คุยกันหลังจบภารกิจ “ว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล” กับ ทราย – สิรณัฐ สก๊อต ผู้สมมติตนเป็นสัตว์ทะเล ว่ายน้ำข้ามทะเลตัวเปล่าร่วมกับอาสาสมัครอีก 36 คน เพื่อหวังปกป้องผืนทะเลและสัตว์ที่ถูกภัยคุกคามจากมนุษย์
หาดทรายยังสวย รายล้อมทะเลด้วยรัก คงไว้ด้วยใจแน่นหนัก ไม่หวั่นยามพายุผ่าน จะมีเพียงฉัน และเธอตราบนานเท่านาน มีรักในใจผสาน ดั่งทรายอยู่คู่ทะเล…
ผมว่าคงไม่มีสิ่งใดอธิบายความเป็น “ทราย สก๊อต” ได้ดีเท่ากับบทเพลง “ทรายกับทะเล” บางช่วงบางตอนจากบทเพลงนี้ กับสิ่งที่ทรายทำในแคมเปญ ‘SEA YOU STRONG’ ความรู้สึกหลังจากที่ผมได้พบกับทราย ตอนจบภารกิจว่ายน้ำข้ามทะเลตัวเปล่า ความเป็นตัวตนของทรายผ่านบทเพลงนี้มันชัดเจน
28 – 29 เมษายน 2566 ทราย – สิรณัฐ สก๊อต นำทีมนักว่ายน้ำคนไทยทั้งหมด 36 ชีวิต ว่ายน้ำข้าม 3 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ กระบี่ พังงา และภูเก็ต หวังปกป้องผืนทะเลและสัตว์ทะเลที่ถูกภัยคุกคามจากมนุษย์ ในโครงการ “ว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล”
29 เมษายน 2566 เวลาหกโมงเย็นโดยประมาณ ผมมีนัดกับทรายที่ท่าเรืออ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นวันที่ทรายเสร็จสิ้นภารกิจ “ว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล” ระหว่างทางจากตัวเมือง เพื่อเดินทางไปหาทรายที่ท่าเรืออ่าวปอ เป็นเวลาเดียวกันกับท้องฟ้าที่เริ่มมืดด้วยเมฆฝน ลมแรง บ่งบอกให้รู้ว่าพายุกำลังจะมา ใจก็แอบบกังวลว่าทรายกับทีมนักว่ายน้ำจะเป็นอย่างไรบ้าง จากที่ไม่เคยคิดกับกลายเป็นรู้สึกเป็นห่วง
รอจนฝนซาเม็ด ผมจึงได้นั่งรถไปที่กลางสะพานท่าเทียบเรืออ่าวปอ พบทรายและอาสาสมัครนักว่ายน้ำที่ประกอบไปด้วย ทีมนักว่ายน้ำคนไทยทั้งหมด 36 ชีวิต ร่วมหัวจมท้าย ว่ายน้ำข้าม 3 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ กระบี่ พังงา และภูเก็ต ยืนประกาศความสำเร็จที่งดงามด้วยความถ่อมตน
ทรายยืนส่งเพื่อนๆ กลับบ้านจนถึงคนสุดท้าย ผมได้เห็นความสวยงามของมิตรภาพ ที่มีให้กัน ทั้งนักว่ายน้ำสูงวัยที่มีถึงอายุ 71 ปี ชายหนุ่มใจสู้ที่มีขาเพียงข้างเดียวจากลำปาง แม้กระทั่ง น้องๆ เยาวชนนักว่ายน้ำวัยเพียง 14 ปี ก็ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ความต่างในร่างกายคน ก็เหมือนสัตว์ทะเลที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ มีใจอนุรักษ์ท้องทะเลเหมือนกัน
ผมเปิดฉากสนทนาด้วยความเป็นห่วง “เหนื่อยไหมทราย” อาจฟังดูเชยๆ แต่ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ
“จะบอกว่าไม่เหนื่อยก็ดูจะเกินจริง เราทำเต็มที่ครับ รู้สึกไม่เหนื่อยเพราะใจเรามันอยากทำอยู่แล้ว กำลังใจเยอะ เราว่าย 50 กิโลเมตร มีคนบอกว่า ทรายเป็นสถิติใหม่ของเอเซีย ในการว่ายน้ำตัวเปล่า ซึ่งมันเรื่องที่เราไม่ได้คาดไว้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว ความสุขทำให้บรรเทาความเหนื่อยล้าไปได้บ้าง แต่ตอนนี้เริ่มล้าบางส่วนครับ มันเป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำถึงจะเหนื่อยกาย ใจเรามันก็มีความสุข”
ก่อนที่จะเจอกันที่ท่าเรือ ช่วงนั้นฝนตกหนักมาก ผมแอบกังวล
“ทรายอยู่ในทะเลครับ แต่ทรายไม่กังวลนะ ทรายชอบ สองวันที่ว่ายน้ำมานี่ เป็นเหมือนกันหมด พายุจะเข้าช่วงเย็น แต่ในระหว่างวัน ฟ้ากับแดดอำนวยให้เรามาก มันสงบ มันสวย แล้วพอตอนเย็นก็จะมีพายุเข้ามา มันก็ให้บรรยากาศอีกแบบหนึ่ง”
“ตอนที่พายุเข้าส่วนมากทรายจะว่ายคนเดียว ก็จะมีคนที่ช่วยดูแลด้วยการพายคายัคอยู่ข้างๆ แล้วก็มีหน่วยซีล มาช่วยดูด้วย ทรายได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากงานนี้ เรารักทุกอย่างที่เป็นทะเล ไม่ว่ามันจะเป็นพายุเราก็ยังชอบอยู่”
“จริงๆ แล้วทรายว่ายมาถึงอ่าวปอแล้ว ตอนพายุมาเรามองไม่เห็นท่าเรือกับสะพาน ทรายเลยขึ้นเรือแล้วจบภารกิจตรงนั้นเลย มันมีฟ้าแลบด้วยซึ่งมันไม่ควรไปต่อ ถ้าฝนตกปกติว่ายได้ครับ”
ตอนที่อยู่ท่ามกลางพายุคิดอะไร
“คิดแค่อยากไปให้ถึงจุดมุ่งหมายของเรา เพราะว่าเราทำเพื่อโลมาและสัตว์ทะเลทุกตัว แล้วก็เราทำเพื่อตัวเองด้วยแหละ เรารู้ว่าเมื่อเราผ่านจุดนี้ได้ เราได้สร้างประวัติศาสตร์แล้ว”
เส้นทางที่ใช้ว่ายข้ามทะเลครั้งนี้
“เริ่มจากหาดยาว ไปยังเกาะปอดะ ต่อด้วยเกาะห้อง จ.กระบี่ และวันที่สองว่ายต่อไปยัง เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา จุดหมายคือ ท่าเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ซึ่งนักว่ายน้ำอาสาสมัครทุกคนสามารถว่ายน้ำรวมระยะทางได้ถึง 70 กิโลเมตร เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากครับ”
การว่ายน้ำมันมีส่วนช่วยทะเลยังไง
“มันอาจไม่ได้เห็นผลในทันทีทันใด แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่า การที่พวกเราออกมาทำแบบนี้ มันจะกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล หันมาร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย พร้อมประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล กระตุ้นเศรษฐกิจให้จังหวัดทางภาคใต้ได้อีกทางหนึ่ง”
“อีกอย่าง การที่เราจะลงมือทำอะไรสักอย่าง เช่นการว่ายน้ำแบบนี้ ทรายคิดว่าคนที่ทำแบบนี้ได้มันมาจากใจอย่างเดียวแหละ ร่างกายมันตามใจเรา ช่วงแรกๆทรายเป็นตะคริวนิดนึง เราก็แค่ปรับการใช้ร่างกาย ร่างกายสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างให้เราได้ หากเราต้องการทำมันจริงๆ ทรายว่ายน้ำตรงนี้ไม่ใช่เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าทรายเก่ง แต่ทรายว่ายเพื่อจะต้องการให้คนเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ ว่าทราย กับ สัตว์มันไม่ได้ต่างกัน แสดงว่ามนุษย์กับสัตว์ทะเลไม่ได้ต่างกัน มันเป็นแรงบันดาลใจหลักเลยของการออกมาทำกิจกรรมครั้งนี้”
ทำไมถึงเลือกประเทศไทย
“ทรายคิดว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะเสียหายมากที่สุด แล้วก็มีโอกาสในความสำเร็จการอนุรักษ์มากที่สุด เพราะว่าประเทศเราเป็นประเทศท่องเที่ยว ทุกคนเข้ามาหาทรัพยากรของเรา แต่เราดูแลไม่ดี”
แล้วทำไมต้อง กระบี่ พังงา และภูเก็ต
“กระบี่เป็นจังหวัดที่เข้มงวดที่สุดในเรื่องของการอนุรักษ์ เขามีนโยบายที่ชัดเจน มีการพูดคุยกับสมาคมโรงแรม การท่องเที่ยว ที่นี่จะห้ามคนเล่นกีฬาทางน้ำที่ใช้เครื่องยนต์ ทั้งยังมีการส่งเสริมธุรกิจชุมชนยั่งยืน กระบี่มีความเข้าใจว่าทรัพยากรธรรมชาติของเขามีความสำคัญแค่ไหน ตอนที่ทรายไปคุยกับคนที่กระบี่มันได้พลังจากคนที่นั่น ทำให้ทรายเกิดความเชื่อมั่นว่ากระบี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเรา”
