ที่ขับเคลื่อนโดยวิศวกรบ้าพลังกับช่างฝีมือที่มักกะสัน

คุณเคยนั่งรถไฟไปไหนไกล ๆ ไหม
เป็นคำถามที่คุณไม่ต้องรีบตอบก็ได้ ส่วนตัวผมเองนั้น เดินทางใช้รถไฟมาตั้งแต่เด็ก ๆ เอาแบบใกล้ตัวเลยก็นั่งรถไฟเที่ยวจากวงเวียนใหญ่ไปมหาชัย และมีอยู่ช่วงหนึ่งของชีวิตคือนั่งรถไฟไปทำงานและกลับบ้าน มันเป็นประสบการณ์ที่มีสีสันดีสำหรับชีวิตคนเมืองหลวง หลายครั้งนั่งรถไฟนาน ๆ ข้ามคืนไปจ.ตรัง สมัยนั้นต้องลงที่อำเภอทุ่งสง แล้วนั่งแท็กซี่เบนซ์คันใหญ่ ๆ ไปกับใครก็ไม่รู้ ถ้าสำหรับผมแล้วรถไฟอยู่ในหลายช่วงวัยของชีวิต ผมชอบความรู้สึกและรักบรรยากาศบนรถไฟรวมถึงสองข้างทางรถไฟด้วยมันแปลกตาดี
คุณหล่ะชอบรถไฟไหม เคยนั่งรถไฟไปไหนไกล ๆ บ้างหรือเปล่า แล้วระหว่างทาง คุณทำอะไรบ้าง ถ้าไม่หลับ ก็คงหยิบมือถือขึ้นมา เลื่อนหน้าจอ ฆ่าเวลาด้วยซีรีส์หรือเพลง ลองจินตนาการดูว่า มันจะดีแค่ไหน ถ้ามี “ขบวนรถไฟท่องเที่ยว” ที่ไม่ได้แค่พาคุณไปถึงแค่จุดหมาย หากแต่พาคุณไป “สัมผัสวิว” ตลอดทางที่ผ่านเส้นทางธรรมชาติ และยานพาหนะอื่นเข้าไม่ถึง
หนึ่งในภาพที่เราว่า ควรค่าแก่การนั่งมอง คือ “สถานีแก่งหลวง” จุดเล็ก ๆ ในจังหวัดแพร่ ที่คุณจะได้เห็นหมอกบาง ๆ ไหลคลอเคลียยอดเขา และลำธารข้างทางรถไฟ พร้อมกับขบวนรถที่แล่นผ่านอย่างช้า ๆ ให้คุณเก็บทุกลมหายใจของธรรมชาติ โดยไม่ต้องรีบ

นี่คือภาพในหัวของ อดิศร สิงหกาญจน์ วิศวกรอำนวยการศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ ผู้เปลี่ยนช่วงเวลาสั้น ๆ บนขบวนรถไฟ ให้กลายเป็นโปรเจกต์ “Kiha 183” ขบวนรถไฟท่องเที่ยวที่ทำให้ทุกคนสัมผัสเสน่ห์ของการเดินทางแบบไม่เร่งรีบ และได้ทำให้เห็นแล้วว่า รถไฟไทย ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมาก แค่คุณเปิดใจ

แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ
“ผมไม่ได้ชอบรถไฟหรอก แค่ไม่มีทางเลือก จับผลัดจับผลูได้มาทำงานรถไฟ จนมาเป็นวิศวกรซ่อมรถไฟ” เขาหัวเราะแบบคนที่ไม่เคยคิดว่า จะเกี่ยวข้องกับวงการม้าเหล็ก และเริ่มต้นชีวิต ในฐานะวิศวกร

จากที่เคยเห็นวิวสวยขณะที่ปฏิบัติงาน จนเกิดความคิดอยากมีขบวนรถไฟท่องเที่ยว จนนำไปสู่แรงบันดาลใจที่อยากให้คนไทยออกมาสัมผัสวิวสวย ๆ แบบที่เขาพบเจอ มันเริ่มขึ้นเมื่อเขาเดินทางไปตรวจสอบรถ HAMANASU (Royal Blossom) ที่ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น แล้วอยู่ ๆ ฝ่ายญี่ปุ่นก็พูดขึ้นว่า “มีรถดีเซลราง Kiha 183 กำลังจะปลดระวาง สนใจไหม”

