เส้นทางโบยบินสู่ความงามอันยิ่งใหญ่ของหิมาลัย ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยว เลห์ ลาดักห์ 8 วัน ไม่พอจริงๆ หากคุณชอบธรรมชาติ และรักการขี่มอเตอร์ไซค์ เราขอแนะนำ Journey of Freedom ทริปสู่ เลห์ ลาดักห์ ดินแดนหิมาลัยที่คุณควรไปเยือนสักครั้งในชีวิต
เพื่อเป็นการตอกย้ำในสิ่งที่ได้ยินมาว่า “เลห์ ลาดักห์ ดินแดนที่ครั้งหนึ่งในชีวิตคุณต้องไปเยือน” มันน่าสนใจและสวยงามดังคำกล่าวอ้างหรือไม่ ทริปนี้พวกเราวางแผนเดินทางไปกันเอง โดยจ้างไกด์เจ้าถิ่นที่นั่น สิ่งที่เหลือคือพวกเราจึงต้องช่วยจองตั๋วเครื่องบิน ซื้อประกันการเดินทาง ยื่นวีซ่า ทำเองทั้งหมดเพื่อจำกัดงบ
8 มิถุนายน 2566 พวกเรา 16 ชีวิต นัดรวมตัวกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางด้วยสายการบิน Indigo จุดหมายแรกคือ สนามบินนานาชาติอินทิรา คานธี ณ เมืองเดลี ประเทศอินเดีย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง จากนั้น เราต้องนั่ง Shuttle Bus เพื่อไปยัง Terminal บินภายในประเทศ เพื่อต่อเครื่องไปยังเลห์ (เมืองหนึ่งในเขต เลห์บนเทือกเขาหิมาลัย) ใช้เวลารอเครื่องประมาณ 13 ชั่วโมง ที่พักเราที่แรกจึงเป็นสนามบินนี่เอง
การที่จะเดินออกจากสนามบินแล้วกลับเข้ามาใหม่ถือเป็นเรื่องยากของที่นี่ ถ้าไม่จำเป็น แนะนำให้อดทนใช้ชีวิตในนั้นไปก่อนครับ เรานอนบนพื้น พอประมาณตีสี่ จะมีเจ้าหน้าที่มาปลุก เพื่อให้กลับไปนั่งบนเก้าอี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
13 ชั่วโมงผ่านไป เดินทางกันต่อด้วยสายการบินเดิมเพื่อมุ่งหน้าไปยังสนามบินเลห์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง พอถึงสนามบิน ก็กรอกเอกสารการเข้าเมืองให้เรียบร้อย ระหว่างนั้นไกด์ประจำถิ่นจะมารอเราพร้อมทั้งขนสัมภาระขึ้นรถ พาพวกเรามาถึงที่พักในคืนแรก
นี่คือสัมภาระของพวกเราทั้งหมดที่รถเซอร์วิสจะทำการขนไปตามการเดินทางของพวกเรา ในช่วงสองวันแรกนั้น เราจะต้องทำการปรับระดับความสูงกันก่อนเนื่องจากเลห์ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่าสี่พันเมตร ทำให้พวกเราต้องสังเกตว่าจะมีอาการ Altitude Sickness หรือไม่
แทรกบทความ: ยาวหน่อย แต่อยากให้อ่าน “Altitude Sickness” คือสิ่งที่คนไปเที่ยวเลห์ ลาดักห์ ต้องกังวลคืออะไร
Altitude Sickness เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในภาวะที่มีออกซิเจนน้อยๆได้ ทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย ฯลฯ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงมากขึ้น “จนอาจเสียชีวิตได้”
