สำรวจจุดกางเต็นท์บนชายหาดลับ ที่ทับสะแก ชายหาดติดกับป่าชุมชนและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนในพื้นที่โคกตาหอมเท่านั้นที่รู้จัก
ทริปต่อเนื่องจากการมาแคมปิ้งที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนหน้านี้ เรารู้สึกว่าประจวบฯยังมีมนต์เสน่ห์ให้หลงใหลและน่าค้นหา เหมือนมันยังไปไม่สุด และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เราทราบมาว่าเลย อช.หาดวนกรลงมาทางใต้ประมาณ 35 กิโลเมตร คุณจะได้พบกับชายหาดที่เงียบสงบ ทรายที่ชายหาดเจือด้วยสีดำ ผสมผสานกันตลอดแนว น้ำทะเลใสแจ๋ว เหมาะแก่การหนีร้อนมาแคมปิ้งมาก
โคกตาหอม
ผมได้ยินชื่อ ‘โคกตาหอม’ จากพี่ ๆ เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกล่าวขานถึงความงดงามของชายหาดและน้ำทะเลใส เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมาเห็นด้วยตาตัวเอง ชายหาดโคกตาหอมนี้ตั้งอยู่ ตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางไม่ไกลเท่ากับใจที่ร้อนอยากเห็น อยากสัมผัสบรรยากาศดังกล่าว
ชายหาดโคกตาหอม อยู่ภายใต้การดูแลของชุมชนหมู่ 9 บ้านโคกตาหอม ดูแลร่วมกันระหว่าง อบต.และชาวบ้าน บริเวณชายหาดยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ทางด้านใต้เชื่อมต่อชายหาดชุมชนนวัตวิถีทางสาย ชายหาดโคกตาหอมมีพื้นที่ติดกับป่าชุมชนที่ขึ้นอยู่กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ป่าแห่งนี้ถือเป็นโครงการป่าครอบครัวที่มีแนวคิดอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมีความรักและหวงแหนในพื้นถิ่นตัวเอง มีจิตอนุรักษ์ผืนป่า ทั้งยังหาประโยชน์จากป่าอย่างรู้คุณค่าโดยไม่ทำลาย เสน่ห์ของที่นี่จึงไม่จำกัดแค่ชายหาด หากคุณอยากกางเต็นท์นอนในป่าชุมชนก็ไม่มีใครว่า หรือจะเลือกนอนบนชายหาดก็ไม่มีใครสน
หากแต่วันนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีการปรับปรุงใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างยังบริสุทธิ์ ใครอยากมาใช้ชีวิตกลางแจ้งที่นี่ก็ได้ แต่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดอยู่อย่างหนึ่งคือเรื่องของการทิ้งขยะ เพราะทางชุมชนยังไม่ได้เตรียมเรื่องการจัดการขยะและยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นในการใช้พื้นที่
หัวใจสีดำ
ก้อนหินที่มีลักษณะเหมือนหัวใจ ตั้งเด่นเป็นด่านแรกเมื่อเดินเหยียบชายหาด ธรรมชาติรังสรรค์ ให้กลุ่มก้อนหินมีความงดงาม มีเส้นทางเดินเล่นระหว่างก้อน ก้ม เงย ตามจังหวะสลับกันไป แต่ก็ควรระวัง เพราะหินที่พูดถึงมีความคม ลักษณะของหินชาวบ้านบอกว่าเหมือนหินภูเขาไฟ เหมือนลาวาที่ไหลมาปะทะกับความเย็นแบบเฉียบพลัน ก้อนหินมีสีดำและมีรูพรุน บริเวณโขดหินนี้เป็นไฮไลต์สำหรับผู้มาเยือน
ทรายสีดำ
เม็ดทรายที่เห็นเป็นการผสมผสานกันระหว่างทรายทะเลและเศษแร่สีดำ ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเศษแร่ดีบุกเพราะที่อำเภอทับสะแก มีการทำเหมืองแร่อยู่หลายแห่งเมื่อในอดีต
พรรณไม้ริมหาด ลูกสวาดและหนามพุงดอ
ต้นสวาด ขึ้นอยู่เรียงรายตามชายหาด เมล็ดของลูกสวาดอยู่ในฝักที่มีขนแหลมแข็ง เชื่อกันว่าเมล็ดของลูกสวาดเป็นของมหาเสน่ห์ใครมีไว้จะเป็นที่รัก ในทางเมตตามหานิยม คนสมัยโบราณมักพกติดตัวอยู่เสมอ
หนามพุงดอ เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยจัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพร พบมากตามชายฝั่งทะเล ผลสุกกินเป็นผลไม้ ยอดอ่อนใช้เป็นเครื่องเทศดับคาว
การเตรียมความพร้อมของนักท่องเที่ยวที่อยากจะมาสัมผัสบรรยากาศดีๆ ที่ชายหาดโคกตาหอม เราต้องบอกก่อนว่า ที่นี่ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีน้ำจืด เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องเตรียมตัวมาเอง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวสายแบกที่มีประสบการณ์ในการขุดส้วมส่วนตัวแล้วละก็ ผมว่าที่นี่เป็นหนึ่งสถานที่ที่น่ามาเยือนมากที่หนึ่งเลย
ผมใช้เวลาที่ทับสะแก สองคืนสามวัน กับการออกมาหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ แบบที่ทุกคนรู้จัก แต่ไม่เคยเห็น อย่าเพิ่งงงครับ ด้วยแนวคิดที่ว่า “Unseen” กับเรื่องราวที่หลายคนไม่รู้จักทั้งยังไม่เคยเห็น แต่พวกเราลงความเห็นกันว่า บางครั้ง สถานที่ที่หลายคนรู้จัก เขาอาจจะไม่เคยเห็นในอีกบางมุมก็ได้ เราจึงขออาสาลงพื้นที่แล้วนำมาเล่าถ่ายทอดให้คุณผู้อ่านที่รักได้ชื่นชมถึงบางมุมของบางสถานที่ เผื่อว่าครั้งหน้าของการเดินทางของคุณๆ อาจแวะเวียนมาเยี่ยมชมก็ได้นะครับ
หากใครที่สนใจอยากเข้ามาเที่ยวชายหาดลับๆแบบนี้ กรุณาโทรสอบถามรายละเอียด 08-7081-6141 คุณประชุม เสือเหลือง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ที่ดูแลพื้นที่แห่งนี้อยู่ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยวเอง
ขอบคุณ
- สมชาย นาคซื่อตรง เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สนง.ทสจ.ประจวบคีรีขันธ์)
- เนาวรัตน์ สายชุ่มอินทร์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สนง.ทสจ.ประจวบคีรีขันธ์
- รัฐพล ทิพย์สุวรรณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สนง.ทสจ.ประจวบคีรีขันธ์
- อัจฉรา ฉายน้อย นักประชาสัมพันธ์ ศูนย์ป่าไม้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ประชุม เสือเหลือง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
EXPLORERS: ตู่, บาส, เฟี้ยต
AUTHOR: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: นวภัทร ดัสดุลย์
GRAPHIC DESIGNER: ธีรภัทร์ อินทจักร