อุทยานแห่งชาติภูเวียง โรงเรียนนักเดินป่าสาขาภาคอีสาน กับเส้นทางเดินป่า”ผาแจ้ง”สภาพของป่าดิบแล้งดูโปร่งสบาย “ทุ่งหญ้าเพ็ก” ทั่วบริเวณถูกฤดูกาลย้อมเป็นสีน้ำตาลคลุมโทน มันดูมีเสน่ห์ในแบบของมัน
“มันสวยกว่าที่ผมคิดไว้” จนผมรู้สึกผิดนิด ๆ ที่แอบปรามาสป่าในฤดูแล้งแบบนี้ว่ามันจะสวยสักแค่ไหนกันเชียวพวกเราคือคณะสำรวจชุดหลังสุดก่อนที่โรงเรียนนักเดินป่าสาขา อุทยานแห่งชาติภูเวียง จะเปิดอย่างเป็นทางการในฤดูฝนของปีนี้
ทางดีมีวิวสวย
ด้วยสภาพป่าโปร่งมีลมเอื่อย ๆ พัดโชยอยู่ตลอด ทำให้บรรยากาศในป่าเดือนกุมภาพันธ์ไม่ได้ถึงกับร้อนตับแตกอย่างที่คิด พวกเราตั้งต้นเดินเท้ากันที่บริเวณ “ทุ่งใหญ่เสาอาราม” ที่ในยุคหนึ่งแถวนี้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนในสมัยโบราณ และมีปลายทางสิ้นสุดที่ ”ผาแจ้ง” ที่ห่างจากจุดนี้ไปสามกิโลเมตรโดยประมาณ ทางชันแทบไม่มี บรรยากาศป่าดิบแล้งของที่นี่ดูสวยงาม และสมบูรณ์ มีไม้ยางใหญ่ให้เราได้ชื่นชมกลางทาง พูดง่าย ๆ ว่าเส้นทางสวย เดินง่าย ไม่ไกล และที่ปลายทางจุดพักแรมมีวิวหลักล้านรออยู่ นี่มันคือเส้นทางในฝันของนักเดินป่าชัด ๆ
ด้วยเส้นทางที่เดินง่าย และระยะทางไม่ไกลนักเลยทำให้มีเวลาเดินชมนกชมไม้ และดื่มด่ำกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ โดยไม่เร่งรีบมาก พวกเราเลยถือโอกาสนี้ได้พูดคุยทำความรู้จักกันไปด้วย พวกเราในที่นี่ก็คือเจ้าหน้าที่ และคณะศิษย์เก่าของโรงเรียนนักเดินป่าจากรุ่นต่าง ๆ ที่มาเป็นอาสาสมัครเดินสำรวจเส้นทางนี้กันก่อนเปิดอย่างเป็นทางการ
ไม่นานนักพวกเราก็เดินทางมาถึง “ผาแจ้ง” จุดพักแรมวิวหลักล้านสำหรับคืนนี้ เรามีเวลาเหลือพอที่จะเดินสำรวจและชมวิวแถวนี้ มื้อเย็นถูกเตรียมเร็วขึ้นสักหน่อยเพื่อจะได้มีเวลาล้อมวงคุยกัน และแยกย้ายเข้านอนกันแบบไม่ดึกมากนัก ในวันที่อากาศแจ่มใสตรงจุดนี้เราพอจะมองเห็นยอดภูกระดึงอยู่ไกล ๆ พร้อมกับชมพระอาทิตย์ตกที่มีเบื้องหน้าเป็น “อำเภอสีชมพู” สำหรับที่นอนคืนนี้ผมเลือกทิศผูกเปลหันรับลมอ่อน ๆ ริมหน้าผา นอนฟังเสียงแมลงจนหลับไปอย่างไม่รู้ตัว
ความดีงามของเส้นทางเดินป่านี้นอกเหนือจากคุณได้พักแรมท่ามกลางธรรมชาติสวย ๆ แล้ว คุณยังสามารถหาความรู้ด้านธรณีวิทยา เที่ยวชมฟอสซิล รอยเท้า และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียงได้อีกด้วย เรียกว่าคุ้มค่าครบรสแบบไม่เหมือนที่ไหนเลยทีเดียว ถึงคุณไม่ใช่สายเดินป่าแต่พวกเรารับรองว่าคุณต้องชอบที่นี่แน่นอน…
จะเดินป่ากี่วันของเท่ากันเสมอ
หากคุณเดินป่ามาบ้างจะเข้าใจดีว่าไม่ว่าคุณจะใช้ชีวิตอยู่ในป่าสักกี่วันสัมภาระไม่ได้ต่างกันมากนัก จะมีต่างกันบ้างอย่างเช่นอาหาร เพราะหากอยู่หลายวันอาหารก็จะเยอะตามไปด้วย นอกนั้นข้าวของเครื่องใช้ หรือเสื้อผ้าก็แทบไม่ต่างกันเท่าไหร่ การเดินป่าที่นี่ก็เหมือนกัน ถึงแม้เส้นทางจะสะดวกขนาดไหนการเตรียมตัวก็ต้องพร้อมเสมอ นี่คือบทเรียนจากโรงเรียนนักเดินป่าบอกกล่าวกันอยู่เสมอ แต่การเดินป่าสองวันหนึ่งคืนที่ไม่ไกลมากแบบนี้อาจจะทำให้พวกเราได้เต็มที่กับมื้ออาหารได้แบบพิเศษ ถึงจะแบกขนเอาอุปกรณ์ และวัตถุดิบหนักขึ้นมาหน่อยแต่ก็เดินไม่ไกล
