ชวนเที่ยวซาฟารีเมืองไทย ไปส่องสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี แล้วออกมากินข้าวเย็นท้ายไร่กับเมนูบ้าน ๆ ง่าย ๆ แต่อร่อยจนอยากเชียร์ให้มิชลิน ไกด์ มอบรางวัลบิบ กูร์มองด์! จากนั้นไปนอนค้างแรมที่โฮมสเตย์กลางไร่สัปปะรด แล้วตื่นเช้าไปดักรอพระอาทิตย์กลางทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ติดพรมแดนไทย-เมียนมาร์ และปิดท้ายทริปสองวัน-หนึ่งคืนแบบอิ่มใจ กับหลากหลายกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านรวมไทย ตั้งแต่ดูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงไปลองเก็บขี้ช้างมาทำกระดาษ เปิดแผนที่เที่ยวตามเราได้ ปักหมุดไว้ให้แล้วที่นี่ https://bit.ly/3LftUek
ส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชักชวนไปลงพื้นที่สำรวจ ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ (Kaeng Krachan Forest Complex) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของไทยแหล่งที่ 3 โดยเริ่มต้นจากเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จังหวัดราชบุรี ต่อมายังอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทริปนี้เราอยู่กันที่ ‘ซาฟารีเมืองไทย’ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่สามารถมาเที่ยวได้ทุกฤดู
ส่องสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ
สัตว์ป่าหนึ่งชนิดเมื่อมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติกุยบุรีแล้วมีโอกาสได้พบมากที่สุดคือ ช้างป่า จากการเก็บข้อมูลล่าสุดของสำนักอุทยานแห่งชาติ ในเดือนมกราคม 2556 ระบุว่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีจำนวนประชากรช้างป่าไม่น้อยกว่า 250 ตัว โดยเฉพาะบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ กร. 1 (ป่ายาง) และพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะมีฝูงช้างป่ากุยบุรีพร้อมลูกช้างเกิดใหม่อาศัยและอยู่กินมากที่สุดกว่า 200 ตัว
ที่นี่มีบริการรถเช่าเหมาคันไปชมสัตว์ป่า อุทยานจะเริ่มเปิดเส้นทางให้ชมได้ตั้งแต่บ่ายสองโมงตรงเป็นต้นไปจนถึงช่วงหกโมงเย็น เส้นทางเข้าชมสัตว์ป่ามีระยะทางไป-กลับรวม 15 กิโลเมตร และเป็นทางลูกรังตลอดเส้น มีจุดชมสัตว์ป่า 4 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 โป่งสลัดได จุดนี้สามารถพบเห็นกระทิงและช้างป่าฝูงใหญ่ที่ลงมากินหญ้าช่วงเย็น
จุดที่ 2 หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 ป่ายาง บริเวณด้านในมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ และเป็นจุดที่ช้างป่าชอบมาเล่นน้ำ รวมถึงยังเป็นจุดพักกินน้ำของสัตว์ป่าทั้งหลาย
จุดที่ 3 พุยายสาย เป็นจุดที่สามารถชมสัตว์ป่าได้ใกล้ที่สุด และสามารถพบฝูงกระทิงได้บ่อยในบริเวณนี้