ด้วยความอยากรู้ ก็ตามเขาไปดู แล้วกลับมารายงานให้ผู้ใหญ่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยฟัง ถึงขบวนรถที่จะได้รับ และวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวทางรางเมื่อบูรณะรถไฟเสร็จ ปรากฏว่าทุกท่านให้ความสนใจ ทางเราก็ตอบรับทันที ด้วยความฝันที่จะเห็นเมืองไทยมีรถไฟท่องเที่ยวแบบญี่ปุ่น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Kiha 183 อย่างเป็นทางการ
เห็นอะไรในคิฮะ 183
ใครเคยไปญี่ปุ่น คงรู้ว่ารถไฟของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก สิ่งที่สะดุดตาใน Kiha 183 คือ “สัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีทอง” ด้านบนตัวรถ มันไม่ใช่แค่ลวดลายธรรมดา แต่มันหมายถึง “นี่คือรถด่วนพิเศษ” “ตอนเห็น ผมคิดทันทีว่า ถ้าจะเอากลับมาวิ่งที่เมืองไทย มันจะต้องสวยงามแน่นอน และต้องทำให้ดีที่สุด” “ด้วยตัวขบวนรถการออกแบบที่เป็นของเดิมนั้นอย่างที่บอกมันเห็นปุ๊บรู้เลยว่านี่รถญี่ปุ่น มันมีเสน่ห์นะ”



ก่อนที่จะลงรายละเอียดด้านอื่น ๆ ทีมงานพยายามทำให้รถวิ่งได้ก่อน ก็ทำกันอยู่นาน อีกทั้งคู่มือก็เป็นภาษาญี่ปุ่น มีการโทรกลับไปถามเพื่อนที่นู่นบ้างแต่ก็คุยกันลำบากนิดนึง ที่สุดแล้วก็ไม่เกินฝีมือช่างไทยครับ เราทำจนวิ่งได้ หลังจากทดลองวิ่งจนมั่นใจว่าใช้งานได้ ผมก็ระดมทีมช่างฝีมือจากโรงงานมักกะสัน เริ่มตั้งแต่โครงรถ ปะผุ ลอกสี ทำใหม่ทุกส่วน หลายคนอินกับโปรเจกต์นี้มาก จนกลายเป็นความบ้าเล็ก ๆ ที่เราร่วมกันเชื่อ
ที่ชัดเจนที่สุด ผมเห็นเลยว่า ช่างฝีมือไทยเก่งมาก เก่งจนไม่น้อยหน้าใคร แค่ยังไม่มีใครให้โอกาสแสดงฝีมือ

“ผมพยายามเก็บความเป็นญี่ปุ่นของรถเอาไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสกลิ่นอายแบบต้นฉบับ” และกลายมาเป็น “รถไฟท่องเที่ยวไทย” อย่างเต็มรูปแบบที่ภูมิใจครับ
ขบวนรถแห่งคำถามและความรัก
ตั้งแต่ Kiha 183 ถูกส่งกลับมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง เสียงวิจารณ์ก็ตามมา “จะเอาขยะญี่ปุ่นมาทำไม”
“รถเก่าแบบนี้จะวิ่งได้เหรอ”
มันคือคำถามที่เจ็บ แต่ก็เข้าใจได้ และกลายเป็นโจทย์ยากที่เขาต้องหาคำตอบ
“เราต้องทำให้มันวิ่งให้ได้” เขาบอกกับทีมเสมอ ไม่ใช่แค่เพราะคุณค่าของรถ แต่เพราะมันคือความรับผิดชอบที่เราต้องพิสูจน์

วันที่ 7 เมษายน 2565 คือวันแรกที่ Kiha 183 ขยับได้อีกครั้ง แม้จะยังไม่สมบูรณ์ ตัวรถเราใช้แค่กระดาษแปะชื่อขบวนแบบง่าย ๆ แต่เสียงเครื่องยนต์ที่ดังคำรามขึ้นบนราง มันเหมือนปลุกชีวิตของรถทั้งขบวนให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
วันนั้น มีช่างภาพยืนรออยู่เต็มสองข้างทาง หลายคนมาด้วยใจ อยากเห็นกับตาว่า “รถไฟขบวนนี้จะวิ่งได้จริงไหม”

และนั่นแหละ…คือจุดเริ่มต้นของ “กำลังใจ” กำลังใจที่เชื่อว่า รถไฟเก่าคันหนึ่งจะกลับมามีชีวิต
และกล้าพอจะพิสูจน์ทุกคำครหา ว่าถ้าทำด้วยมือที่เชื่อ และหัวใจที่ไม่ยอมแพ้…เราทำได้

จิตวิญญาณแห่งมักกะสัน
การบูรณะ Kiha 183 ไม่ได้ใช้แค่เครื่องมือ แต่เราใช้ “หัวใจ” มากกว่า “ผมบอกน้อง ๆ ว่า เราไม่ได้แค่ซ่อมรถไฟ แต่เรากำลังใส่ ‘จิตวิญญาณของมักกะสัน’ ลงไปในงานนี้”

จากซากรถที่ผุพัง ช่างไทยลอกสี ปะผุ และตกแต่งใหม่ทุกตารางนิ้ว โดยพยายามเก็บกลิ่นอายญี่ปุ่นไว้ให้มากที่สุด แม้แต่ “headmark” ป้ายหน้าขบวนที่แสดงจุดหมายปลายทาง ที่ทั้งผุ ทั้งหาอะไหล่ไม่ได้
ต้องบินกลับไปญี่ปุ่นเพื่อดูของจริง แล้วค่อยกลับมาสร้างขึ้นใหม่จนใช้งานได้จริง
จนวันหนึ่ง…ฝ่ายญี่ปุ่นเห็น พวกเขาขอสัญลักษณ์ “กรุงเทพฯ” ที่เขียนด้วยภาษาญี่ปุ่น ไปเป็นโลโก้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“เรื่องนี้ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง แต่มันคือความภูมิใจเล็ก ๆ ที่อยู่ในใจเรามาตลอด”


รถไฟกับเมือง วิถีแห่งการเติบโต
เขาไม่ได้คิดแค่ให้รถไฟวิ่งได้ แต่คิดถึงสิ่งที่ตามมา เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นทำ “JR คิวชู เคยขาดทุน แต่ฟื้นขึ้นมาได้ด้วยการพัฒนาเมืองรอบสถานี สร้างร้านค้า โรงแรม คอนโด แล้วทำให้สถานีรถไฟเป็นศูนย์กลางของชีวิต”
ถ้าแนวคิดนี้ถูกปรับใช้ในไทย ในที่ที่มีธรรมชาติสวยงามไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะวิวข้างทางที่รถไฟเท่านั้นเข้าถึงได้ มันจะกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และทำให้ทุกการเดินทาง…มีเป้าหมายที่น่ารอคอย
“คุณลองคิดดูสิถ้าคุณใช้บริการขบวนรถไฟท่องเที่ยว ไปที่ไหนสักแห่ง แล้วคุณมีแผนที่สวย ๆ หรือแผ่นพับประชาสัมพันธ์ บอกถึงที่ที่ไปนั้นมีอะไรรออยู่ แนะนำที่กิน ที่พัก เดินเลี้ยวซ้ายเจออะไร เลี้ยวขวาเห็นอะไร มันทำให้ชุมชนนั้นๆที่รถไฟผ่านมันคึกคัก มันมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งอันนี้ผมว่าน่าสนใจมากถ้ามันเกิดขึ้นได้จริง โดยเริ่มต้นที่รถไฟของเรา”


Kiha 183 รถไฟที่ใคร ๆ ก็หลงรัก
“Kiha 183 ไม่ใช่แค่รถไฟ แต่มันคือขบวนที่พาคนกลับมาหลงรักการเดินทางอีกครั้ง” ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นชีวิตโรงงานมักกะสัน การจุดประกายท่องเที่ยวทางราง หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น Kiha 183 กำลังแสดงให้เห็นว่า การเดินทางไม่ใช่แค่จุดหมาย แต่มันคือประสบการณ์ในทุกระยะของราง ใครจะคิดว่า “ความบ้าพลัง” ของวิศวกรคนหนึ่ง ที่ครั้งหนึ่งไม่มีทางเลือกในชีวิต จะกลายเป็นพลังที่ปลุกให้รถไฟไทยกลับมามีชีวิต Kiha 183 อาจเริ่มต้นจากรถปลดระวางของญี่ปุ่น แต่มันได้กลายเป็น “ขบวนรถไฟหัวใจไทย” ที่วิ่งไปข้างหน้าด้วยจิตวิญญาณของมักกะสัน และแรงศรัทธาว่า…รถไฟไทย ไปได้ไกลกว่าที่คิด
EXPLORER: อดิศร สิงหกาญจน์
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ส.แสงพลบ