“ส่วนที่ภูเก็ตนั้นมันเป็นตัวอย่างของการจัดการที่ไม่ดี มันเป็นน้ำเน่า ทรายว่ายมาเมื่อวานนี้ตอนที่ไลฟ์ทุกคนก็จะเห็นว่า น้ำมันเขียว ซึ่งน้ำเขียวแบบนี้มันมาจากน้ำเสีย มันทำให้น้ำข้างใต้ร้อน ทำให้ออกซิเจนในน้ำน้อยลง ภูเก็ตเป็นที่ที่ทรัพยากรสวยมาก แต่มันดูแลไม่ค่อยดี”
ทรายมักจะชอบคิดว่าตัวเองเป็นสัตว์ทะเลตัวหนึ่ง
“ใช่ครับ อย่างโครงการนี้ผมก็สมมุติตัวเองว่าผมคือปลา คือสัตว์ทะเล ที่กำลังแหวกว่ายอยู่กลางทะเล ทุกอย่างที่ผมต้องเจอ คือทุกอย่างที่สัตว์ทะเลเหล่านี้ต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก ซากอวน หรือแม้แต่น้ำทะเลที่ไม่สะอาด และที่สำคัญผมอยากเปลี่ยนความกลัวของตัวเองเป็นความกล้า ความกลัวที่ว่าคือ กลัวว่าสัตว์ทะเลจะกินขยะพลาสติก หรือมักว่ายน้ำไปติดกับดักขยะโดยไม่รู้ตัวจนได้รับบาดเจ็บและตายในที่สุด หรือแม้แต่สารเคมีที่ไหลลงสู่ทะเลซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์เหล่านี้”
“ผมเลยอยากจะเปลี่ยนความกลัวนี้เป็นความกล้า เพื่อเปลี่ยนแปลงและหยุดภัยคุกคามจากฝีมือมนุษย์ที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบทั้งระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นทะเล สัตว์ หรือแม้กระทั่งคนด้วยกันเอง ผ่านการว่ายน้ำข้าม 3 จังหวัดร่วมกับเพื่อนๆ อีกหลายชีวิตที่เราจะสมมติตัวเองเป็นฝูงปลากำลังอพยพในท้องทะเล”
“ซึ่งเพื่อนๆ ที่มาร่วมว่ายน้ำกับทรายในครั้งนี้ ถึงแม้จะมีลักษณะร่างกายภายนอกที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนก็มีใจที่รักทะเลเหมือนกัน มีเป้าหมายเหมือนกัน เหมือนกับสัตว์ทะเลที่ไม่ได้มีแค่ปลา แต่ยังมีสัตว์ทะเลประเภทอื่น ไม่ว่าเขาจะว่ายเร็ว หรือว่ายช้า จะรูปร่างเป็นอย่างไร แต่เขาก็คือสัตว์ทะเลที่ต้องการทะเลที่ดี ต้องการบ้านที่ปลอดภัยเหมือนกัน”
ปัญหาของท้องทะเลคืออะไร
“ทรายคิดว่าปัญหามาจากการคุกคามของมนุษย์ อย่าว่าแต่ทะเลเลย ในป่าก็มี ทรายไม่รู้ว่าทำไมสังคมมนุษย์ คิดว่าการเอาเปรียบชีวิตคนอื่น มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าการที่เขาทำแบบนั้นกับสัตว์ได้ มันทำให้เกิดขึ้นกับส่วนอื่นของสังคมได้อย่างเช่น แรงงานเด็ก หรือคนที่ทำงานแล้วไม่ได้ค่าแรง ค่าโอที ทรายคิดว่ามันอยู่ที่วิธีคิดของคนมากกว่า ท้องทะเลและสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นมันอยู่ที่วิธีคิดของคุณมากกว่าครับ”
อะไรคือวิธีแก้ปัญหา
“ผมเคยเจอกับคนที่บอกว่าเป็นคนรักทะเล รักสิ่งแวดล้อม แต่คุณยังใช้หลอดพลาสติก ตามชายหาดคุณไปนั่งกินเหล้ากินเบียร์กัน กินเสร็จก็ไม่สนใจที่จะเก็บไปทิ้ง ก็ปล่อยเกลื่อนตามหน้าชายหาด ถึงเวลาที่น้ำทะเลซัดเข้ามาก็พาขยะเหล่านั้นลงทะเลไป ฉะนั้นทรายมองว่าต้องแก้ที่วิธีคิดอย่างเดียวเลย การเปลี่ยนแปลงจะเกิดและดีขึ้นได้มันต้องมาจากการกระทำที่ดี ทำตัวอย่างดีๆ ด้วยการเดินเก็บขยะตามชายหาด อย่างที่ทรายว่ายน้ำ ทรายไม่เปิดรับบริจาคด้วยเหตุผลว่า การคุกคามชีวิตคนอื่น ไม่ควรเอามูลค่าเงินมาวัดได้ เงินที่ได้มามันมีค่ามากพอกับสิ่งที่เราทำลายลงไปหรือไม่ และไม่เห็นด้วยกับการออกมาขอเงินในลักษณะนี้”
