เตาอั้งโล่ เป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน เชื่อกันว่าการหุงหาอาหารด้วยเตาถ่านจะได้รสชาติที่อร่อยกว่าการใช้เตาแก๊ส นั่นเป็นเพราะควันไฟจากถ่านหรือฟืนจะช่วยเพิ่มความหอมตามธรรมชาติให้อาหาร
แม้ปัจจุบันทุกครัวเรือนจะมีเตาแก๊สใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ความต้องการเตาถ่าน หรือเตาอั้งโล่ ก็ไม่ได้น้อยลงเลย ผมเชื่อว่าแต่ละบ้านจะต้องมีเตาอั้งโล่อยู่ในบ้านอย่างน้อยก็หนึ่งลูก เพราะอาหารบางอย่างจะต้องปิ้ง ย่าง หุง และต้มด้วยเตาถ่านเท่านั้นถึงจะได้รสชาติที่ดี
ครั้งนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเตาอั้งโล่ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ที่นี่คือโรงงานเตาทอง ราชบุรี โดยมี ‘รวม สุขวัฑฒโก’ เจ้าของโรงงานให้เกียรติมาให้ความรู้ มาดูกันว่าขั้นตอนการผลิตเตาที่พัฒนามาจากภูมิปัญญาชาวบ้านในสมัยก่อนให้สอดคล้องเข้ากับยุคปัจจุบัน แถมยังประหยัดพลังงาน เขาทำกันอย่างไร
วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเตาคือ ดินเหนียว แกลบดำ ใช้เวลาผลิต 10 วัน ต่อ 1 ลูก วิธีการผลิตเตาอั้งโล่ คือการนำดินเหนียวมาหมักให้ดินละลาย แล้วทิ้งไว้หนึ่งคืน ก่อนนำเข้าเครื่องผสมดินกับแกลบดำในอัตราส่วน ดิน 2 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน แล้วนวดให้ดินเนียนละเอียดจึงจะนำมาปั้นเตาได้
เมื่อดินที่ผสมได้ที่แล้วนำมาใส่เครื่องขึ้นรูปเตา โดยพักทิ้งไว้ 12 ชั่วโมงก่อนจึงค่อยนำมาติดเส้า การติดเส้าจะต้องยกให้สูงจากปากเตาเล็กน้อย พร้อมตกแต่งปากเตาให้เรียบร้อยสวยงามจากนั้นเจาะปากเตาหรือช่องลม ปล่อยให้แห้งประมาณ 5 วันจึงนำเข้าเตาเผา
จากนั้นเป็นการรังผึ้ง ซึ่งในปัจจุบันใช้ดินเหนียวอัดกับบล็อก แล้วนำมาเจาะรูให้ได้ 61 รู เพื่อให้ถ่านไม่หล่นลงด้านล่างจากนั้นทิ้งให้แห้ง แล้วนำไปเข้าเตาเผาพร้อมกับตัวเตา โดยเตาที่เผาเสร็จแล้วก็จะนำมาบรรจุถัง โดยใส่ขี้เถ้าแกลบลงไปตรงช่องว่างระหว่างเตากับถังอัดให้แน่น ขั้นตอนต่อไปก็นำดินใส่อัดลงไปให้แน่นอีกเหมือนกันปาดให้เรียบแล้วฉาบด้วยปูนซีเมนต์เพื่อป้องกันน้ำจากการหุงต้มหกใส่จะไม่ทำให้เตาพังไว ขั้นตอนสุดท้ายคือการใส่รังผึ้งก็เป็นอันเสร็จวิธีทำเตาซูเปอร์อั้งโล่ เตาประหยัดถ่าน
การผลิตเตาซูเปอร์อั้งโล่หรือเตาประหยัดถ่านตามนโยบายของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานนั้นมีข้อดีกว่าเตาทั่วไป คือ รูปทรงของเตา จะมีลักษณะเพรียว กักเก็บพลังงานความร้อนได้ดี ปากเตา สามารถวางหม้อหุงต้มได้ถึง 9 ขนาด (เบอร์ 16 – 32 ) เส้า สูงกว่าขอบเตาเล็กน้อยทำให้สูญเสียความร้อนน้อย ช่องบรรจุถ่าน มีขนาดเล็กกว่าเตาทั่วไป จึงไม่สิ้นเปลืองถ่านเกินความจำเป็น และ รังผึ้ง หนาและทนทานรูรังผึ้งเล็กและเรียว ดูดอากาศได้ดี
หลังจากที่เดินชมบรรยากาศการผลิตเตาของโรงงานเตาทอง ผมเห็นปริมาณการผลิตเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเราใช้เตาอั้งโล่กันมากถึงเพียงนี้เชียวหรือ แล้วอาชีพผลิตเตาแบบนี้จะอยู่ได้อีกนานไหม
รวมพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมได้รับเชิญจากสถานทูตอเมริการ่วมกับตัวแทนผู้ผลิตเตาจากประเทศลาว และเวียดนาม ไปประชุมกันเรื่องเตาอั้งโล่ที่เวียงจันทร์ โดยผมเป็นตัวแทนจากประเทศไทย แล้วให้นำเตาของแต่ละประเทศมาทดลองใช้กันว่าเตาของประเทศไหนไม่สร้างมลภาวะ ประหยัดพลังงาน และเตาของประเทศไหนจะร้อนเร็วกว่า ปรากฏว่าของประเทศไทยก่อไฟติดก่อนประเทศอื่น เมื่อต้มน้ำในภาชนะที่มีขนาดเท่ากัน ของไทยต้มน้ำเดือดสองรอบแล้วของเวียดนามเพิ่งจุดไฟติด เพราะของเขาเป็นเตาไฟแบบชีวมวลและมีควันเยอะ”
“ผลการทดลองเตาของไทยได้มาตรฐานกว่าอีกสองประเทศ ผมเลยสงสัยว่าทำไมอเมริกาถึงสนใจเรื่องเตาอั้งโล่ ซึ่งเขาให้คำตอบว่าอีก 20 ปีข้างหน้ามนุษย์จะต้องหันกลับมาใช้เตาเพราะว่าก๊าซธรรมชาติหมด น้ำมันดิบจากธรรมชาติก็จะหมดในไม่เกิน 50 ปีนี้ แต่ไม้ปลูกได้ทดแทนได้ไม่กี่ปีก็นำมาใช้เป็นฟืน แล้วก็ปลูกทดแทนใหม่ได้นั่นจึงทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร”
ก่อนลากลับผมแอบถามคุณรวมว่าได้สืบทอดการทำเตามาจากครอบครัวหรือเปล่าก็ได้รับคำตอบว่า “เปล่า ผมทำเองเพราะครอบครัวยากจน ไม่ได้เรียนหนังสือจึงต้องออกมาหางานทำ โดยไปเป็นลูกจ้างที่โรงงานทำเตา แต่ผมทำด้วยความรัก งานอะไรก็แล้วแต่ถ้าทำด้วยความรักก็จะทำได้ยาวนาน”
เราลาจากกันด้วยความรักและมิตรภาพที่ดีต่อกัน ผมยิ้มกับสิ่งที่ผมคิดไว้ตลอดเวลาว่าการทำอะไรก็แล้วแต่มันต้องเกิดจากความรัก ซึ่ง รวม สุขวัฑฒโก ก็เป็นผู้สนับสนุนความคิดนี้ของผมอีกหนึ่งเสียงครับ
คุณผู้อ่านที่สนใจอยากไปเยี่ยมชมโรงงานเตาทอง ราชบุรีหรืออยากหาซื้อเตาอั้งโล่ไว้ใช้งาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-7977 – 8677
[ EXPLORER: ตู่ ]
[ PHOTOGRAPHER: โกศล ผ่ายเผย ]