Type and press Enter.

นภเกตน์ ลิ้มธนะกิจ “นักเรียนเปรียบเสมือนครูของเรา”

นภเกตน์ ลิ้มธนะกิจ

บ้านและสวน Explorers Club คุยกับ ครู แอปเปิ้ล – นภเกตน์ ลิ้มธนะกิจ ครูสอนดำน้ำระดับ PADI Master Instructor, PADI Freediving Instructor ผู้ก่อตั้ง Dive Team Thailand คู่ชีวิตของครูหลุยส์-ราชันย์ มาลัยวงศ์ ถึงบทบาทการเป็นครู บทบาทด้านการอนุรักษ์ และแง่คิดที่ได้จากการดำดิ่งลงไปสำรวจความงามของโลกใต้ทะเล ซึ่งในวันนี้ความกลัวที่เคยเกิดขึ้นหมดไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ครั้งแรกที่ ครูเปิ้ล นภเกตน์ ลิ้มธนะกิจ เริ่มดำน้ำจริงจัง เป็นช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะเกิดสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2547 แม้เธอจะไม่ได้เป็นผู้เคราะห์ร้ายอยู่ในเหตุการณ์นั้นก็ตาม แต่ภาพการสูญเสียในครานั้นกลับกลายเป็นผลข้างเคียงทำให้เธอไม่กล้าลงสำรวจใต้ทะเลลึกอีกเลยนานนับ 10 ปี

ครูเปิ้ล

จากคนกลัวทะเลและไม่ได้วางแผนจะเป็นครูสอนดำน้ำมาก่อน แต่การได้เห็นคู่ชีวิตของเธอสอนนักดำน้ำมืออาชีพอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ก็ทำให้เธอค่อย ๆ ซึมซับความเป็นมืออาชีพจากคนต้นแบบของการเป็นครูที่ดี และกลายเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอตัดสินใจกลับมาดำน้ำอีกครั้ง

ครูเปิ้ล

“สิ่งที่เราชอบที่สุดก็คือเวลาสอนดำน้ำ เราจะคิดว่าการสอนนักเรียนคืองานศิลปะ เราอยากวาดให้นักเรียนแต่ละคนให้เป็นแบบไหน เราก็สามารถวาดได้ สามารถปลูกจิตสำนึกในการดำน้ำได้ตั้งแต่เริ่มต้นในสระ หรือว่าลงทะเล เราเป็นคนค่อนข้างเนี้ยบกับนักเรียน เพราะอยากให้เขาจบออกไปแล้วดำน้ำได้ดีในแบบที่เราเป็น แต่เราก็ต้องเป็นแบบอย่างให้เขาด้วยนะ ไม่ใช่ว่าบอกให้เขาทำอย่างไร แต่เราไปทำอีกแบบนอกเหนือจากที่สอนเขาก็ไม่ได้ ทุกวันนี้เราก็ยังดำน้ำเหมือนคนดำน้ำแบบเบสิก อุปกรณ์ก็ยังใช้เหมือนพวกเขา (นักเรียน) อยู่ เพราะว่าถ้าเราอยากให้เขาทำตามแบบไหน เขาก็จะทำตามแบบเราโดยที่เราเป็น”

“เราเคยสอนเด็กคนหนึ่งที่เขามีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ช้า ตอนแรกพ่อแม่เขาไม่อยากให้เรียนเพราะกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย เราก็ถามว่า ลองไหม ถ้าชอบ อยากให้ลอง เพราะถ้าเรียนแบบตัวต่อตัวกับครูมันมีความปลอดภัยสูงมาก มันมีความลึกกำหนดอยู่คือไม่เกิน 12 เมตร ถ้าเขาลองลงสระแล้วเขาทำสกิลเบื้องต้นได้ เราก็ให้เขาค่อย ๆ ลงไปช้า ๆ แต่การไปกีดกันเลยว่าเขาไม่ควรทำ เราคิดว่ามันไม่เหมาะ เพราะถ้าเขาทำได้ มันจะเพิ่มความมั่นใจให้เขา”

