คุยกับ โอม – อนวัช เพชรอุดมสินสุข อดีตสถาปนิกหนุ่มวัย 28 ปี ที่ผันตัวมาเป็นช่างภาพถ่ายรูปอาหาร และใช้ภาพอาหารสะท้อนสารพันปัญหาของกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องไปบล็อกช็อต หรือหาโลเกชั่นถ่ายรูปที่ไหนไกล แค่เดินไปปากซอยหน้าบ้านก็เจอเกือบครบ!
เมื่อค่ำวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เวลา 22:33 น. โอมได้อัพโหลดชุดภาพถ่ายสตรีทฟู้ดเสียดสีสภาพแวดล้อมของเมืองกรุงลงในอัลบั้ม ‘BKK StreetxFood’ ในเฟซบุ๊คส่วนตัวของเขา และเพียงชั่วข้ามคืนหลังจากนั้น อัลบั้มดังกล่าวก็ถูกแชร์เป็นไวรัลจนยอดขึ้นไปแตะระดับ 1.1 หมื่นครั้ง ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน
ชุดภาพถ่ายของโอม มีทั้งภาพอาหารกับเสาไฟและบังเกอร์ริมทางเท้าแบบใกล้ชิดติดถนน ภาพการเสียดสีไรเดอร์ (บางคน) ที่มักขี่รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปบนทางเท้า ประหนึ่งว่านี่เป็นทางลัดของพวกเขาเวลาไปส่งอาหาร เรื่อยไปจนถึงภาพการวางหมูปิ้งลงบนฝาท่อที่โอมต้องการสื่อว่า ในบางครั้งท่อระบายน้ำกลับส่งกลิ่นเหม็นจนกลบกลิ่นหอมของอาหารไปเลยก็มี
แต่ที่เจ็บไปว่านั้น ปฏิบัติการค้นหาโลกเกชั่นถ่ายภาพอาหารเชิงสร้างสรรค์ให้สะท้อนปัญหาเมืองกรุงเทพฯ ของโอมไม่ต้องไปหาที่ไหนไกลเลย แค่เดินออกไปปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 1 ก็จะพบฝาท่อที่เก็บงานแบบขอไปที หรือเดินไกลออกไปในย่านใกล้ ๆ อาทิ ป้ายรถเมล์เก่าใกล้แยกไฟฉาย จนถึงทางม้าลายใกล้โรงเรียนวัดอมรินทราราม ที่เดินข้ามไปก็เจอรั้วขวางเสียอย่างนั้น!
แม้ความคิดสร้างสรรค์ของโอมจะมองแล้วชวนให้หัวเราะ (ทั้งน้ำตา) แต่โอมบอกว่า มันคือ Dark Jokes เวอร์ชั่น Krungthep Mahanakorn ดี ๆ นี่เอง แต่ความแสบของเขาอีกอย่าง คือการแท็กโพสต์นี้ไปยังเพจ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อมทิ้งท้ายว่า “ฝากด้วยครับ” ป่านนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 คงอาจจะได้เห็นแล้ว (กระมัง)
โอมบอกว่า สิ่งที่เขาทำมันก็ไม่ต่างกันกับการร้องทุกข์ผ่านแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาของเมืองอย่าง Traffy* Fondue สักเท่าไร
“ผมแท็กเพราะอยากกวนนิดหน่อยด้วยแหละ”
ความห่วยแตกของปากซอยหน้าบ้าน ที่โอมใช้อาหารเป็นองค์ประกอบหนึ่งในภาพ
“ปกติเวลาถ่ายงานจ้าง มันจะชอบมีคอนเซ็ปต์สตรีทฟู้ด เช่น มีเก้าอี้แดง มีเครื่องปรุง มีแผ่นสังกะสีที่มันใหม่มาก ๆ มันก็จะวน ๆ อยู่แค่นี้ แม้ผมจะรู้สึกว่ามันไม่จริง แต่ก็เข้าใจได้ เพราะมันเป็นภาพถ่ายเพื่อการโฆษณา เป็นแค่คอนเซ็ปต์ที่ไม่ได้ต้องการความเรียลขนาดนั้น”
