แบงค์-พิชญ์พงศ์ และมอส-พิชญ์อร โสภิตสกุลมาศ สองพี่น้องผู้หลงใหลการเดินป่า ใช้เวลา 169 วัน พิชิตเส้นทางแห่งความฝันของพวกเขาที่ชื่อว่า Pacific Crest Trail ระยะทางไกลกว่า 4,265 กิโลเมตร ได้สำเร็จ
ทั้งคู่ตัดสินใจทำมันตอนที่ยังมีแรงและมีความคิดว่า “เราทุกคนรู้ว่าตัวเองจะต้องตาย แต่ไม่มีใครเชื่อเรื่องอย่างนั้นเลยสักคน ถ้าเราเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องตาย เราคงจะทำอะไรๆ ต่างไปจากที่ทำกันอยู่…” เรื่องราวที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งจากจุดเริ่มต้นจนถึงเส้นชัยของการ Thru-hiking เส้นทาง Pacific Crest Trail จากชายแดนเม็กซิโก – สหรัฐอเมริกา ไปจรดชายแดนสหรัฐอเมริกา – แคนาดา เราเชื่อว่าเรื่องราวของแบงค์ และมอส จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านได้ ไม่มากก็น้อย
ก้าวแรกบนเส้นทางฝัน
“คนปกติที่ไหนเขาจะไปเดินกันในระยะทางสี่พันกว่ากิโลฯ แถมกินเวลา 4-6 เดือน ในหัวผมตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า เป็นไปไม่ได้” แบงค์เล่าย้อนความคิดของเขาในช่วงเวลานั้น บวกกับการที่เขาต้องทำงานประจำซึ่งไม่สามารถลางานนานหลายเดือนได้ นอกเสียจากลาออกจากงาน แต่แบงค์ก็ยอมรับว่าเส้นทางนี้เริ่มเป็นความฝันของตัวเอง และตั้งเป้าหมายว่าชีวิตนี้ต้องไปเดินให้ได้สักครั้ง
“ผมฝันมาตลอดตั้งแต่ปี 2018 จนมาช่วง 2020 ที่โควิดเข้าไทย เริ่มเห็นความเป็นไปได้ เพราะผมต้องออกจากงาน ถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วเราจะทำตอนไหน” จากคำถามที่ผุดขึ้นมาในความคิดของแบงค์ เขาจึงวางแผนว่าภายในปี 2022 จะไปเดินป่า PCT ให้จงได้ เขาเล่าต่อว่า “หลังจากกำหนดวันว่าเราจะไปเดินช่วงเดือนไหน ช่วงที่ดีที่สุดจะอยู่เดือนเมษายน ตอนนั้นมอสยังทำงานอยู่ แต่ผมตั้งเป้าแล้วว่าจะไป ด้วยการเดินซ้อมที่ป่าไทยอยู่จังหวัดละเดือน ที่นครศรีธรรมราชจะเหมือนบ้านหลังที่สองของผม ไปบ่อยมาก ก็ไปเดินเขาหลวงนครฯ เขาเหมน เพราะผมชอบป่าใต้”
ฝั่งของมอสที่ยังทำงานอยู่ก็พยายามออกซ้อมขาทุกเสาร์-อาทิตย์เหมือนกัน มอสเล่าว่า “แต่พอตัดสินใจลาออกแล้ว มีเวลาว่างไม่กี่เดือนก็ลุยป่าไทยล้วนๆ กับพี่แบงค์
“ตื่นเต้นมากกว่าทุกครั้ง” คือความรู้สึกของแบงค์และมอสเมื่อเริ่มออกเดินวันแรกในวันที่ 30 มีนาคม 2022 แบงค์เล่าว่า “จุดเริ่มเดินชายแดนเม็กซิโกจะมีอนุสาวรีย์ (ดูจากภาพที่ 2 ในอัลบัม) ตรงนั้นเราจะเห็นกำแพงกั้นเขตแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ มันตื่นเต้นมากๆ ครับ จากที่เมื่อก่อนเราคิดว่าไม่มีโอกาสและเป็นไปไม่ได้ แล้ววันนี้เรามายื่นอยู่ตรงจุดเริ่มเดินนี้แล้ว ผมถือว่าความฝันผมประสบความสำเร็จแล้ว มันยากมากกับการเริ่มต้น ยากที่ต้องออกจากงาน ขอวีซ่า วันที่ผมอยู่ตรงอนุสาวรีย์นั้น 168 วันที่เหลืออะไรจะเกิดขึ้น ผมถือว่าเป็นกำไรชีวิตแล้ว แค่ผมอยู่ตรงนั้นผมประสบความสำเร็จแล้ว ไม่ต้องเดินไปถึงชายแดนแคนาดาก็ได้”
