เชียงราย เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ โดดเด่นด้วยศิลปะ วัฒนธรรม เอกลักษณ์เฉพาะตัว และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม
เวลาได้ยินคำว่า ‘เชียงราย’ สถานที่ท่องเที่ยวแรก ๆ ที่หลาย ๆ คนนึกถึงอาจเป็นภูชี้ฟ้า วัดร่องขุน หรืออุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แต่สำหรับการท่องเที่ยวเชียงรายในครั้งนี้ เราได้ร่วมเดินทางไปกับ ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และ ดร.วาสนา พงศาปาน ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร อพท. เพื่อเยี่ยมชมอีกด้านของเชียงราย ดินแดนแห่งความสมดุลระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ 55เมืองทั่วโลก โดย ยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี พ.ศ. 2566
เมื่อเดินทางไปถึง โครงการพัฒนาดอยตุง เราก็ได้สัมผัสกับความเย็น 17 องศาทันทีที่ก้าวลงจากรถ หลังเจอความร้อนมาตลอดทั้งปี เราทุกคนต่างโอบรับลมหนาวนี้ด้วยความอิ่มเอมใจ
Workshop ‘From trash to treasure: แปลงร่างฝาขวดพลาสติก’ เป็นกิจกรรมของโครงการพัฒนาดอยตุงที่น่าสนใจมาก กิจกรรมนี้เป็นการนำฝาขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ (upcycling) โดยการแปลงรูปเป็นพวงกุญแจ เราต่างตื่นตาตื่นใจกับภาพฝาขวดน้ำที่ผ่านการแยกสีและบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตรงหน้า พลางสงสัยว่าเราจะสร้างเครื่องประดับจากเศษพลาสติกเหล่านี้ได้อย่างไร
ขั้นตอนในการแปลงรูปพลาสติกนั้นไม่ยากอย่างที่เราคิด เราเพียงต้องนำเศษพลาสติกหลากสีเหล่านี้มาวางเรียงเป็นรูปร่างตามจินตนาการ จากนั้นนำกระดาษไขปิดผลงานของเราและใช้เตารีดวางทับเพื่ออาศัยความร้อนในการหลอมเม็ดพลาสติกแต่ละเม็ดเข้าด้วยกัน ใช้เวลาไม่กี่นาทีเราก็ได้เห็นผลงานที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างของตัวเอง ขั้นตอนสุดท้ายคือการใช้กรรไกรตัดตกแต่งตามใจชอบ ส่วนเศษพลาสติกที่เหลือจะถูกนำกลับไปใช้ซ้ำอีกครั้ง นอกจากจะได้เพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่หลายคนมองว่าไร้ค่าแล้ว กิจกรรมนี้ยังส่งเสริมให้ขุดค้นความคิดสร้างสรรค์ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเราออกมาใช้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้รู้สึกเหมือนได้สัมผัสถึงความเป็นเด็กในตัวเรา (inner child) อีกครั้ง วันนั้นทุกคนต่างได้พวงกุญแจติดไม้ติดมือกลับไปคนละพวง
ชุมชนบ้านผาหมี เป็นชุมชนเป้าหมายของ อพท.เชียงรายในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามเกณฑ์ CBT Thailand บนเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณี (Geopark) และเป็นชุมชนที่นำทุนทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์อาข่ามานำเสนอเป็นกิจกรรมท่องเที่ยว บ้านผาหมีรายล้อมไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของหมีควายจำนวนมาก เป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านผาหมี’ เมื่อถึงเขตชุมชนเราก็ได้แวะ ไร่ส้มธิดา ผาหมี เป็นสถานที่แรก ส้มและผลไม้ที่นี่เป็นผลผลิตจากการปลูกในดินที่เกิดจากรอยเลื่อนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง จึงทำให้มีรสชาติอร่อยกลมกล่อมเฉพาะตัว หลังเรียนรู้วิธีเก็บส้มเรียบร้อยแล้วเราก็ได้ลงมือเก็บส้มด้วยตัวเอง เป็นอีกครั้งที่เราได้ของติดไม้ติดมือกลับไปด้วย
