เหตุผลของการดูภาพยนตร์ของแต่ละคนแตกต่างกัน เชื่อว่าหลัก ๆแล้วไม่พ้นดูเพื่อความบันเทิง ในความบันเทิงยังมีแง่มุมอื่นให้ค้นหา อย่างเช่น การเรียนรู้ การสร้างแรงบันดาลใจ และการพักผ่อน
เบื้องหลัง Costume Designer เรื่องราวที่มักไม่มีใครพูดถึง เชื่อว่าการเลือกดูภาพยนตร์ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความสนใจ และความต้องการของแต่ละบุคคล แต่ปัจจัยหลักมักเลือกดูจากผู้กำกับและนักแสดง ที่ตัวเองชื่นชอบ จะมีใครสักคนไหมเลือกดูหนังจากคนทำเสื้อผ้า
กุ้ง สุกัญญา มะเรืองประดิษฐ์ คือคนหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังสำคัญในกองถ่ายและไม่เป็นที่รู้จัก กับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เป็น “Costume Designer” หลังเรียนจบวิจิตรศิลป์ เชียงใหม่ ก็คงเหมือนใครหลายคนที่ค้นหาตัวตนด้วยการทำทุกอย่างที่คิดว่ามันใช่
แอคชั่น
กุ้งเป็นเด็กสาวบ้านสวนฝั่งธนบุรี ละแวกสามแยกบางขุนเทียน สมัยนั้นโรงพักบางขุนเทียนตั้งอยู่ริมคลองบางขุนเทียน บ้านกุ้งอยู่ในซอยชัยวัฒน์ เป็นเด็กเรียนเก่ง ที่ฉายแววเรื่องศิลปะผ่านวิชาวาดเขียนและลายมือที่สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย กุ้งสอบและทำตามใจที่บ้านด้วยการสอบหมอ สอบพยาบาล วิชาชีพยอดฮิตของคนเรียนเก่งในสมัยนั้น แต่สิ่งที่เรียกร้องอยู่ในใจคือศิลปะ เธอจึงขอที่บ้านเอนทรานซ์ศิลปะด้วย ตามที่ใจปรารถนาและถีบตัวเองไปไกลถึงเชียงใหม่
ความฝัน
อยากเป็นช่างภาพมาตลอด เอาจริงๆนะมารู้ตัวเองว่าชอบอะไรก็ตอนเรียนวิจิตรนี่แหละ อยากเป็นช่างภาพ เพราะมีเรียนโฟโต้มาด้วย อยากเป็นช่างภาพมาก สมัครงานที่ไหนก็ใด้เป็นแต่สไตล์ลิสต์ ไม่รู้เค้าดูจากการแต่งตัวของเราหรือดูจากอะไร ก็ทำงานอยู่สตูดิโอเป็นหลัก งานส่วนใหญ่เป็นงานโฆษณา ทำอยู่พักหนึ่งก็มีเพื่อนที่เป็นอาจารย์มาชวนให้ไปช่วยสอนที่มหาวิทยาลัย สอนออกแบบนิเทศศิลป์ แต่ก็ไม่วายที่จะกลับมาทำด้านโฆษณาอีกครั้ง แต่คราวนี้มาทำในส่วนของการจัดการกองถ่าย สายผลิตพวกโฆษณาหนัง ทำหมดทุกอย่างในกองถ่าย ตั้งแต่คิดราคาขายงานทำหมด ตอนนั้นเน้นโฆษณาหนังกับภาพนิ่งเป็นหลักเลย ทำได้ไม่เท่าไหร่ก็เกิดต้มยำกุ้ง บริษัทที่ทำก็ยุบ ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย เคว้งคว้าง
หลังต้มยำกุ้ง
