ทัวร์อีสานย้อนรอย ญัฮกุร ไปเห็นชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติของชนเผ่ามอญทวารวดี ที่ชัยภูมิ
หากพูดถึงมอญ หลายคนอาจคิดถึงชุมชนมอญพระประแดง สังขละบุรี หรือแถบเมียนมาร์ แต่มอญที่เรากำลังกล่าวถึง คือกลุ่มมอญโบราณที่มีเรื่องราวยาวนานมาก ซึ่งคำว่ามอญโบราณคงเป็นคำที่คุ้นเคยดีอยู่แล้ว แต่คำว่า “ญัฮกุร” นี่สิคืออะไร อ่านออกเสียงอย่างไร มันเป็นสิ่งที่ทำให้ความอยากรู้กระตุ้นให้ออกเดินทางตามคำชวนของ ณฤต เลิศอุตสาหกูล หรือ ครูเต้าหู้ ผู้ประสานงานกิจกรรมเรียนรู้ของชุมชนญัฮกุร บ้านไร่
“ญัฮกุร” (Nyah Kur) ออกเสียงว่า “ยะกูร” ภาษาของคนกลุ่มนี้อยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) เป็นมอญ-เขมร จากการศึกษาของนักภาษาศาสตร์พบว่า ภาษาญัฮกุร เป็นภาษาย่อยของมอญโบราณที่ใช้พูดในสมัยทวารวดี อาณาจักรเก่าแก่ในแผ่นดินสยาม มีคำพูดหลายคำที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงในด้านเสียงและความหมายกับคำในศิลาจารึกของมอญโบราณ
เต้าหู้เล่าให้ผม (ผู้เขียน) ฟังก่อนจะออกเดินทางว่า “ผม (เต้าหู้) อยากให้ทุกคนได้รู้จักและเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน ดนตรีชาติพันธ์ุ รวมถึงวิถีของชาวบ้านผ่านการเดินชมและลงมือทำ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ต่อยอดของดนตรีพื้นบ้านชาติพันธุ์ญัฮกุร ท่องเที่ยวชุมชนเชิงสืบสานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป” ผมว่าเพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอต่อการลงพื้นที่เรียนรู้วิถีของพวกเขาแล้วครับ และนี่จึงเป็นที่มาของทริปท่องเที่ยวชุมชนมอญโบราณที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทั้งในเรื่องอาหาร วัฒนธรรม และธรรมชาติ
ชีวิต
เมื่อมาถึงตำบลบ้านไร่ พวกเราเข้ามาที่หมู่บ้านวังอ้ายโพธิ์ เพื่อมาชมบ้านของชาวญัฮกุรที่พัฒนาจากบ้านไม้ไผ่แบบดั้งเดิมในป่า พอย้ายถิ่นฐานลงมาพื้นราบ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นไม้ถาวรขึ้น แต่ยังคงเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง บนเรือนแบ่งเป็นสามระดับที่มีหน้าที่ในการใช้งานต่างกัน การวางคานบนเสาที่มีลักษณะเหมือนง่ามหนังสติ๊ก เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่งที่แปลกตาสำหรับคนเมือง
กลุ่มคนญัฮกุร เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่แถบเขาพังเหย อยู่ที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จริงๆ แล้วญัฮกุรจะพบได้ในสามจังหวัด ที่ชัยภูมิจะอาศัยอยู่ในสองอำเภอ คือบ้านเขว้า และเทพสถิต นอกนั้นก็อาศัยอยู่ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดนครราชสีมา ที่อำเภอปักธงชัย
ปัจจุบันชาวญัฮกุรทั้งสามจังหวัด มีประชากรอยู่หกพันกว่าคน ชาวญัฮกุรได้มีการพัฒนาทางด้านภาษาเขียนด้วยการนำตัวอักษรไทยมาเทียบเสียงภาษาถิ่นให้กลายเป็นภาษาที่อ่านได้ ชาวญัฮกุรจะเรียกตัวเองว่า “คนดง” และ “ชาวบน” คำว่า “ญัฮ” แปลว่า คน คำว่า “กุร” แปลว่าภูเขา ซึ่งถ้าแปลรวมๆ แล้วก็คงหมายถึงคนที่อยู่บนภูเขา อยู่บนที่สูงก็ได้
วัฒนธรรม
จากชีวิตที่เรียบง่ายของกลุ่มคนญัฮกุร มักจะแสดงออกมาทางการเล่นดนตรีและการฟ้อนรำ การมาเที่ยวในครั้งนี้เราได้เห็นเครื่องดนตรีที่ผลิตขึ้นจากธรรมชาติและความเรียบง่าย อย่าง กลองโทนดิน เคาะจุ๊บเปิ้ง ดีดผวจ โดยเฉพาะเป่าใบไม้ เป็นความสามารถเฉพาะตัวมากๆ ซึ่งชาวญัฮกุรเป่าใบไม้ได้เป็นเพลงและบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย
เพลงเป่าใบไม้ มีไว้เรียกพรรคพวกที่เข้าไปหาของป่าว่าถึงเวลาต้องกลับบ้านแล้ว จะเรียกว่าเป็นเพลงเรียกกลับบ้านก็ได้ ข้อดีของการได้มาเที่ยวชุมชนแบบนี้ทำให้เราได้ลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ผมลองเป่าใบไม้แบบที่ชาวบ้านเป่า ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนใหญ่จะหนักไปทางไม่ได้ ชาวบ้านเป่าใบไม้เป็นเพลง ผมเป่าใบหญ้าเป็นเสียงนกเสียงไก่ เลยลองเอามาเป่าให้ฟัง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเทคนิคกันไปในช่วงเวลาสั้นๆ
กลุ่มคนญัฮกุร จะมีการแบ่งหน้าที่กันแค่ผู้ชาย ผู้หญิง โดยมากแล้วผู้หญิงจะมีความรู้ด้านการเสี่ยงทาย เช่นของหาย ผู้หญิงที่ทำพิธีก็จะนำคำหมากพลูที่ห่อมาผูกด้ายแขวนให้หมุนเพื่อ ทำพิธีเสี่ยงทาย ส่วนผู้ชายก็จะมีหน้าที่หาอาหารด้วยการเข้าป่าล่าสัตว์ ทุกครั้งที่เข้าป่าพวกผู้ชายก็จะทำพิธีขอเจ้าป่าเจ้าเขาเข้าไปหาอาหาร และทุกครั้งที่ออกจากป่าก็จะมีผู้ใหญ่ทำพิธีเรียกขวัญ จะเป็นแบบนี้ตลอด
ธรรมชาติ
กลุ่มคนญัฮกุร เป็นกลุ่มคนที่ใช้พื้นที่ป่าด้วยความคุ้มค่ามาก ทุกการก้าวย่างจะบอกได้หมดว่าต้นไม้ชนิดไหนกินได้ กินไม่ได้ อาชีพหลักของคนญัฮกุรคือ พรานป่า ภายหลังเริ่มทำการเกษตร แต่ก็ยังคงวิถีชีวิตแบบเดิมอยู่ด้วยการเข้าป่าไปหาของป่าและล่าสัตว์
ในสมัยก่อน ๆ ที่ชาวญัฮกุรจะทำการเกษตร ไม่ใช่อยู่ดีๆ พวกเขาจะไปถางป่า ทำไร่เลย คนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้าน จะทำพิธีขอขมาเจ้าป่าเจ้าเขาก่อนเสมอเพื่อขอพื้นที่ทำกิน แล้วเข้านอนตามปกติเพื่อดูว่าคืนนี้หลังจากเสร็จพิธีแล้วจะฝันดีไหม ถ้าฝันว่าไฟไหม้หรือฝันไม่ดี ก็จะไม่ทำ ไร่ที่นั่น เพราะชาวญัฮกุรเชื่อว่าป่าทุกป่ามีเจ้าของ จะทำสิ่งใดต้องขอ
จากการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างกลมกลืนของชาวญัฮกุร สะท้อนให้เห็นถึงอาหารการกินที่บอกถึงธรรมชาติที่กินได้อย่างน่ามหัศจรรย์อย่าง เช่น เมี่ยม หรือเมี่ยงชาวญัฮกุร รวมมิตรสมุนไพรซึ่งผมเองได้ลองแล้วรสชาติดีมาก ส่วนผสมของเมี่ยงก็จะมี กล้วยดิบ มะอึก ตะไคร้ ลำต้นทูน หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพิ่มรสชาติด้วยกับพริกขี้หนู และเกลือ ห่อด้วยใบต้นทูนม้วนรัดด้วยใบกุยช่าย
การกินเมี่ยงของชาวญัฮกุรเป็นการกินเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย นอกจากนั้นยังเป็นการรักษาขนบประเพณี ว่าด้วยเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และปรึกษาหารือกัน เพราะการกินเมี่ยงเวลากินมักจะล้อมวงกินกันเป็นกลุ่ม และกลุ่มคนญัฮกุรนี้เองที่เป็นกลุ่มที่ค้นพบทุ่งดอกกระเจียวที่ลือลั่นบนอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ที่หลายคนรู้จักจนเป็นเทศกาลชมทุ่งดอกกระเจียวจนถึงปัจจุบัน
ทริปท่องเที่ยววิถีชุมชนแบบนี้ ใช้เวลา 2 วัน 1 คืนก็เพียงพอแล้วสำหรับประสบการณ์การใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ ลืมบอกไปหากคุณมาใช้ชีวิตที่หมู่บ้านของชุมชนชาวญัฮกุรแล้ว มีสถานที่แนะนำที่มาถึงแถวนี้แล้วห้ามพลาด จะขึ้นมานอนพักหรือเดินเล่นที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เป็นอุทยานแห่งชาติที่เงียบสงบ มีลานกลางเต็นท์ ที่สำคัญที่นี่ขึ้นชื่อในเรื่องของค่ำคืนที่มืดสนิท เหมาะสำหรับคนที่ชอบนอนดูดาว เป็นอุทยานที่เที่ยวได้ทั้งปีไม่มีข้อแม้
หากใครที่สนใจอยากมาเยี่ยมชมวิถีชุมชนชาวญัฮกุร สามารถติดต่อได้ที่ผู้ประสานงานท่องเที่ยวชุมชนญัฮกุร สุรดา บัวเปีย โทร. 0918425391 หรือผ่าน เพจ ญัฮกุร ชัยภูมิ หากสนใจกิจกรรมพิเศษ ค่ายเรียนรู้ดนตรี ศิลปะวัฒนธรรมกับธรรมชาติ ขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ ณฤต เลิศอุตสาหกูล (เต้าหู้) โทร. 08-6602-6366 หรือติดตามรายละเอียดชุมชนได้ที่ เพจตุ้มโฮมเฮียนฮู้ เมืองชัยภูมิ
EXPLORERS: ตู่, ต้น, เฟี้ยต
AUTHOR: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ศุภกร ศรีสกุล