กิจกรรมที่บ้านผาหมีไม่จบเพียงเท่านี้ หลังเพลิดเพลินจากการเก็บส้มชมไร่แล้วเราก็ไปเรียนรู้วิถีอาข่าซึ่งขึ้นชื่อเรื่องกาแฟกันที่ ร้านภูฟ้าซาเจ๊ะ และ ร้านกาแฟดอยผาหมี กันต่อ นอกจากกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว เรายังได้ร่วมกิจกรรมดริป กาแฟและรับประทานอาหารพื้นเมืองชาติพันธุ์อาข่าเป็นอาหารมื้อเย็นอีกด้วย
คุณผกากานต์ รุ่งประชารัตน์ หรือ พี่แมว ผู้เป็นเจ้าของร้านกาแฟดอยผาหมีและเป็นผู้นำวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนดอยผาหมีเล่าให้เราฟังว่า เธอกลับมาบ้านเกิดพร้อมกับความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่จะทำให้กาแฟดอยผาหมีเป็นที่รู้จักให้ได้ และความพยายามของเธอก็จุดประกายความเปลี่ยนแปลง เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาเยี่ยมเยือนบ้านผาหมีหลังเห็นสโลแกน ‘จิบกาแฟแลหน้าผา’ และ ‘กาแฟหลักสิบ วิวหลักล้าน’ ของทางร้าน
ชุมชนผาหมีเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 คนในหมู่บ้านต้องอาศัยการขายผลไม้ออนไลน์เพื่อประทังชีวิต จนกระทั่งปี พ.ศ. 2564 ทาง อพท. เข้าไปร่วมพัฒนาและช่วยสร้างความเข้มแข็งและความอุ่นใจให้กับชุมชนผาหมี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันการท่องเที่ยวกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่สำคัญของชุมชน มี Home Lodge สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแรมจำนวนหลายหลัง พี่แมวเล่าว่า “นอกจากกิจกรรมเก็บส้ม จิบกาแฟแลหน้าผา เรียนรู้วิถีอาข่า นักท่องเที่ยวบางส่วนก็ให้ความสนใจกับกิจกรรมเดินป่าเช่นกัน เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นฟู เป้าหมายหลักของชุมชนตอนนี้ก็คือการสร้างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อให้คนรุ่นลูกหลานสานต่อได้”
เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เชียงรายกันที่ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย ที่นี่นับว่าเป็นจุดเชื่อมต่อเรื่องราวทางศิลปะแก่ผู้ที่สนใจ เป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้กับประชาชน มีการจัดแสดงผลงานศิลปะมากมาย ทั้งผลงานของศิลปินแห่งชาติและศิลปินไทยที่มีชื่อเสียง รวมถึงผลงานที่บอกเล่าความงามของจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ประสานงานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ (UCCN focal point ของเชียงราย) อีกด้วย โดยมีการปรับชั้น 2 ของบ้านสิงหไคลฯ เป็นแกลเลอรีแสดงผลงานศิลปะ ส่วนบริเวณชั้นล่างเป็นร้านกาแฟและร้านอาหาร
ถัดมาเรานั่งรถบัสพลังงานไฟฟ้า (Go Go Bus) ชมพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจังหวัดเชียงราย โดยมี รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงผู้มีฐานะเป็น UCCN Main Communication Contact ของเมืองเชียงราย เป็นผู้นำชมและบรรยาย เราได้เยี่ยมชม ศาลากลางหลังแรกของจังหวัดเชียงราย สถาปัตกรรมแบบโคโลเนียลที่มีอายุกว่าร้อยปี ปัจจุบันไม่เปิดทำการเนื่องจากกำลังปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ภาพเชียงราย ต่อด้วย หอนาฬิกาเชียงราย ที่อาจารย์พลวัฒอธิบายให้เราฟังว่าเป็น ‘หอนาฬิกาที่กินได้’ เพราะเป็นจุดศูนย์รวมของคนในชุมชน มีการค้าขายและจัดกิจกรรมที่นี่มากมาย ว่าง่าย ๆ คือคนในชุมชนหากินจากหอนาฬิกานี้ได้นั่นเอง