พอบริษัที่ทำอยู่ปิดตัวลง ก็มีรุ่นพี่คนหนึ่งเขารู้ว่าเราว่างอยู่ มาบอกว่ากำลังทำหนังเรื่องสุริโยทัยอยู่ ขาดคนที่ทำคอสตูมให้มาลองสมัครดู ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการทำหนัง จริง ๆ เค้ามีทีมออกแบบอยู่แล้วก็คืออาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ดูแลอยู่ แล้วก็เป็นทีมงานที่ใหญ่มากมีรายละเอียดขั้นตอนในการทำงานเยอะมาก พออาจารย์เผ่าทองออกแบบมา จึงต้องมีทีมที่ผลิต เราจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมผลิต ด้วยจำนวนผู้แสดงสมทบเยอะมาก จึงต้องใช้ทีมงานในการผลิตมากตามไปด้วย
เราก็มีหน้าที่ในการดูแลทีมผลิตนี้ไปด้วยไม่ว่าจะดูเรื่องการย้อมผ้า คุมโทนสีธรรมชาติ ไปจนถึง หน้า ผม ก็ถือว่าโชคดีที่ได้นำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาใช้ได้เต็มที่ อีกอย่างเราเรียนเน้นไปที่ศิลปะไทย ซึ่งเค้าสอนทุกอย่างที่เป็นศิลปะของไทย สอนตั้งแต่ลายไทย ไปถึงโครงสร้างสถาปัตยกรรมไทย เซรามิก ผ้า และเรื่องผ้านี่แหละที่นำมาใช้ในชีวิตการทำงานได้ดี
เรียนรู้จากสิ่งที่ไม่รู้กับ “สุริโยทัย”
มีความโชคดีที่ได้ทำงานภายใต้การดูแลของหม่อมกมลา ยุคล ท่านเมตตาให้ความรู้และไว้ใจให้ไปช่วยเลือกผ้าและดูของที่จะนำมาประกอบในฉาก ทำให้เราได้สัมผัสและเรียนรู้จากการออกไปหาของแบบจริง ๆ หน้าที่โดยหลักอย่างหนึ่งก็จะมีหน้าที่หาวัสดุ หาผ้า หาเทคนิคการผลิตมาทำให้ได้ใกล้เคียงของโบราณมากที่สุด การผลิตในบางครั้งทางหม่อมกมลา ท่านยังได้หาช่างทอผ้าจากท้องถิ่นมาร่วมผลิตงานอีกด้วย
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันทำให้เราเห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ไม่ควรปล่อยผ่าน ซึ่งก็กล้าพูดได้ว่าเสื้อผ้าในหนังสุริโยทัยจะมีความใกล้เคียงของจริงมากที่สุด เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งเล็ก ๆในกองถ่ายสุริโยทัย มีหน้าที่ดูแลการผลิตชุด เมื่อผลิตออกมาเสร็จต้องมาดูในเรื่องของการใช้งานคือการนุ่งห่มอย่างไร ตามที่ออกแบบมา งานกองถ่ายทำภาพยนต์เป็นงานที่ละเอียดมาก กล้าพูดได้ว่านี่คืองานเบื้องหลังจริงๆ
อดทน
ฉันเป็นคนไม่มีอีโก้ ฉะนั้นสิ่งที่ภูมิใจที่สุดที่มันยังคงเป็นฉันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าฉันออกแบบเอง ฉันเก่ง บอกเลยว่าไม่มีอยู่ในหัว แต่ที่ภูมิใจคือ ฉันคิดว่าฉันอดทนและสามารถทำในสิ่งที่เป็นภาพฝันให้เป็นภาพจริงที่ยิ่งใหญ่ได้ แล้วบอกกับตัวเองว่า เราผ่านมันมาได้ เพราะงานในกองถ่ายมันเป็นงานที่ต้องใช้พลังเยอะมาก มันต้องจัดการกับคนหลายคน กับทีม กับของประกอบฉาก เสื้อผ้าหน้าผม ต้องพร้อมที่จะต้องถ่ายเสมอ มันสอนให้เราอดทน มีสติ ในการทำงานและจัดการหลาย ๆ อย่างให้