ภาวะ Altitude Sickness มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความสูงมากกว่า 2,000 – 2,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นต้นไป ซึ่งยิ่งขึ้นไปที่สูงมากจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าวมากขึ้น
เลห์ ลาดักห์ ความสูงพื้นฐานคือ 3,500 เมตร เหนือระดับทะเลปานกลาง นั่นหมายถึง เมื่อเราไปถึงเลห์ ยังไงร่างกายต้องใช้ความพยายามในการปรับตัวอย่างมาก เพื่อให้คุ้นเคยกับระดับออกซิเจนที่น้อย
Altitude Sickness ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร เด็ก แก่ วัยรุ่น แข็งแรง นักกีฬา สามารถเป็นได้หมด พยายามเคลื่อนไหวช้าๆ อย่ารีบเดิน อย่ากระโดดโลดเต้น อย่าทำให้ตัวเองเหนื่อย ดื่มน้ำบ่อยๆ นอนหลับให้เพียงพอ งดดื่มแอลกอฮอล์
ถ้ามีอาการหนัก ควรลงจากที่สูง ไปยังพื้นที่ที่ต่ำกว่าทันที และถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกเดินทางจากพื้นที่ต่ำ แล้วค่อยๆไต่ระดับไปยังพื้นที่สูง ไม่อยากให้กลัวจนไม่กล้าไป แต่อยากให้รู้จักเอาไว้ เพื่อป้องกัน และ ดูแลตัวเองให้ถูกวิธี
JULLEY : จูเลห์ (ซึ่งแปลว่า สวัสดี)
ในวันแรกนั้นทางไกด์ก็จะนำรถมอเตอร์ไซค์มาส่ง ซึ่งรถพวกนี้จะเป็นบัดดี้คู่ใจที่พาเราเดินทางไปตลอดทริปนี้ Royal Enfield รุ่น Himalayan
วันแรก
การเดินทางวันนี้เหมือนเป็นการอุ่นเครื่อง ไกด์ได้พาเราขี่วนเล่นๆ ไปรอบเมืองนอกๆ ไม่ไกลนัก ระยะทางไม่เกิน 40 กม. เพื่อพาไปชมวัดต่างๆ แค่วิวห่างๆในวันแรก ก็ทำให้ร้องว้าวได้ทุกๆ ห้านาที
วันที่ 2
การเดินทางวันที่ 2 เรายังคงอยู่รอบๆ เมืองเลห์ เพื่อให้ร่างกายได้ทำความคุ้นชินกับระดับความสูงและออกซิเจนที่เบาบางกว่าบ้านเรา วิวยังคงยิ่งใหญ่และงดงาม ธงมนต์เหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่นดินแดนนี้ ไม่ว่าจะไปทางไหนเราก็จะเจอธงมนต์นี้เรื่อยๆ ตลอดเส้นทาง
วัดที่นี่จะใช้คำว่า Monastery ถ้าแปลเป็นไทยก็น่าจะคือคำว่าอาราม วันนี้เราไปสองอารามคือ Thiksey Monastery กับ Stok Monastery ศาสนาถิ่นที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นศาสนาพุทธ ด้วยความที่อยู่ติดกับธิเบต ศาสนศิลปะต่างๆ จึงเหมือนและคล้ายคลึงกับทางธิเบตมากๆ ในบางวัดยังมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา รวมถึงสิ่งแวดล้อมในเลห์ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้ จนได้ลงบันทึกใน Guinness World Record
วันที่ 3
การเดินทางของพวกเราจริงจังขึ้นในวันที่ 3 ณ เลห์ ลาดักห์ วันนี้เราขี่มุ่งหน้าสู่ Khardungla Pass ถนนที่สูงที่สุดในโลก ปลายทาง Nubra Valley เปลี่ยนจากขี่มอเตอร์ไซค์ ไปขี่อูฐ ณ ทะเลทรายสีเงินบ้าง
