Type and press Enter.

เข้าป่าตามหาควาย ที่บ้านห้วยพ่าน

เคยคิดไหมว่า การเดินป่าที่สนุกและเกิดประโยชน์เป็นอย่างไร

ด้วยความที่ชอบธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ พื้นที่สีเขียวและการเดินป่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปี 2024 เราได้มีโอกาสไปสำรวจเส้นทางเดินป่าใหม่ในภาคเหนือ โดยมีโจทย์อยู่ภายในใจตัวเองว่า ต้องเป็นการเดินป่าที่มีประโยชน์ที่มากกว่าความสุขของตัวเอง…ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

บ้านห้วยพ่าน
บ้านห้วยพ่าน
บ้านห้วยพ่าน

หลังจากที่ได้มีโอกาสติดต่อกับคนรู้จักที่ฝังตัวพัฒนาชุมชนอยู่ในจังหวัดน่าน สอบถามถึงความเป็นอยู่ของชุมชน วิถีชีวิตที่คนในชุมชนดำเนินกันอยู่ทุกวันรวมถึงวิถีชีวิตในแต่ละฤดูกาล

“พอหน้าฝนชาวบ้านก็ไม่ได้ทำอะไรมาก พอปลูกข้าวเสร็จพวกเขาก็เข้าป่าไปตามหาควายอาทิตย์ละครั้งเท่านั้นเอง” คำบอกเล่าจากการพูดคุยถึงวิถีชีวิตในชุมชนในช่วงฤดูฝนทำให้เราสะดุดกับประโยคที่ว่า “เข้าป่า ตามหาควาย”

ด้วยความสงสัยของคนเมืองที่อยากรู้ว่าทำไมควายถึงไปอยู่บนป่าบนเขา ก็อดไม่ได้ที่จะถามเหตุผลต่อ

“พอหน้าฝน ชาวบ้านปลูกข้าวนาขั้นบันได เขาก็จะพาวัวพาควายขึ้นเขาเข้าป่าไปกินพืชกินผักในป่าแทน วัวควายจะได้ไม่มากินข้าวที่ชาวบ้านปลูก”

จากประโยคบอกเล่า เหตุและผลทั้งหมดก็เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จะทำให้คนที่ชื่นชอบการเดินป่าอย่างเรา อดไม่ได้ที่จะต้องไปสัมผัสประสบการณ์การตามหาวัวหาควายในป่าแบบชาวบ้านสักครั้ง จึงเกิดการนัดหมายเพื่อที่จะเข้าไปสัมผัสสิ่งที่ชาวบ้านเป็น และวิถีที่ชาวบ้านดำรงอยู่อย่างแท้จริง

ชุมชน บ้านห้วยพ่าน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน คือจุดหมายปลายทางที่เรื่องราวที่เกริ่นไปทั้งหมดรออยู่ จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อยู่ติดป่า พึ่งพาป่าและอนุรักษ์ป่าเป็นวิถีที่สืบกันต่อกันมา…

“พี่ริท” ลูกชายผู้ใหญ่บ้าน และ “พี่การ์ฟิลด์” ผู้ที่ฝังตัวกับชุมชนและพัฒนาชุมชนมามากกว่า 5 ปี เป็นผู้มารับถึงสนามบินและพาเดินทางตรงเข้าสู่ชุมชน ด้วยระยะเวลาการเดินทาง 1.30 ชม. โดยประมาณก่อนที่จะถึงที่หมาย

เป็นเวลามากพอที่จะทำให้บทสนทนาระหว่างการเดินทางเป็นไปอย่างลื่นไหล และมากพอสมควรที่พอจะให้คิดได้ว่า คนบ้านห้วยพ่านทั้งเป็นมิตรมากๆ และคนรุ่นใหม่ในชุมชนพร้อมที่จะเดินหน้าพาบ้านเกิดของตัวเองพัฒนาสู่จุดที่ดีกว่าเดิมด้วยการท่องเที่ยว

บ้านห้วยพ่าน

แม่น้ำน่านสีน้ำตาลที่ไหลผ่านกลางชุมชน สะพานไม้ และสะพานแขวนข้ามฟากกลางหุบเขาเป็นไม่กี่เส้นที่เชื่อมระหว่างชุมชนกับโลกภายนอก เป็นจุดขายและเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปในเวลาเดียวกัน หลังจากที่เก็บของเข้าที่พักก็ได้มีโอกาสเดินชมชุมชนพูดคุยพร้อมกับเครื่องดื่มต้อนรับกับกลุ่มคนรุ่นใหม่อยู่ช่วงระยะหนึ่ง