คิดดูสิเราต้องจัดเสื้อผ้าและต้องแต่งตัวนักแสดงประกอบเรื่องนเรศวร 1,800 คน ทีมเรามี 20 คน เราต้องจัดการทีมอย่างไรให้ทันตามกำหนดตามคิวที่จะต้องเข้าฉากตอน 9 โมงเช้า เราจึงต้องนัดแต่งตัวตอนตีสามคิดดูสิ มันไม่ใช่แค่ใส่เสื้อผ้า บางคนต้องใส่ผม แต่งหน้า ลงผิว ซึ่งเป็นช่วงชุลมุนมากในการทำงานก่อนที่ผู้กำกับจะสั่ง แอคชั่น
เพื่อความสมจริง
การทำเสื้อผ้าหรือการทำชุดหนัง Period แต่ละครั้งเราต้องศึกษาถึงรากเหง้า เราต้องปักหมุดที่ช่วงเวลาก่อน เช่นหนังเล่าเรื่องในยุคปี 2500 เราก็ต้องเทียบดูว่าอยู่ในยุคอะไร ค้นหาภาพเพื่อดูบรรยากาศรวม ๆ ในปีพ.ศ.นี้ควรนิยมใช้ผ้าแบบไหน ก็ต้องไปหาเนื้อผ้าให้ใกล้เคียงยุคสมัยมากที่สุด การนุ่งห่มเป็นยังไง การนุ่งห่มมันจะต้องเป็นอิสระให้เหมาะกับการใช้สอยของคนมากกว่า พูดง่าย ๆ ว่าเราสร้างความมีชีวิตของนักแสดงให้ดูจริงมากขึ้น เชื่อไหมว่าเมื่อนักแสดงได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ดูจริง เวลาเข้าฉากแล้วเขาจะอิน มันเป็นตัวช่วยให้นักแสดงเข้าถึงตัวละครในภาพยนตร์ได้ทางหนึ่ง และมีคำพูดหนึ่งที่จำจนตายคือ ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ท่านบอกว่า “เรามีหน้าที่สร้างบรรยากาศให้คนดูเชื่อว่าเขาเป็นคนนั้นจริงๆ” ฉะนั้นการทำหนัง Period จึงต้องทำให้นักแสดงและคนดูเชื่อได้ว่าเป็นตัวละครนั้นจริง ๆ ยกตัวอย่างนะ สมมุติว่ามีคน ๆ หนึ่งเดินมา มีบุคคลิกแบบนี้ เดินแบบนี้ เราต้องคิดเผื่อไปแล้วว่า เขาจะมีเงินเท่าไหร่ในกระเป๋า และในกระเป๋าสตางค์เขาจะมีอะไรบ้าง ซึ่งเราไม่รู้หรอก แต่เราต้องคิดเผื่อคนดูเผื่อนักแสดงไปแล้ว อย่างหนังเรื่องความรักครั้งสุดท้ายเนี่ย โรสเป็นยังไง มีความเปรี้ยวแค่ไหน ในกระเป๋าของโรสจะต้องมีอะไรบ้าง ท่านมุ้ยท่านให้คิดถึงตรงนี้ด้วย มันมีมิติในความคิดตรงนี้
ปัจจุบันคนไม่ค่อยคิดกันถึงจุดนี้ ฉาบฉวย ดูหนังดูละครแค่แป๊บเดียวก็จบ มันผ่านไปแล้ว แต่คนทำหนังมันมีมิติความคิดในเรื่องรายละเอียดตรงนั้นด้วย เราถูกสอนมาไง ในการทำหนังแต่ละเรื่องเมื่องานจบเรามักถามตัวเองเสมอว่า เราได้อะไรจากเรื่องนี้ เห็นชัดเลยสุริโยทัยนี่ได้เรื่องความอดทน มุมานะ พยายามที่จะต้องผลักดันให้งานออกมาดีที่สุด
จากสุริโยทัยสู่นเรศวร