คิดอย่างไรกับการทำอาชีพประมง
“ผมสนับสนุนการทำประมงในชุมชนนะ เพราะพวกเขาจะดูแลทรัพยากรของเขาดีมาก แต่ประมงแบบอุตสาหกรรมเนี่ย ที่ใช้อวนลาก อันนี้ทรายไม่เห็นด้วยเลย เพราะถ้าเขาทำพื้นที่เสียหายตรงนี้ เขาก็ไปทำตรงอื่นได้ แต่สำหรับชาวประมงพื้นบ้าน เขาไม่สามารถออกไปหาที่อื่นๆ ได้ และนี่ก็คืออีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับประมงพื้นบ้าน ที่เป็นเหยื่อของระบบชนชั้นเหมือนกัน”
ทรายวัดความสำเร็จของงาน ว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล อย่างไร
“ไม่รู้เลยครับ แต่ถ้ามีต่างชาติมาถามว่าประเทศไทยมีโครงการอนุรักษ์อะไรบ้าง แล้วมีคนเอ่ยชื่อทรายออกไป ผมว่านี่ก็น่าจะใช่ความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้ หรือมีคนที่ติดตามผมแล้วลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงแล้วเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ในเรื่องอนุรักษ์ ผมว่านี่ก็เป็นสิ่งที่สำเร็จยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะให้วัดผลเป็นรูปธรรมผมคงตอบไม่ได้ครับ”
ความสุขของทรายคืออะไร
“ความสุขของผมคือการได้อยู่กับทะเล ได้ออกว่ายน้ำทุกวัน เก็บขยะ นั่งมองทะเล ความสุขที่ได้สร้างคนรุ่นใหม่ให้มีจิตอาสา มีใจรักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนนี้ก็มีน้องๆ อายุ 11 ปีและ 14 ปี มาช่วย ถึงเวลาก็ชวนกันไปเก็บขยะ ไม่เคยคิดที่จะกลับหรือขึ้นมากรุงเทพฯอีกเลย”
ตลอดระยะเวลาร่วมชั่วโมงที่พูดคุยกับทราย ยิ่งตอกย้ำ บทเพลงทรายกับทะเลขึ้นมาอีกครั้ง ในช่วงที่ว่า “คือพื้นทรายที่โอบทะเลไว้ จะวันใดมั่นคงเหมือนดังที่เป็น อยู่เคียงข้างเธอ ใจไม่ไหวเอน และยังคงชัดเจนอย่างนั้น” เหมือนทราย สก๊อต กำลังโอบทะเลไว้ด้วยมือของเขาทั้งสอง ด้วยการเก็บขยะ ตัดอวน ไม่ว่าจะเจอพายุสักกี่ครั้ง ใจก็ไม่ไหวเอน และจะอยู่เคียงข้างทะเลอย่างนั้น ถ้าบทสัมภาษณ์นี้เคลื่อนไหวได้ อยากให้จบแบบมีเพลงทรายกับทะเลขึ้นมาเป็นตอนจบ จริง ๆ
* โครงการ ว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในครั้งนี้ ถือเป็นความตั้งใจของทราย สก๊อต ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่ร่วมกับนักว่ายน้ำคนไทยอีกหลายชีวิต เลือกว่ายน้ำในทะเลไทยเพื่อแสดงให้คนไทยและต่างชาติได้เห็นว่ายังมีคนไทยรักษ์ทะเล ช่วยกันดูแลและปกป้องทะเล โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ก่อตั้งกลุ่ม SEA YOU STRONG และยังได้ทำโครงการต่างๆ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง
เช่น การเก็บขยะบนชายหาดร่วมกับเยาวชนในพื้นที่ การเก็บกู้ซากอวนและขยะจำนวนมากในทะเล ซึ่งทำในหลายจังหวัดทางภาคใต้ทั้งกระบี่ พังงา และภูเก็ต เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล หันมาร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย
EXPLORER: ทราย – สิรณัฐ สก๊อต | facebook.com/PsiScott
AUTHOR: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHY: ขอบคุณภาพจากโครงการ “ว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล”