปรับสินค้าเรา ทำแบบเดิมอยู่ ก็ต้องเอาเงินไปจ้างโรงงานอื่น แล้วเขาจะเข้าใจในงานของเราหรือเปล่า มันดูยาก ณ เวลานั้น
“โรงงานในเมืองไทยทั้งหมดเท่าที่เรารู้จัก เขาก็อยู่บนแนวทางธุรกิจเดิมแบบป๊าม้าที่เขาทำกันมา การที่จะมาทำงานยาก จุกจิก ทำร่วมกับดีไซเนอร์มีน้อยมาก เรารู้แล้วว่าเราต้องขายของที่แตกต่าง แต่การที่เราจะพัฒนาหนึ่งชิ้นกับหนึ่งโรงงาน ไม่มีใครทำให้เราหรอก ถ้าไม่ใช่ของเราเอง แม้แต่พนักงานเราเอง เราจะเปลี่ยนวิธีเย็บ เราจะเปลี่ยนวิธีตัดต่ออย่างนี้ เขาบอกว่าพี่อันนี้มันยาก เราก็บอกว่า แต่มันสวยกว่าใช่หรือเปล่า มันช้ากว่าใช่หรือเปล่า แต่มันเป็นไปได้ใช่หรือเปล่า อะไรแบบนี้ เขายังไม่อยากทำเลย จนเราต้องทำให้เขาเข้าใจ และปักธงไปในทิศทางเดียวกัน
การที่เราจะเดินไปเวย์คุณภาพ เราหลอกไม่ได้นะ เราต้องเป็นแบบนั้นจริง ๆ การที่เราจะบอกว่าเอาของที่ดีแค่นี้ ไปขายราคาแบบนั้นไม่ได้ เราก็ต้องทำตัวเราให้คุ้มกับราคาที่เขาจะจ่ายให้เรา เพราะฉะนั้นเราจะบอกทุกคนว่า “ถ้าวันหนึ่งเราเห็นหมวกใบนี้ ไปอยู่บนหัวของคนที่เรารัก เราจะรู้สึกภูมิใจไหม” “แค่ทำไปในสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันดี แล้ววันหนึ่งมันจะมาถึงเอง เราจะพยายามให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าในหมวก และมันจะเกิดเป็นความภาคภูมิใจว่าเขาทำหมวกแล้ว มีคนนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง รู้ไหมว่าสิ่งที่เราทำ มันมีคุณค่ามากกว่าที่เราเห็นนะ”
ทีมเป็นสิ่งสำคัญ
“ตัวเปิ้ลเองไม่มีความรู้ด้านศิลปะเลย แต่ชอบศิลปะอยู่ในตัว ต้องปรับสินค้าให้มีความหลากหลายขึ้น สินค้าที่มีอยู่เดิมก็เยอะแบบมาก ก็ต้องมีการตัดออกบ้าง ถ้าเราคิดจะทำแบรนด์จริง ๆ มันต้องกล้าที่จะตัดออกไปให้เหลือน้อยเท่าที่จำเป็นจริง ๆ แล้วมาสร้างคอลเล็กชั่นเพิ่มขึ้น
“เริ่มจากเหลือแต่ตัวที่ขายดีไว้ ประมาณ 30 แบบ แล้วมาจัดระบบใหม่ ด้วยศักยภาพหนึ่งของคนไทยและเราเองเราเชื่อว่าเราเป็นผู้ผลิตที่ดี แต่เรื่องของการออกแบบและการตลาดเราไม่เก่ง เปิ้ลจึงเลือกไปเรียนกับทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเขาเปิดอบรมให้กับผู้ประกอบการ SME เปิ้ลว่าดีมากนะ สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า เราเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเราจะคิดแบบโรงงานทั้งหมดไม่ได้ เราจะต้องหัดคิดในมุมของลูกค้าด้วยว่า ลูกค้าที่เราอยากได้เป็นใคร หาตรงไหน การพัฒนารูปแบบและดีไซน์ เปิ้ลจะสร้างทีมดีไซเนอร์ที่มีแพสชั่นเหมือนกัน เราต้องได้คนที่เขาเข้าใจเรา ซึ่งเปิ้ลโชคดีที่เจอดีไซเนอร์ที่มีแนวคิดเดียวกัน
“ดีไซเนอร์จะรู้เรื่องความสวยแบบไหนถึงขายได้ แต่เราจะรู้เรื่องว่าจะทำอย่างไรให้ความสวยนั้นเกิดขึ้นได้จริง เราเอาหลักการที่ได้จากการเรียนการอบรมมาใช้ในงานออกแบบ ออกคอลเล็กชั่นว่าเราจะต้องคิดและทำอะไรอย่างไร