หลังจากจบเรื่องสุริโยทัย ก็มีโอกาสได้ทำนเรศวรต่อทั้ง 6 ภาค เรามีหน้าที่ออกแบบชุดเครื่องแต่งกายนักแสดงสมทบเป็นหลัก ก็นำประสบการณ์จากเรื่องสุริโยทัยมาปรับใช้ เราไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่อยู่ในหนังมันร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครรู้หรอกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์มันคือแบบไหน เพราะเราเกิดไม่ทันแต่สิ่งและจุดประสงค์ที่เราทำคือสร้างภาพให้คนในปัจจุบันเชื่อและเห็นว่าสมัยก่อนคนเค้าอยู่กันแบบนี้ แต่งตัวกันแบบนี้ เรานำเสนอความจริงบวกจินตนาการผสมผสานกับการใช้งานในหนังมากกว่า แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันจะมีเชื้อของความจริงอย่างน้อย ๆไม่ต่ำกว่า 50 %
อย่างกลุ่มคนชาติพันธุ์ ชนเผ่าต่าง ๆ กะเหรี่ยง ขมุ ลัวะ เป็นยังไง เราก็ต้องศึกษาอย่างละเอียด เมื่อได้รับโจทย์สิ่งแรกเลยต้องหาเนื้อผ้าให้ได้ก่อน ต้องสืบค้น เดินทางว่าผ้าแบบนี้มันควรจะอยู่ที่ไหน จากนั้นค่อยมาดูเรื่องการนุ่งห่ม เราว่ามันสนุกนะ เมื่อหนังฉายเชื่อไหมว่าครั้งแรกดูไม่รู้เรื่อง เพราะมันจะมีภาพซ้อนของการทำงานของเราตลอด คิดถึงบรรยากาศตอนถ่ายทำว่าซีนนี้เราทำอะไร วิ่งหนีฝนกันยังไงมันจะเป็นภาพซ้อนตลอด สนุกดีมันเป็นชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง
ที่สุดของคนทำหนัง
เราทำหนัง Period มาโดยตลอดตั้งแต่สุริโยทัย คืนบาปพรหมพิราม ความรักครั้งสุดท้าย นเรศวร ภาค1- 6 จนได้รับโอกาสจากพี่แหม่ม มาม่าบูลส์ มาชวนทำหนังเรื่อง ฟ.ฮีแลร์ เป็นเรื่องราวของนักบวชชาวฝรั่งเศสในคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ทำหน้าที่เป็นครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ประเทศไทย เป็นบุคคลที่สนใจในภาษาไทยมากและชอบเขียนกลอน เรื่องนี้เราทำเรื่องเสื้อผ้าเต็มตัว ทั้งออกแบบหาผ้า ทำทุกอย่าง จากเดิมหนังเรื่องนี้ทำเป็นสารคดีฉายทางโทรทัศน์ แต่ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบทำให้ไม่ได้ออกฉายตามที่ตั้งใจ จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นหนังลงโรง เวลาที่ฉายเพียงสิบวันเอง ยังไม่มีคนรู้จักเลย จะว่าไปคงเป็นหนังนอกกระแสด้วยมั๊ง
แอบบอกนิดนึงว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายสวยมาก ใช้ฟิลม์ถ่ายมันเลยจะมี mood and tone เท่ ๆ แล้วกระแสหนังก็เงียบไป มารู้ตัวอีกทีก็ได้ข่าวว่าได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสุพรรณหงส์ เราได้รางวัลสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ภูมิใจ และดีใจกับสิ่งที่เราทุ่มเท ดีใจที่เราทำให้คนดูเชื่อว่าตอนนั้นเค้าสวมใส่ชุดแบบนี้จริงๆ เหมือนเราทำงานออกมาแล้วมีคนรับรู้ถึงสิ่งที่เราทำ เวลาเราดูหนังแล้วรู้สึกได้ถึงเสื้อผ้ามันมีชีวิต