“เส้นทางนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปเดินได้ ต้องมีการจองล่วงหน้า วิธีการจองจะเป็นระบบ Lotto อย่างเช่น ผมกับมอสจองเริ่มเดินวันที่ 30 มีนาคม ในวันนี้จะมีสิทธิ์ให้แค่ 50 คน แสดงว่าวันนั้นจะมีคนเริ่มเดินพร้อมเราแค่ 50 คน แต่จะแบ่งเป็นช่วงๆ เช่น 700 ไมล์แรกสำหรับ 50 คน แต่จะเริ่มตรงไหนก็ได้ในช่วงนี้”
Ultralight Backpacking
แบงค์เล่าว่า “เราเตรียมแผนเดินทางก่อนบินสองเดือน เรื่องข้อมูล การเตรียมอาหาร เส้นทางเดิน จุดพัก จุดเติมเสบียง การเตรียมของใช้ ถุงนอน เต็นท์ แผ่นรองนอน ต้องใช้แบบไหน อย่างไร ของที่นำไปไม่เหมือนของที่ใช้เดินป่าไทยสักทีเดียว อากาศที่นู่นเย็นมาก อุปกรณ์ต้องเบาหมดเลย โดยมากต่างชาติเน้น Ultralight Backpacking การแบกเบามันดีต่อร่างกาย เพราะเราเดินนาน 169 วัน ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือรองเท้า ผมเตรียมไปแค่คู่เดียว แต่พอเดินจริงมันสึกไวมาก สุดท้ายผมใช้รองเท้าสำหรับเส้นทางนี้ 5 คู่ มอสก็เหมือนกัน”
“เรื่องอาหารเราเตรียมจากเมืองไทยมาบางส่วน อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บางคนที่เขาเป็นวีแกน เขาจะเตรียมอาหารสำหรับ 5 เดือนเลยด้วยวิธีบรรจุลงกล่องแล้ว ส่งไปตามไปรษณีย์ ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างบีบเวลาเดินเพราะต้องไปรับของให้ตรงเวลา แต่สำหรับเราก็จะวางแผนล่วงประมาณ 3 วัน ให้ส่งไปรษณีย์แบบนี้ อีกอย่างพวกเราเป็นคนกินง่าย อยู่ง่าย อาหารเลยไม่ค่อยซีเรียสเท่าไร ในแต่ละวันเราจะมีเมนูที่ต่างกันระหว่างผมกับมอส อย่างมื้อเช้าผมจะกินคุ้กกี้กับกาแฟ ส่วนมอสจะกิน Oat meal กลางวันกินแผ่นแป้งทาโก้กับทูน่าซอง ระหว่างมื้อก่อนมื้อกลางวันจะเป็นบาร์พลังงาน วันละ 5 มื้อ”
Zero Day
“วันแรกที่เริ่มเดินผมเตรียมอาหารไว้สำหรับ 5 วัน ซึ่งพอเพียงแล้ว แต่แพลนการเดินช่วงแรกเราเดิน 3 วันจะพบกับจุดเติมเสบียง ซึ่งเส้นทางเทรลนี้จากใต้ขึ้นเหนือ แล้วจะมีเดินผ่านถนนเป็นช่วงๆ ทีนี้พอการเดินวันที่สามมันจะมาถึงทางที่มีถนนกั้นอยู่ เราสามารถโบกรถเข้าเมืองซึ่งห่างกันไม่มาก อาจจะพักโฮสเทลสักคืน เตรียมอาหารสำหรับการเดินในวันต่อ ๆ ไป รวมไปถึงส่งอาหารไปยังจุดรับไปรษณีย์ข้างหน้า จากนั้นก็โบกรถกลับมาส่งที่จุดที่เราโบกเข้าเมืองมาเมื่อวันก่อน”