ตอนเช้าพวกเราทุกคนเตรียมตัว มัดสัมภาระที่จำเป็นติดกับรถตัวเอง น้ำ อาหารเล็กน้อย ยา เผื่อไว้ใช้ระหว่างทาง ส่วนของที่เหลือจะมีรถเซอร์วิสขนไปให้ รถที่นี่จะขับชิดซ้ายเหมือนเมืองไทย ทำให้ไม่ต้องปรับตัวมาก แต่…ทางซ้ายส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเหว หน้าผา มีที่กั้นกันตกแค่เพียงเล็กน้อย ไม่ถึง 10% ของระยะทาง และในที่สุด ผมก็ได้สัมผัสหิมะแรกของทริปเรา และมันเป็นหิมะแรกในชีวิตผมด้วย
เส้นทางบางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ เนื่องจากช่วงที่ผมไปเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่ Summer จึงทำให้เริ่มมีหิมะละลายบ้าง อุณหภูมิ ณ ขณะนั้นน่าจะอยู่ราวๆ -5 °c แม้ว่าจะเย็นยะเยือกขนาดไหน พวกเราก็ยังอดใจที่จะแวะถ่ายรูปสองข้างทางไปเรื่อยๆไม่ได้ แค่วันแรกๆ ก็สวยตะโกนขนาดนี้ จริงๆก็แอบคิดนะว่ากลัวจะเบื่อวิวซะก่อน เมื่อผ่าน Khardungla Pass มาแล้ว เราก็มุ่งหน้าสู่ Nubra Valley กันต่อ โดยเส้นทางนี้เราจะไม่พบเจอหิมะแล้ว แต่อากาศก็ยังคงเป็นเลขตัวเดียวอยู่
บรรยากาศสองข้างทางเริ่มเปลี่ยนจากหิมะค่อยๆ กลายเป็นภูเขาหินตระหง่าน อากาศแห้ง ถนนลูกรัง ฝุ่น แต่ยังคงความเย็นยะเยือกอยู่ ที่สุดเราก็มาถึง Nubra Valley ทะเลทรายสีเงินเม็ดละเอียด กิจกรรมอันเป็นที่นิยมของที่นี่นั่นก็คือการขี่อูฐนั่นเอง เสร็จสิ้นเส้นทางในวันนี้ เรามุ่งหน้าเข้าสู่ที่พัก
สำหรับในคืนนี้เราจะพักที่ Bitu Samatha ซึ่งเป็นลักษณะ Glamping ไม่มี Heater แต่มีน้ำอุ่นให้ในช่วงเย็น ไม่ต้องกังวลเรื่องความหนาวในเวลานอน ยืนยันได้ว่าผ้าห่มที่นี่เอาอยู่ อุ่นจนร้อนเลยแหละ กิจกรรมกลางคืนเรามีปาร์ตี้เล็กน้อย หากต้องการก่อไฟในเลห์ เขาคิดค่าบริการนะ แม้ว่าเราจะเดินไปหาฟืนมาเอง จุดไฟเองก็ตาม
วันที่ 4
ท่องเที่ยว Panamik Hot Spring วันนี้เป็นการเดินทางขับขี่เบาๆ ภูมิประเทศไม่วิบากมาก แต่วิวสวยแบบตะโกนในอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อเราเดินทางไปถึงบริเวณน้ำพุร้อนแล้ว พวกเราดันไปเจอสิ่งน่าสนใจระหว่างทางมากกว่า จึงได้ร้องขอให้ไกด์ข้ามน้ำพุร้อนไป และให้พาเรามายังที่นี่เลย แต่ผมจำชื่อร้านไม่ได้ ลักษณะของร้านเป็นร้านตั้งเดี่ยวๆ กลางทะเลทรายที่โอบล้อมด้วยภูเขาใหญ่ เป็นทางขึ้นของ Luvan Tso การเดินทางวันนี้ เรากลับมาพักที่ Bitu Samatha ที่เดิม
วันที่ 5
Pangong Lake ราชาทะเลสาบน้ำเค็มที่สูงที่สุดในโลก เราออกเดินทางแต่เช้าจาก Nubra Valley ควบเจ้า Royal Enfield Himalayan มุ่งหน้าสู่ความหนาวเหน็บอีกครั้ง ทางวันนี้ค่อนข้างทรหดพอสมควร เป็นทางหินลูกรังซะ 70-80% ฝุ่นเพียบเลยทำให้ไม่ค่อยได้ดูวิวข้างทางสักเท่าไหร่ ตั้งหน้าตั้งตาบิดกันอย่างเดียว ระหว่างทางมอเตอร์ไซค์ของไกด์เรายางรั่ว จึงได้แวะพักเปลี่ยนยางกันพักใหญ่
ระหว่างรอ ด้วยความอยู่ง่ายกินง่ายของพวกเรา กิจกรรมยามว่างของพวกเราคือการกิน เราจึงได้ทำอาหารมื้อเล็กๆกินกัน อย่าง ปลาหมึกย่างหิน บ้างที่เพลียก็หามุมหลับแดดงีบเอาแรงกันสักหน่อย เมื่อทำการเปลี่ยนยางเสร็จเรียบร้อย เราก็ออกเดินทางกันต่อ รู้สึกตัวอีกทีวิวฝั่งซ้ายมือของเราก็เป็นพื้นน้ำสีน้ำเงินเข้ม มีฉากหลังเป็นเทือกเขาที่ยอดคลุมด้วยหิมะตระหง่านอยู่เบื้องหลัง เรามาถึงแล้ว Pangong Lake
ถ้าหากไม่บอกว่านี้คือทะเลสาบผมคงเข้าใจว่าเป็นแม่น้ำ ด้วยความยาวถึง 130 กิโลเมตร มันทำให้เรารู้สึกว่าทะเลสาบนี้เป็นเพื่อนเราไปในการขับขี่ช่วงระยะหนึ่งเลยทีเดียว เราขี่กันจนมาถึงจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้คนมากมายต่างลงมาถ่ายรูป ทำกิจกรรม ดื่มด่ำบรรยากาศกัน มุมนี้ถ้าจังหวะดีตอนไม่มีคน จะได้ภาพที่สวยงามมากทีเดียว หลังจากเล่นสนุก ถ่ายภาพกันจนหนำใจ เราก็เดินทางเข้าที่พักซึ่งไม่ไกลจากทะเลสาบมากนัก
วันที่ 6
เรานัดรวมตัวกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า เพราะวันนี้เราจะใช้เวลามากพอสมควรในการเดินทาง จาก ทะเลสาบ Pangong ไปถึง ทะเลสาบ Moriri หากเปรียบเทียบทะเลสาบ Pangong คือราชาทะเลสาบของอินเดีย Moriri ก็คงจะเป็นดั่งเช่นราชินี นักท่องเที่ยวบางส่วนอาจจะมาไม่ถึงจุดนี้ เนื่องด้วยการเดินทางที่ไกลขึ้นมาก อาจจะเสียเวลาเป็นวันเพื่อไปถึงทะเลสาบ Moriri
ไหนๆ เรามาเยือนถึงเลห์ ลาดักแล้ว เราจะไม่ปล่อยผ่านการพบเจอราชินีทะเลสาบของเราไปอย่างแน่นอน และเป็นอย่างที่คาดคิด ไม่ว่าจะระหว่างทางที่เราเดินทาง หรือจะเป็นจุดไหนๆ มันก็สวยไปเสียหมด จนบางครั้งเรายังเผลอคิดว่า มีแบบนี้บนโลกเราจริงๆ เหรอ อีกจุดหนึ่งที่น่าประทับใจนั่นคือ Chang la pass ซึ่งเป็นถนนที่อยู่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เอาจริงๆ แล้วผมชอบมากกว่า Khardung la pass ซะอีก อาจจะเพราะด้วยรถสัญจรน้อยกว่า หิมะขาวสะอาดตากว่า สภาพถนนค่อนข้างดีกว่า
เมื่อมาถึงจุดพักรถจุดหนึ่งที่เราเลือกกันเอง พวกเราทุกคนได้จอดเล่นหิมะกันนานพอสมควร บางคนลงไปนอนทิ้งตัวลงบนหิมะ บางคนเอาหิมะมาปาใส่กัน รู้สึกตัวอีกที ต่างคนต่างเหนื่อย หอบ พวกเราจึงได้กลับมาเจียมเนื้อเจียมตัวกันเหมือนเดิม พักพอหายเหนื่อยเราก็ออกเดินทางกันต่อ ผ่านภูมิประเทศที่แปลกตาออกไปอีก แต่สิ่งที่เหมือนเดิมก็คือความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของภูเขา ท้องฟ้า และพื้นดินแห่งเลห์
ในที่สุดถึงเราก็มาถึง ทะเลสาบโมริริ ทะเลสาบสีเทอร์คอยส์สะอาดตา สีเข้มเด่นชัด เมฆที่ลอยต่ำแทบถึงพื้น ภูเขาน้อยใหญ่เรียงตัวสวยอยู่ตรงหน้า ประชากรที่นี่มีไม่มาก นักท่องเที่ยวก็เช่นกัน ทำให้เมืองนี้เงียบสงบ อากาศดี กับทิวทัศน์ระดับโลก มันลงตัวไปซะหมด เราไม่อยากให้พรุ่งนี้มาถึงเลย อยากหยุดเวลาไว้ตรงนี้นานๆ
เราได้ที่พักชื่อ Grand Dolphin Hotel น่าจะเป็นโรงแรมที่วิวสวยที่สุดของที่นี่ ไม่มีอะไรมาบังสายตาเราระหว่างระเบียงห้องนอนและทะเลสาบโมริริเลย อากาศที่นี่ในช่วงหน้าหนาว อาจต่ำสุดถึง -20 องศา หากเป็นไปได้ ควรมาในช่วงก่อนฤดูหนาว จะดีที่สุด
วันที่ 7
บ๊ายบาย Moriri เราต้องเดินทางกลับเลห์ในวันนี้ แอบใจหายอยู่พอสมควร แต่ก็ได้รับคำปลอบใจจากวิวสองข้างทางที่ยังคงงดงามและแปลกตาออกไปเช่นเคย ถนนที่ยาวสุดลูกหูลูกตา ทะเลสาบและคราบเกลือเล็กๆ สองข้างทางสลับกับทรายในบางช่วง ถนนเริ่มลาดยางเรียบ ขับขี่สบายอีกครั้ง เราละเลียดการขับขี่พอควร ดึงดันที่จะดึงเวลาให้ช้าลง เหมือนอย่างที่คนรู้ว่า งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา การเดินทางท่องเที่ยวลั๊นลาก็เช่นกัน ที่สุดเรากลับมาพักที่เราพักในวันแรกของเราที่เลห์
วันที่ 8
วันและคืนสุดท้ายที่เราจะอยู่เลห์ ลาดักห์ วันนี้เราได้ส่งชุดนักสำรวจไปหาสถานที่ปิกนิกสำหรับอาหารมื้อเที่ยงของเรา แล้วก็ไม่ผิดหวัง เราได้มาเจอสถานที่นี้ Indus Jatson View Cafe and Camping Site ที่ปิกนิกริมธารน้ำขนาดใหญ่ มีฉากหลังเป็นภูเขาคลุมด้วยหิมะกำลังสวยงาม บรรยากาศสงบเงียบ แทบไม่มีผู้คน ในช่วงเย็นเราก็ออกมาเดินเล่นหาซื้อของฝากกันที่ถนนคนเดิน ตลาดเลห์ ลาดักห์
รุ่งเช้า เราออกเดินทางจากเลห์ ลาดักห์ มุ่งหน้าสู่ Srinagar เป็นที่หน้าสังเกตได้ว่ายิ่งเราออกห่างจากตัวเลห์มากเท่าใด เราก็จะเริ่มเห็นสีเขียวๆของต้นไม้บนภูเขาได้มากขึ้น แต่ก็ยังคงมีหิมะคลุมยอดเขาอยู่เช่นเดิม จากนี้เราจะผ่านถนนที่อันตรายที่สุดอันดับ 3 ของโลก Zojila pass
สำหรับผมที่กลัวความสูง นี่คือความทรมานของการขี่มอไซค์ครั้งหนึ่งในชีวิต ถนนหินที่ความกว้างไม่กี่เมตร มีบางช่วงที่กว้างพอให้รถยนต์สวนกันได้ ฝั่งหนึ่งคือหน้าผาเหวลึก อีกฝั่งเป็นผนังหิน เมื่อผ่านถนนที่เหมือนประตูโลกันต์มาได้สิ่งที่รอเราอยู่คือวิวอันสวยงามที่ยากจะลืมเลือน
ถึงเวลากลับสู่โลกความเป็นจริง พวกเราเดินทางกลับเหมือนวันที่เดินทางมา ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่เราต้องปรับตัว ปรับร่างกาย ปรับทัศนคติการใช้ชีวิตกับบุคคลอื่น ที่มีคำว่าเพื่อนเป็นสิ่งเชื่อมโยง และยังหวังว่าจะกลับมาอีกครั้ง เพราะเราเชื่อเสมอว่าการเดินทางมันเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต
EXPLORER: เน, ไอซ์, มิว, ดุ๋ย, ดาว, นคร, ฝ้าย, ท้อป, จอยซ์, ยาวเครน, จอร์จ, โต๋เต๋, ลูกหิน, โรเนียว, เหน่ง และเต้
AUTHOR: เน-สมมโนรม ศรีหิรัญ
PHOTOGRAPHERS: เนและผู้ร่วมเดินทาง
GRAPHIC DESIGNER: ตั้ม-ธีรภัทร์ อินทจักร