‘อุโมงค์มหาราช’ ทางลอดใต้ดินสั้น ๆ ถึงพระบรมมหาราชวังช้ากว่าเดินข้ามทางม้าลายนิดหน่อย แต่ปลอดภัยและอุ่นใจกว่า แถมยังมีพิพิธภัณฑ์ให้ชมระหว่างทาง
หนึ่งวันให้หลังกรุงเทพมหานครเปิดใช้งาน ‘อุโมงค์ทางลอดถนนมหาราช’ หรือ ‘อุโมงค์มหาราช’ เป็นครั้งแรก เหล่านักสำรวจจากบ้านและสวน Explorers Club ได้ชวนกันลงพื้นที่ไปลองใช้งานจริง พร้อมเก็บภาพพิพิธภัณฑ์ภายในอุโมงค์ที่จัดแสดงภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์กลับมาแบ่งปันกันชมด้วย
อุโมงค์ทางลอดถนนมหาราชนั้นเป็นทางเดินลอดใต้ดินลึกลงไป 4.7 เมตรจากผิวถนน โดยมีบันไดเลื่อนคอยอำนวยความสะดวกในการขึ้นและลงทั้ง 2 จุด คือ ประตูทางออก 1 ฝั่งด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน และประตูทางออก 2 ฝั่งท่าเรือท่าช้าง บริเวณด้านหน้าตึกแถวนีโอคลาสสิกสีเหลืองริมถนนมหาราช
ภายในอุโมงค์มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 1,150 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น โถงทางเดินยาว 90 เมตร พื้นที่จัดแสดงส่วนพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ของเมืองในเกาะรัตนโกสินทร์ อาทิ ภาพผังแสดงแนวสันนิษฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี ภาพป้อมอนิทรรังสรรค์และกำแพงเมืองในอดีต ภาพป้อมเผด็จดัสกรและอาคารทิมแถวในอดีต เรื่อยไปจนถึงภาพในอดีตของถนนหน้าพระลานที่มองเห็นกำแพงพระบรมมหาราชวังและวังท่าพระสูงตระหง่านสองฝั่งถนน
นอกจากนี้ยังมีห้องน้ำชาย จำนวน 15 ห้อง ห้องน้ำหญิง จำนวน 20 ห้อง ไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย ส่วนพื้นที่อื่น ๆ อย่างเช่น งานภูมิทัศน์โดยรอบก็ยังอยู่ในระหว่างการปรับพื้นที่และทำความสะอาดให้เรียบร้อยใสนขั้นตอนสุดท้าย รวมถึงยังมีการก่อสร้างลิฟต์โดยสารและอุโมงค์ทางเดินลอดอีก 2 จุด คือ อุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลาน จุดตัดระหว่างถนนหน้าพระธาตุ กับถนนหน้าพระลาน ระยะทาง 96 เมตร และอุโมงค์ทางเดินลอดบริเวณด้านหน้าที่ทำการไปรษณีย์ไทย สาขาหน้าพระลาน ระยะทาง 37 เมตร อ้างอิงจากเพจผู้ว่าฯ อัศวิน ระบุว่า การก่อสร้างทั้งสองส่วนคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ตามมาในช่วงเดือนพฤษภาคม และกรกฎาคมนี้ ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้คือโครงการที่สำนักการโยธา เริ่มดำเนินการก่อสร้างขึ้นในระหว่างที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ได้ปิดให้บริการชั่วคราวช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นต้นมา โดยจุดมุ่งหมายในการสร้างขึ้นนั้นก็เพื่อเป็นการจัดระเบียบการจราจร และเพิ่มความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ใช้ถนนและทางเท้าบริเวณท้องสนามหลวง และพระบรมมหาราชวัง ที่คาดว่าอาจมีจำนวนมากกว่าสามหมื่นคนต่อวัน
หลังจากพวกเราได้ลองใช้งานจริงแล้วพบว่า อุโมงค์มหาราชมีการออกแบบให้สามารถใช้งานได้ค่อนข้างสะดวกสบาย บริเวณประตูทางออก 2 นั้นเชื่อมต่อถึงท่าเรือท่าช้างที่กำลังปรับปรุงใหม่ได้ง่ายขึ้น ใกล้ขึ้น หรือใครจะเดินต่อไปยังท่าพระจันทร์ และท่าเตียนก็ง่ายดาย
แม้ในด้านหนึ่งเมื่อเราลองเทียบกับการเดินมาจากท่าพระจันทร์แล้วใช้ทางม้าลายบริเวณจุดตัดระหว่างถนนมหาราช กับถนนหน้าพระลาน ข้ามจากฝั่งท่าเรือท่าช้าง ผ่านริมรั้วหอสมุดวังท่าพระ ก่อนข้ามต่อไปยังฝั่งพระบรมมหาราชวัง หรือแม้กระทั่งลองเดินมาจากท่าเตียนแล้วข้ามทางม้าลายจากฝั่งท่าช้างไปยังฝั่งพระบรมมหาราชวังโดยตรง ต่างก็ใช้เวลาเร็วกว่าเดินลอดอุโมงค์ก็ตาม
แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการจราจรในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นไม่ใช่ช่วงเวลาเร่งด่วน ประกอบกับมีการปิดถนนหน้าพระลาน และถนนหน้าพระธาตุบางช่วงเพื่อทำการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด รวมถึงในช่วงเวลานี้จำนวนนักท่องเที่ยวยังมีไม่มากมายนัก เป็นปัจจัยสำคัญในกรณีนี้
แต่เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จทั้งหมด เราเองก็เชื่อว่าอุโมงค์ทางลอดทั้ง 3 จุดน่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากเดิมที่นักท่องเที่ยวมีทางเลือกเพียงทางเดียวคือต้องเดินข้ามทางม้าลายไปยังพระบรมมหาราชวังเท่านั้น นอกจากนี้ เพจผู้ว่าฯ อัศวิน ยังไขคำตอบถึงข้อถกเถียงที่ว่า ‘บันไดเลื่อนกลางแจ้งปลอดภัยแค่ไหน’ ว่าเป็นบันไดเลื่อนที่มีระบบความปลอดภัยอุ่นใจได้ เพราะมีทั้งเครื่องป้องกันน้ำและรางระบายน้ำภายในเฉกเช่นบันไดเลื่อนที่ต่างประเทศนิยมใช้กันมากในทางขึ้นลงสถานีรถไฟใต้ดิน
แต่ไหน ๆ ได้จัดระเบียบให้เมืองและทางข้ามสวยงามทั้งที พวกเราก็แอบคาดหวังให้กรุงเทพมหานครจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยและสร้างทางเท้าในพื้นที่ให้เดินง่ายไม่แอดอัด และเก็บรักษาต้นไม้เดิม ๆ เอาไว้คอยให้ร่มเงาไปพร้อมกันด้วย
[ EXPLORERS ]
บาส, จ๋อม, เฟี้ยต