เที่ยวน่าน เมืองที่มีความเนิบช้าและเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ โอบล้อมด้วยธรรมชาติอันงดงามและวัฒนธรรมที่ล้ำค่า ทำให้นักท่องเที่ยวหลากหลายคนพากันหลงรักและมุ่งมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย แม้วัดภูมินทร์จะเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญ แต่ความงดงามของน่านยังมีอีกมากมายที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตและชุมชนท้องถิ่นที่สะท้อนถึงรากเหง้าของเมืองนี้
การมา เที่ยวน่าน ครั้งนี้ ทางสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน โดยคุณศุภรดา กานดิศยากุล รองผู้จัดการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน และ ดร.วาสนา พงศาปาน ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร อพท. ขอเชิญชวนทุกคนให้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนเมืองเก่า
แหล่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมและความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของชาวน่าน นี่คือทางเลือกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงใหลในเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไม่ควรพลาดที่จะเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครในน่านแห่งนี้
จากคำเชิญชวนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรือ อพท. น่าน ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการนำเสนอทริปพิเศษครั้งนี้ เราได้กลับมาเยือนน่านอีกครั้ง เพื่อสำรวจและสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนในเมืองเก่า มุมมองใหม่ที่หลายคนอาจไม่เคยเห็น แม้จะเคยมาเที่ยวน่านแล้วก็ตาม แต่กลับมีน้อยคนนักที่จะใช้เวลาในการสำรวจตัวเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งในความเป็นจริง เมืองเก่าของน่านเต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์และเสน่ห์ของวิถีชีวิตท้องถิ่นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
สถานที่แรกที่พวกเราไปชมเมื่อมาถึงน่านคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพร (บ่อสวกเฮิร์บ) ที่นี่มีกิจกรรมหลักๆให้ทำ 3 ฐาน คือ
ฐานแปลงนาตารวย เป็นแปลงสาธิตปลูกสมุนไพรตะไคร้หอม ไพล และสาธิตการสกัดตะไคร้หอม และกิจกรรมทำตีนกาผางประทีป (ถ้วยเล็กๆที่ใส่เทียนแล้วจุดไฟเพื่อเป็นพุทธบูชา และใช้จุดแทนเทียนในเวลากลางคืน) ฟังเรื่องราวบ่อเกลือของบ่อสวก คำว่า “บ่อสวก” มีที่มาจากสองความหมาย คือ
๑. “สวก” ในภาษาพูดของชาวลั๊วะ หมายถึง เกลือ และบริเวณชุมชน มีบ่อเกลือ จำนวน ๒ บ่อ คือ บ่อเกลือเหนือ และบ่อเกลือใต้ จึงเรียกขาน บ่อเกลือ ว่า บ่อสวก
๒. “สวก” แปลว่า ดุร้าย เนื่องจากมีเรื่องเล่าและตำนานความเชื่อเกี่ยวกับความดุร้ายของผีที่เฝ้าบ่อเกลือ ว่าหากผู้ใดลบหลู่สถานที่บ่อเกลือ จะเจ็บไข้ได้ป่วยและมีอันเป็นไป
ฐานสวนเมี่ยงยายไหว ชมบรรยากาศสวนเมี่ยงอายุกว่า 200 ปี กินเมี่ยงคำจากใบเมี่ยงกับเมล็ดบก คั่วชา ทำชา จิบชา
ฐานโฮงฮักสุขภาพ อบสมุนไพรเพื่อช่วยแก้โรคภูมิแพ้ หายใจสะดวกโล่งขึ้น รวมไปถึงการแช่เท้ากับน้ำสมุนไพรเพื่อผ่อนคลาย
เมื่อเสร็จจากการทำกิจกรรมที่บ่อสวกแล้ว สถานที่ต่อไปคือบ้านโคมคำ ที่นี่เราได้เรียนรู้การทำโคมมะเต้าหรือโคมหม่าเต้า(โคมเงี้ยว) จัดอยู่ในประเภทโคมแขวน ใช้สำหรับตกแต่งในเรือนเจ้านายของชนชั้นสูง หรือจะนำไปถวายวัดก็ได้เพื่อเป็นพุทธบูชา นอกจากกิจกรรมทำโคมแล้วยังมีกิจกรรมทำเครื่องหอมสมุนไพรที่เรียกว่า “หอมกลิ่นชุมชน” ชื่อเท่มาก
และหากว่าคุณได้มีโอกาสมาเที่ยวทริปวัฒนธรรมชุมชนแบบนี้แล้วก็ไม่ควรพลาดที่จะมา ศูนย์บ่มเพาะและศูนย์การเรียนรู้เครื่องเงิน ณ ดอยซิลเวอร์ กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ชมเรื่องราวของอิ้วเมี่ยน หรือ เย้า ชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน พวกเขามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันกลุ่มอิ้วเมี่ยนอาศัยอยู่ในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว เวียดนาม และพม่า
ส่วนในประเทศไทย ชาวอิ้วเมี่ยนจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ พวกเขามีภาษาพูดของตัวเอง ซึ่งเป็นภาษาตระกูลจีน-ทิเบต และยังคงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้ดี เช่น การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ปักลวดลายซับซ้อน การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ภูเขาสูง
อิ้วเมี่ยนเป็นกลุ่มชนที่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง และยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์และความร่วมมือกันในชุมชนไว้อย่างเหนียวแน่น และการทำเครื่องเงินก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวอิ้วเมี่ยนภาคภูมิใจ นอกเหนือจากเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องเงินของชาวอิ้วเมี่ยนแล้ว ที่นี่ยังเป็นส่วนหนึ่งของกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เป็นสถานที่สำหรับนักเรียนช่างฝีมือเกี่ยวกับเครื่องเงิน มีทั้งหลักสูตรปวช. และปวส. เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเด็กๆในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสเทียบเท่ากับเด็กในเมือง
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่ามาเที่ยวน่าน ชมเมือง หากไม่ได้ชมสถาปัตยกรรมล้านนาที่น่านก็คงจะมาไม่ถึง พวกเราได้มีโอกาสมาชมสถาปัตยกรรมบ้านเก่าของชาวไทลื้อ และชมกิจกรรมผ้าทอไทลื้อ ณ วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา ซึ่งห่างจากอำเภอเมืองน่านประมาณ 42 กิโลเมตร แล้วไปชมโฮงเจ้าฟองคำ ที่ตัวเมืองกันต่อบ้านเก่าอายุเกือบสองร้อยปี ที่มีเรื่องราวมากมาย ที่นี่มีกิจกรรมแต้มสีหัวเรือจิ๋ว เหมาะมากสำหรับคุณๆที่มีบุตรหลาน ฝึกเขียนภาษาล้านนาลงบนกระเป๋าย่ามไว้เป็นที่ระลึกสอนโดยอาจารย์บุญโชค ปราชญ์ชาวบ้านตั๋วเมืองคุ้ม9 ที่โฮงเจ้าฟองคำปัจจุบันปรับให้เป็นพื้นที่ CREATIVE SPACE แหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน
เต็มอิ่ม 2 คืน 3 วัน กับทริปเที่ยวน่าน ชมเมือง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานที่ที่พวกเราได้มีโอกาสมาสัมผัสและได้เห็น และเชื่อว่าบทความนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวน่านครั้งต่อไปของคุณ ใช้เวลาให้นานขึ้นอีกนิด น่านยังมีอีกหลายสถานที่ที่น่าสนใจ
น่าน ได้ถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลกในเรื่องของการจัดการขยะท่องเที่ยวด้วยวิธีการทางสังคมเมืองเก่าน่าน จาก Green Destinations ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนชั้นนำของประเทศเนเธอร์แลนด์
เมื่อกล่าวถึงเมืองน่านในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้ทันทีคือความสะอาด ความเงียบสงบ และความเป็นระเบียบของชุมชน สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความประทับใจที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึง
ภายใต้แนวคิด “น่าน เมืองเก่ามีชีวิต” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน น่านได้สร้างความแตกต่างจากที่อื่นอย่างชัดเจน น่านไม่ใช่แค่เพียงเมืองที่มีโบราณสถานหรือมรดกทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นสถานที่ที่ทุกองค์ประกอบของชุมชน ตั้งแต่วัด บ้านเรือน ผู้คน และแม้กระทั่งตัวอักษรที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น หรือ “ตั๋วเมือง” ได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดอย่างแท้จริง
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. ได้กล่าวถึงเสน่ห์ของน่านระหว่างการพาชมถนนคนเดินแถววัดภูมินทร์ว่า “น่านเป็นที่ที่รักษาความเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี ทั้งการแต่งกายของคนท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต และการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ของเมืองน่านที่หาจากที่ไหนไม่ได้”
การเดินทางมาน่านในวันนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่การเที่ยวชมสถานที่ แต่เป็นการซึมซับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในทุกอณูของเมืองแห่งนี้
ขอบคุณ
อพท.องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน)
EXPLORER: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: โต้-ณัฐวรรธน์ ไทยเสน