การได้เดินตามปราชญ์ชาวบ้าน ศึกษาธรรมชาติไปพร้อมความเชื่อของชาวมอญโบราณสมัยทวารวดี ทำให้เราได้ค้นพบเสน่ห์เฉพาะตัวที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม พร้อมคำตอบที่ว่า ที่นี่น่าเที่ยวตลอดปี แม้ไม้ใช่ฤดูกาลทุ่งดอกกระเจียวบาน ก็ตามที
ล่องไพรพร้อมชาวญัฮกุร
ก่อนมาเป็น อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ซึ่งได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 นี่คือพื้นที่ที่เปรียบเสมือนป่าหลังบ้านของชาวญัฮกุรก็ว่าได้ ในทริป ‘Camping Tour นัวแดนอีสาน’ เราได้มาล่องไพรบนเทือกเขาพังเหย ในสถานที่ที่พี่พนม ลุงเปลี่ยน และลุงวิทย์ สามปราชญ์ชุมชนชาวญัฮกุร สามคนนำเที่ยวกิตติมศักดิ์ประจำทริป เคยวิ่งเล่นมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเสียอีก
ผาสุดแผ่นดิน
เราเริ่มต้นกันที่จุดชมวิวบนความสูง 846 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่สามารถมองเห็นรอยต่อของ 3 จังหวัด 3 ภูมิภาค จังหวัดชัยภูมิ ในภาคเหนือ จังหวัดลพบุรี ในภาคกลาง และจังหวัดเพชรบูรณ์ ในภาคอีสาน กลางเนินเขาสูงใหญ่ทอดยาวสลับซับซ้อน ผ่านสายตาและขาสองข้างที่ยืนอยู่บนหน้าผา และชั้นหินที่ยื่นยาวออกไปทางทิศตะวันตกของที่ทำการอุทยาน
ปราชญ์จะบอกว่า นี่คือทางที่คนสมัยก่อนเดินไปมา เดินจากชัยภูมิไปลพบุรี จากลพบุรีไปเพชรบูรณ์ สามารถเดินข้าม 3 จังหวัดได้โดยเดินข้ามแค่เขาลูกเดียว เป็นอุทยานที่เท่มาก ๆ ความเจ๋งของที่นี่คือเป็นแหล่งโอโซนที่อากาศบริสุทธิ์ เย็นสบายตลอดวัน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงและต่ำสุดราว 8-29 องศาเซลเซียส
เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาก่อรัก
ไม่ใช่ฤดูกาลที่ราชินีแห่งป่าฝนผลิบาน แต่เส้นทางเดินป่าระยะสั้นที่มีทางลาดเดินง่ายเพียง 2 กิโลเมตร ก็ยังมีสารพัดพืชพันธุ์เบ่งบาน ผลิดอก ออกมาทักทายพวกเราอยู่บ้าง เราใช้เวลาเดินจากฐานที่ 1 จนถึงฐานที่ 10 อยู่ราว 1 ชั่วโมง สำรวจป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ที่มีลักษณะลำต้นเตี้ย แตกกิ่งก้านสาขามีรูปทรงสวยงามแปลกตา สลับกับโขดหินและพืชล้มลุกกระจายตัวทั่วพื้นที่
ปราชญ์ชุมชนพาเราเดินดูพืชพันธุ์ต่าง ๆ พร้อมคอยบอกว่าแต่ละต้น คืออะไร ไว้ใช้ทำอะไร โดยเฉพาะ ‘หญ้าเพ็ก’ ลุงเปลี่ยนบอกว่าเป็นหญ้าที่ตีฟันตุ่นแตกได้! ในขณะที่ลุงวิทย์ก็รู้หมดว่าพืชพรรณชนิดไหนกินได้ กินไม่ได้ และตัวไหนกินเป็นยา พร้อมทั้งยังสาธิตการล้างมือด้วยดอกกระเจียวยักษ์ กรณีที่อยู่ในป่าและต้องการล้างมือ เสียดายวันที่เราไปดอกกระเจียวไม่มีให้เห็นเพราะหมดช่วงเบ่งบานของนางแล้ว
ช่วงที่เรามายังสามารถเห็น ดอกหงอนนาค พืชล้มลุกสูงประมาณ 1-2 เมตร มีลักษณะใบรูปดาบ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีม่วงอ่อน จุดสังเกตุคือมีกลีบดอก 3 กลีบ และจะผลิบานเมื่ออาบแสงแดด รวมถึงฮั้วตีนกบ ไปจนพันธุ์พืชจำพวกกล้วยไม้ดินอย่าง เอื้องหมาก เอื้องม้าวิ่ง เอื้องเหลืองพิศมร และนางอั้วน้อย
ลานหินงาม
หลังจากเดินป่าระยะสั้น เราก็ได้ไปเดินดูลานหินงาม ที่มีโขดหินรูปร่างแปลกละลานตา ให้เราได้แวะถ่ายรูปกันอย่างเพลินใจ ธรณีวิทยาที่นี่น่าศึกษา เราจะได้พบหินชั้นในหมวด หินภูพาน หินพระวิหาร และหินภูกระดึง โดยมีชั้นหินทรายเนื้อควอร์ตซ์ หินทราย หินทรายปนกรวด สลับกับหินทรายแป้งที่ถูกสายลม แดด และน้ำกัดเซาะกินเวลานับล้านปีจนมีลักษณะแปลกตา จนมีรูปทรงน่าอัศจรรย์ต่าง ๆ นานา ในชื่อน่ารักชวนยิ้ม อย่างมอหำตั้ง ตะปู ฟีฟ่าเวิร์ลคัพ เป็นต้น แถมพื้นที่ตรงนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย เป็น Dark Sky Park ที่มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่มองเห็นดาวด้วยตาเปล่า จึงเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาดูดาวอย่างคึกคักจุดหนึ่ง