Go Go Bus พาเราเคลื่อนผ่าน โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค โรงพยาบาลเอกชนเครือมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยที่รักษาประชาชนทุกคนอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมโดยไม่แบ่งชนชาติหรือศาสนา นอกจากนี้เรายังได้แวะเยี่ยมชม วัดพระธาตุดอยจอมทอง พระธาตุเก่าแก่ที่อยู่เคียงคู่มากับประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเชียงราย และศักการะ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ที่ประชาชนชาวเชียงรายร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพ่อขุนเม็งราย ผู้ก่อตั้งอาณาจักรเชียงรายในอดีต
เมื่อไปถึง พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เราได้ลอดซุ้มประตูโขงจำลองเพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของชาวล้านนาและได้ชมวัตถุทางวัฒนธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปราสาทธรรมาสน์รูปช้าง พับสาและใบลาน หรือก็คือสมุดบันทึกโบราณของกลุ่มคนในลุ่มแม่น้ำโขง เสื้อกันหนาวไทเขิน ฯลฯ โดยวัถตุส่วนใหญ่มาจากการได้รับบริจาค
อีกหนึ่งสถานที่ที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ ดอยดินแดง เครื่องปั้นดินเผา (Doy Din Dang Pottery) สวรรค์ของคนรักศิลปะเซรามิก เดินเข้าไปเพียงไม่กี่ก้าวเราก็ต้องร้องว้าวกับงานเซรามิกหลากสีและรูปทรงกว่าหลายสิบชิ้นที่วางเรียงอยู่ตรงหน้า แม้ที่นี่จะเป็นทั้งบ้าน สตูดิโอและโรงงาน บรรยากาศโดยรวมกลับเงียบสงบอย่างน่าประหลาด เรารู้สึกเหมือนหายใจได้เต็มปอดอีกครั้ง
สวรรค์ขนาดย่อมแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดย อ.สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินชาวเชียงรายชื่อดัง ผู้เรียนวิชางานปั้นจากศิลปินเซรามิกที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลากว่า 5 ปี และนำความรู้ที่ได้กลับมาผสมผสานศิลปะดั้งเดิมกับศิลปะวิถีเซนของญี่ปุ่น โดยเน้นใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติในท้องถิ่น
อาจารย์สมลักษณ์เล่าให้เราฟังว่า ตัวเขาไม่ได้รักการทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่แรก แต่ชีวิตนำพาให้จับพลัดจับผลูไปทำงานในโรงงานเครื่องปั้นดินเผาเป็นเวลากว่า 9 ปี และเป็นช่วงเวลาหลายปีนั้นที่ความรักต่อศิลปะแขนงนี้ค่อย ๆ ผลิบาน อาจารย์เสริมว่าศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยงผู้คน และ ‘วิถีชีวิต’ ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์ศิลปะของอาจารย์ สังคม มนุษย์ ต้นไม้ ดอกไม้ ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติล้วนสร้างแรงบันดาลใจได้ทั้งสิ้น เพราะศิลปะอยู่รอบตัวเรา
การวางแผนระยะยาวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ศิลปะคงอยู่ แน่นอนว่าในการสร้างความยั่งยืนก็ย่อมต้องมีการสืบทอด เมื่อเราถามอาจารย์ว่าศิลปินยุคปัจจุบันจะสามารถปลุกความเป็นศิลปินในตัวเยาวชนรุ่นใหม่ได้อย่างไร อาจารย์ให้คำตอบว่าเด็ก ๆ ต้องมีแบบอย่างที่ดี “ต้องมีใจแสวงหาและมีความมุ่งมั่น งานอาร์ตและคราฟต์ไม่มีทางลัด คุณเพียงต้องฝึกฝนให้ดี รู้ว่าหน้าที่ของคุณคืออะไร ถ้างานคุณดี คนรุ่นหนุ่มสาวก็จะศรัทธา นี่คือสิ่งที่มูฟสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ใช่ว่าศิลปะจะสำคัญอย่างเดียว อาชีพอื่นก็สำคัญ ผมว่าเราอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ เราอยู่ตามลำพังไม่ได้ ถ้าศิลปะอยู่โดยไร้ผู้คนก็หมดความหมาย”