“เราจะนำน้อง ๆ ที่เป็นฝ่ายขาย ดีไซเนอร์ นักการตลาด มาร่วมกันพูดคุยถึงสิ่งที่ชอบ ไม่ชอบ ฟีดแบ็กจากลูกค้าเป็นอย่างไร มาคุยกันแล้วกำหนดธีม ถึงออกคอลเล็กชั่นใหม่ เช่น ลูกค้าอยากได้ลายกุหลาบก็ต้องมาตีความแล้วว่า กุหลาบในแบบของ CAPTHAI คืออะไร หรืออย่างไร จนออกมาเป็น French Courtyard ลองทำตัวอย่างขึ้นมา หาข้อดี ข้อเสียกันหนักมาก เราจะหาความพอดีให้กับสินค้าของเราเราช่วยกัน เปิ้ลเชื่อว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ฉะนั้นเราช่วยกันคิดหมด”
จุดเด่นแคปไท
“คีย์หลักของ แคปไทย จะมี 3 อย่าง คือ ฟังก์ชั่น แฟชั่น อินโนเวชั่น
ฟังก์ชั่น เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทำไว้ดีอยู่แล้ว เขาขายฟังก์ชั่นการใช้งาน
แฟชั่น เรามาเติมแฟชั่นลงไป แต่แฟชั่นของเปิ้ลคือเติมความเป็นไลฟ์สไตล์เข้าไป มิกซ์แอนด์แมทช์ได้ ใช้ได้นานขึ้น ใช้ได้ตลอดเวลา กับทุก ๆ กิจกรรม
อินโนเวชั่น ตัวสุดท้ายเลย มาพร้อมกับวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิต หลัก ๆ คือสองตัวคือ ผ้าTyvek ที่ผลิตโดยบริษัทดูปองท์ ซึ่งเป็นผ้าที่ยังไม่มีใครนำมาใช้ทำหมวกแต่เรานำมาใช้ เราใช้ผ้านี้มาสามสิบปี เรารู้ว่าการเย็บผ้าชนิดนี้ ฝีเข็มต้องทำอย่างไ ข้อดีของผ้าชนิดนี้คือ สะท้อนแสง UV 99 % และน้ำหนักเบา เหมาะกับคนที่ชอบงานที่ยับ ๆ เป็นผ้าที่มีเสน่ห์ที่ความยับ ส่วนผ้าอีกชนิดหนึ่งคือ Bamboo Carbon ผสมเส้นใยไผ่ และพอลิเอสเตอร์ เนื้อผ้าผลิตจากการนำต้นไผ่ไปเผาเป็นถ่าน แล้วนำมาผสมเส้นใยเพื่อให้คุณสมบัติที่มันอยู่ในเส้นใย ปกติการกันยูวี กันแบคทีเรียจะเป็นการเคลือบ แต่ Bamboo Carbon จะอยู่ในเนื้อผ้าเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะซักล้างคุณสมบัติมันก็จะยังคงอยู่ แต่อาจจะจางลงได้ตามการใช้งาน ระบายอากาศได้ดี เหมาะนำมาผลิตหมวก ซึ่งผ้าทั้งสองชนิดนี้มีผลิตมาตั้งแต่ป่าป๊าทำโรงงาน”
เกือบสองชั่วโมงที่สนทนากันระหว่างผมกับคุณเปิ้ล ผมได้คำตอบแล้วว่า ทำไมขายหมวก แล้วขายใคร อย่างน้อยการพูดคุยครั้งนี้ก็ได้แง่คิด และวิธีคิดติดตัวกลับไปบ้าง แต่ผมก็ยังอดสงสัยไม่ได้ที่จะยิงคำถามสุดท้ายกลับไปให้คุณเปิ้ล “สิบปีนี้ให้บทเรียนอะไรบ้าง”
คุณเปิ้ลตอบกลับทันใด “สโลแกนของแคปไทคือ “Enjoy your life in the sunshine.” ถึงแม้ว่ามันจะร้อนแต่เราก็ยังสนุกกับมันได้ ดวงอาทิตย์มันต้องขึ้น และตกลงทุกวัน ไม่ว่าชีวิตมันจะมีช่วงมืด แต่อีกเดี๋ยวดวงอาทิตย์ก็ขึ้น เราก็ต้องเจอกับแสงสว่างนั้นอีก บทเรียนชีวิตคือเมื่อเราเจอแสงสว่างเราจะหาทางเจอ เมื่อไหร่ที่เราดาวน์ วันนั้นจะรู้สึกเลยว่าหนทางมันตัน แต่เราต้องตั้งสติ ตั้งโจทย์ให้ชัดว่าเราอยากได้อะไร”
EXPLORER: คุณเปิ้ล-พรทิพย์ ศรีสำราญ
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ศุภกร ศรีสกุล