ครูเปิ้ล นภเกตน์

“พอเราเริ่มสอนเขา เขาก็ทำสกิลได้นะแต่ก็ช้ากว่าเด็กปกติ ข้อดีคือน้องเขาไม่แพนิก เขาฝึกดำจนกระทั่งเลเวลเขาเพิ่มขึ้นจนสามารถที่จะดูแลตัวเองได้มากขึ้น แล้วทำให้เราเองก็ได้เรียนรู้ว่า ถ้าฝึกจริง ๆ ทุกอย่างมันไม่มีอะไรที่คนตั้งใจจะทำแล้วทำไม่ได้ แต่ว่าต้องใช้เวลาฝึก ฝึกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาทำได้ดี เราเลยมองว่ามันเป็นเรื่องของการทำบ่อย ๆ ทำประจำ แล้วก็ไม่มีเขตกั้นว่าใครเหมาะ ใครไม่เหมาะ แค่ชอบ แค่อยากลองก็ทำได้อย่างไรก็ทำได้ เราถึงบอกว่า นักเรียนทุกคนคือครูของเราอีกที เพราะมันจะมีเคสที่ทำให้เวลาเราไปเจอเคสเหล่านี้ในอนาคตแล้วเราสามารถแก้ไข หรืออธิบายเขาได้ง่ายขึ้น นักเรียนทุกคนเป็นครูของเรา”

ครูเปิ้ล

“ถ้าเราปลูกฝังเขา (นักเรียน) ตั้งแต่เริ่มแรกว่า เมื่อไปถึงให้เราดูอย่างเดียว ชื่นชมอย่างเดียว ทำความเข้าใจในธรรมชาติของสัตว์ต่าง ๆ อย่างเดียว เราเก็บมาแค่ภาพ เราปล่อยทิ้งแค่บับเบิ้ล พวกเขาก็จะเป็นอย่างนั้น เราจะแทรกเรื่องการอนุรักษ์เข้าไปในการสอนตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น นักเรียนหลาย ๆ คน เมื่อเขาเริ่มดำน้ำแล้ว ถ้าเขามีสกิลที่ดี เราก็จะเริ่มให้ Net bag กันคนละอันเพื่อเก็บขยะใต้ทะเล เราจะบอกว่าอันไหนเก็บได้ อันไหนเก็บไม่ได้ แล้วกลับขึ้นมาเอาขยะนั้นมาเทรวมกัน”

“ถ้าเกิดเราปลูกฝังนักดำน้ำที่ถึงแม้จะเป็นแค่ Recreational dive (การดำน้ำแบบสันทนาการ) ปลูกฝังให้มีจิตใจอนุรักษ์ไปด้วย เขาก็จะมีความอนุรักษ์ไปด้วย แล้วที่เราชอบมาก ๆ คือการสอน Junior open เด็กความกลัวเขาจะน้อยกว่าผู้ใหญ่เยอะมาก แล้วเขาจะมีจินตนาการสูง จะสนุกมากแม้บางครั้งเขาไม่เห็นอะไรเลย”

ครูเปิ้ล นภเกตน์

“หรือกระทั่งผู้ปกครองที่มากับเด็กมักจะกลัวน้ำแรง กลัวฝน จะคอยซักคอยถามว่าจะเจอคลื่นลมไหม เราก็จะบอกเสมอว่า มีทุกอย่างแน่นอนค่ะ ทุกอย่างมันอยู่ในธรรมชาติ แต่เราเช็คได้ และสามารถหลีกเลี่ยงที่เราจะลงไปในเวลานั้นได้ เราจะให้ผู้ปกครองเข้าร่วมด้วย ผู้ปกครองส่วนใหญ่เขาเห็นลูกดำน้ำได้ก็ยิ่งจะสนุกไปด้วย ยิ่งเรามีการปลูกฝังเรื่องอนุรักษ์กับเด็ก ๆ เขาจะยิ่งมีแรงส่งต่อเรื่องนี้ไปได้ไกลมากขึ้น เมื่อเขาไปบอกเพื่อน ๆ หรือผู้ปกครองของเขา”

“หรือแม้กระทั่ง Dive Team Thailand เอง เราจะมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเก็บขยะในทะเลและตัดอวนอยู่บ่อยครั้ง แต่เราจะเกณฑ์นักดำน้ำมืออาชีพเสียส่วนใหญ่เพราะมันอาจเกิดอันตราย การอนุรักษ์ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องไปเก็บขยะ ขั้นเริ่มต้นแค่เราไม่ทำและไม่ทิ้ง อย่างเด็ก ๆ อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าขยะแบบไหนควรเก็บหรือไม่ควรเก็บ เพราะบางครั้งขยะมันกลายเป็นบ้านของสัตว์ทะเลไปเรียบร้อยแล้ว”