แม้จะใช้เวลาทั้งวันไปกับการเยี่ยมชมหลาย ๆ สถานที่เราก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อาจเป็นเพราะเราต่างรอคอยไฮไลต์ของวันนี้ นั่นก็คือ งานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย (Chiang Rai Flower and Art Festival 2024) นั่นเอง โดยปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “The Magic Garden” เปิดให้เยี่ยมชมระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2567 – 5 มกราคม 2568 ณ สวนไม้งามริมน้ำกก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
ข้อดีของการเข้าร่วมงานในช่วงกลางคืนก็คือเราได้เพลิดเพลินไปกับความสวยงามของดอกไม้นานาพันธุ์ท่ามกลางอากาศเย็น ๆ และตื่นตาตื่นใจไปกับแสงสีเสียง ยิ่งไปกว่านั้น เรายังมีโอกาสได้ชมการแสดงจากเยาวชนในกิจกรรม Chiang Rai Talent อีกด้วย แอบเสียดายที่ไปทันแค่การแสดงสุดท้าย เพราะความสามารถของน้อง ๆ ทำเราตื่นตาตื่นใจไม่แพ้แสงสีเสียงในงานเลย เมื่อเดินชมบรรยากาศภายในงานจนหนำใจแล้วเราก็เดินต่อไปยังโซน Food Truck และได้พบกับอาหารละลานตาบนเส้นทางถนนคนเดิน หากใครสนใจจับจ่ายสินค้านอกเหนือจากอาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชนและไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายสายพันธุ์ก็มีวางจำหน่ายเช่นกัน
วัดร่องเสือเต้น เป็นอีกที่ที่สร้างความประทับใจให้กับเรา ด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสะดุดตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมทั้งการใช้เฉดน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทองอร่ามสวยงามตระการตาในแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ความงดงามนี้สร้างสรรค์และออกแบบโดย นายพุทธา กาบแก้ว หรือ สล่านก ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ ชื่อวัดดังกล่าวมีที่มาจากสมัยบริเวณวัดยังเป็นพื้นที่รกร้างและมีสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะเสือ ชาวบ้านมักเห็นเสือกระโดดข้ามร่องน้ำไปมา ก็เลยเรียกบริเวณนี้ต่อ ๆ กันมาว่า ‘ร่องเสือเต้น’
เราจบทริปสามวันในเชียงรายที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย (Chiangrai Contemporary Art Museum) ที่ซึ่งเราได้ชมนิทรรศการจดหมายเหตุฉบับประชาชน “มหาอุทกภัยเชียงราย 2567 (Chiangrai Disaster Archives 2024)” นิทรรศการที่รวบรวมผลงานจากศิลปินทั่วประเทศ มีตั้งแต่ภาพวาดไปจนถึงเรียงความ ถือเป็นการจดบันทึกประวัติศาสตร์ ถอดบทเรียนและฟื้นฟูจิตใจหลังเหตุภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย
โซนห้องแสดงที่รวบรวมตุ๊กตาและของเล่นที่ครั้งหนึ่งเคยมีเจ้าของแต่ถูกน้ำพัดไปติดอยู่ตามจุดต่าง ๆ สร้างความสะเทือนใจให้เรามากที่สุด ภายในห้องกระจกมีข้อความที่เขียนไว้ว่า “Nature always selects memories for us. Many things got destroyed. Many things are left to admire. Even though they are not perfect, there are still enough traces to remember.” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ธรรมชาติมักเลือกความทรงจำให้เราเสมอ หลายอย่างถูกทำลาย หลายอย่างถูกทิ้งไว้ให้เชยชม แม้จะไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่ก็ยังเหลือเศษเสี้ยวให้เก็บไว้ในความทรงจำ”
การมาเชียงรายครั้งนี้ทำให้เราได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นของคนในพื้นที่ในการพัฒนาเชียงรายให้เป็นเมืองที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เชียงรายเป็นดินแดนแห่งความสร้างสรรค์ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า “หากวัฒนธรรมเข้มแข็ง ธรรมชาติก็จะคงอยู่”
EXPLORERS: เพลง , จี๊ด
AUTHOR: เพลง-พิมพ์มาดา ทองสุข (นักศึกษาฝึกงาน)
PHOTOGRAPHER : จี๊ด-ฤทธิรงค์ จันทองสุข