ส่วนรางวัลที่สองก็จากเรื่องขุนแผนฟ้าฟื้น อันนี้จะออกแนวแฟนตาซีหน่อย ทำร่วมกับคุณประภากาศ อังศุสิงห์ ซึ่งการทำหนังแต่ละเรื่องมันขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กำกับ เราก็แค่แปลสารนั้นสู่ผู้ชมให้เห็นภาพชัดขึ้นอย่างเรื่องขุนแผนฟ้าฟื้นนี้ผู้กำกับบอกเลยว่าต้องการทำหนังจักร ๆ วงศ์ ๆให้ออกแนวแฟนตาซี เราก็ต้องไปตีความ หาข้อมูลว่ามันจะต้องเป็นแบบไหน ง่าย ๆเลยทำอย่างไรให้หนังจักร ๆ วงศ์ ๆ ออกมาดูดีเท่านั้นเอง หลังจากได้รางวัล ชีวิตก็ยังเหมือนเดิมจากที่ไม่มีคนรู้จัก มันก็ยังไม่มีคนรู้จักอยู่ดี เพราะเราไม่เคยทำตัวให้เป็นคนเบื้องหน้าอยู่แล้ว
เราไม่มั่ว
กล้าพูดได้เต็มปากเลย เรายืนจุดนี้ได้ เราทำการบ้านหนักมาก เราใส่ความรู้สึกกับงานเราอ่านบท ทำความเข้าใจกับตัวละครแต่ละคน และเอาความต้องการของผู้กำกับด้วย เราสามารถเสริมอะไรให้กับเขาได้ไหม เราใช้ความรู้จากการเรียนศิลปะไทยให้เป็นประโยชน์ เวลาทำงานนะเราจะต้องสนุกกับงานที่ทำเราจะได้ไม่เหนื่อยแล้วเราจะไม่เครียด เราได้ค้นหา ค้นคว้า มันก็มีความสุขอีกแบบหนึ่ง
ล่าสุดกับไชน่าทาวน์ชะช่า
ก็มีโปรดิวเซอร์ติดต่อมา ชวนมาทำ เรื่องนี้ก็ค้นคว้าจากภาพถ่ายซึ่งพอจะมีหลงเหลือให้ดูอยู่บ้าง แล้วนำมาผสมผสานกับจินตนาการบวกกับคาแลคเตอร์ของตัวละครแต่ละตัว มีความหลากหลายในวัฒนธรรมการแต่งกายมาก ๆ โดยส่วนตัวแล้ว เราจะให้ความสำคัญของการแต่งกายประเภทเครื่องแบบมากที่สุด เราควรให้ความเคารพมากที่สุดและจะพูดกับตัวเองทุกครั้งว่า ถ้าเกิดคนที่เคยใส่เครื่องแบบนี้ขอให้รับรู้ได้ว่าเราต้องการที่จะนำเสนอภาพที่จะทำให้คนปัจจุบันเห็น เราเคารพและขอให้เราทำให้สำเร็จ ก็แอบมูนิดนึงแต่เป็นการบอกกล่าวด้วยหัวใจจริง ๆ
งานออกแบบกับการอนุรักษ์
เราคงบอกไม่ได้หรอกว่าเรามีส่วนช่วยในเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายอย่างไร เสื้อผ้าหน้าผมของคนในอดีตที่ได้มาจากการค้นคว้าหาข้อมูลจากหนังสือและภาพถ่าย แล้วนำมาถ่ายทอดสู่สายตาประชาชนในรูปแบบของหนังและละคร เป็นเพียงถ่ายทอดออกมาให้ดูมีชีวิตมากกว่า แต่ถ้าในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพเราว่าก็น่าจะมีอยู่บ้างเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นช่างเย็บผ้า คนทอผ้า หรือแม้นกระทั่งร้านขายผ้า หากหนังได้รับความนิยมเข้าถึงผู้คน ก็จะมีการออกไปตามหาผ้า และสไตล์การตัดเย็บให้เหมือนในหนัง ซึ่งนี่แหละเราว่ามันเป็นผลพลอยได้ บางครั้งเวลาออกไปหาซื้อผ้า ก็มักได้ยินคนขายบอกว่ามีคนมาตามหาผ้าแบบในหนังเรื่องที่เราทำ ซึ่งเราว่าแค่นี้ก็ยิ้มแก้มแทบแตกแล้ว
