จากฉะเชิงเทราคราวก่อน บ้านและสวน Explorers Club และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ข้ามจังหวัดมายังชลบุรี เพื่อมารู้จักกับอีกสองชุมชนเครือข่ายในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของอีอีซี ที่มีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้กัน
นี่คือแหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ดี ๆ ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากวัตถุดิบท้องถิ่นให้เกิดมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งใน 12 ผลิตภัณฑ์ จาก 6 ชุมชนในโครงการ EEC Select 2023
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง
เริ่มกันที่อำเภอบ้านบึง มีหนึ่งในสถานที่กว้างใหญ่แต่สงบเงียบซ่อนตัวอยู่ในผืนป่าชุมชน ที่คนจำนวนไม่น้อยรู้จักกันในชื่อมหาลัยคอกหมู หรือศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ก็เพราะว่าที่นี่มีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องการส่งต่อองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมบนพื้นฐาน 4 พอ คือ พอกิน พออยู่ พอใช้ และพอร่มเย็น เป็นสถานที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้มาฝึกทักษะในหลักสูตรการอบรม “การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “โคก หนอง นา” ขั้นพื้นฐาน มีทั้งคอร์สระยะสั้นจากเช้าจรดเย็น และคอร์สระยะยาวแบบกินนอนอยู่ในพื้นที่ 5 วัน 4 คืน ที่นี่มีบ้านพักที่ปลูกขึ้นท่ามกลางป่า ดูน่าอยู่ไม่น้อยทีเดียว
หลังจากเดินสำรวจพื้นที่โดยรอบ สูดอากาศสดชื่นเข้าปอด และอิงแอบความร่มรื่นของแมกไม้จนอิ่มเอมใจ เราก็ได้มีโอกาสเข้าไปดูกระบวนการแปรรูปสินค้าหนึ่งชนิดเพื่อพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานสากล ภายในโรงงานแปรรูปที่สะอาดปลอดภัย โดยมี ปวีณา ศัลยกำธร ผู้จัดการด้านการตลาดเพื่อสังคมคอยให้ข้อมูลอย่างใกล้ชิด สินค้าที่ว่านั้นคือ ยาสีฟันสมุนไพรอัดเม็ด หรือ Mab-Ueang Herbal Tooth Tablet บอกเลยว่าสายเดินป่าน่าจะชื่นชอบ
กว่าจะมาเป็นยาสีฟันสมุนไพรอัดเม็ด รางวัล EEC Select
ที่บอกว่าสายเดินป่าชอบแน่นอน ก็เพราะน้ำหนักเบา พกพาง่าย ใช้แล้วมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะจากหลอดยาสีฟันลงได้ด้วย โดยจุดเด่นของยาสีฟันสมุนไพรอัดเม็ด คือฟองน้อย แต่ขจัดเชื้อแบคทีเรียได้ชะงัด มีส่วนผสมของข่อย กานพลู และกระดองปลาหมึก ที่มีงานวิจัยรับรองว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ฟันสร้างแคลเซียมได้เองมาทดแทนการใช้สารเคมีบางชนิด
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ด้วยโจทย์หลัก 3 ข้อตามเกณฑ์ที่อีอีซีกำหนด คือ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปต้องมีความใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ต้องมีกระบวนการผลิตที่มีความยั่งยืนในทุกขั้นตอน และสอดแทรกไปด้วยองค์ความรู้ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นแก่นของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง
ภายหลังการเข้ามาสนับสนุนของอีอีซี ทั้งในด้านการคิดกลยุทธ์ทางการตลาด การช่วยสร้างช่องทางการประชาสัมพันธ์ และพาไปออกร้านเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ทำให้ปัจจุบัน ยาสีฟันสมุนไพรอัดเม็ด ภายใต้การพัฒนาของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ขยับเข้าสู่มาตรฐานระดับสากลที่เตรียมพร้อมที่จะส่งออกไปยังตลาดโลก และสามารถร่นระยะเวลาการทำงานจากแผน 5 ปี ให้เร็วยิ่งขึ้น
ช่องทางติดต่อผลิตภัณฑ์มาบเอื้อง https://www.facebook.com/MabUeangProduct และ https://www.mabueang.com/
จากธรรมชาติสู่ลายผ้า
จากบ้านบึง เรามุ่งสู่อำเภอพนัสนิคม เมืองน่าอยู่ ไปดูการกระบวนการผลิตสินค้าแฟชั่นด้วยวิธีอีโคปริ้นท์ หรือพิมพ์ลายธรรมชาติ ด้วยการนำลวดลายของใบไม้ในพื้นถิ่นมาคลี่คลายลงบนผืนผ้าที่ย้อมสีธรรมชาติจากฝักไม้แดง โดยกลุ่มชุมชนพนัสนิคมเป็นผู้ถักทอด้วยมือและแรงใจจนกลายเป็นสินค้ารางวัล EEC Select ซึ่งบางคอลเล็กชั่นผลิตไม่ทันยอดความสนใจเลยทีเดียว อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า และผ้าพันคอลายยูคาลิปตัส โดยมี ตุ้ม-กุลณัชญา ทองนพคุณ ผู้ประกอบการชุมชนพนัสนิคม และชาวบ้านในกลุ่มชุมชนฯ ช่วยกันทำคนละไม้ละมือ
Guge ใส่เท่ทุกวัย
คอลเล็กชั่นต่าง ๆ ของ Guge Eco printing เกิดจากไอเดียการนำใบไม้มาสร้างลวดลายบนผืนผ้า ซึ่งใบไม้แต่ละชนิดจะให้สีแตกต่างกัน นำเทคนิคการถ่ายโอนสีจากใบไม้ และวิธีการย้อมผ้า มาผสานกับลวดลายจักสานที่เป็นงานฝีมือของชาวพนัสนิคม จนได้เป็นชิ้นงานไม่ซ้ำลายและมีตัวเดียวในโลก เราได้เห็นกระบวนการสร้างลายผ้าจากใบยูคาลิปตัสที่ดูพริ้วไหว การวางลายชะลอมลงบนผ้า ไปจนการนำผ้าไปนึ่งในกระทะและย้อมสีด้วยฝักไม้แดง
ซึ่งฝักหรือผลของต้นแดง มีลักษณะแบนและโค้ง เปลือกมีสีน้ำตาลอมแดง ชาวบ้านนิยมใช้ฝักแก่ที่แกะเมล็ดออกแล้วมาเป็นวัตถุดิบหลักในการย้อมผ้า เพื่อให้ได้มาซึ่งสีน้ำตาลอย่างที่เห็น ทั้งนี้ไม้แดงเป็นพืชท้องถิ่นที่นอกจากจะสะท้อนคุณค่าของพืชพรรณใกล้ตัวที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังแฝงด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจอีกด้วย กล่าวคือต้นแดงเป็นไม้ที่เจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกใช้ในการบูรณะฐานพระสมุทรเจดีย์ที่สมุทรปราการ
ซึ่งถ้าหากสงสัยว่าความสัมพันธ์ของสมุทรปราการ และพนัสนิคม มีความเป็นมาอย่างไร ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีกลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาบุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคมขึ้น (ซึ่งชื่อนี้มีที่มาจากการได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ทั้งสองเมืองนับเป็นเมืองที่อยู่ในเขตการปกครองเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรก คือ พระอินทอาษา (ท้าวอินทิสาร) หรือ ท้าวทุม ทุมมานนท์ ปลัดลาวเมืองสมุทรปราการนั่นเอง
ร่วมมือ สร้างชื่อ สร้างรายได้ กระจายให้ชุมชน
นี่คือภาพการช่วยเหลือชุมชนด้วยกัน คนในชุมชนนำธรรมชาติในพื้นที่ อัตลักษณ์ของงานฝีมือท้องถิ่น มาผ่านการทำมือทั้งหมดที่ประณีตในทุกขั้นตอน จนได้ผ้าและลวดลายที่เห็น ก่อนส่งต่อไปยังคนในชุมชนตัดเป็นเสื้อ หมวก กระเป๋า และผ้าพันคอ จนเข้าตาบ้านปาร์คนายเลิศ ซึ่งเกิดจากการที่อีอีซีเข้ามามีบทบาทในการนำไปออกร้าน และทำให้ในอนาคต Guge กำลังจะผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ส่งตรงให้ผู้ประกอบการที่สนใจ สร้างทางเลือก สร้างรายได้ กระจายสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
และนี่คือสามผลิตภัณฑ์ชุมชนดีเด่นของ EEC Select 2023 ที่ อีอีซี เข้ามายกระดับสินค้าไทยด้วยดีไซน์ หนึ่งใน 12 ผลิตภัณฑ์จาก 6 ชุมชน ที่ อีอีซี คัดเลือกจากความเป็นต้นตำรับและความแตกต่างของสินค้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก การต่อยอดความรู้จากวัตถุดิบในชุมชนด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความทันสมัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเสน่ห์ของชุมชนและคนในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้คนทั่วไปอยากมาเยี่ยมเยือนและทำความรู้จักมากขึ้น
EXPLORERS: บาส, เฟี้ยต, บอม, แป้ง, เอ็กซ์