สิ่งที่สัมผัสได้จากการพูดคุยเพื่อวางแผนการสำรวจเส้นทางตามหาวัวควาย คือการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่รวมตัวกันนั้นไม่ใช่การรวมตัวเพื่อสังสรรค์หรือทำเรื่องไร้สาระ แต่หากเป็นการรวมตัวกันหลังเลิกงานประจำวันเพื่อที่จะวางแผนกันเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านเกิดช่างเป็นภาพและความรู้สึกที่พิเศษอย่างบอกไม่ถูก สื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและสามัคคีกันของชุมชนก่อนที่จะแยกย้ายกันไปพักผ่อน

บ้านห้วยพ่าน

09:45 น. สัมภาระและเสบียง ถูกเตรียมขึ้นรถกระบะคันเดิมเพื่อที่จะไปส่งยังจุดเริ่มต้นของการขึ้นเขาเพื่อเดินป่าตามหาควาย “เถียงนาผู้ใหญ่สมบูรณ์” คือจุดที่รถกระบะจอดเพื่อส่งลงหลังจากที่เดินทางมาจากชุมชนประมาณ 15 นาที

ทางชันระดับประมาณ 15 – 20 องศาตลอดระยะทาง 500 เมตร คือส่วนแรกของอุปสรรค์ในการเข้าป่าหาควาย หลังจากเดินมาได้เพียง 200 เมตรท่ามกลางป่าเขียวชอุ่มในช่วงต้นฤดูฝน

บ้านห้วยพ่าน
บ้านห้วยพ่าน

ไกด์ชุมชน “พี่ริท” อาจจะได้ยินถึงเสียงหอบเบาๆ ของชาวคณะ จึงเกิดเป็นประโยคคำถามขึ้นว่า “เอาไม้ค้ำมั้ย?” ก่อนที่ทุกคนจะตอบตกลงและก็ได้ไม้ไผ่ความยาวประมาณ 1 เมตรมาคนละไม้เพื่อพยุงร่างกายให้เอาชนะความชันต่อไปได้

“เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านจะใช้สำหรับพาวัวพาควายที่เป็นทรัพย์สินเพียงไม่กี่อย่างของพวกเขาเข้าป่าให้มันหากินเองตามธรรมชาติ และจะตามเข้ามาดูอาทิตย์ละครั้งเผื่อว่ามันจะเป็นแผลจากอันตรายต่างๆตามธรรมชาติ จะได้รักษาทันอาการ” คำบอกเล่าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนจากไกดชุมชน

“แล้วเราจะรู้ได้ไงว่ามันอยู่ไหน” คำถามจากหนึ่งในคณะผู้สำรวจเส้นทาง

“ชาวบ้านเขาจะเรียกมันด้วยคำเฉพาะ แล้วควายมันจะจำเสียงเจ้าของมันได้ แต่บางครั้งถ้าไม่เจอก็ต้องหาที่นอนในป่าเพื่อรอวันถัดไปในการหาอีกเรื่อยๆ เหมือนกับการเสี่ยวดวง”

เสียงตะโกนเรียกเป็นระยะในป่า “เอ๊อะ ๆ” คือเสียงที่ใช้สำหรับการเรียกหาควายตามวิถีชาวบ้าน จากคำบอกเล่าของไกด์ชุมชน

บ้านห้วยพ่าน

หลังจากเดินเท้ามาตลอดระยะเวลาประมาณ 2 ชม. ผ่านป่าไม้พุ่มเล็ก ๆ ไปจนถึงป่าเบญจพรรณต้นไม้สูงใหญ่ หยุดพักบ้างในบางจุด เราก็ได้เจอกับสิ่งปลูกสร้างบ้าน ๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปางลุงมาศ” คำว่า “ปาง “ ในภาษาเหนือคือที่พักกลางป่า ซึ่งเป็นที่ที่พวกเราจะหยุดพักเพื่อทานอาหารกลางวันจากเสบียงที่เตรียมมา

บ้านห้วยพ่าน
บ้านห้วยพ่าน
บ้านห้วยพ่าน

กลิ่นควันหอมจากการย่างหมู ย่างเนื้อ ตำน้ำพริก หรือทำแกงเผ็ดหมูในกระบอกไม้ไผ่ตามวิถีชาวบ้าน เป็นวิถีที่น่าหลงไหลและสื่อให้เห็นถึงการอนุรักษ์ป่าแบบใช้สอยเท่าที่จำเป็นที่ชาวบ้านสื่อออกมาผ่านวิถีชีวิตได้เป็นอย่างดี ประกอบกับทำเลที่ตั้งของปางลุงมาศ ที่อยู่ในพื้นที่ราบและเห็นวิวตลอดเส้นทางที่ได้เดินขึ้นมาได้เป็นอย่างดี ทำให้หายเหนื่อยได้ระดับหนึ่งจากทั้งวิวและกระแสลมที่พัดผ่านไป

บ้านห้วยพ่าน
บ้านห้วยพ่าน
บ้านห้วยพ่าน
บ้านห้วยพ่าน

หมูย่าง น้ำพริก และแกงที่ทำกันแบบบ้าน ๆ กลางป่า ใส่เครื่องปรุงเท่าที่มี กลับอร่อยอย่างบอกไม่ถูกเมื่อได้กินกลางป่าจากกรรมวิธีดั้งเดิม เป็นพลังงานชั้นดีที่ทำให้พร้อมลุยสู่จุดถัดไป

บ้านห้วยพ่าน

“เอ๊อะๆ ๆ ๆ” เสียงเรียกควายของชาวคณะตลอดทางเดินหลังจากหยุดพักกลางวัน ด้วยความหวังที่จะเจอควายซักตัวหนึ่งตามที่ชาวบ้านเขาหากัน แต่ตลอดทางกลับเจอเพียงรอยเท้า หรือร่องรอยขี้ควายที่เป็นหลักฐานได้ชัดที่สุดว่ามีควายอยู่แถวนี้จริงๆ

“บวก” แอ่งน้ำและโคลนเล็กๆ ที่ควายชอบลงไปแช่เล่นก็พบเห็นได้ตลอดทาง ยิ่งเพิ่มความรู้สึกในการอยากเจอตัวเจ้าทุยบนเขาสักตัวราวกับว่าควายพวกนี้เป็นคนมีชื่อเสียงก็คงจะไม่ผิด แต่เสียงตะโกน “เอ๊อะๆ” ก็ยังคงมีไปเป็นระยะตลอดทางเนื่องจากไม่มีการปรากฎตัวของเจ้าทุยเลยสักตัว

บ้านห้วยพ่าน

16:00 น. ระยะเวลาเดินกว่า 2.30 ชม. จากจุดพักกินข้าวถึงจุดตั้งแคมป์ “ปางป่ามะราง” ผ่านผืนป่าเขียวและต้นไม้ใหญ่มากมายก่อนจะถึงจุดหมายที่ว่ากันว่าจะมีควายมาพักที่นี่ในตอนเช้า

ไกด์ชุมชนและทีมงานก้มๆ เงยๆ แวะเก็บเห็ดถอบตลอดทาง ด้วยเหตุผลที่ว่ามีรสชาติที่อร่อยและราคาสูง อยากจะให้ลองได้ชิม จึงเกิดเป็นเมนูหลามเห็ดป่า ตามวิถีบ้านๆ ที่ไม่ได้ปรุงอะไรมากมายแต่อร่อยจนแทบหยุดกินไม่ได้

บ้านห้วยพ่าน

บวกกับหมูย่างที่เหลือในตอนเที่ยง เพียงเท่านี้ก็ได้มื้อเย็นที่แสนอร่อยและอยู่ท้องตามวิถี ก่อนที่ชาวคณะจะผูกเปล กางเต็นท์ พูดคุยสังสรรค์ และแยกย้ายกันเข้านอนท่ามกลางอากาศเย็นสบาย

07:00 น. เสียงของทีมงานไกด์ชุมชนที่ตื่นมาเตรียมอาหารเช้าให้ชาวคณะเป็นเสียงที่สามารถดึงความสนใจมากพอที่จะทำให้ทุกคนตื่นมาพร้อมกัน พูดคุยยามเช้า จิบกาแฟ กินอาหารเช้าร่วมกันและพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน

สัมภาระ เครื่องนอน เสบียง ถูกเก็บเข้ากระเป๋าเพื่อพร้อมสำหรับการเดินทางกลับออกจากป่า แต่ยังคงไร้วี่แววของควายที่หวังใจไว้ว่าจะมาเจอ ก่อนที่จะเดินทางต่อเพื่อกลับไปยังชุมชน

บ้านห้วยพ่าน

ระหว่างการเดินกลับอย่างเผื่อใจ คิดไว้ว่าทริปนี้ดวงคงไม่เข้าข้างเราในการเจอควาย จู่ๆ เสียงกระดิ่งจากกระบอกไม้ที่กระทบกันหลายเสียงดังแว่วมาจากปลายทางข้างหน้า ทำให้อดตื่นเต้นไม่ได้ว่าเสียงที่ได้ยินจะเป็นอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า เพียงไม่กี่ก้าวหลังจากที่ได้ยินเสียงกระดิ่งไม้ไผ่ภาพของฝูง “วัว” ก็ปรากฎให้เห็นตรงหน้า

ภาพของฝูงวัว 6 – 7 ตัวยืนกินพืชอยู่ตรงหน้าท่าทีหวาดระแวงคนแปลกหน้า เพียงเท่านี้ก็ทำให้ชาวคณะรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก ขนาดนี่เป็นเพียงแค่วัวแท้ๆ ถึงแม้ไม่ใช่ควายอย่างที่เราตามหาและเห็นร่องรอยตลอดเส้นทาง แต่มันก็เป็นความรู้สึกที่มีความสุขมากๆ ซึ่งต่างจากการที่ได้เห็นวัวตามถนนทั่วไปโดยสิ้นเชิง

“อะ เอาเกลือให้มันกิน” พี่ริทยื่นถุงเกลือให้พร้อมสาธิตการให้เกลือวัว และอธิบายว่า “ชาวบ้านจะพกเกลือขึ้นมาให้พวกมันกิน เพราะบนเขาพวกมันได้กินแต่พืชกินแต่หญ้า มันจะขาดไอโอดีนและอาจป่วยได้”

การป้อนเกลือให้วัวในครั้งจึงทำให้รู้สึกได้ว่า อย่างน้อยวัวในฝูงนี้ก็ได้รับไอโอดีนจากเราไปบ้างแล้วแหละ อาจจะช่วยดูแลทรัพพย์สินของพวกเขาไปได้บ้างไม่มากก็น้อย เกลือในมือหมดไปพร้อมกับความสุขในตัวเองที่เพิ่มจนถึงขีดสุด มีกำลังเดินต่อด้วยกำลังความสุขจากภายในไปจนสุดทาง

ลำห้วยเล็กๆหลายสายตามหุบเขาไหลรวมกันจนเกิดเป็นลำธารต้นน้ำห้วยพ่าน ที่มาของชื่อชุมชน เป็นจุดที่ต้องเดินตามลำน้ำไปประมาณ 2 ชม. เพื่อกลับเข้าชุมชน

บ้านห้วยพ่าน

หลังจากลงมาจากเส้นทางบนภูเขาแล้ว ตลอดเส้นทางลำธารห้วยพ่านจะเป็นโขดหินลำธารในป่า เดินไม่ยากถ้ายอมเปียก แวะพักทำอาหารกลางวันริมน้ำตกกลางป่าจากปู ปลา และกุ้งตลอดเส้นทางที่เจอ ก่อกองไฟ ทำอาหารกลางวันมื้อเล็กๆ กินกันท่ามกลางบรรยากาศความสมบูรณ์ของป่าก่อนกลับเข้าถึงชุมชน ชำระร่างกาย พักผ่อนประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนจะต้องอำลาชุมชน

บ้านห้วยพ่าน

“ธันวา เป็นต้นไปน้ำใสมาดำปลาด้วยกันได้ ในเดือนมีนามีงานดำปลา ไว้กลับมาหากันได้อีกนะ” คำเชิญชวนจากชุมชนที่แสนอบอุ่นก่อนจากกัน ฟังดูเหมือนคำพูดของเพื่อนสนิทหรือญาติๆ ที่พร้อมต้อนรับเราตลอดเวลา

ทริปนี้ประโยชน์ที่ได้เห็นอย่างชัดเจน คือ ค่าใช้จ่ายในชุมชนทุกๆ บาทที่เราเสียไปได้กระจายไปสู่คนในชุมชนอย่างแท้จริง ได้สร้างอาชีพเสริมให้คนในชุมชนเป็นไกด์เดินป่า แทนการที่ต้องเข้าไปหาควายแบบเสี่ยงดวงและเสียโอกาสในการทำรายได้ หรืองานอื่นๆ ได้สนับสนุนค่าที่พักให้กลุ่มแม่บ้าน และยังได้สนับสนุนกองทุนการดูแลป่าชุมชน มันทำให้ได้คำตอบของโจทย์ที่ตั้งคำถามในตอนต้นแล้วว่า การเดินป่าที่สนุกและเกิดประโยชน์เป็นอย่างไร…

EXPLORERS: ริว และสแนร์
AUTHOR: ริว-ธนวัตน์ กลางประพันธ์
PHOTOGRAPHER: สแนร์-สุธีรภัทร เหลืองสินศิริ