“เพียงแต่ผมอยากลองทำเวอร์ชันย่ำแย่ดูบ้าง เพราะเราเดินถนนทุกวันก็เห็นว่ามันพังไปหมด แล้วพอเลือกทำเวอร์ชั่นนี้ ความย่ำแย่มันเด่นชัดมากจนไม่สามารถใช้อาหารเป็นพระเอกของรูปได้ อาหารในรูปเลยเป็นแค่ส่วนช่วยขยายความของปัญหา”
“ผมก็คิดขึ้นมาว่าอยากจะพูดเรื่องปัญหาอะไร แล้วอาหารอะไรที่จะมาอธิบายเรื่องนั้นได้ รูปที่ชัดที่สุดอย่างรูปหมูปิ้งบนฝาท่อระบายน้ำ ภาพปกติมันต้องอยู่กับตะแกรงปิ้งย่างควันหอมโชย รูปนี้ผมต้องการพูดเรื่องการกินอาหารริมทางที่มีกลิ่นท่อตีขึ้นมาระหว่างกิน บวกกับแอบพูดเรื่องการทำรางท่อตัว V ที่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม”
“ไอเดียรูปนี้เกิดจากที่ผมเจอส่วนตัวเลย คือผมนั่งกินข้าวที่ร้านอาหารแถววังหลัง ข้าง ๆ โรงพยาบาลศิริราช ร้านมันตั้งอยู่ข้างท่อน้ำ ต่อให้อาหารอร่อยแค่ไหน พอได้กลิ่นท่อตีขึ้นมามันจุกเลยนะ และเชื่อว่ามันไม่ได้มีแค่ที่ศิริราชที่เดียว”
เสียดสีปัญหาของเมืองที่ยังแก้ไม่ตก มาทำให้ตลกชวนขำทั้งน้ำตา
“ผมนั่งลิสต์ออกมาก่อนว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่พอเป็นไปได้ในการถ่ายรูป แล้วก็ไปเดินดู ไปบล็อกช็อต และเลือกถ่ายตอนเที่ยง เพราะกรุงเทพฯมันร้อนมาก ผมอยากได้มู้ดแบบร้อน ๆ แดดลงตรง ๆ แต่ก็มีแฟลชช่วยด้วย”
“ที่ใช้แฟลชเพราะผมอยากให้มีแสงที่มันดูเซ็ตขึ้นมา ไม่ใช่แค่แสงธรรมชาติที่เราเห็นทั่วไป เพื่อให้ความรู้สึกของความจริงกับการเซ็ตมันสลับไปมาในรูป เชื่อมไปถึงเนื้อหาของรูปที่มันดูจริง (สถานที่) และไม่จริง (อาหาร) รวมถึงอยากให้ภาพมันออกมาเป็นมู้ดคล้าย ๆ การถ่ายภาพเพื่อโฆษณา ที่มันเต็มไปด้วยความปลอมเป็นปกติอยู่แล้ว”
“เช่นภาพถ่ายชี้นิ้ว ผมได้แรงบันดาลใจมาจากโพสต์หนึ่งของเพจสำนักงานเขตราชเทวีเมื่อสองปีที่แล้ว เป็นโพสต์อัลบั้มภาพที่เจ้าหน้าที่เขตไปยืนชี้จุดที่ต้องซ่อมบนถนน มันจะมีรูป Before กับ After ซึ่งรูป Before มันจะเป็นหลุมลึกลงไป ส่วนรูป After จะมียางมะตอยนูนปูดขึ้นมา ตอนนั้นคนก็แชร์โพสนี้ไปด่ากันสนุกปาก ว่าทำแล้วมันแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ”
“มันเป็นเหมือน Norm ปกติทั่วไปของข้าราชการที่มักไปยืนตรง ชี้นิ้วกับอะไรสักอย่าง ผมก็เลยกวน เอามือที่ประดับนู่นนี่ที่แสดงความรู้สึกร่ำรวยหรูหราที่สื่อว่าปกติเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนหอคอยงาช้างเหล่านี้ไม่มาเดินใช้ถนน หรือทางเท้าเน่า ๆ แบบนี้หรอก ถ้าเขาใช้จริงมันคงได้รับการแก้ไขไปแล้ว ไม่ต้องไปยืนชี้และซ่อมได้ห่วยแตกแบบนี้แน่นอน”