จุดที่ 4 จุดชมสัตว์ป่าบนหน้าผากว้างใหญ่ มองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนไกลสุดตา แถมระหว่างทางจากพุยายสายมาถึงที่นี่ยังมี ป่าสนต้นม่วง ที่มีนกหลากหลายสายพันธุ์คอยแอบดูนักท่องเที่ยวอย่างเราอยู่ด้วย แนะนำว่าเริ่มออกรถสักช่วงบ่ายสามโมง เพราะอากาศไม่ร้อนนัก ส่วนในช่วงเย็น ๆ จะมีสัตว์ป่าออกมาหากินเยอะหน่อย และเมื่อพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน ระหว่างทางกลับเราจะเจอสัตว์ป่าเดินผ่านหน้ารถ บ้างก็แอบอยู่ตามโพรงหญ้าข้างทางให้เราชมได้แบบใกล้ชิด
หมวย หนึ่งในสมาชิกของเราบอกว่า “การไปส่องสัตว์แบบนี้ก็สนุกดี สมกับชื่อซาฟารีเมืองไทย ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการตามหาสัตว์ป่าที่หาทำอย่างนี้ไม่ได้ในเมือง และก็ทำให้รู้ว่าประจวบฯไม่ได้มีดีแค่หัวหิน ปราณบุรี ในฝั่งทะเล แต่ยังมีป่าที่สมบูรณ์มาก ๆ รอให้นักท่องเที่ยวคนไทยแบบเราได้เข้าไปสัมผัส ได้พูดคุยกับพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ 80% มาแล้วมีโอกาสได้เจอสัตว์ป่า และเที่ยวได้ตลอดทั้งปี นอกจากกระทิง วัวแดง และช้างป่า ยังมีสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิดที่เจอบ่อยในที่แห่งนี้ ทั้งหมาใน กวาง นกกระลิงเขียดหางหนาม หมูป่า เสือ ฯลฯ”
สำหรับอัตราค่าบริการเมื่อมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ผู้ใหญ่คิดค่าเข้า 40 บาท เด็ก 20 บาท ส่วนค่าเช่ารถชมสัตว์ป่าตกคันละ 850 บาท โดยรถหนึ่งคันนั่งได้ 6 คน หารกันแล้วตกคนละร้อยกว่าบาท คุ้มมาก และเหมาะสำหรับการมาเป็นกลุ่มยิ่งนัก แนะนำว่าส่องสัตว์ป่าเสร็จอย่าเพิ่งรีบกลับ แพลน ๆ ยาว ๆ มาพักค้างแรมสักคืน ไว้ตื่นแต่เช้ามาลองเที่ยวชุมชนบ้านรวมไทยต่อสักวัน ให้การเดินทางสองวัน-หนึ่งคืนจบแบบอิ่มใจยิ่งขึ้น
กินข้าวฝีมือชาวบ้านที่ท้ายไร่สักมื้อ นอนค้างแรมสักคืน แล้วตื่นไปดักรอพระอาทิตย์ขึ้นกลางทุ่ง 1,500 ไร่
ก่อนหกโมงเย็นเป็นข้อบังคับที่นักสำรวจทุกคนต้องออกจากพื้นที่ส่องสัตว์ป่าของอุทยานฯ กิจกรรมแนะนำหลังจากนี้ให้ลองติดต่อล่วงหน้าไปกินข้าวเย็นฝีมือชาวบ้านกันต่อที่ ไร่ภูฆัง ฟาร์มสเตย์ ในตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทิศเหนือของหมู่บ้านรวมไทย ไม่ไกลจากเขตอุทยานฯมากนัก
ที่นี่คุณจะได้กินอาหารเมนูบ้าน ๆ ง่าย ๆ แต่รสชาติอร่อยอย่าบอกใคร ทั้งน้ำพริกกะปิ กินกับผัดปลอดสารพิษสารพัดชนิดที่เก็บสด ๆ จากสวนท้ายไร่มาต้มยำทำแกง มีเมนูปลาทอดราดกระเทียม ผัดผัก แกงป่า และไข่เจียว กินกับข้าวสวยร้อน ๆ คือดีมาก ตบท้ายด้วยผลไม้สด ๆ กับชิมน้ำผึ้งสดใหม่แสนหวาน เคล้าบรรยากาศยามเย็นของบ้านท้ายไร่ เพราะที่นี่คือบ้านสำหรับนอนเฝ้าช้างเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างเข้ามาหากินและทำลายพืชผลในพื้นที่เกษตรกรรม ใครอยากกางเต็นท์ค้างแรมที่นี่ก็ย่อมได้ รับรองว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมาก ๆ