จัดการตัวเอง
บริเวณจุดพักแรมแถวนี้พื้นที่ค่อนข้างอิสระ เหมาะทั้งผูกเปล และกางเต็นท์ ส่วนห้องน้ำตามธรรมชาตินั้นยิ่งสบายไปใหญ่เพราะมีพุ่มหญ้ามีกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เลือกเอาวิวที่ชอบได้ตามสะดวก เพียงแต่ต้องจัดการหลังจากทำธุระเรียบร้อยให้ดีตามหลักการที่ร่ำเรียนกันมา ข้อดีของการได้รู้ถึงหลักกาปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาตินั้น แท้จริงแล้วไม่มีอะไรยากนัก จะใช้คำว่าปรับตัวให้เหมาะสมก็ไม่ผิด การใช้ชีวิตแบบนี้มันมีข้อดีก็คือ เราจะได้ฝึกฝนการยอมรับเงื่อนไขไปตามสถานการณ์ที่เราอยู่ และลดระดับมาตรฐานความสบายแบบในชีวิตประจำวันลงบ้าง พูดอย่างง่าย ๆ ก็คือมันทำให้ผมลดความเรื่องมากของตัวเองลงได้บ้าง ส่วนใหญ่ความยากลำบากของการเที่ยวป่าจะมาจากการเตรียมตัวที่ไม่ดีมากกว่า หากเราพร้อมทุกอย่างมันจะกลายเป็นความสุขทันที มีเพื่อนผมหลายคนเข็ดหลาบไปก็เยอะจากการเที่ยวป่าครั้งแรก แล้วไม่ประทับใจส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่พร้อม และเลือกเส้นทางเริ่มต้นที่โหดเกินไป เลยได้ความทรมานมาแทนที่ความประทับใจ
เริ่มต้นเดินป่า
หากให้แนะนำผมคิดว่าในการเริ่มต้นเที่ยวธรรมชาติไม่จำเป็นต้องยาก โหด และเดินทางไกลให้ปวดน่อง สิ่งเหล่านั้นมันจะเกิดขึ้นเองตามลำดับหลังจากที่คุณเที่ยวป่ามาสักระยะหนึ่งแล้วต้องการความท้าทายที่มากขึ้น ควรเริ่มต้นแบบสบาย ๆ ไปก่อน มีอุปกรณ์ตามความเหมาะสม และกำลังทรัพย์ของตัวเอง นอกจากอุปกรณ์แล้วมีอีกอย่างที่คุณควรพกมันเข้าป่าไปด้วยก็คือ “ความรับผิดชอบ และทัศนคติที่ดี” รวมถึงข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ที่เหลือก็ปล่อยใจไปตามทาง รู้จักปรับตัวให้เหมาะสม ซึ่งไม่มีอะไรยาก
วัฒนธรรมการเดินป่า
ที่จริงวัฒนธรรมการเดินป่าเป็นเหมือนแนวคิดที่ถูกส่งต่อกันมากกว่าการเขียนเป็นกฎระเบียบเอาไว้ ผมเองคือหนึ่งในนักเดินทางที่ไม่เคยเข้าใจเรื่องอะไรพวกนี้มาก่อนเลย ในวัยที่ยังเรียนก็เที่ยวป่าเขากันสนุกเฮฮาไปตามประสา พอโตมาก็เพิ่งรู้ว่าหลายอย่างที่ทำไปไม่ควรทำเลย ซึ่งในยุคนั้นไม่มีใครบอก หรือมีคำแนะนำอะไร และยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าควรจะต้องรู้อะไรบ้าง “วัฒนธรรมการเดินป่า” แท้จริงไม่มีอะไรซับซ้อน มันถูกถอดออกมาเป็นแนวคิดสามข้อใหญ่ ๆ จำง่าย ๆ แค่นั้น “เพิ่งพาตนเอง เคารพธรรมชาติ ให้เกียรติเพื่อนร่วมทาง” สามข้อนี้จำขึ้นใจไว้ให้ดี
เพิ่งพาตนเอง
การรู้ข้อมูลเบื้องต้นว่าที่ที่เราจะไปมีเส้นทาง และสภาพอากาศแบบไหนจะนำไปสู่การจัดเตรียมสัมภาระ และอาหารอย่างเหมาะสม มันจะทำให้เราเพิ่งพาตนเองได้ หากคุณต้องแบกของเองคุณจะรู้จักการจัดระเบียบข้าวของเครื่องใช้ และรู้จัก ”ตัดใจ” เลือกเอาไปแต่ในสิ่งที่จำเป็นไปด้วยเท่านั้น ในที่สุดสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การ “เพิ่งพาตนเอง” ได้อย่างดีทั้งเรื่องเดินทาง กินอยู่ หลับนอน นอกเหนือจากการไม่เป็นภาระผู้อื่นแล้วยังทำให้การเดินทางเป็นหมู่คณะราบรื่น และตัวคุณเองจะมีความสุขอีกด้วย
เคารพธรรมชาติ
การเก็บอะไรใด ๆ ออกไป ไม่เข้าใกล้สัตว์ป่า และรักษาความสะอาด สิ่งเหล่านี้ทุกคนทำได้ไม่ยาก “ขยะ” เป็นปัญหาส่วนใหญ่ที่เราสามารถพบเจอได้แทบทุกที่ไม่เว้นแม้แต่ในป่าลึก มันไม่มีเหตุผลเลยสักนิดที่เราจะทิ้งแม้แต่ขยะชิ้นเล็ก ๆ ไว้ในป่า จะว่าไปมันก็ไม่แฟร์สักเท่าไหร่ที่เรามาตักตวงความสุขจากธรรมชาติ แล้วมันต้องเสื่อมโทรมลงไปเพราะพวกเราเอง คุณเคยเห็นเศษกระดาษทิชชู่ตามพุ่มไม้บ้างไหม ยิ่งตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทิชชู่จะถูกทิ้งเกลื่อนกลาดกว่าดอกไม้เสียอีก ต่อให้มันย่อยสลายได้ก็จริง แต่ถ้าหากไม่ฝังกลบก็ควรเก็บกลับไปทิ้งดีกว่าปล่อยไว้ให้สกปรกแบบนั้น หรือแม้แต่ก่อกองไฟก็ควรก่อในจุดเดิม และดับในสนิทก่อนออกจากจุดพักแรมทุกครั้ง….ให้นักเดินทางทุกคนคิดไว้เสมอว่าทำอย่างไรก็ได้ที่จะเป็นการรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด
ให้เกียรติเพื่อนร่วมทาง
หากคุณเดินทางมาไกลหลายร้อยกิโลเพื่อเดินเข้าป่าพักผ่อนหาความสงบ แต่ต้องกลับได้ฟังเพลงจากลำโพงของเพื่อนร่วมทางแทน ต่อให้เพลงนั้นเพราะขนาดไหนในช่วงเวลานั้นอาจไม่ใช่เสียงที่คุณอยากฟังสักเท่าไหร่ “การักษาความสงบคือมารยาท” เราไม่ควรต้องลดเสียงดังตอนสามทุ่ม แต่เราต้องไม่ทำเสียงดังเลยต่างหากคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการอยู่ในป่าเขา นอกจากจะเป็นการนึกถึงนักเดินทางท่านอื่นแล้ว การส่งเสียงดังอาจส่งผลกระทบต่อการหากินของสัตว์กลางคืนด้วย การรักษาความสะอาดก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญนอกจากจะเป็นการรักษาพื้นที่ไม่ให้เสื่อมโทรมแล้ว ยังเป็นการนึกถึงนักเดินทางกลุ่มหลังด้วย ง่าย ๆ ก็คือ ”เกรงใจผู้อื่นนั่นแหละ” นอกเหนือจากความเกรงใจ ความมีน้ำใจรู้จักแบ่งปัน ก็จะทำให้การเดินทางของคุณสวยงามและน่าประทับใจมากยิ่งขึ้น
หากคุณสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของโรงเรียนนักเดินป่าสามารถติดตามได้ที่
The Outdoor Education – ร่วมสร้างวัฒนธรรมการเดินป่าที่ดี (nationalparkoutdoor-edu.com)
และสามารถติดตามข่าวสารของโรงเรียนนักเดินป่าทุกสาขาได้ที่ FACEBOOK : โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education
EXPLORERS : บาส
AUTHOR AND PHOTOGRAPHER : บาส – บดินทร์ บำบัดนรภัย
GRAPHIC DESIGNER : ตูน – เรืองเพชร เวชวิทย์