“ภาพไรเดอร์ก็คล้าย ๆ Dark Joke ผมนึกถึงไรเดอร์สักหน้ายักษ์ ที่เขาขับมอเตอร์ไซค์ไปชนคนบนทางเท้า แล้วยังไปต่อยเขาอีก ผมรู้สึกเศร้ากับกรุงเทพฯ รูปนั้นไม่ได้พูดถึงแค่ไรเดอร์ หรือมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้าอย่างเดียว แต่พูดถึงคนพิการด้วยที่เขาต้องเหยียบเบรลล์บล็อก ซึ่งมันติดตั้งได้แย่มาก ไม่ได้ช่วยนำทางเลย”
ตั้งโต๊ะจิ้มจุ่มบนฟุตบาท ประหลาดตรงไหน
นอกจากนี้ โอมยังยกประเด็น กินจิ้มจุ่มตอนกลางวันแสก ๆ กับกินจิ้มจุ่มบนฟุตบาทขึ้นมาถ่ายทอดเป็นภาพโต๊ะริมทาง พร้อมตั้งคำถามว่าแบบไหนรู้สึกแปลกกว่ากัน
“ถ้าให้เลือกรูปจากอัลบั้มนี้ รูปไหนเป็นสตรีทฟู้ดของกรุงเทพฯ มากที่สุด ผมจะเลือกจิ้มจุ่ม รูปอื่นมันเป็นดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่รูปจิ้มจุ่มมันเป็นการร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนที่ทำให้มันย่ำแย่ ในความรู้สึกแรกของผม คิดว่ากินจิ้มจุ่มตอนเที่ยงมันแปลก แต่กินบนทางเท้าไม่แปลก เพราะเราเห็นร้านจิ้มจุ่มบนทางเท้าจนชินไปแล้ว แต่จริง ๆ สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าทำมันผิด และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็ละเลย สุดท้ายความละเลยมันก็กลายเป็นปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกไม่รู้จบ”
แล้วคุณล่ะ จากรูปถ่ายของโอมที่นำไปสู่การตั้งคำถามว่า “ระหว่างกินจิ้มจุ่มตอนเที่ยง กับกินจิ้มจุ่มบนทางเท้า อันไหนแปลกกว่ากัน?” คำตอบของคุณเป็นแบบไหน
#365ohmanawat วันละภาพ วันละมีม
โปรเจ็กต์ ‘BKK StreetxFood’ ของโอมนั้นผุดขึ้นมาในระหว่างที่เขากำลังทำโปรเจ็กต์หลักอย่าง ‘365ohmanawat’ โดยการโพสต์ภาพถ่ายอาหารที่ถ่ายขึ้นในสตูดิโอถ่ายภาพที่โอมปรับปรุงมาจากพื้นที่ชั้น 2 เดิมของบ้านคุณแม่ บางส่วนที่เคยกั้นแบ่งทำเป็นห้องเช่า โดยลงวันละภาพในเฟซบุ๊คและอินสตาแกรมของเขาติดต่อกันจนครบ 365 วัน ซึ่งเดินมาค่อนทางแล้วในขณะนี้ (โอมเพิ่งจะโพสต์ภาพถ่ายลำดับที่ 286 ไปเมื่อประมาณ 24 ชั่วโมงที่แล้ว)
365ohmanawat คือภาพถ่ายอาหารที่ผ่านการจัดแสงในสตูดิโออย่างจริงจัง ประหนึ่งงานแอดเวอร์เทอเรียลเพื่อการโฆษณาที่ว่าจ้างโดยลูกค้าจริง ๆ แต่เปล่าเลย มันเกิดขึ้นเพราะความตั้งใจจะทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จเป็นรูปธรรมของตัวโอมเองต่างหาก
“เรื่องหนึ่งที่ทำให้มี 365ohmanawat ขึ้นมา คือตั้งแต่เกิดผมรู้สึกว่าผมไม่เคยทำอะไรสำเร็จเลย” โอมให้เหตุผล
“เวลาเราชอบหรืออินกับอะไรสักอย่าง มันจะอินได้ไม่นานแล้วก็เลิกไป พอมันมีความรู้สึกนี้ขึ้นมา เลยอยากหาอะไรที่มันท้าทายตัวเอง แต่จะไม่ทำเยอะ เพราะตอนที่อินเราจะไม่หลับไม่นอนเลย แต่ถ้าเรายังต้องท้าทายตัวเองทุกวันอย่างต่อเนื่อง มันก็น่าจะมีอะไรที่ทำให้เราประสบความสำเร็จได้”
“ตอนทำโปรเจ็กต์นี้ ผมไม่เคยประกาศล่วงหน้าว่าจะทำ ผมถ่ายรูปวันแรกแล้วลงเลย เพราะผมกลัวว่าพูดไปแล้วจะทำไม่สำเร็จ ด้วยความที่มันลงโซเชียล ถ้าไม่มีใครไลค์เลยมันมีผลกับใจเรานะ ไม่มีใครชอบงานเราเลยเหรอ? (หัวเราะ) แต่พอมันมีคนมาไลค์ แม้ว่าจะไม่เยอะ เราก็ดีใจแล้ว พอทำไปได้เรื่อย ๆ สักวันที่ 50 ผมเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องทำแล้ว มันกลายเป็นกิจวัตรไปแล้ว ไม่มีความกดดันเลย”
หลายภาพใน 365ohmanawat เห็นแล้วชวนให้เราอมยิ้มตามในความช่างคิด เช่น ภาพลำดับที่ 230 ทาเล็บด้วยน้ำพริกเผาเจ้าดัง ที่โอมเขียนแคปชั่นว่า “สวยด้วยแซ่บด้วยลองทาเล็บด้วยน้ำพริกสิ เชื่อแม่” หรือว่า ภาพลำดับที่ 233 แปรงสีฟันอาบยาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อสูตรเย็น เป็นต้น
เหนื่อยบ้าง สต๊อกบ้าง
ก็มีบ้าง หลายวันที่โอมเหนื่อย และเป็นวันที่เขาคิดไอเดียไม่ออก บางทีต้องถ่ายภาพเป็นสต็อกเก็บไว้ แม้ส่วนใหญ่เขาจะชอบถ่ายแบบวันต่อวันมากกว่าก็ตาม
โอมบอกว่า “ตอนแรกที่เริ่มทำจะคิดว่าห้ามมีสต็อก แต่เพราะมันมีบางวันที่ต้องไปต่างจังหวัด ผมก็ต้องถ่ายสต็อกไว้ ซึ่งถ่ายสต็อกนั้นยากกว่าถ่ายแบบวันต่อวันอีก เพราะมันต้องคิดไอเดียเผื่อไว้ล่วงหน้า สมมติไปต่างจังหวัด 4 วัน เราก็ต้องถ่าย 4 รูปใน 1 วัน แล้วต้องคิด 4 ไอเดียด้วยตัวคนเดียว พอเจอแบบนี้มันก็ท้าทายตัวเองไปอีกแบบ มันกลายเป็นความรับผิดชอบ มันต้องทำ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะขาดหายไป”
โอมยังบอกอีกว่า บางภาพก็มีต้นทุนสำหรับค่าพร็อพ แต่ไม่เยอะมาก ของบางอย่างเดินหาในตลาดก็พบ และส่วนใหญ่โอมจะเอาของจากในร้านขายของชำของแม่มาใช้ แต่ก็มีบางภาพเช่นกันที่ต้องลงทุนถึง 400-500 บาท ทว่าเรื่องการหาของนั้นก็ไม่ค่อยยาก เพราะสามารถซื้อของออนไลน์ และได้ของประหลาด ๆ มาในราคาไม่แพง แต่ที่ยากกว่าคือตอนถ่ายทำ
โอมเล่าว่า “บางครั้งเราอยู่หลังกล้องไม่ได้ ต้องไปเป็น Hand Talent เอง ส่วนใหญ่จะตั้งเวลา หรือเอื้อมไปกดชัตเตอร์ หรือดู Live View ผ่านจอ แล้วบางทีมันไม่ใช่รูปที่ต้องถือนิ่ง ๆ มันต้องมีจังหวะเทน้ำ แต่เราก็เป็นแฮนด์ด้วย กดกล้องด้วย มองจอด้วย”
เหลือไม่ถึงร้อย
เหลือไม่ถึงร้อยที่ว่า ไม่ใช่ยอดไลค์ หากหมายถึงลำดับภาพจากทั้งหมด 365 ภาพ แต่กระนั้นโอมก็บอกว่า “ถ้าเทียบ 365ohmanawat กับ BKK StreetxFood ที่ตอนแรกคิดว่าคงต้องมีคนแชร์อยู่บ้าง แต่ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนั้น มันเป็นไวรัลเราก็ดีใจ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่านี่คือการประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าผมจบโปรเจ็กต์ 365ohmanawat ได้จะรู้สึกดีใจกว่า”
“ยอดไลค์แต่ละภาพในเฟซบุ๊กไม่เยอะมาก ผมรู้สึกว่า Reach มันไปได้ไม่ไกล แต่ในไอจีคนจะชอบภาพเยอะกว่า และแฮชแท็กมันไปได้ไกลกว่า ไลค์เยอะที่สุดน่าจะ 1,000-2,000 คน ต่อโพสต์ แต่มันไม่ใช่ประเด็นหลัก ต่อให้ได้ 5 ไลค์ หรือ 10 ไลค์ เราก็พอใจแล้ว ไลค์มันทำหน้าที่หล่อเลี้ยงจิตใจให้เราทำโปรเจคนี้ในช่วงแรกๆ ซึ่งตอนนี้หน้าที่มันจบลงไปแล้ว ทุกวันนี้เป้าหมายของผมคือทำโปรเจ็กต์ให้จบแค่นั้นเลย”
จุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยน
จากสถาปนิก สู่ช่างภาพ โอมยังเล่าย้อนให้ฟัง ไปถึงช่วงเวลาที่เขาสมัครไปเป็นโฟร์แมน หลังจากเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“เรียนมา 5 ปี ทำงานอยู่ได้ 4 เดือน แต่ผมไม่เอาสถาปัตย์ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 3 ผมไม่ชอบการออกแบบมานานแล้ว รู้ตัวว่าไม่รอดแน่ ๆ แต่ตอนนั้นที่เลือกไปทำรับเหมา เพราะเราอยากรู้ดีเทลการก่อสร้าง ไม่ได้อยากออกแบบ แล้วมันก็ได้เรียนรู้จริง ๆ แต่ตอนนั้นสภาพมันแย่ งานหนัก เงินเดือนน้อย เลยไม่เอาดีกว่า”
“รอยต่อระหว่างเป็นช่างภาพกับสถาปนิก เริ่มจากมีเพื่อนผมคนหนึ่งคือ ทัด (ประทัด-ธนพงษ์ พิสิฐสิฬษ์ แห่ง patadfoodstylist) เขาทำสถาปนิกอยู่ประมาณ 3 เดือน แต่อยากเป็น Food Stylist ทัดลาออกก่อนผม ทุกวันนี้ผมยังไม่เข้าใจเลยว่าทำสถาปนิกอยู่ดี ๆ ทำไมถึงอยากไปเป็น Food Stylist แล้วเขาดูมีความรู้มากเลยนะ”
“ตอนนั้นผมขอไปทำงานกับทัดเพราะอยากเป็นช่างภาพ แต่ก่อนหน้าที่จะเรียนมหาวิทยาลัย ผมเริ่มถ่ายภาพตอน ม.6 ระหว่างนั้นก็ถ่ายไปเรื่อย ๆ มีการรับกล้องฟิล์มมาจากอีเบย์ เอามาขาย เพราะช่วงนั้นกล้องฟิล์มยังไม่แพง เริ่มแรกผมถ่ายภาพคนกับถ่ายภาพของไว้ขาย แต่การถ่ายคนมันก็ไม่ได้รู้สึกสนุก ถ่ายของขายมันสนุกกว่า เรารู้สึกว่าเราถ่ายสวยกว่าด้วย อีกอย่างเราไม่ต้องคุยกับมัน ไม่เหมือนถ่ายคน เราต้องสั่งให้เขายิ้ม ต้องสั่งให้ยิ้มจริง ๆ ไม่ใช่ยิ้มปลอม ๆ ผมเคยไปถ่ายงานรับปริญญา แล้วเจอตากล้องที่เขาเอ็นเตอร์เทนเก่ง ซึ่งเราไม่ใช่แบบนั้น ผมแทบไม่สั่งเลยด้วยซ้ำ เลยรู้สึกว่าการถ่ายคนไม่ใช่ตัวเราแน่ ๆ”
กระบวนการเรียนรู้ ต่อสู้ และพัฒนาตัวเอง
โอมเล่าต่อว่า เขาเคยได้ไปเป็นผู้ช่วยช่างภาพช่วงหนึ่ง แต่ด้วยนิสัยส่วนตัว ตอนนั้นมีอีโก้เยอะและคิดน้อย ประกอบกับไม่ได้รับเงินค่าจ้างที่พึงได้ เลยรู้สึกว่ามันเสียเวลาและควรพอแค่นี้
“แต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ คือครั้งหนึ่งผมเคยไปรับงานถ่ายอาหารฟรี ๆ แบกอุปกรณ์ไปกับทัดนี่แหละ ไปขอร้านเพื่อนที่รู้จักกันเพื่อถ่ายอาหารให้เขา จากนั้นก็เริ่มมีงานจ้างเข้ามาในราคาไม่แพงนัก ผมก็รับงานไว้ ถ้ามองย้อนกลับไปตอนนั้นจะรู้สึกว่าเรารับไปได้ไงก็ไม่รู้ เพราะแค่ค่ารถก็ไม่เหลือเงินแล้ว แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ”
ซึ่งในมุมของช่างภาพที่ไม่ได้จบตรงสาย โอมทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “ชีวิตช่างภาพก็ไม่ต่างจากสถาปนิกเลย ใช้ชีวิตยากมาก โดนกดราคา ลูกค้าไม่เห็นคุณค่า ผมมองว่ามันไม่แปลกที่จะเลิกทำในสิ่งที่เรียนมา เพราะสุดท้ายคนจากวงการอื่นที่เขารู้ตัวเองว่าชอบอะไรแล้ส เขาก็ย้ายจะมาทำเหมือนกับที่ผมย้ายมา ถ้าเจอสิ่งที่อยากทำจริง ๆ ก็ต้องไปสู้กับมัน อย่างที่ผมทำอยู่ก็เกิดจากการสู้ เป็นการสู้เพื่ออยู่รอดด้วยซ้ำ”
“มันเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของ 365ohmanawat มันมาจากราคาค่าตัวของผมเองที่ไม่สามารถขยับมากขึ้นไปกว่าเดิมได้ คือถ้าอยากเรียกค่าตัวแพงได้ก็ต้องมีความแตกต่าง มีจุดที่ทำให้ลูกค้าเลือกเรา การทำโปรเจ็กต์ส่วนตัวก็เพื่อสร้างผลงานตัวอย่างให้ลูกค้าเห็นว่าเราทำได้หรือมีวิธีการอื่นในการนำเสนออยู่ แล้วสุดท้ายมันก็อาจจะช่วยยกระดับตัวเองไปให้ถึงจุดที่เราต้องการได้”
BKK StreetxFood
CREDIT:
Photographer: Ohm Anawat
Stylist: Patad Phisitsin
Photographer Assistant: Kuro K Cielomusica , Spiing
Set Designer: กทม. และผองเพื่อนหน่วยงานรัฐ
Special Assistant: Natnicha Pimpa
Special Thanks: Satang Soontharothok , อิ๊แอร่ หัสกร
EXPLORERS: โอม-อนวัช เพชรอุดมสินสุข
IG: ohm.anawat
FB: Ohm Anawat
WEBSITE: www.ohm-anawat.com
AUTHOR: เฟี้ยต
PHOTOGRAPHER: ศุภกร ศรีสกุล