ส่วนพวกเราในทริปนั้นเลือกไปค้างคืนกันที่ ไร่คงมั่น รีสอท์ทกลางไร่สัปปะรดในหมู่บ้านรวมไทย เพราะตอนเช้ามืดเรามีนัดกับชาวบ้านที่จะนำรถแทร็กเตอร์มารับถึงที่พักเพื่อไปจิบกาแฟแลตะวัน ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.2 (สำโหรง) หนึ่งในจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นช่วงเช้าที่สวยงามมาก ๆ ก่อนไปเตรียมกล้องให้พร้อม เพราะคุณจะได้เก็บภาพแสงตะวันสีส้มอ่อนฉาบไปทั่วทุ่งกว้างจนอิ่มใจ ได้เห็นชาวบ้านนำฝูงวัวออกมากินหญ้า และเห็นวิวทิวเขาไกลสุดตาไปจนถึงอ่างเก็บน้ำยางชุม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อีกจุดที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่คืออุโมงค์จามจุรี หรืออุโมงค์ก้ามปู เพราะเจ้าต้นจามจุรีอายุนับสิบปีหลายสิบต้น ปลูกเรียงรายขนานไปตามถนนลูกรังจนเกิดเป็นอุโมงค์ธรรมชาติท่ามกลางทุ่งหญ้า 1,500 ไร่ พื้นที่ปลูกหญ้าหญ้าแพงโกล่าและหญ้าคองโกเป็นอาหารของวัว ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ ทริปนี้พวกเราโชคดีที่ได้เห็นไอหมอกปกคลุมแนวเทือกเขาตะนาวศรีที่คั่นเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและเมียนมาร์ด้วย สวยเกินบรรยายและต้องลองไปสัมผัสด้วยตาตัวเองเท่านั้นถึงจะเข้าใจ
เยี่ยมวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านรวมไทย
ก่อนจบทริป เรากลับเข้าหมู่บ้านรวมไทยอีกครั้งเพื่อไปเยี่ยมชมหนึ่งในวิสาหกิจชุมชน ที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชุมพร ที่บ้านของป้าจำเนียร พลรัตน์ นอกจากป้าจำเนียรจะสาธิตการทำไหม และพาไปดูทุกซอกมุมของบ้านแล้ว เรายังได้กินชาใบหม่อนที่หอมหวานยิ่งนักเมื่อเติมน้ำผึ้งสด ๆ กับกินหนอนไหมสด ๆ มัน ๆ หนึบ ๆ จากกระทะร้อน ๆ ก่อนกลับ
หรือใครมีเวลาว่างเราก็อยากให้ไปลองเรียนรู้ดูวิถีคนอยู่กับช้าง ไปลองเก็บขี้ช้างมาทำกระดาษกับกลุ่มกระดาษจากใบสับปะรด อีกหนึ่งวิสาหกิจชุมชนของบ้านรวมไทยที่น่าสนใจและสนุกมาก ๆ เช่นกัน ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำไมสองวัน หนึ่งคืน จึงเป็นระยะเวลากำลังเหมาะสำหรับการมาเที่ยว ‘ซาฟารีเมืองไทย’ ใครมาเที่ยวช่วงกลางเดือนพฤษภาคมไปต้นไปก็จะเข้าสู่ฤดูฝนที่กินเวลานานกว่า 7 เดือน ก่อนอากาศจะหนาวอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม อาจเจอฝนตกบ้าง แต่รับรองว่าคุ้มค่าแก่การพักผ่อนแน่นอน
หมวย ทิ้งท้ายด้วยความประทับใจว่า “ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่สวยงาม หรือจะเป็นกิจกรรมต่าง ๆ สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่และเติมพลังให้กับชีวิตได้อย่างดี ถ้าหากมีเวลาก็อยากชวนมาลองสัมผัสประสบการณ์แบบที่เราได้พบดูสักครั้ง”
ติดต่ออุทยานแห่งชาติกุยบุรี
หมู่ที่ 9 บ้านย่านซื่อ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โทร.0-3251-0453, 08-1776-2410 อีเมล [email protected]
และ [email protected]
เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/kuiburinp.thailand
ติดต่อไร่คงมั่น คันทรีโฮม
โทร. 08-5290-7436 (พี่น้อย ชุมชนท่องเที่ยวบ้านรวมไทย)
ติดต่อไร่ภูฆัง ฟาร์มสเตย์ (ค่าอาหารเพียง 150 / คน)
โทร. 09-1760-3618 (พี่ตุ้ย)
ค่ากิจกรรมเข้าชมกลุ่มปลูกม่อนเลี้ยงไหม / สางไหม 200 บาท
ค่าบริการรถแทร็กเตอร์เที่ยวละ 600 บาท
ค่ากิจกรรมการทำกระดาษสับปะรด 700 บาท
EXPLORERS: บาส, ต้น, กิ๊บ, เฟี้ยต, หมวย, ไอซ์, ปิง
PHOTOGRAPHER: ศุภกร ศรีสกุล, เสือยุ่ง งูไฟ