ครูเปิ้ล นภเกตน์

“มีคนไปเก็บแล้วถามว่าครูเปิ้ลจัดบ่อยไหม เรามักจะตอบว่าจริง ๆ แล้วเรื่องการเก็บขยะมันไม่ได้นับว่าจัดบ่อยหรือสร้างเป็นกิจกรรม เราต้องบอกว่าทุกครั้งที่เราลงไปแล้วเราเจอในสิ่งที่เราสามารถเก็บขึ้นมาได้ เราก็ควรที่จะเก็บขึ้นมา แต่ก็ต้องดูด้วยว่ามันเป็นขยะเก่าหรือขยะใหม่”

และเมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวแบบมีจิตสำนึกที่นอกจากเราจะตระหนักถึงเรื่องนี้แล้ว Seiko เองยังได้ร่วมมือกับ PADI และมูลนิธิ PADI AWARE Foundation ในโครงการ Marine Debris Program เพื่อกำจัดขยะทะเล (marine debris*) อีกด้วย โดย Seiko จะช่วยบริจาครายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนาฬิกาในคอลเลกชั่น Seiko Prospex Save the Ocean (ไซโก พรอสเป็กซ์ เซฟ ดิ โอเชียน) เพื่อมอบให้กับกลุ่มนักดำน้ำที่กำลังทำหน้าที่กำจัดและรายงานสถานการณ์ขยะที่อยู่ใต้ท้องทะเล เพื่อทำความสะอาดและป้องกันเศษซากขยะในทะเล และทำให้โลกของมหาสมุทรสะอาดและมีสุขภาพดีขึ้น โดยมีความคิดริเริ่มในการดำเนินการตามเป้าหมาย Sustainable Development Goal 14 เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน

ครูเปิ้ล

ครูสอนดำน้ำระดับ PADI Master Instructor อย่างครูแอปเปิ้ลเองก็ไม่พลาดที่นำ PADI Iconic อย่าง Seiko Prospex “SUMO” PADI Special Edition : SPB181J มาด้วยในวันนี้ SUMO PADI เรือนนี้นำเสนอจิตวิญญาณแห่งการดำน้ำขนานแท้ มาพร้อมความสวยงามของสีน้ำเงินและแดงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก PADI และเป็นครั้งแรกที่ตัวเรือนแบบ ”ซูโม่” จะได้รับการประทับตราสัญลักษณ์ PADI ลงไปบนหน้าปัด ขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติ 6R35 สามารถสำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมง ทนทานแข็งแรงด้วยตัวเรือนและสาย Stainless Steel ที่มีบานพับแบบพิเศษขยายขนาด เพื่อนักดำน้ำโดยเฉพาะ เสริมความแข็งแกร่งขึ้นอีกขั้นด้วยกระจกหน้าปัด Sapphire Crystal พร้อมประสิทธิภาพการกันน้ำระดับมืออาชีพ ที่พาครูแอปเปิ้ลลงไปสำรวจโลกใต้น้ำได้ลึกอย่างที่ต้องการ

ครูเปิ้ล

การคุยกับครูแอปเปิ้ล เป็นการเดินทางมาถึงนักดำน้ำคนที่ 10 คนสุดท้ายของโปรเจ็กต์พิเศษที่บ้านและสวน Explorers Club และ Seiko Thailand ชักชวนนักดำน้ำทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ของเมืองไทย 10 ชีวิต มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการสำรวจท้องทะเลลึกในอีกมุมมอง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก และชวนชาว Explorers ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเล็ก ๆ ไป Save The Ocean พร้อมกับพวกเขาอีกแรง ในการปกป้องรักษาแนวปะการังใต้ผืนทะเลให้ยังคงงดงามและน่าค้นหาต่อไปหลังจากนี้

ครูเปิ้ล นภเกตน์

อ่านบทสัมภาษณ์ย้อนหลังของนักท่องโลกใต้น้ำทั้ง 10 คน ได้ทาง Facebook: บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand

[ EXPLORER ]
ครูแอปเปิ้ล
ภาพถ่ายครูเปิ้ล: Pachara Sangchai (Palm)
ภาพถ่ายใต้น้ำ: ครูเปิ้ล Napaket Limthanakit , Ploy (Scott) Malaiwong , Por Natwaranthorn & Chaiwat Niwetmarin , Paul Wongcharatrawee
ชวนคุย: เฟี้ยต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *