ด้วยประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดที่มีระยะทางจากเหนือสู่ใต้ยาวมากถึง 212 กิโลเมตร และมักโดนบ่นจากคนที่ต้องขับรถลงไปภาคใต้ของไทย กว่าจะพ้นประจวบฯ กินเวลาสองชั่วโมงกว่า เหมือนขับข้ามจังหวัด “เมื่อไหร่จะพ้นประจวบฯเสียที” จึงเป็นเสียงที่ได้ยินบ่อยๆ
ความสนุกของผมคือในเมื่อระยะทางมันยาวมาก ก็หาเรื่องแวะพักมันเสียเลยแล้วค่อยเดินทางต่อ ในวันรุ่งขึ้น กรณีถ้าผมต้องเดินทางไกล คุณรู้ไหมว่าที่ประจวบคีรีขันธ์ แม้จะเป็นจังหวัดเดียวกัน แต่ละอำเภอก็มีบุคลิกที่ต่างกันจากความสนุกของผมนี่แหละทำให้ค้นพบว่าที่ประจวบคีรีขันธ์ ไม่ได้มีดีแค่หัวหิน หากยังมีที่อื่นๆให้แวะพักและทักทายอยู่หลายแห่ง ถึงแม้นว่าวันนี้จะไม่ได้เดินทางไกล แต่ทริปนี้ตั้งใจมามาก
นอนที่นี่
วันนี้ผมมีเป้าหมายอยู่ที่ Tolani Resort Kuiburi ชื่ออยู่กุยบุรีแต่ที่ตั้งอยู่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จริงๆแล้วตัวเมืองประจวบฯมีเสน่ห์อยู่แล้ว แต่ที่ชอบที่สุดก็ตัวอำเภอกุยบุรีตรงบริเวณสถานีรถไฟกุยบุรี เป็นภาพจำตอนเด็กๆที่มาเที่ยวกับเพื่อนแล้วชอบบรรยากาศบ้านเรือนเก่า ซึ่งภาพจำนั้นชัดเจนมาก การได้ชวนคุณผู้อ่านจินตนาการแล้วเที่ยวตามตัวหนังสือที่มีภาพประกอบเป็นตัวยั่วยวนอีกชั้นหนึ่ง น่าจะเพียงพอกระตุ้นให้คุณๆออกตามรอยบ้าง ตามระเบียบของคอลัมภ์ Visit คือนอนที่นี่เที่ยวที่ไหน นั่นหมายความว่าถ้าการมาพักที่ Tolani Resort Kuiburi แล้ว เราสามารถออกไปใช้ชีวิตสัมผัสชุมชนชาวบ้านชาวเมืองกุยได้ที่ไหนบ้าง แต่ก่อนที่จะไปเที่ยวที่ไหน ผมขอแนะนำให้รู้จักกับที่พักแห่งนี้ก่อน
Tolani Resort Kuiburi เป็นรีสอร์ทเก่ากว่าสิบปี ที่ออกแบบมาสำหรับทุกคนที่ชอบความเป็นส่วนตัวและความเงียบสงบเหมือนพักผ่อนอยู่ในบ้านของตัวเอง ตัวอาคารทรงกล่องสไตล์โมเดิร์น ชั้นเดียว และสองชั้นตามแต่จะเลือก มีห้องพักถึง 23 ห้องกับ 7 รูปแบบ ภายนอกประดับประดาด้วยหินแกรนิตดูแล้วขรึมขลัง ถ่ายรูปมุมไหนก็สวย ถึงแม้นว่าจะเปิดมานานแล้ว ทำไมเราถึงเพิ่งมา บอกไว้ตรงนี้เลยฮะว่าเคยมาแล้วครั้งหนึ่งหลายปีก่อน แล้วก็มีคนพูดถึงที่นี่เยอะแล้ว ได้แต่แอบเก็บความในใจไว้ในบันทึกว่าถ้ามีโอกาสจะมาอีกครั้ง ชอบเพราะความสงบเป็นส่วนตัวนี่แหละ การมาครั้งนี้จึงอยากนำมาเล่าใหม่ให้เป็นปัจจุบันที่สุด