“เส้นทางนี้เรามีสิทธิ์เข้าเมืองได้โดยไม่ผิดกฎ เป็นวันพักขาที่เขาเรียกว่า Zero Day คือเป็นวันที่ไม่มีการทำไมล์เกิดขึ้น การเข้าเมืองทำให้รู้ว่าเราจะเตรียมอาหารหรือน้ำอย่างไร ต้องส่งไปที่ไหน อีกอย่างการเดินช่วงแรก ๆ เราไม่รู้ว่าเราจะเดินได้วันละกี่กิโลฯ พอเดินสักอาทิตย์หนึ่งเราจะเริ่มรู้แล้วว่าเราต้องการอาหารในแต่ละวันมากน้อยแค่ไหน โดยเฉลี่ยเราเดินกันวันละ 24 -25 กิโลฯ”
มอสกล่าวเสริมว่า “การเดินไปกว่าจะเจอจุดพักจุดเตรียมเสบียง บางครั้งเราต้องเดินถึงสามสี่วัน เราต้องดู Map แล้ววางแผนให้ดีค่ะ อีกอย่างเส้นทางเทรลนี้เป็นเทรลที่เป็นทางการ หลายคนรู้จัก เลยเป็นอะไรที่รู้กันระหว่างคนในพื้นที่กับนักเดินป่า”
Tramily
มอสเล่าว่า “ในเส้นทางเดินป่านี้จะมีคนอื่น ๆ เดินไปด้วยกันระหว่างทาง เขาเรียกว่า Tramily คือเอา trail + family แล้วเดินไปด้วยกัน Pace ใกล้กัน ท้ายที่สุดแล้วเราจะแคมป์ด้วยกัน แต่พอเดินๆ ไปก็เริ่มหาย เพราะความเร็วของแต่ละคนไม่เท่ากัน
แบงค์เสริมว่า “บนทางเทรลส่วนใหญ่ก็จะเดินกันสองคน จะเจอคนอื่นบ้างก็ไกลๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนหน้าเดิมๆ ที่เคยพบปะกันก่อนหน้านี้ ช่วงแรกๆ ก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันเดินไปเป็นกลุ่มเลยก็สนุกดี แต่พอเดินไปสักพัก เราเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากเอาตารางเวลาของเราไปขึ้นอยู่กับคนอื่น เลยขอแยกตัวออกมาเดินเอง”
ค่ำไหนนอนนั่น
แบงค์เล่าว่า “การเดินในแต่ละวัน บรรยากาศจะไม่ซ้ำกันเลย วิวมันเปลี่ยนตลอด บอกเลยว่าไม่เบื่อ แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกที่ว่าเราจะไม่รู้เลยว่าอีกหนึ่งไมล์ข้างหน้าจะเจออะไร พรุ่งนี้จะเจออะไร เช่นตอนนี้เดินทะเลทราย แต่อีกพักเดียวหิมะตก เดินไปอีกนิดเจอทะเลสาบ 700 ไมล์แรกเราเดินทะเลทราย ภูมิประเทศก็ไม่เหมือนกัน เหมือนกับว่าเราเดินบนภูเขาสูงที่มีทะเลทรายแบบนั้นเลย”
“เราจะดูแผนที่ล่วงหน้าไว้ก่อน ซึ่งเรารู้ความสามารถการเดินของเราแล้วว่าเดินได้วันละกี่ไมล์ หลัก ๆ เลยเราจะพยายามเลือกที่แคมป์ที่มีแหล่งน้ำเสมอ ถ้านอนตรงที่ไม่มีน้ำเขาเรียกว่า Dry Camp แสดงว่าเราต้องเตรียมตัวแบกน้ำจากจุดก่อนหน้านี้ และต้องแบกน้ำเผื่อทำอาหารมื้อเย็นและมื้อเช้าในวันถัดไป ฉะนั้นการนอนแคมป์ที่มีแหล่งน้ำดีที่สุด เราจะคุยกันก่อนว่าพรุ่งนี้เดิน 18 ไมล์ไปนอนตรงนี้กัน แล้วก็ต่างคนต่างเดิน ซึ่งผมจะเดินเร็วกว่ามอสประมาณ 5 นาที”
Pace ใคร Pace มัน แต่ความสัมพันธ์ตัดไม่ขาด
ในขณะที่แบงค์บอกว่า Pace ของเขาจะเร็วกว่ามอสประมาณ 5 นาที มอสได้ฟังพี่ชายของเขาเล่าจึงเสริมว่า “อยากเดินตาม Pace ของตัวเอง จะได้ไม่ต้องกดดันตัวเอง ที่ต้องคอยเร่งความเร็วให้ทันพี่แบงค์”
แบงค์ได้ฟังก็ตอบน้องสาวเขาว่า “ผมก็จะหยุดรอน้องเป็นช่วงๆ พอเห็นน้องในสายตาก็จะเดินต่อ จริงๆ แล้วทางเดินชัดเจนมากครับ โอกาสหลงน้อยมาก”
ทันใดนั้นมอสท้วงขึ้นมาว่า “ถ้าทางแยกเยอะๆ ก็มีสิทธิ์หลงได้บ้างค่ะ”
“ผมจะหลงบ่อยกว่ามอส บางทีเดินไปเดินมาผมมาเดินอยู่หลังมอส แสดงว่าผมหลงแล้ว” แบงค์เฉลย
ผ่านแต่ละวันด้วยความคิดและความรู้สึกอย่างไร
“เหนื่อยก็พัก หิวก็กิน เหนื่อยมากๆ หลังกินข้าวเสร็จก็นอน มันทำให้ผมตระหนักได้ว่า จริงๆแล้ว ชีวิตเรามันไม่ได้ต้องการอะไรเลย แค่มีอาหารให้กิน เราไม่ต้องการเครื่องประดับหรูๆ เสื้อผ้าเราก็ใส่เสื้อผ้าธรรมดา มีน้ำให้อาบสดชื่นพอแล้ว มีที่ให้นอน ไม่จำเป็นต้องมีเตียงพื้นดินพื้นทรายก็นอนได้” แบงค์เล่าความคิด ส่วนมอสเสริมว่า “เสื้อผ้าก็มีชุดเดียว ในแต่ละวันมันไม่มีอะไรให้คิดเท่ากับบรรยากาศและความสุขที่อยู่ตรงหน้าเรา เราจะคิดและโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา นั่นคือปัจจุบันมากกว่า”
โจทย์แรกของแบงค์และมอสการเดินป่าเส้นทาง Pacific Crest Trail คือการแข่งกับเวลาเพราะวีซ่ามีอายุแค่ 6 เดือน ทว่าอุปสรรคที่ไม่คาดฝันก็มาเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้าย นั่นคือไฟป่า
“ประมาณหนึ่งอาทิตย์เราจะเดินจบเทรล เกิดไฟป่าที่ใกล้ชายแดนแคนาดา หนักมาก เราทราบข่าวจากคนเดินป่าด้วยกันว่าเทรลช่วงสุดท้ายจะปิด เรากำลังเข้าเมืองเติมเสบียงอยู่ก็รู้สึกช็อกมาก”
“ต้องบอกว่า ก่อนเข้าเมืองผมกับมอสก็เดินรมควันกันมาแล้ว ซึ่งไม่ดีเลย หลังจากนั้นก็มีประกาศว่าเทรลปิด ผมกับมอสรอในเมืองประมาณ 2 วัน ทางหน่วยงานของ PCTA (Pacific Crest Trail Association) มีหน้าที่ดูแลเส้นทางเทรลนี้ ออกมาประกาศว่ามีเส้นทาง route detour คือทางเลี่ยงทางหลักที่เกิดไฟป่า เป็นทางที่เดินไปถึงชายแดนแคนาดาได้เหมือนกัน”
“ตอนนั้นที่ยังไม่ประกาศก็ทำใจแล้วว่า แค่ไหนแค่นั้น ถึงแม้ไม่ถึงเส้นชัยเราก็ไม่ได้รู้สึกแย่ เพราะร้อยกว่าวันที่ผ่านมาเรามีความสุขทุกวัน เส้นชัยไม่ได้มีความหมายกับเรา ไปถึงก็ดี ไม่ถึงก็ได้นี่ที่ผ่านมาเรามีความสุข แต่สำหรับนักเดินป่าต่างชาติพอรู้ข่าวนี้หลายคนถอดใจเลย ไม่เดินต่อ เพราะเขาตั้งธงไว้ที่เส้นชัยอย่างเดียว”
“หลังเดินจบจะมีจุดลงชื่อ แล้วก็มีการส่งเกียรติบัตรมาให้เรา ในที่สุดก็ตัดสินใจไปเส้นทางที่เขาเปิดใหม่ แล้วก็เจออากาศไม่ดีเลย เจอพายุ ฟ้าผ่า ฝนตก เดินท่ามกลางพายุลูกเห็บและฝนสองชั่วโมง พาตัวเองไปถึงแคมป์แบบทุลักทุเลมาก นอนทั้งตัวเปียกๆ โชคดีที่ตอนเช้าตื่นมา ฟ้าเปิด มีแดด พอแตะเส้นชัยปุ๊บเดินกลับมาฟ้าปิดฝนตก”
นับจากนี้หาก Pacific Crest Trail ได้เข้าไปอยู่ในความฝันของใครก็ตาม ขอให้คุณอย่าปล่อยมันไว้เป็นเพียงแค่ความฝัน จงทำมันซะ ขอบคุณสองพี่น้องนักเดินทาง แบงค์-พิชญ์พงศ์ และมอส-พิชญ์อร โสภิตสกุลมาศ ที่มาแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองในการใช้ชีวิตในป่ากับบ้านและสวน Explorers Club
เก็บตกเรื่องราวระหว่างทาง กับพยาบาลและเด็กสาววัย 18
“ผมได้พบกับพยาบาลสูงวัยคนหนึ่งระหว่างนั่งรอมอส ผมขอเดินไปนั่งกับเข้าด้วย เราได้พูดคุยกัน เขาเล่าว่าเขาเป็นพยาบาล รักษาและช่วยชีวิตคนมาตั้งเยอะ วันนี้เขาป่วยเป็นมะเร็ง หมอบอกว่าจะอยู่ได้อีกแค่หนึ่งปี เขาปฏิเสธการรักษา และยังบอกอีกว่าเขาไม่เคยเห็นพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า สวยขนาดนี้มาก่อนในชีวิต”
“มอสเจอน้องผู้หญิงคนหนึ่งมาเดิน PCT คนเดียว ซึ่งน้องเล่าให้ฟังว่าเธอมาทำความฝันของพ่อให้สมบูรณ์ เธอเล่าว่าเธอสนิทกับพ่อมาก วันหนึ่งพ่อจากไปด้วยโรคทางสมอง เธอจึงเลือกมาเดินที่นี่เพื่อระลึกถึงพ่อ พร้อมทั้งขอรับบริจาคเงินให้แก่มูลนิธิที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยโรคทางสมองที่ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษา ซึ่งเหมือนน้องแบกความฝันของพ่อมาเดินด้วย น้องจบทริปด้วยยอดเงินบริจาคที่มากพอควรสำหรับผู้ป่วยโรคทางสมอง”
เกร็ดน่ารู้
– เส้นทาง Pacific Crest Trail หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า PCT ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ National Trails System ของสหรัฐอเมริกา ในปี 1968 (พ.ศ. 2511) มีระยะทางทอดยาวตั้งแต่ชายแดนสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ผ่านอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง ประกอบด้วย Kings Canyon National Park, Sequoia National Park, Yosemite National Park และ Lassen Volcanic National Park ในรัฐแคลิฟอร์เนีย, Crater Lake National Park รัฐออเรกอน, Mount Rainier National Park และ North Cascades National Park รัฐวอชิงตัน ไปจรดชายแดนสหรัฐฯ และแคนาดา
– สัตว์มีพิษขึ้นชื่อของเส้นทางนี้คือ งูหางกระดิ่ง ตลอดเส้นทางแบงค์พบงูหางกระดิ่งกว่า 20 ตัว ส่วนมอสพบแค่ 2 ตัว แต่พองูได้ยินเสียงฝีเท้าเรา เราก็จะเริ่มได้ยินเสียงกระดิ่งขู่ของงูด้วย เราจะได้ยินเสียงงูก่อนเสมอ
– แหล่งพลังงานสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าของพวกเขา คือแบตเตอรี่สำรองขนาด 20,000 mAh การเข้าเมืองทุกๆ 5-6 วัน สามารถนำแบตสำรองไปชาร์ตในเมืองได้ เพราะฉะนั้นแบตสำรองหนึ่งก้อน ประกอบกับการปิดสัญญาณโทรศัพท์มือถือระหว่างเดิน เพียงพอที่จะใช้สำหรับถ่ายรูปในแต่ละวัน
EXPLORERS/PHOTOGRAPHERS: แบงค์ – พิชญ์พงศ์ โสภิตสกุลมาศ และ มอส – พิชญ์อร โสภิตสกุลมาศ
INTERVIEWER: ตู่ – ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
GRAPHIC DESIGNER: ธีรภัทร์ อินทจักร