ไม่น่าแปลกใจที่ นี่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เป็นสถานที่น่าศึกษาธรรมชาติ น่ามากางเต็นท์ ชมพระอาทิตย์ตก นอนชมดาวยามราตรี ในฤดูหนาว มีฤดูกาลทุ่งดอกกระเจียวบานในฤดูฝน ซึ่งได้ชื่อว่าใหญ่และสวยงามที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะบานสะพรั่งช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี แถมที่นี่ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Thailand Tourism Awards ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2566 มาครองได้อีกด้วย
น้ำตกเทพประทาน
เราอยู่บนอุทยานฯจนใกล้เที่ยง จึงขับรถลงมาที่น้ำตกเทพประทาน เพื่อรับประทานอาหารเที่ยงกันที่นี่ เกิดจากลำห้วยกระโจนที่ไหลจากทิวเขาพังเหย ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีสามชั้นลดหลั่นกัน ชั้นบนสุด สูง 2-3 เมตร ชั้นกลาง สูง 3 เมตร และชั้นสุดท้าย สูงประมาณ 6 เมตร มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน น้ำตกเทพพนาอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 7 กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันออก
เรากินอาหารกลางวันโดยมีกองใบไม้เป็นโต๊ะอาหาร และเมนูอาหารมื้อเที่ยงนี้ก็เป็นอะไรที่บอกเลยว่าถ้าไม่ได้กินถือว่ามาไม่ถึงชุมชน นั่นคือเมี่ยงญัฮกุร ที่มีส่วนผสมของกล้วยดิบ มะอึก ต้นทูน กระเทียม พริกขี้หนู และเกลือห่อด้วยใบทูนแล้วพันด้วยกุยช่าย ทานเป็นของว่างก่อน
แล้วต่อด้วยเมนูหลัก ข้าวเหนียวห่อใบตองห่อใหญ่ พร้อมหมูปลาร้าห่อใบตอง กับหมูเสียบไม้ย่างเกลือ และที่พิเศษคือน้ำพริกหมอก พนมเล่าให้ฟังว่าไม่ได้กินน้ำพริกหมอกมานานมากนับสิบปีเพราะในสมัยก่อนนั้นมันมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม ซึ่งปัจจุบันสัตว์นั้นเป็นสัตว์สงวนไปแล้ว ชาวบ้านจึงไม่ทำกินกัน
แต่วันนี้เป็นวันพิเศษของหมู่บ้านจึงนำกลับมาทำอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูและอยากให้น้ำพริกหมอกกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งด้วยการใช้เนื้อหมูแทน รสชาติน้ำพริกหมอกคือดีมากจิ้มกับข้าวเหนียวร้อน ๆ บอกได้คำเดียวงานนี้มีจุก ตบท้ายด้วยกลอยปิ้งและกระบกคั่วกินเพลินเกินห้ามใจ แอบเอามากินบนรถระหว่างเดินทางไปยังนครราชสีมาอีก
จะบอกว่าทุกครั้งที่มาที่ชุมชนญัฮกุรนี้และได้เข้าป่ากับชาวบ้าน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือก่อนจะเดินทางกลับผู้เฒ่าผู้แก่จะมีพิธีเรียกขวัญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวเสมอ ผมรู้สึกถึงการกลับมาของขวัญและความสุขจริง ๆ เพราะผมเปิดใจและยอมรับในสิ่งที่ได้ทำร่วมกับชาวบ้าน มันคุ้มค่ามากกับการใช้ชีวิตที่ชุมชนท่องเที่ยวเชิงประเพณีและวัฒนธรรมญัฮกุร ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
หากการเดินทางครั้งต่อไปของคุณอยากท่องเที่ยวแบบนี้ แนะนำให้ติดต่อ พนม จิตร์จำนงค์ โทร.06-4761-3282 หรือ สุรดา บัวเปีย โทร.09-1842-5391 หรือเต้าหู้ โทร.08-6602-6366
อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
ค่าบริการเข้าอุทยานฯ ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ 200 บาท ยานพาหนะ 30 บาท
เปิดเวลา 06.00-18.00 น. สอบถามโทร. 0-4405-6141-2, 08-2131-3371
หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0-2562-0760
EXPLORERS: เฟี้ยต, บาส, ตู่, ไอซ์, ปิง, ปลื้ม, พริม, อุ้ม, ว่าน, ก็อต
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHERS: เฟี้ยต-นวภัทร ดัสดุลย์, ปลื้ม-พงค์พัฒน์ ยอดแคร่ว
GRAPHIC DESIGNER: คุณตั้ม-ธีรภัทร์ อินทจักร
SPECIAL THANKS: พี่บี-ยุทธการ วสุวัต และพี่งบ-ธัชรวี หาริกุล แห่ง ThailandOutdoor Shop, สมาชิกทีม Coleman Thailand ทุกคน เบียร์-อานุภาพ จันทะแก้ว ไกด์ชุมชน คนด่านซ้าย ที่อาสาพาเที่ยวด่านซ้ายในมุมที่ต่างไปจากเดิม