ลิ้มรสความตื่นเต้นเร้าใจ เมื่อธรรมชาติรับน้องนักเดินป่ากลุ่มแรก ในรอบปฐมฤกษ์ของเส้นทางเดินป่า น้ำตกขุนน้ำปัว ความยากระดับ 2 ของโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน
ที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกล น้ำตกขุนน้ำปัว แห่งนี้ (ไปกลับราว 20 กิโลเมตร) พวกเราได้เจอครบทุกรสชาติ ตั้งแต่ย่ำโคลน ลุยน้ำตกไหลเชี่ยว และต้องปีนป่ายก้อนหินกับบันไดลิงสูงชวนเสียว เพื่อไปพบป่าต้นน้ำ แหล่งกำเนิดของแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ซึ่งธรรมชาติยังสวยบริสุทธิ์มาก ๆ
ความสนุกเริ่มต้นเบา ๆ ตั้งแต่การขนสัมภาระขึ้นท้ายรถกระบะ แล้วนั่งให้ก้นกระแทกพื้นจนนับไม่ไหว จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ลงไปยังหมู่บ้านน้ำปัวพัฒนา (ระยะทางไปกลับราว 24 กิโลเมตร) ทว่าวิวระหว่างทางนั้นสวยจนลืมเจ็บไปชั่วขณะ
จากนั้นพวกเรามาถึงศาลาอเนกประสงค์ของชุมชน พบปะผู้นำเที่ยว ฟังข้อปฏิบัติของการเดินป่าแบบสำรวม แบ่งกลุ่มการเดินให้เป็นระบบระเบียบ และกระจายสัมภาระบางส่วนให้ลูกหาบ ก่อนเดินแบกเป้ที่หอบข้าวหอบของแน่นหนัก ประหนึ่งคนกลัวอดอาหารออกจากหมู่บ้านในช่วงสาย
เราเดินผ่านไร่มันสำปะหลัง ทุ่งนา สลับไร่ข้าวโพด ที่โอบล้อมไว้ด้วยภูเขาสูงใหญ่ ซึ่งจุดนี้ความสนุกจะเพิ่มขึ้นไปอีกระดับ เพราะต้องเดินตัดผ่านลำห้วยที่น้ำสูง ตั้งแต่ระดับหน้าแข้ง จนถึงเอวหลายจุด (ซึ่งทำให้เพื่อร่วมรุ่นหลายคนเปียกปอนไปทั้งตัวตั้งแต่ด่านแรกก็มี / บาสคือหนึ่งในนั้น)
เราพักกินข้าวเที่ยงในกระท่อมปลายนาสักพัก ก่อนจะปีนรั้วเข้าเขตป่าอนุรักษ์เพื่อไปยังจุดตั้งแคมป์บริเวณริมธาร ใกล้ ๆ กับน้ำตกวังเขียว แล้วจบวันแรกด้วยการกินมื้อค่ำ พร้อมนั่งล้อมวงรอบกองไฟ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้าน และเพื่อนร่วมรุ่น ฟังเรื่องเล่าในตำนาน หรือความเชื่อ ที่ส่งต่อกันมาอย่างสนุกสนาน (แต่บอกไม่ได้ว่าเรื่องอะไร และสนุกขนาดไหน อยากให้ลองไปฟังด้วยตัวเอง) ก่อนแยกย้ายกันเข้านอนเต็นท์ใคร เต็นท์มัน
อิทธิพลจากพายุโนรู ทำให้คืนแรกในผืนป่าฝนตกไม่หยุด แล้วความสนุกขั้นสุดของเส้นทางเดินป่าแห่งนี้ ก็เริ่มต้นขึ้นในเช้าวันใหม่ เช้าที่ผืนป่าถูกปกคลุมด้วยเมฆพายุ เช้าที่ฟ้าจับตะวันไปซ่อนไว้ ไม่ให้เจอแสงแดด
นักเดินป่าในรอบปฐมฤกษ์ ทั้งรุ่นใหญ่ มือใหม่ และสมาชิกในรุ่นที่เด็กสุดอย่าง “น้องธีร์” นักเรียนเดินป่ารุ่นที่ 8 ซึ่งอายุเพียง 7 ขวบ เหมือนถูกกลั่นแกล้งให้อาบสายฝนที่โปรยไม่ขาดเม็ด ตัวเปียกชุ่มนั้นไม่เท่าไร แต่พวกเราต้องย่ำดินที่กลายเป็นโคลน สลับลุยธารที่น้ำทั้งเย็น และเชี่ยวกรากตลอดเส้นทาง ต้องปีนบันไดลิงที่มองกลับลงมาเห็นแล้วรู้สึกขาสั่น สลับไต่ผาหินปูนที่บางจุดก็ชันเอาเรื่อง (แต่ว่าไม่ลื่นนะ) จนได้พบน้ำตกวังเขียว และจุดหมายหลักอย่างน้ำตกขุนน้ำปัว ที่ธรรมชาติยังคงบริสุทธิ์งดงาม รวมถึงถ้ำเหนือชั้นน้ำตกที่น้ำใสมาก
พี่ดม ผู้นำชุมชนและหัวหน้าผู้นำเที่ยว เล่าว่า ผืนป่าแห่งนี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีน้ำตลอดปี เพียงแต่ครั้งนี้ฝนตกหนัก ทำให้ปริมาณน้ำมากและไหลเชี่ยวกว่าวันที่พวกเขามาทำการสำรวจเสียอีก แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ภายใต้วงเล็บ (ตื่นเต้นเร้าใจสุด ๆ)
เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกลน้ำตกขุนน้ำปัว เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง โรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา กับชุมชนบ้านน้ำปัวพัฒนา หมู่ที่ 12 ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานฯ และอาศัยผืนป่าแห่งนี้เลี้ยงชีพมาช้านาน (บางช่วงของเส้นทางที่เรามาเดิน ก็เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน ตามปกติในชีวิตประจำวัน)
Level 2 ของโรงเรียนนักเดินป่า มีจุดประสงค์หลักในการ “ส่งเสริม” 3 ประการที่เป็นบ่อเกิด “ความยั่งยืน” คือ ส่งเสริมวัฒนธรรมเดินป่าให้เข้มแข็ง ผ่านวิธีการที่ถูกต้อง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยชาวบ้านในพื้นที่ และส่งเสริมรายได้คืนให้กับชาวบ้าน ผ่านการเป็นผู้นำเที่ยว และลูกหาบ อีกหนึ่งช่องทางควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรม
จากประสบการณ์ที่เราได้รับ ในฐานะนักท่องเที่ยวกลุ่มแรก ครั้งแรกของชาวบ้านที่ได้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากต่างถิ่น อาจมีความเขินอายเจือปนอยู่บ้าง แต่เชื่อเราเถอะ ชาวบ้านน้ำปัวพัฒนาน่ารัก วิถีชีวิตเรียบง่าย แถมน้ำใจงามมาก ๆ
เราอิ่มเอมใจมาก ที่ได้นั่งล้อมวงกินข้าว และแบ่งปันอาหารที่มีร่วมกันกับชาวบ้าน และเพื่อนนักเดินป่าร่วมรุ่น
เราทึ่งมากที่ ได้เห็นชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ ใช้ภูมิปัญญาในฐานะคนที่อยู่ป่ามาทั้งชีวิต แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้พวกเรา เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นใจ
เราประทับใจมาก ที่ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ ผู้นำเที่ยว และลูกหาบที่น่ารักทุกคนเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เรายังได้เห็นวิธีเที่ยวป่า ของ “คนต้นแบบ” ผู้พยายามสร้างวัฒนธรรมเดินป่าที่ถูกต้อง ขึ้นในไทยอย่าง “พี่งบ” ธัชรวี หาริกุล ผู้บริหาร Thailand Outdoor ที่มาร่วมเดินในครั้งนี้
ได้เห็นการส่งต่อวิธีปฏิบัติตน ในการเดินป่าอย่างสำรวม จากเจ้าหน้าที่ที่น่ารักของอุทยานฯ นำโดย ครูใหญ่ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
และไม่น่าเชื่อว่า การได้ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน อยู่กลางป่าดิบชื้นที่ยามค่ำคืนมืดสนิท กลับทำให้คนแปลกหน้าได้สนิทสนมกันง่ายขึ้น
ใครอยากลิ้มรสความตื่นเต้นเร้าใจ หรือสัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้าน บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกลน้ำตกขุนน้ำปัว สามารถดูรายละเอียดในการลงทะเบียน อ่านระเบียบในการจอง และอัตราค่าบริการ ที่กำลังเปิดให้จองในรอบที่ 2 – 9 (ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน 2565) ได้ที่เพจ วิสาหกิจชุมชน “เส้นทางศึกษาธรรมชาติเดินป่าน้ำตกขุนน้ำปัว จ.น่าน”, เพจ โรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และเพจ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา – Doi Phu Kha National Park
EXPLORERS: บาส, ต้น, เฟี้ยต
AUTHOR: นวภัทร ดัสดุลย์
PHOTOGRAPHER: ศุภกร ศรีสกุล