Type and press Enter.

ผจญภัย มุดน้ำ ลอดถ้ำ ลำคลองงู

ลำคลองงู ที่สุดของการผจญภัย ตื่นเต้น เร้าใจไปกับการกระโดดหน้าผาลอยคอตามกระแสน้ำ ลอดถ้ำมืดชมความงามของเสาหินขนาดมหึมาจากยุคดึกดำบรรพ์ สวยงามราวกับงานประติมากรรมที่รังสรรค์จากธรรมชาติ นี่คือมนต์เสน่ห์ของป่าฤดูร้อนที่สักครั้งในชีวิตต้องไปสัมผัสที่จังหวัดกาญจนบุรี 

บรรยากาศภายในถ้ำน่าตื่นตา ตื่นใจ
สวยแปลกตา
กลุ่มผู้ร่วมผจญภัย

ลำคลองงู ฤดูกาลเที่ยว

ที่สุดแห่งการผจญภัย อุทยานแห่งชาติลำคลองงู จังหวัดกาญจนบุรี  ในหนึ่งปีฤดูกาลท่องเที่ยวมีเพียง 2 เดือนเท่านั้นคือ มีนาคม-เมษายนของทุกปี ก่อนจะเตรียมตัวเที่ยวต้องโทรจองผ่าน อุทยานแห่งชาติลำคลองงู หรือจะไปจอยทริปกับคนอื่น ๆ ก็ง่ายไปอีกแบบ ควรเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการผจญภัยในฤดูร้อน แม้เส้นทางจะเดินไม่ยาก แต่ความชันของภูเขา แดดที่ร้อนระอุทำเอาหลายคนหมดแรง หยุดพักเหนื่อยตามไหล่ทางจนมีคำกล่าวที่ว่า “ 7 ภูกระดึงยังไม่เท่า 1 ลำคลองงู ”

จุดพักแรมสบาย ๆ

รูปแบบการเที่ยว

รูปแบบที่ 1 ถ้ำเสาหิน (วันศุกร์)   ถ้ำนกนางแอ่น (วันเสาร์) (จำนวน 2 วัน 1 คืน)

รูปแบบที่ 2 ถ้ำนกนางแอ่น (วันศุกร์)  ถ้ำเสาหิน (วันเสาร์) (จำนวน 2 วัน 1 คืน)

รูปแบบที่ 3 ถ้ำนกนางแอ่น  แบ่งเป็นรอบเช้าและรอบบ่าย (จำนวน 1 วัน)

โดยหนึ่งรอบแบ่งเป็น 12 กลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 10 คน และมีเจ้าหน้าที่ 1 คนคอยดูแล และผู้ช่วยเจ้าหน้าที่อีก 2 คนซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ไม่นับรวมกับกลุ่มท่องเที่ยวของเรา

สนุก ตื่นเต้น เรา้ใจ

คำแนะนำก่อนผจญภัย

เราเดินทางถึงลานกางเต็นท์ เวลา 04:00 น. กางเต็นท์นอนเก็บแรงอย่างไม่รอช้า  8 เต็นท์ล้อมรอบกันเป็นวงกลม รอเวลา 7 โมงเช้า ทานข้าวเช้าเตรียมความพร้อม ฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อุทยานสำหรับข้อควรปฏิบัติ และสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติ การเตรียมตัวเข้าถ้ำ 1. เสื้อแขนยาวกางเกงขายาวที่ควรเป็นผ้าชนิดแห้งไว 2. รองเท้าหุ้มข้อที่ควรมีดอกยางยึดเกาะพื้น  3. เป้กันน้ำสำหรับใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ  4. ไฟฉายคาดหัวกันน้ำ เพราะในถ้ำมืดมาก 5. ไม่สวมของมีค่าต่าง ๆ เพราะอาจถูกเกี่ยวหายตามทางได้ 6. ต้องสวมชูชีพตลอด บางจุดน้ำลึกจนเท้าแตะไม่ถึงพื้น 7. ควรมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรงพร้อมเดินทาง และสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติ หากโดนผึ้งต่อยแล้วมีอาการผิดปกติต่อร่างกาย เช่น หายใจติดขัดให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วนห้ามฝืนตัวเองเพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต ห้ามเดินออกนอกเส้นทาง ควรเดินเรียงแถวทีละคน เพื่อป้องกันอันตราย และการหลงทาง ต้องเชื่อคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

ผมขอยกข้อควรปฏิบัติ เพื่อการเดินป่าที่ยั่งยืนจาก “โรงเรียนนักเดินป่า”

  1. วางแผนสักนิด ก่อนคิดเดินทาง
  2. เดินเตร็ดเตร่จะหลงทาง เดินตามทางจะถึงจุดหมาย
  3. ขี้ต้องขุด หยุดทิ้งขยะ
  4. มีสิทธิแค่มอง แต่ครอบครองไม่ได้
  5. จะเล่นกับไฟ สิ่งที่ไหม้คือป่า
  6. สัตว์ป่าอย่าเข้าใกล้ เราปลอดภัยได้เพียงชม
  7. เอาใจเขามาใส่ใจเรา
เป็นการเดินป่าฤดูร้อนที่ฉ่ำเย็น

ป่าเปลี่ยนตามความสูง

หลังจากฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่แล้วเสร็จ เราแยกย้ายเตรียมอุปกรณ์ของตัวเอง นอกจากอาหารมื้อกลางวันแล้ว สิ่งสำคัญคือน้ำเปล่าควรเตรียมให้เพียงพอสำหรับการผจญภัยไป และกลับ หลังจากรอเจ้าหน้าที่เคารพธงชาติ 08:00 น. รถทั้งหมดค่อย ๆ ทยอยพานักท่องเที่ยวออกจากอุทยานไปที่ถ้ำเสาร์หิน เราแวะร้านค้าชาวบ้านซื้อน้ำแข็งเติมใส่กระติกน้ำหวังว่าหลังจากเดินกลับมาถึงรถจะได้น้ำเย็น ๆ ดับอากาศร้อน ๆ ที่ร่างกายเจอมาตลอดเส้นทาง

เริ่มเดินไต่ลงตามระดับความสูงลงสู่จุดต่ำสูงของภูเขา ทางเดินค่อย ๆ ชันลงสองข้างทางเป็นป่าเบญจพรรณแล้งสูงผสมไผ่โย่งยาวต้นเขียวสลับเหลือง ส่วนไม้ใหญ่ทิ้งใบกิ่งก้านร่วงแห้งตามพื้นเป็นแนวยาว เหมือนเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟป่าได้อย่างดี มีพื้นดินดำแสดงหลักฐานทิ้งร่องรอยไหม้ไว้บ้าง ตลอดทางอากาศร้อนขึ้นตามระดับองศาของพระอาทิตย์ที่ลอยมาอยู่กลางหัวของเรา ถ้อยคำเป็นกำลังใจจากหัวหน้าทริปที่บอกเราว่าใกล้ถึงน้ำตกหน้าถ้ำแล้วอีกไม่ไกลมาก และเส้นทางช่วงสุดท้ายก่อนถึงน้ำตกหน้าถ้ำ เดินเพลิน ๆ ทางเดินจากดินกลายเป็นก้อนหินทั่วบริเวณพร้อมความชันที่มากขึ้น บางจุดต้องใช้เชือกช่วยเสมือนการโรยตัวของทหาร ต้นไม้รอบบริเวณจากป่าที่แห้งเริ่มเขียวชอุ่มขึ้น และไม่นานเสียงของน้ำตกก็แว่วผ่านหูมา และเมื่อเห็นน้ำตกกับแอ่งน้ำธรรมชาติ เราทุกคนค่อย ๆ หย่อนตัวลงไปดับความร้อนของร่างกายน้ำเย็นทำให้ร่างกายคลายความร้อนสบายตัวพร้อมผจญภัยต่อ ต้นน้ำฉ่ำเย็นเสมือนก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่พึ่งละลายจากความร้อนหมาด ๆ

ผจญภัยเข้าถ้ำหาเสาหิน

              เมื่อถึงปากทางเข้าถ้ำที่ต้องสำรวจให้พบเสาหินที่เขากล่าวถึงกัน ผมสัมผัสได้ถึงการผจญภัยที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ด้วยลักษณะเป็นถ้ำหิน ความมืดเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการมองเห็น แต่ไฟฉายที่ทุกคนเตรียมมาพร้อมก็ช่วยให้พวกเรามองเห็นในที่มืดได้เป็นอย่างดี การเดินตลอดเส้นทางเป็นไปอย่างระมัดระวัง เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ท่านให้การดูแลเราทั้ง 10 คนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการลอยคอในน้ำที่ต้องเกาะเชือกข้ามฝั่ง ผ่านกระแสน้ำที่ไหลแรง และข้ามโขดหินที่มีช่องว่างห่างกัน เสียงน้ำตกดังระงมอยู่ทั่วถ้ำ แต่ทันใดเสียงสัตว์เล็กแหลมคล้ายลูกหนูก็ดังขึ้น คนข้างหน้าผมขยับไฟฉายคาดหัวหันลำแสงตามหาต้นเสียง สูงลิ่วขึ้นไปบนผนังถ้ำพบเห็นฝูงค้างคาวส่งเสียงเล็ก ๆ ทักทาย หินที่ยื่นออกมาจากผนังผมจับแล้วรู้สึกสบายมือจึงหันแสงไฟส่องกระทบปรากฏเห็นลวดลายสวยงามเหมือนงานจิตรกรรมจากจิตรกรนามว่าธรรมชาติตวัดพู่กันรังสรรค์วาดให้สวย ไม่นานเราพ้นเนินก้อนหินใหญ่มาพบเข้ากับเสาหินขนาดมหึมา สูงตระหง่านจากพื้นดินถึงเพดานถ้ำ และว่ากันว่าเป็นเสาหินปูนที่มีความสูงมากที่สุดในโลกด้วยความสูงที่ 62.5 เมตร นี่คืองานปติมากรรมชิ้นเอกของธรรมชาติจากโลกยุคดึกดำบรรพ์

เสื้อชูชีพคือสิ่งที่ควรสวมไว้ตลอดการเดินทาง

เดินกลับจนตัวแห้ง

พวกเราทั้งคณะออกมาจากถ้ำเดินกลับคนละเส้นทางเพื่อมาโดดน้ำจากหน้าผาที่ความสูงราว 3 เมตร จริง ๆ แล้วมนุษย์ที่ใช้ชีวิตบนพื้นราบอย่างผมไม่ต้องมาทำอะไรแบบนี้ก็ได้ แต่บางครั้งชีวิตก็ต้องการสิ่งที่ท้าทายอยู่เสมอ จากลีลากระโดดน้ำของบรรดาพวกผู้ชายก็พอจะเดาได้ว่าทำไมผู้ชายถึงมีอายุสั้นกว่าผู้หญิง ฮ่า ๆ หลังเล่นน้ำอย่างหนำใจก็ได้เวลาพักกลางวันทานข้าว รอพระอาทิตย์คล้อยลงสักหน่อยให้พลังงานความร้อนอันล้นเหลือได้ลดเบาลงบ้าง บ่ายสามโมงเป็นเวลาที่เราพร้อมเดินทางไต่เนินสูงกลับไปที่รถ ด้วยอากาศที่ร้อนน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญของการเดินป่าในหน้าร้อนเช่นนี้ และหากเหนื่อยมากควรพักให้หายเหนื่อยจนรู้สึกพร้อมมากที่สุดเสียก่อนแล้วค่อยเดินต่อเพราะเรามีโอกาสเป็น ฮีทสโตรกได้

ลอยคอไปโดดน้ำ ตอนแรกเสียว ตอนหลังสนุก

เดินทางไปถ้ำนกนางแอ่น

              วันที่สองเปลี่ยนเส้นทางการผจญภัย ไปสู่ถ้ำนกนางแอ่น เตรียมทุกอย่างพร้อมเหมือนกับวันแรก รวมถึงตรวจเช็คร่างกายตัวเองว่าพร้อมสำหรับการเดินทางต่อไป นั่งรถระยะทางไม่ไกลมากก็มาถึงจุดเริ่มเดิน ทางเดินเท้าเรียบง่ายกว่าเมื่อวานมาก ระหว่างทางเป็นป่าไผ่ส่วนใหญ่ และถึงแม้ว่าระยะทางสั้นแต่เป็นการเดินเท้าเลียบหน้าผาที่ต้องเป็นแถวตอนเรียงหนึ่งแบบไม่มีการเดินแทรกกันแต่อย่างใด ทางเรียบสลับกับพื้นต่างระดับเป็นช่วงๆ ทำให้รู้สึกตื่นเต้น อาการเมื่อยตึงขาจากเมื่อวานมีแทรกเข้ามาบ้าง ป่ากล้วยเริ่มมีมากขึ้น เสียงน้ำตกแววมาถึงหูไม่นานเราก็เดินมาพบความใหญ่โตอันน่าพิศวงของถ้ำศิลปะจากธรรมชาติที่แตกต่างไปจากเมื่อวาน

เห็นแบบนี้ของจริงก็มีขาสั่นบ้าง

โดดผาหินล่องน้ำไปตามกระแส

              รอดถ้ำเข้าไปไม่ไกลนัก พบกับจุดกระโดดลงสายน้ำที่ไหลยาวไกลออกไปเป็นที่แรก กระแสน้ำพาตัวเราลอยคอยาวไปสู่จุดกระโดดต่อไป หลังจากนั้นพวกเราเดินเท้าต่อเพื่อไปสู่จุดกระโดดต่อไป ระหว่างทางปีนป่ายตะกายหินเล็กใหญ่แวะชมหินหน้าตาประหลาดซ้อนกันอยู่ เจ้าหน้าที่เตรียมพื้นที่สำหรับกระโดดจุดที่สูงที่สุดของวันนี้ ผมยืนอยู่ปลายหินที่มีความชันมาก จากขาที่เปียกน้ำทำให้ไม่แน่ใจว่าอาการสั่นนั้นเพราะมันหนาวหรือกลัวกันแน่ ว่าแล้วก็กระโดดลงไปท้าทายกับแรงดึงดูดของโลกอีกสักครั้ง หลับตาทิ้งตัวลงไปไม่นานนักผมก็จมต่ำอยู่ใต้ผืนน้ำ และลอยตัวขึ้นมาจากการพยุงของเสื้อชูชีพ จากความกล้า ๆ กลัว ๆ กลายเป็นความสนุกที่บางคนถึงกับขอกระโดดอีกรอบ เมื่อครบทุกคนเราก็ไหลไปตามกระแสน้ำอีกครั้ง เสียงหวีดร้องของกลุ่มอื่นที่กระโดดตามหลังมาก็ทำให้เราขบขัน ชวนให้นึกถึงช่วงเวลาน่าหวาดเสียวที่เพิ่งผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ

มนุษย์สิ่งมีชีวิตตัวนิดเดียว

กลับสู่ที่พักเก็บของกลับบ้าน

เมื่อถึงปลายทางของสายน้ำพวกเราก็เดินเท้ากันต่อในเส้นทางกลักอีกเส้น พวกเราถึงรถอย่างปลอดภัย เส้นทางไม่โหดเหมือนวันแรกแต่ความสนุกเหลือล้นเกินคำบรรยายไปแล้ว บรรดานักเดินทางที่ร่วมสนุกทั้งสองวันเราต่างเป็นคนรู้จักของใครสักคนในกลุ่มที่ถูกชวนมาเที่ยว และการได้เจอกับคนอื่น ๆ สุดท้ายพอมารวมกลุ่มกันกลับกลายเป็นความสนุกที่แปลกใหม่ และจากแปลกหน้าสู่เพื่อนร่วมวงทานข้าวโดยปริยาย

AUTHOR & PHOTOGRAPHER : สิณ – กสิณ สนลา

GRAPHIC DESIGNER : ตูน-เรืองเพชร เวชวิทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *