หากเราต้องการท่องเที่ยวไปในจังหวัดไหนสักจังหวัดหนึ่ง การเริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนับว่าเป็นไอเดียที่ดี ที่จะทำให้เราพบเจอกับสิ่งน่าสนใจ หรือสถานที่แปลกใหม่นอกเหนือจากสถานที่ที่เราเคยรู้ และครั้งนี้ก็เช่นกัน พวกเรา EXPLORERS CLUB ได้มีโอกาสไปสำรวจจังหวัดอุทัยธานี แล้วก็พบว่านอกเหนือจากธรรมชาติที่สวยงามแล้ว อุทัยธานี จังหวัดนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย

การได้มาเยี่ยมชมที่ “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี” ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการเสร็จภาระกิจหลัก แล้วมองดูนาฬิกาเห็นว่าพอมีเวลาเหลือ ด้วยความอยากรู้ว่า “ตัวเมืองอุทัย” ตรงไหนมีที่น่าสนใจให้ไปเยี่ยมเยือนบ้าง จากการถามอากู๋(Google) ก็พบว่ามีหลายที่ แล้วต้องขอยอมรับว่าเราคงไปทุกที่ไม่หมดเลยต้องอาศัยการ “สุ่ม” จากสิ่งที่ค้นเจอ แล้วเราก็สะดุดตากับรูปอาคารเรือนไม้หน้าตาโบราณเข้าให้ พอได้เห็นเท่านั้นแหละก็รู้เลยทันทีว่าที่นั่นเราไม่ควรพลาด


ภายใต้อาคารเรือนไม้เก่าแก่ ในอดีตเคยเป็นโรงเรียนสตรี เบญจมราชูทิศจังหวัดอุทัยธานี ที่เกิดจากความตั้งใจของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงรับสั่งให้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น จนมาสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 และเริ่มมาเปิดตัวเป็นพิพิธภัณฑ์ใน พ.ศ. 2515 ซึ่งตัวอาคารเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะฝ้า ประตู บันได พื้นกระดาน รวมถึงเสาธง ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบเดิมในสมัยอดีต แค่ตัวอาคารเองก็มีเรื่องเล่าขนาดนี้แล้ว พวกเราก็อดใจไม่ไหวที่จะเข้าไปสำรวจกันต่อ


คุณนัท ชัยรัตน์ คงเพ็รชศักดิ์ เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้นำชมเริ่มพาเราออกสำรวจกันไปทีละห้อง ซึ่งในแต่ละห้องจะเล่าเรืองราวที่น่าสนใจของอุทัยธานี ตั้งแต่เรื่องราวของคุณสืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณูปการต่อวงการอนุรักษ์ และป่าไม้ของไทย เรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุคโบราณ ไปจนถึงยุคที่เมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงมีการพัฒนา จัดแสดงข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างน่าตื่นเต้น


ที่เราบอกว่าน่าตื่นเต้นนั้นไม่เกินจริง ใครจะไปคิดว่าจะมีหลุมศพและโครงกระดูกของมนุษย์โบราณของจริงที่มีอายุราว 1,500 – 2,000 ปีอยู่ที่ชั้นสองของอาคารนี้ นั้นคือสิ่งที่สันนิษฐานได้ว่าเมืองอุทัยธานีในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีมนุษย์อาศัยอยู่แล้ว ซึ่งเห็นได้จากอีกหลักฐานที่เป็นเครื่องยืนยันในภาพเขียนสีโบราณที่ เชิงเขาปลาร้า อำเภอลานสัก ที่แสดงเป็นภาพคน และวัวประดับชุดทรงเครื่องคล้ายกับการทำพิธีกรรมบางอย่าง รวมถึงข้าวของเครื่องใช้โลหะที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม


ที่รู้ว่าทำเกษตรกรรมได้ก็เพราะว่ายังปรากฏเศษข้าวเปลือกติดอยู่นั่นเอง แล้วแบบนี้จะไม่ให้พวกเราอ้าปากค้างกับความอะเมซิ่งเหนือความคาดหมายได้อย่างไร ใครจะไปคิดว่ามันมีสิ่งเหล่านี้ซ่อนอยู่ภายใต้อาคารไม้เก่าแบบนี้



ต้องบอกว่านี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นกับเรื่องราวความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ยังมีหลักศิลาจาลึกภาษาปัลลวะ จากพุทธศตวรรษที่ 11 อีกนะเธอ…และ ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ยังมีกี่ทอผ้าโบราณจากชาว “ลาวครั่ง” ชาวชาติพันธุ์ท้องถิ่น ที่บนกี่มีผ้าที่ยังทอค้างไว้ไม่เสร็จอายุร้อยกว่าปีอีก เรียกว่ายกมาทั้งกี่แบบที่มีผ้าติดอยู่คงความดั้งเดิมแบบไม่รู้จะดั้งเดิมยังไงแล้ว หากคุณได้มาที่นี่จริง ๆ จะได้เห็นกับตาว่ามันมีสิ่งที่คุณต้องประหลาดใจอีกมากมาย



เรื่องราวต่าง ๆ ถูกอัดแน่นเต็มพื้นที่ผสมกับการบรรยายที่เข้าใจง่ายทำให้การมาเยี่ยมชมที่นี่สนุก พร้อมได้ความรู้เพิ่มเติมไปด้วย ถ้าหากจะให้พวกเราบอกเล่าถึงเรื่องราวในแต่ละห้อง ก็คงไม่ต่างจากการทำหนังสือหนึ่งเล่ม เรียกว่าการใช้เวลาในหนึ่งชั่วโมงของที่นี่เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองอุทัยธานีในแบบฉบับย่อ กระชับ เข้าใจง่าย และสนุกมาก

การมาเยือนที่นี่ทำให้เราได้รู้ว่าหากเราต้องการทำความรู้จักกับบ้านไหนเมืองไหนสักที่ การเริ่มต้นจากมาท่องเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นคือประสบการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย จนทำให้คิดว่าหากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศได้รับการพัฒนา และผลักดันให้ความสำคัญ และนำเสนอในรูปแบบที่น่าสนใจเพิ่มเติมมากขึ้น การที่ได้เรียนรู้รากเหง้าของตัวเองอาจทำให้เราได้เข้าใจสังคมเรามากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาที่ดี ไม่ทำอะไรผิดพลาดซ้ำซากอยู่เรื่อยก็ได้….
หากคุณได้มีโอกาสมาท่องเที่ยวที่จังหวัดอุทัยธานี พวกเราอยากให้คุณได้มาเยี่ยมชมที่นี่ และลองตระเวณเที่ยวไปให้ทั่วเมือง จะพบว่าตัวเมืองอุทัยธานีมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มากมาย และมีอาหารอร่อย ๆ น่ากินอีกมากมายหลายร้าน การใช้ชีวิตสักสองวันหนึ่งคืนในเมืองนี้ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดี และได้เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ไม่เลวเลยทีเดียว
ขอบคุณพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดหมายการเยี่ยมชมได้ที่
FB : พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี
โทร. 056-514-525
EXPLORERS : ตู่, บาส
AUTHOR / PHOTOGRAPHER : บาส – บดินทร์ บำบัดนรภัย
