ไปดู นกแก้วโม่ง วัดสวนใหญ่ ฝูงสุดท้าย และคุยกับ ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ ช่างทำโช๊คค้ำฝากระโปรงรถ ที่ลุกมาทำรังนกเทียมให้นกแก้วโม่ง สัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ ที่มีจำนวนลดลงอย่างน่าเป็นห่วง
รักต้องการอ้อมแขน
ไม่ใช่กรงขัง
นกต้องการรัง
ไม่ใช่กั้นกรง
ด้วยกรงมีไว้ขัง
รังมีไว้อุ่น…
อย่าให้ความห่วงใย
แปรเป็นโซ่ดอกไม้
ล่ามไว้เพียงเพื่อจะให้หอม
…มีอ้อมแขนไว้ปกป้อง
แต่ต้องไม่ปกปิด
ใกล้ชิดเพื่อที่จะได้อบอุ่น
มีนกตัวไหน
สุขใจเมื่ออาศัยอยู่ในกรงสวย
ฉันจึงรักเธอด้วย
แต่ก็ต้องบินไป…
มีรังไว้ให้รักอุ่น บทกวีของ ศุ บุญเลี้ยง
ผมรักบกวีนี้ของศุ บุญเลี้ยง รู้สึกได้ถึงความอบอุ่นของการได้อาศัยอยู่ในรังของนก และเปรียบเทียบความรักของคนที่ต้องการอิสระในความรัก กับอิสระในการมีชีวิตอยู่ของนกได้อย่างสวยงาม และเรื่องราวต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับรังนก รังรักของนกแก้ว ในเขตพื้นที่ชุมชนเมือง อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับบทกวี แต่ก็อดไม่ได้ที่กล่าวอ้างถึง
ทุกเช้า ทุกครั้งที่ผมออกมาวิ่งในหมู่บ้าน สิ่งที่สังเกตเห็นเสมอคือจะเห็นนกแก้วฝูงหนึ่ง 4-5 ตัว บินมาเกาะต้นตะแบกในหมู่บ้าน ก็คิดเองเข้าใจเองว่าน่าจะเป็นนกเลี้ยงของชาวบ้านหลุดออกมา แต่ผมมักพบเจอเวลาเดิมๆ ทุกครั้ง จึงเกิดความสงสัยว่าจริงๆ แล้วนกที่เห็นเป็นนกแก้วเลี้ยง หรือนกแก้วป่า ในที่สุดก็พบคำตอบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของผมนั้นอยู่ในเส้นทางหากินของนกแก้วป่าอย่างนกแก้วโม่ง โดยนกฝูงใหญ่นี้มีแหล่งพักพิงอยู่ที่วัดสวนใหญ่ อำเภอบางกรวย ซึ่งไม่ไกลจากบ้านผม
นกแก้วโม่ง
นกแก้วโม่ง เป็นนกแก้วที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปากงุ้ม สีแดงสด ตัวผู้มีสีดำที่วงแหวนรอบคอและใต้คาง มีแต้มสีแดงที่หัวไหล่ ขนาดตัวใหญ่กว่าตัวเมีย และมีหางยาว
นกแก้วโม่งเป็นนกป่า อาศัยที่ตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และพื้นที่ชายป่าทั่วไป ปัจจัยสำคัญของการมีอยู่ของนกแก้วโม่ง คือโพรงรังที่ใช้วางไข่ เพราะนกแก้วโม่งไม่สามารถเจาะโพรงรังเองได้ จึงต้องหาโพรงธรรมชาติที่อยู่บนยอดไม้สูง เพื่อความปลอดภัย
นกแก้วโม่งวัดสวนใหญ่
ชัยวัฒน์ เล่าย้อนกลับไปเมื่อราว 7- 8 ปีก่อนนี้ เขาขับรถผ่านแถววัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เนื่องจากบ้านของเขาอยู่ไม่ไกลจากวัด แล้วได้ยินเสียงนกแก้วร้อง จึงเกิดความสงสัยว่า ที่นี่มันมีนกแก้วด้วยเหรอ
“ผมเลยเข้ามาส่องกล้องดู ทำให้พบว่าที่นี่มีนกแก้วโม่งอาศัยอยู่ด้วย แต่ครั้งแรกที่มาที่นี่ก็ยังไม่รู้หรอกว่าเป็นนกแก้วโม่ง จึงกลับไปศึกษาหาข้อมูลว่านกที่เราพบนั้นนกแก้วอะไร พอรู้ว่าเป็นนกแก้วโม่ง ผมก็เฝ้าติดตามดูตลอดเวลา และหาข้อมูลเกี่ยวกับนกแก้วโม่งเพิ่มเติม”
“เมื่อรู้แล้วว่าเป็นนกแก้วป่า ผมเริ่มลงพื้นที่และสอบถามกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณวัดสวนใหญ่ว่า นกแก้วโม่งที่นี่มีมาตั้งแต่เมื่อไร ผู้สูงอายุหลายท่านตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เกิดมาก็เห็นแล้วว่ามีฝูงนกแก้วโม่งมาอาศัยอยู่ที่วัดสวนใหญ่แห่งนี้เชื่อว่า ไม่ต่ำกว่าร้อยปี”
นกแก้วโม่งจำนวนลดลงอย่างน่าเป็นห่วง