จากการเดินทางมาครั้งก่อน จนมาถึงตอนนี้ ทำให้พอจะรู้ได้บ้างว่ามีอะไรเป็นแรงดึงดูดให้มาซ้ำ และสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของที่นี่คือ อาหารทะเลที่รับซื้อจากชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงการันตีได้ในความสดใหม่ ส่วนเมนูขึ้นชื่อคือข้าวผัดปลาทูในกระบอกไม้ไผ่ เพราะอะไรถึงเป็นเมนูนี้ บอกไว้เลยนะครับ ในบริเวณอ่าวไทยทั้งหมด โดยเฉพาะโซนประจวบฯ ปลาทูที่นี่อร่อยมาก ไม่มีกลิ่น เนื้อแน่นรสชาติดี เพราะว่าที่ประจวบฯมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งอาหารของลูกปลาทูที่อุดมสมบูรณ์มาก พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้อาหารที่เรากินมีคุณภาพดี
เช็กอิน
“เมื่อคุณเดินทางมาถึงจุดเช็กอิน คุณจะได้รับwelcome drink เป็นน้ำสับปะรด ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดประจวบฯ” คุณมิ้นท์ CEOสาวแห่ง Tolani Resort Kuiburi เอ่ยกับผมขณะที่นำผมไปยังสระว่ายน้ำของรีสอร์ท ซึ่งวันนี้ผมมีนัดกับ คุณแก้วขวัญ เผอิญโชค แมคโดนัลด์ หรือคุณมิ้นท์ CEO สาววัยสามสิบต้นๆ ที่พกพาความมั่นใจมาเต็มเปี่ยม ต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มหวานและท่าทีที่อ่อนโยน จนแอบกังวลว่าลูกน้องจะกลัวไหม
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพนักงานของที่นี่ทุกคนถึงมีพลังและรอยยิ้มเปี่ยมสุข จนเราสงสัยในตอนแรกว่านอกจากความเงียบสงบ อาหารดี บรรยากาศก็ดี ที่นี่ยังมีอะไรดีอีก มารู้มาก็เพราะว่ามี CEOสาวสวยอย่างคุณมิ้นท์นี่เองที่เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนสถานที่แห่งนี้ให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีความสุข “มิ้นท์ชอบสังเกตพนักงานค่ะ เวลาเราพบปะพูดคุยกับเค้าแล้วรู้สึกว่าเหมือนเค้ามีอะไรอยากจะพูด เราให้เค้าระบายออกมาเลยค่ะ เราจะรู้กันแค่สองคน ไม่รู้ว่าดีไหม แต่มิ้นท์เชื่อว่ามันทำให้เราเข้าไปอยู่ในใจพนักงาน”
คุณมิ้นท์ของพนักงาน เข้ามาบริหารงานที่นี่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี่เอง นับว่าใหม่มากในการบริหารงาน แต่ก็เก๋าเกมมากพอที่จะนำประสบการณ์ต่างแดนมาใช้กับโรงแรมของตน “ส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ในต่างแดนที่ต้องดูแลตัวเองตั้งแต่อายุ 14 ปี มิ้นท์จึงมีภาวะของความรับผิดชอบและมีภาวะผู้นำสูงมากค่ะ”
“ก่อนมาบริหารงานโรงแรมมิ้นท์เรียนทางด้าน Interior Design จากมหาวิทยาลัย Royal Melbourne Interiors Architecture ประเทศออสเตรเลีย และต่อโท Brand Design ที่ Doumus Academy ที่มิลาน ประเทศอิตาลี ในระหว่างที่เรียนก็ทำงานควบคู่ไปด้วย” จากความรู้ที่ร่ำเรียนมานำไปสู่งานออกแบบโลโก้ Tolani ในปัจจุบัน และการรีแบรนด์รีสอร์ทให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากที่สุด และนี่คือความตั้งใจของเธอ
คุณมิ้นท์เล่าว่า “เข้ามารับงานบริหารหลังเหตุการณ์โควิด19 ทำให้รีสอร์ทมีการปรับตัวอย่างหนักเพื่อที่ให้อยู่ได้ พนักงานอยู่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ทาง Tolani ไม่เคยเพิกเฉยเลยคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่มีการลดการใช้พลาสติก หันมาใช้วัสดุจากไม้ไผ่แทน เพิ่มโซล่าเซลล์นำพลังงานจากแสงแดดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การอยู่ร่วมกันกับคนในชุมชน ก็มีการสนับสนุนสินค้าพวกของสด ผลไม้จากชุมชนใกล้เคียงเสมอ และที่พลาดไม่ได้เลยคือกิจกรรมตกหมึกยามค่ำคืน เราก็จะมีการประสานงานไปยังชาวบ้านที่อยู่ติดกับรีสอร์ทให้เป็นคนพานักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมตกหมึก เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชนได้ทางหนึ่งด้วย” นั่นหมายความว่าถ้านักท่องเที่ยวมาพักที่ Tolani Resort Kuiburi แห่งนี้ นอกจากความสุข สงบแล้ว คุณยังได้ช่วยชาวบ้านและชุมชนในทางอ้อมอีกด้วย
ระหว่างที่พูดคุยกับคุณมิ้นท์ ผมก็ทบทวนความรู้สึกในใจถึงสิ่งที่พบเจอเมื่ออยู่ที่นี่ ถามตัวเองว่าถ้าเป็นเราที่ต้องบริหารอะไรแบบนี้จะรอดไหม แต่สำหรับคุณมิ้นท์ เธอทิ้งท้ายไว้น่าสนใจ ก่อนขอตัวไปประชุมทีมต่อ
“ตื่นเต้นทุกวันค่ะ มีเรื่องที่พัฒนาได้ทุกวัน มิ้นท์มองว่าปัญหาเป็นเรื่องที่ควรพัฒนาและต้องทำให้ได้”
เที่ยวที่ไหน
หลังจากจบบทสนทนาระหว่างผมกับคุณมิ้นท์ ผมได้ออกไปสำรวจชุมชนที่อยู่ติดกับTolani คือชุมชนบ้านทุ่งมะเม่า เป็นชุมชนเล็กๆที่มีบ้านเรือนอยู่ประมาณร้อยหลังคาเรือน เป็นชุมชนที่มีอาชีพทำประมงพื้นบ้าน หากใครที่เดินทางมาเที่ยวแถวนี้หรือพักโฮมสเตย์ที่นี่รับรองคุณได้กินของทะเลที่ราคาถูกแน่นอน แต่คุณต้องดักรอนะครับ ไม่งั้นหมด บรรยากาศในชุมชนนี่น่ารักมาก ละแวกใกล้ๆกันอันนี้ห้ามพลาด คืออนุสรณ์สถานขุนรองปลัดชู ตั้งอยู่ที่อ่าวหว้าขาวซึ่งก็อยู่ติดกับ Tolani Resort Kuiburi นี่เอง เป็นดินแดนในประวัติศาสตร์ตามเรื่องเล่าว่าขุนรองปลัดชูคนจากเมืองวิเศษไชยชาญ จ.อ่างทองนำไพร๋พล 400 นายมาตั้งรับข้าศึกที่อ่าวหว้าขาวแห่งนี้ เนื่องจากพม่าเดินทัพเส้นทางนี้จะขึ้นไปตีกรุงศรีอยุธยา แต่เรื่องราวของขุนรองปลัดชูนั้นมีหลายกระแสบ้างว่าท่านน่าจะเป็นเจ้าเมืองกุยบุรี มากกว่าจะเป็นคนจากอ่างทอง ผมชอบสถานที่ที่มีความพิเศษแบบนี้ครับ เวลาเราเดินทางไปเราลองจินตนาการสิครับว่าย้อนไปในยุคนั้น แล้วมีเสียงดาบฟันกัน ผมว่าได้บรรยากาศดีนะครับ
หรือว่าใครที่ชอบขับรถ ให้ขับเลยรีสอร์ทไปอีกนิดก็จะมีอีกสถานที่ลับๆ วิวสะพานปลาสวยๆ ที่มีเรือประมงจอดเรียงราย อยู่ที่ตำบลอ่าวน้อย ซึ่งมีเขาตาม่องล่ายเป็นฉากหลัง ปัจจุบันเป็นวนอุทยานเขาตาม่องลาย และเป็นต้นกำเนิดนิทานแห่งท้องทะเล แต่ไม่เล่านะเรื่องมันยาว แอบกระซิบที่นี่มีร้านกาแฟร้านข้าววิวหลักล้านราคาหลักสิบไว้บริการด้วยนะครับ
อีกจุดหนึ่งที่คิดว่าห้ามพลาดคือตัวอำเภอกุยบุรี ผมเคยมาตอนเด็กๆ ตอนนั้นสถานีรถไฟยังไม่ได้ย้ายข้ามฝั่งอย่างในปัจจุบัน บรรยากาศเรือนแถวไม้ ห้องพักห้องเช่าสำหรับคนเดินทางดูแล้วเหมือนหนังย้อนยุคยังพอหลงเหลือให้เห็นบ้าง บางแห่งก็รีโนเวท สำหรับที่นี่ผมตั้งใจเลยว่าตื่นตอนเช้าผมจะขับรถมานั่งกินกาแฟ นั่งคุยกับชาวบ้านที่ตอนนี้ก็เหลือแต่ผู้สูงวัย เพราะคนหนุ่มสาวไปทำงานในเมืองกันหมด มื้อเช้า กาแฟร้อน สามแก้ว ปาท่องโก๋ 5 ตัว ไข่ลวกคนละแก้วกับน้องช่างภาพ ทั้งหมดนี่ยังไม่ถึงร้อยบาท ตกใจมือทาบอก ถูกมากครับ ว่าที่กระบี่ถูกแล้วเจอที่นี่ก็ราคาถูกไม่แพ้กัน ออกจากสถานีรถไฟกุยบุรี ผมกับน้องช่างภาพแวะไปกราบไหว้พระที่วัดกุยบุรี วัดเก่าแก่คู่เมืองกุยบุรีที่มีหลวงพ่อในกุฏิเป็นศูนย์รวมจิตใจ ท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาจิต ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในด้านวิปัสสนา กัมมัฏฐาน มาทั้งทีไม่แวะมากราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองสักหน่อยก็กระไรอยู่
ไม่ต้องห่วงที่เที่ยวในกุยบุรีมีเยอะ และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่สุดท้ายของทริปนี้ขอเอาใจคนที่ชอบถ่ายรูปแนะนำเลยครับ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอ่างเก็บน้ำยางชุม ซึ่งในอดีตนั้นเป็นพื้นที่สีชมพู ที่มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลงเหลืออยู่ แต่สิ่งที่โหดร้ายกว่าคือความแห้งแล้งและขาดน้ำในพื้นที่ช่วงหน้าแล้งบางครั้งประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงน้ำหลากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
กรมชลประทานจึงสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชทานดำริว่าควรหาทางขยายปริมาณกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุม โดยมีพระราชดำรัสขอให้ทหารและจังหวัดร่วมมือกับกรมชลประทานพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามแนวพระราชดำริ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ถือว่าที่นี่เป็นที่ลับๆที่งดงามมากแห่งหนึ่งเลย มาถึงกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์แล้ว ลองหาเวลาแวะมาเยี่ยมชมพื้นที่ที่ไม่มีในไกด์บุ๊ค ผมว่าก็น่าสนใจดีเหมือนกันนะครับ
ขอบคุณ
Tolani Resort Kuiburi
คุณแก้วขวัญ เผอิญโชค แมคโดนัลด์
EXPLORERS: ตู่, เจมส์
AUTHOR:ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม