ตั้ม-ศุภพงศ์ สอนสังข์ เป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ผู้หันมาปลูกป่ากว่า 70 ไร่ ไว้เป็นเเหล่งวัตถุดิบของตัวเอง ผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ Jird Design Gallery เป็นหนึ่งในวิทยากรจากหลักสูตร “A Passion for Woodworking” โดย บ้านและสวน CLASSROOM ร่วมกับ Creative Economy Agency (Public Organization) หรือ CEA นำเสนอบทเรียนออนไลน์สำหรับผู้สนใจงานไม้ทุกคน เรียนรู้งานไม้เบื้องต้นผ่านการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์จากเครื่องมือช่างพื้นฐาน และวัตถุดิบใกล้ตัว เพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ในอนาคต ดำเนินรายการโดย บก.เจ-เจรมัย พิทักษ์วงศ์ บรรณาธิการนิตยสารบ้านและสวน
Lesson 2 Knowing Wood
พาไปเรียนรู้และดูที่มาของคำ ‘การตัดไม้แบบไม่ทำลายป่า’ หรือ Non-deforestation ของนักออกแบบผู้ก่อตั้ง Jird Design Gallery ที่โรงไม้เล็ก ๆ ในสวนป่า จังหวัดราชบุรี ซึ่งการทำไม้ในเชิงอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์นั้นคือการนำไม้จากป่าปลูกมาแปรรูป ตั้มย้ำว่า นอกจากการตัดไม้ของเขาจะไม่ใช่การทำลายป่าแล้ว การตัดเอาต้นไม้ใหญ่ออกสักต้นหนึ่งยังจะเปิดโอกาสให้ไม้ดี ๆ สายพันธุ์ดี ๆ อีก 4 – 5 ต้น ได้โตต่อด้วยซ้ำ
“คนปลูกมีสิทธิที่จะเป็นผู้ตัดได้” ตั้มอธิบาย ซึ่งนี่คือต้นไม้ที่ตั้มปลูกเองทั้งหมดมานานเกือบ 10 ปี เขาเล่าต่อว่า “เราเคยตัดครั้งหนึ่งตอนที่อายุ 4 ปีกว่า ๆ เพื่อทดสอบคุณภาพของเนื้อไม้ และดูว่าลายเป็นอย่างไร ลองเอาไปสร้างเป็นสินค้าดูบ้างแล้วพบว่ามันมีความแน่นของเนื้อไม้ไม่พอที่จะเป็นสินค้าดี ๆ เราก็เลยรอไปอีก”
ทว่า Green Wood หรือไม้สดที่เพิ่งผ่านการตัดใหม่ ๆ นั้นยังไม่สามารถใช้งานได้ทันที เพราะต้องผ่านกระบวนผึ่งลมให้แห้ง หรือโดนอากาศนานนับปี โดยห้ามโดนฝนหรือน้ำ และต้องวางไม้แต่ละแผ่นให้ห่างกันเพื่อให้อากาศไหลเวียนได้โดยรอบ แต่ในกรณีต้องรีบใช้ด่วน ตั้มบอกว่าต้องไปผึ่งไม้ให้โดนอากาศอย่างน้อยสองอาทิตย์ ให้ไม้หมาดประมาณหนึ่ง แล้วเอาไปเข้าตู้อบอีกประมาณ 3-4 วันเพื่อไล่ความชื้นก็เป็นอันใช้ได้
ในบทเรียนนี้จะมีการสอนตั้งแต่ชนิดของต้นไม้ หลักการปลูกป่า การโค่นต้นไม้จากป่าปลูก การชำแหละไม้ หั่นเป็นซุง แผ่เป็นแผ่นกระดาน วิธีการอบไม้ แล้วนำมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ในขั้นตอนสุดท้าย
จากนักออกแบบรางวัล Designer of the Year เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ตั้มตัดสินใจหันหลังให้กับวงการออกแบบของไทยพักใหญ่ เพื่อไปปลูกป่าเก็บไว้เป็นเเหล่งวัตถุดิบให้กับ Jird Design Gallery เเบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของเขาเอง ด้วยความเชื่อที่ว่า นี่คือวิธียืดอายุการประกอบอาชีพ “นักออกแบบ” ได้อย่างยั่งยืน
“อาชีพนักออกแบบตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำสั่งเเละการว่าจ้างจากลูกค้า การจะได้ทำงานดี ๆ กับบริษัทดี ๆ บางครั้งแค่มีฝีมืออาจไม่พอ ต้องมีเรื่องความพร้อม ดวง เเละปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ก็เลยหาวิธีที่เราจะประกอบอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาผู้ว่าจ้าง เเละสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์หรือนำเสนอผลงานไปสู่ผู้ใช้สินค้าได้โดยตรง ผมเลยมองว่าเกษตรนี่แหละเป็นอาชีพเบสิกที่ทำให้เราประคองตัวเองได้” เขาอธิบายเหตุผลกับนิตยสาร room
จากป่าผืนแรกที่กำแพงเพชร ขยายต่อมายังราชบุรี ปัจจุบันห้องทำงานกลางป่าบนที่ดินกว่า 70 ไร่ที่หนองโพ (ราชบุรี) คือฐานบัญชาการใหญ่ที่มีทั้งโรงเก็บไม้เก่าเเละไม้ซุง โรงผลิตที่มีเครื่องจักร 4-5 ชนิด เเละสโตร์ไว้เตรียมห่อของส่งลูกค้า รวมถึงบ้านของเขาที่เปลี่ยนมาเป็นโชว์รูมให้ลูกค้าเข้าชม
ตั้มบอกว่า “ไม้ คือทรัพยากรที่มีมูลค่าสูง ผมจึงโฟกัสไปที่ไม้เศรษฐกิจเเละไม้ป่ายืนต้น แล้วเริ่มต้นด้วยการศึกษาหาความรู้ใหม่ ใช้เวลาในการศึกษาทดลองการปลูกป่าทำมาเรื่อย ๆ จนได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์จากการได้ไม้มาเป็นวัตถุดิบในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และได้สถานที่ทำงานที่มีบรรยากาศร่มรื่น ที่สำคัญได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ปัจจุบันตั้มปลูกป่า ทำสวน ควบคู่ไปกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน เรื่องดีไซน์ เรื่องทรัพยากรคน เเละเรื่องทรัพยากรไม้ ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงอยู่ร่วมกันในบ้านกลางป่าส่วนตัวแห่งนี้
“ผมจะเป็นคนรับผิดชอบงานออกแบบ ส่วนทีมงานที่นี่เช้าขึ้นมาเขาจะต้องกวาดใบไม้ ต้องปลูกต้นไม้เป็น รวมถึงตอนกิ่ง เเละเพาะเมล็ด ทุกคนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราเชื่อว่าคนในชุมชนที่มาอยู่กับเรา เราฝึกวิชาช่างไม้ให้ สอนเรื่องงานเกษตรให้ ความรู้ที่ติดตัวเขาไปจะทำให้เขาทำงานได้อย่างยั่งยืน ส่วนป่าทั้งหมดก็จะเป็นหลักประกันว่าธุรกิจนี้จะทำให้เราอยู่ได้อย่างยาวนาน เราพูดกันเล่น ๆ ว่า จะอยู่กันจนตายไปข้างหนึ่ง เพราะใช้เวลาอีก 20-30 ปี กว่าต้นไม้ที่เราปลูกไว้จะสามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ได้จริง ๆ มันจึงเป็นหลักประกันให้กับชุมชนว่าต่อไปถ้าทรัพยากรหมด เราอาจเป็นกลุ่มที่มีทรัพยากรใช้เป็นของตนเองไปอีกร้อยปี”
“การลงทุนที่อื่นเขาอาจจะสร้างตึกใหญ่โต ซื้อเครื่องจักรแพง ๆ แต่การลงทุนของเราคือการซื้อที่และปลูกป่า เราเคยโดนถามอยู่เรื่อยว่า ที่ดี ๆ ทำไมเอาไปปลูกป่า เพราะเขามองว่ามันไม่ได้ประโยชน์ เเต่เรากลับมองต่างออกไป อีก 20 ปี เราก็จะได้ใช้ไม้ ภารกิจหลักของที่นี่จึงเป็นเรื่องของต้นไม้ ต้องมีเงินทุนระดับหนึ่ง ต้องอาศัยความอดทน ในช่วงแรกจึงต้องใช้ความทุ่มเทสูง ถ้าเราผ่านงานปลูกต้นไม้มาได้ งานดีไซน์ หรืองานธุรกิจจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก (หัวเราะ)”
“จากวันนั้นมาถึงจุดนี้มันไม่ได้มาด้วยแผน มันมาด้วยการปรับตัว ปลูกป่าแล้วเวลาเหลือ เราจึงเอาเวลาที่เหลือมาเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง เเละกับคนในชุมชนซึ่งไม่มีความรู้เรื่องานไม้ พาเขามาฝึกในระหว่างที่ต้นไม้กำลังโต เพราะเราเชื่อว่าวันที่ไม้เราพร้อมใช้งาน ช่างไม้ของเราจะมีความเก่งมากพอ ซึ่งตัวดีไซเนอร์เองก็ต้องเรียนรู้เรื่องการออกแบบไปด้วย เรียกว่าทำทุกอย่างคู่ขนานกันไปหมด”
เริ่มต้นเรียนรู้บทเรียนที่ 2 การแปรรูปไม้จากป่าปลูกมาเป็นม้านั่ง 1 ใน 4 บทเรียนออนไลน์ “A Passion for Woodworking ทำงานไม้ด้วยใจรัก” เรียนฟรีผ่านวิดีโอทั้ง 4 EP. ได้ที่ PRIME SKILL https://bit.ly/3E7Npni