ฉากสุดท้าย
วันนี้เราก็ยังคงเป็นเราที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่เป็นภาพฝันให้เป็นภาพจริงให้คนเชื่อว่ามันมีอยู่อย่างนั้นจริง ๆ มันเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งนะ ศิลปินหลายคนอาจมีหอศิลป์ สตูดิโอเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะของตัวเอง แต่สำหรับเราการทำหนังเสร็จแล้วฉายอยู่ในโรงภาพยนต์ มันก็เหมือนเป็นงานแสดงศิลปะของเราอย่างหนึ่งเหมือนกันต่างกันที่สถานที่และการนำเสนอ มีความสุขทุกครั้งที่มีคนเข้าไปชมงานศิลปะของเราและเห็นในสิ่งที่เราอธิบายผ่านเสื้อผ้าหน้าผมที่ปรากฏอยู่ในหนัง
CUT
ความยากอย่างหนึ่งของผมคือการสัมภาษณ์เพื่อนสนิทที่รู้จักกันมาตั้งแต่เล็กๆ ฉะนั้นในบทสนนามันมีแต่คำคุยที่เป็นเพื่อนกันโดยแท้ที่มีหมด มึง กู เหี้ย สัตว์ ฉะนั้นการถอดจากเสียงมาเป็นตัวหนังสือจึงมีความยาก ในความยาก ก็ยังมีความง่ายหลงเหลืออยู่บ้าง ก็คือผมไม่ต้องหาข้อมูลเยอะ เพราะชีวิตมันกับผมเติบโตมาพร้อม ๆกันในย่านที่อาศัยละแวกเดียวกัน เรียนที่เดียวกันตั้งแต่อนุบาลยันประถม
หลังจากแยกย้ายกันไปเติบโต และขาดการติดต่อโดยสิ้นเชิง นับเป็นเวลาสิบๆปี มาเห็นชื่อของเพื่อนอีกทีก็ปรากฏอยู่ใน end credits ของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “สุริโยทัย” ในตำแหน่ง Costume Designer ดีใจที่เห็นเพื่อนมีเส้นทางของเพื่อน
เราพบปะและพบเจอกันอีกครั้ง ก็เพราะ FACEBOOK ทำให้เพื่อนหลาย ๆ คนหากันจนเจอ ผมกับมันก็เหมือนกัน เรานัดเจอกันหลายครั้งหลังจากที่พบกัน อัปเดทชีวิตกันตลอด ต้องขออภัยไว้ตรงนี้ถ้าบทสัมภาษณ์นี้ดูจะไม่ให้เกียรติผู้ถูกสัมภาษณ์ เพราะความสนิทอาจทำให้ดูหยาบคาย และขอให้ทุกคนดูหนังให้สนุกและมีความสุขนะครับ
ผลงานภาพยนตร์สุริโยทัย, ละครโทรทัศน์กาเหว่าที่บางเพลง ช่อง 3, ภาพยนตร์คืนบาปพรหมพิราม, ภาพยนตร์รักครั้งสุดท้าย, ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาค 1 – 6, ละครโทรทัศน์ผู้ชนะสิบทิศ, ละครโทรทัศน์แหวนทองเหลือง, ภาพยนตร์ ฟ.ฮีแลร์, ภาพยนตร์ขุนแผนฟ้าฟื้น, ละครโทรทัศน์ดวงใจในมนตรา, ภาพยนตร์อโยธยามหาละลวย, ภาพยนตร์ไชน่าทาวน์ชะช่า
EXPLORERS: สุกัญญา มะเรืองประดิษฐ์
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม