กับแนวคิดอนุรักษ์นิยม เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
เที่ยวบ้านชมเมือง ครั้งนี้มาไกลถึงอังกฤษ คุณรู้สึกเหมือนกันไหมว่าประเทศในแถบทวีปยุโรปช่างสวยซะเหลือเกิน สวยดั่งต้องมนต์สะกด มองไปทางไหนก็จะถูกรายล้อมไปสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์อยู่มากมาย หากใครได้ไปเยือนคงรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในประวัติศาสตร์ รวมถึงใครที่ไม่เคยไปก็คงอยากจะได้ไป เห็นสถาปัตยกรรมเหล่านี้กับตาตัวเองสักครั้ง (หรือหลาย ๆ ครั้ง)
แม้วันนี้ประเทศอังกฤษจะไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตึกรามบ้านช่องมีความเฉพาะตัวไม่แพ้กับประเทศอื่นเลย ว่าแต่คุณสงสัยไหมล่ะปัจจัยใดที่ทำให้บ้านเขาสามารถคงความสวยงามเช่นนี้ไว้ได้ เที่ยวบ้านชมเมืองอังกฤษครั้งนี้เราจะมาไขคำตอบกันค่ะ
หากสงสัยคุณมาถูกทางแล้วเพราะบทความนี้จะมาเล่าสู่กันฟังถึงการบังคับใช้ “กฏหมายอนุรักษ์นิยม” ที่แม้หลายคนได้ยินแล้วรู้สึกถึงความ โบราณ เชย และ ไม่ทันสมัย แต่กฏหมายนี้เองที่ส่งผลให้ศิลปะ ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมซึ่ง สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นชาติอังกฤษถูกส่งต่อมาเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าในกาลปัจจุบัน
ก่อนอื่นขอแนะนำให้รู้จักกับ “Statutory Listed Buildings” หรือ ‘รายการ อาคารจดทะเบียนตามกฏหมาย’ ซึ่งเป็นรายการที่อยู่ภายใต้ “National Heritage List for England” หรือ ‘รายชื่อมรดกแห่งชาติของอังกฤษ’ และเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติที่ชื่อ Planning (Listed Buildings and Conservation Areas) Act 1990
สำหรับรายชื่อมรดกแห่งชาติของอังกฤษนั้นเป็นตัวกำหนดอย่างครอบคลุม ว่าสิ่งใดบ้างที่ต้องรักษาไว้ เช่น ตึกต่าง ๆ บ้านเรือน อนุสรณ์สถาน รูปปั้น สวนสาธารณะ สนามรบ หรือแม้กระทั่งซากปรักหักพักจากการรบในอดีตก็ตาม
ทั้งนี้ สำหรับรายการอาคารจดทะเบียนตามกฏหมายถือเป็นตัวกำหนดมาตรฐาน ว่าตึกไหนที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้และจะอนุรักษ์อย่างไร โดยแก่นของการอนุรักษ์คือการที่ตึกนั้น ๆ ต้องมีความสลักสำคัญทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์นั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วอาคารที่ถูกสร้างตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1700 (พ.ศ. 2243) รวมถึงตั้งแต่ปีค.ศ. 1700 จนถึง 1850 (พ.ศ. 2243-2393) หากยังอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงว่าอาคารเหล่านี้จะถูกจดทะเบียนลงรายการดังกล่าวเนื่องจากสามารถอยู่รอดผ่านกาลเวลามาได้อย่างยาวนานและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นแน่แท้ ส่วนอาคารใดที่ถูกสร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหลัง ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) จะถูกพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่ามีความพิเศษอะไรที่จะนำมา จดทะเบียนหรือไม่ แต่หากอาคารใดมีอายุต่ำกว่า 30 ปีจะไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากยังไม่ผ่านการทดสอบของกาลเวลา
ต้องบอกว่าอาคารเหล่านี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องให้ภาครัฐเป็นผู้ดูแลเท่านั้น แต่ภาคเอกชนหรือคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ก็เป็น เจ้าของตึกได้เช่นกัน เพียงแต่ว่า เราจะต้องทำตามเงื่อนไขของการเป็นเจ้าของตึกจดทะเบียนอย่างเคร่งครัด ซึ่งหมายถึงการ “ห้ามซ่อมแซม ต่อเติม ทุบ เจาะ หรือแม้แต่ติดตั้งจานดาวเทียม” ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายในอาคารหากไม่ได้รับอนุญาต
ในกรณีที่มีการไปขออนุญาตมาแล้ว การปรับปรุงต่อเติมซ่อมแซมก็จะซับซ้อน มากขึ้น เพราะต้องทำไปตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการประวัติศาสตร์อังกฤษกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุชนิดเดิมอย่างในอดีต หรือการใช้บริการช่างผู้เชี่ยวชาญ ด้านนี้โดยตรงมารับงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าการปรับปรุงจะไม่ทำให้รูปลักษณ์ของตึกนั้น ๆ ผิดแปลกไปจากเดิมจนทำให้นัยยะทางประวัติศาสตร์ หล่นหายไป
ดังนั้นหากใครต้องการเป็นเจ้าของตึกดังกล่าว บอกเลยว่าคุณจะต้องมีความอดทนพยายามในการดูแลตึกนี้มากกว่าตึกที่ไม่ได้จดทะเบียนมาก ๆ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การซ่อมแซมนี้จะมีราคาที่สูงกว่าตึกทั่วไปมากถึงมากที่สุด
เล่ามาจนถึงตอนนี้คุณคงจะพอได้เห็นภาพกว้าง ๆ แล้วว่าเป็นเพราะความตั้งใจที่จะรักษา และความใส่ใจในรายละเอียด และความภูมิใจในตัวตนความเป็นอังกฤษ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้คนชาวอังกฤษที่ร่วมมือกันจนทำให้คนยุคปัจจุบันได้ชื่นชมและตระหนักถึงสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้
แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่แน่นอนที่สุดในชีวิตมนุษย์ ข้อบังคับเหล่านี้ก็ใช่ ว่าจะคงอยู่ตลอดไป
วันนี้ก็มีข้อโต้เถียงจากสองฝักสองฝ่ายถึงการทำลายตึกโบราณทิ้งและแทนที่ด้วย ตึกแบบร่วมสมัย เพราะตั้งแต่ช่วงโควิด-19 รายได้ของหน่วยงานอนุรักษ์ตึกเหล่า นี้หายไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากเดิมที่มีเงินหมุนเวียนจากการขายบัตรเข้าชม นิทรรศการต่าง ๆ ในทางกลับกันค่าใช้จ่ายในการดูแลตึกยังคงสูงลิ่วดั่งการยิง จรวดสเปซเอ็กซ์ ดังนั้นเมื่อความมั่งคั่งทางสถาปัตยกรรมเกิดสวนทางกับงบประมาณการบริหารจัดการ เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ให้อังกฤษสามารถคงเสน่ห์เฉพาะตัวเฉกเช่นนี้ไว้ได้ ในอนาคต