ปัจจุบันมีประชากรนกแก้วโม่ง ที่วัดสวนใหญ่ มีอยู่ประมาณสองร้อยกว่าตัว แต่เป็นสองร้อยกว่าตัวที่น่าเป็นห่วง ชัยวัฒน์ บอกว่า “ด้วยเพราะเราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่า เราอยู่ในเขตเมือง และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ซึ่งพร้อมจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา อนาคตนกแก้วโม่งในตอนนี้ที่เราตั้งเป้าไว้ คือต้องการเพิ่มประชากรนกให้มากขึ้นก่อน และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือมาช่วยกันอนุรักษ์นกแก้วโม่งให้มากกว่านี้ เห็นคุณค่าของมันมากกว่านี้”
มีรังไว้ให้รักอุ่น
“เมื่อก่อนพื้นที่สีเขียวในจังหวัดนนทบุรีจะเยอะมาก เมื่อเมืองขยาย พื้นที่สีเขียวลดลง โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ที่นกแก้วโม่งใช้เป็นที่ทำรัง ไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย ผมเลยคิดว่าถ้าเราช่วยอะไรเขาได้ เราก็จะทำ นี่คือจุดเริ่มต้นการเข้ามาทำรังนกเทียมให้นกแก้วโม่ง ผมก็ชวนกลุ่มเพื่อนๆ ที่ชอบธรรมชาติ รักนก มาร่วมมือกันทำรังนกเทียมและติดตั้งรังเทียมที่วัดสวนใหญ่เป็นที่แรก”
“เราได้ต้นแบบรังนกเทียมจากหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ที่นำรังเทียมสองรังแรกมาให้กับพวกเราแกะแบบ และมีการปรับเปลี่ยนแบบเพื่อความเหมาะสมกับพื้นที่ ช่วงแรกเรามีรังนกเทียม 4 รัง เริ่มติดตั้งปี 2563 ผมเฝ้าติดตามทุกวันเพราะบ้านอยู่ใกล้วัดสวนใหญ่ หลังจากติดตั้งรังชุดแรก สักประมาณ 1 ปี ก็มีนกมาเข้ารัง และมีลูก ครั้งนั้นเราได้ลูกนก 2 ตัว”
“ตอนนี้มีรังนกเทียมเพิ่มขึ้น อีก 4 รังที่วัดสวนใหญ่ และมีขยายไปยังสถานที่อื่นอีก 4 รัง เข้าเดือนกันยายน ตุลาคมนกเริ่มจะจับคู่อีกครั้ง ต้องมาลุ้นอีกว่านกจะเข้ามาใช้บริการรังเทียมมากน้อยแค่ไหน เรายังคงศึกษาพฤติกรรมนกต่อไปครับ”
ช่างทำโช๊คค้ำฝากระโปรงรถที่ลุกมาทำรังนกเทียมให้นกแก้วโม่ง
“ช่วงเวลาปกติผมมีอาชีพเป็นช่างทำโช๊คค้ำฝากระโปรงรถ” ชัยวัฒน์ เปิดฉากเล่าถึงความเป็นมาของตัวเอง “แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบเรื่องของธรรมชาติ ผมชอบเข้าป่าไปดูสัตว์ป่าเป็นประจำ ชอบถ่ายภาพสัตว์ป่า ถ่ายภาพนก”
“ผมศึกษาชีวิตนกแก้วโม่งจากที่ไม่รู้อะไรเลย ก็มีการขอความรู้จากอาจารย์หลายๆท่าน ถึงวันนี้ 4 ปีแล้ว จากที่เฝ้าสังเกตและบันทึกข้อมูลผมรู้สึกว่าจำนวนประชากรนกแก้วมันลดลง ถ้าจะช่วยให้นกแก้วโม่งอยู่ที่นี่ไปอีกร้อยปีข้างหน้า มันจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่สำคัญในการให้มันดำรงอยู่ ก็พยายามหาทางช่วยว่าเราจะช่วยมันได้ยังไงบ้าง”
“คราวนี้เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง เริ่มสำรวจพื้นที่ในจังหวัดนนทบุรีว่ามีการพบแหล่งนกแก้วโม่งที่ไหนบ้าง ปรากฏว่ามันมีแหล่งพบปะของนกแก้วโม่งอยู่ที่หนึ่งในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี แต่ขอไม่บอกสถานที่นะครับ เพราะมันอาจจะเป็นการไปรบกวนมัน ซึ่งนกจำนวนมากใช้ต้นตาลเป็นที่พักอาศัย เมื่อถึงเวลานกแก้วก็จะบินกลับรังของต้นเองไปอาศัยที่อื่นอย่างวัดสวนใหญ่ หรือวัดมะเดื่อ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรีทั้งสิ้น”
ช่วงเวลาดูนกแก้วโม่ง
ที่วัดสวนใหญ่สามารถเข้ามาดูได้ทุกวัน เช้ายันเย็น ซึ่งจะทำให้เราเห็นพฤติกรรมของนกในช่วงเวลาที่ต่างกันว่านกทำอะไรบ้าง แต่ถ้าอยากเห็นนกจำนวนมากๆ ก็ต้องประมาณสี่โมงเย็นเป็นต้นไป ชัยวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า “นกแก้วโม่งจัดว่าเป็นนกที่ชอบสำรวจ และมีอิสระจะบินไปไหนก็ได้ ตรงไหนมีของกินพวกเขาจะบินไป”
EXPLORER: ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์, ซี-ไอลดา ดอกกลาง