คุยกับ เกมกิ – ธรรมยุทธ์ วัฒนวงศ์วรรณ วิศวกรหนุ่มที่ผันตัวมาเป็นช่างภาพใต้น้ำ และกลายเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าร่วมทีมโปรดักชั่นระดับนานาชาติอย่าง Behind the Mask ออกเดินทางไปตามทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในอเมริกา เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เพื่อถ่ายทำสารคดีใต้ท้องทะเลลึกอันน่าหลงใหล
ตลอดช่วงเวลา 2 ปีในฐานะ ‘Cameraman’ แห่ง Behind the Mask และ 12 ปี กับบทบาท ‘นักดำน้ำ’ เกมกิ ธรรมยุทธ์ มีคติประจำตัวว่า “จะเป็น Brand Ambassador ของทะเล เป็นตัวแทนการเอาเรื่องราวจากทะเลที่ได้ไปดำน้ำ ได้ไปถ่ายรูป กลับมาเล่าให้ทุกคนฟัง” ซึ่งเป้าหมายของเขาจึงไม่ใช่เพียงการดำน้ำ หรือการถ่ายภาพ แต่หมายรวมไปถึงการเป็นนักอนุรักษ์ ที่เริ่มต้นการหยุดทำร้ายธรรมชาติจากตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก
“ย้อนไป 12 ปีก่อน ตอนนั้นผมเรียนมหาวิทยาลัย ปี 2 ผมรักทะเลมาตั้งแต่เด็ก ๆ ได้ไปดำน้ำแบบใส่ Snorkeling ธรรมดา ๆ นี่แหละที่ตรัง แล้วเกิดชอบมาก เลยกลับมาเรียนดำน้ำ หลังจากนั้นก็พยายามทำทุกวิถีทางให้ตัวเองได้ใกล้ชิดกับทะเลมากที่สุด ไปเป็น Divemaster ได้เรียนรู้ ได้อยู่ในวงการดำน้ำมากขึ้น แล้วจึงเริ่มถ่ายรูปเก็บไว้เป็นของตัวเอง”
“จนถึงวันที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เราเริ่มขายภาพได้ ผมเลือกที่จะขายให้คนทำหนังสือ มันก็เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจ เพราะกลายเป็นว่าเรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น ๆ ที่จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับทะเลได้มากขึ้น แต่พอยุคสมัยที่ออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผมเลยผันตัวจากการถ่ายรูปมาเป็นโปรดักชั่น มาเอาดีทางด้านวิดีโอแทน ผมไม่ได้จบสายที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพมาเลย ผมเป็นวิศวกร แต่ชีวิตนี้ให้กับทะเล ให้กับการถ่ายวิดีโอไปแล้ว”
“จากการไปเที่ยวแล้วถ่ายงานเก็บไว้ พอโพสต์ลงเฟสบุ๊กส่วนตัวแล้วไปสะดุดตาทีมใหญ่ระดับโลก ชื่อว่า Behind the Mask เขาจึงอยากให้ผมร่วมทีมด้วย สุดท้ายก็ได้รับคัดเลือกเป็นคนไทยคนแรก จริง ๆ ถือเป็นเอเชียคนแรก ๆ เลยด้วยซ้ำที่ได้เป็น Cameraman ในทีมนี้ ผมได้ไปฝึกงานกับที่ปาปัวนิวกินี ที่เยอรมนี และอีกหลาย ๆ ที่ หลังจากนั้นก็เริ่มเดินทางไปถ่ายงานทั่วโลก ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่พิเศษ ๆ ก็มีที่แอฟริกาใต้ และอเมริกา”
“จากปกติที่ทำโปรดักชั่นคนเดียวเกือบจะทุกอย่าง จนวันหนึ่งได้โอกาสไปฝึกงานกับ Behind the Mask ความรู้สึกเราแตกต่างออกไปเลย ที่นี่มีอุปกรณ์พร้อม ทุกอย่างมีระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอน แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือความน่ารักของทีม เราอยู่กันแบบครอบครัว ทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทุกคนสามารถเสนอในกลุ่มก้อนตรงกลาง แล้วช่วยกันคัดสรรว่าเราจะทำวิดีโอเรื่องไหน และทำอย่างไรให้มันดีที่สุด”
“ที่นี่ผมได้ปล่อยพลัง คิดงานสร้างสรรค์ได้เยอะมาก ๆ ไม่ต้องโดนกดดันอะไรเลย เป็นตัวของเราเอง ผมว่าสิ่งนี้พิเศษมาก ๆ จริง ๆ อีกอย่างคือเราจะมีความสามารถพิเศษในการถ่ายวิดีโอแบบ Macro สิ่งหนึ่งที่ชอบมากคือการถ่ายวิดีโอสัตว์เล็ก ๆ ในทะเล เหมือนเรามีพรสวรรค์อะไรสักอย่างหนึ่งก็ไม่รู้ สามารถทำให้สัตว์ยอมอยู่กับเราได้นานกว่าปกติ ซึ่งผมว่ามันค่อนข้างยากที่เราจะได้ภาพเหล่านี้มา”
“ความยากของทะเล คือเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย สมมติว่าเราวางแผนไปที่ใดที่หนึ่ง 15 วัน 15 วันนั้นอาจจะไม่ได้งานก็ได้ มันขึ้นอยู่กับทะเล แล้วก็มีเรื่องความอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเรื่องข้อจำกัดต่าง ๆ การทำงานใต้น้ำยากจริง ๆ ด้วยโอกาส เรื่องการไปเฝ้ารอ ระยะเวลาในการเฝ้ารอ ถามว่าบนบกยากไหม ก็ยากเหมือนกัน ทุกอย่างยากหมด แต่เป็นแขนงที่แตกต่างกันออกไป”
“ทะเลในปัจจุบันมันก็มีทั้งข้อดี และมีทั้งข้อเสียในความคิดของผม ธรรมชาติดีขึ้นได้ช้ามากด้วยหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยการท่องเที่ยวที่ไม่ได้ควบคุม เราพูดถึงภาพรวมเลยนะ ไม่ได้เจาะจงว่าที่ไหน หรือปัญหาโลกร้อนก็สำคัญมาก ปะการังจากเมื่อก่อนที่อยู่น้ำตื้น 10-12 เมตร กลายเป็นโตที่ 24-25 เมตรแทน เนื่องจากน้ำร้อนขึ้น สัตว์ใหญ่สมัยก่อนมีจำนวนมาก ตอนนี้ก็ลดน้อยลง อย่าง Sardine Run สมัยก่อน เขาไปกันทุกปีก็เจอกันบ่อย จากที่ผมเพิ่งไปมาเมื่อ 2 ปีก่อน ก็เริ่มน้อยลง ๆ”
“ผมเข้าใจว่าการที่ประชากรเพิ่มขึ้น ธรรมชาติก็ถูกแทรกแซงมากขึ้นมันเป็นเรื่องปกติ แล้วก็ห้ามไม่ได้จริง ๆ แต่เราทำได้อย่างหนึ่งในฐานะนักดำน้ำ คือช่วยชะลอในส่วนของเรา ทำสิ่งที่ถูกต้องที่สุด เล่าเรื่องทะเล อะไรที่เรารู้สึกว่าลดได้ เราก็ลด ลดใช้พลาสติก ลดใช้กันแดด ผมว่าผมเป็นคนเดียวที่ไม่เคยใช้ครีมกันแดดในทะเลเลย”
“ผมคิดว่าเราบอกคนอื่นก็ได้แค่บอก เราเริ่มต้นจากตัวเราเองดีกว่า ตอนนี้เราพูดไปแล้วมีคนได้ฟัง วันหนึ่งเขาก็อาจจะคิดได้แบบเราแล้วทำแบบเราก็ได้ พอทุก ๆ คนทำ มันก็จะลดน้อยลง แต่เราไม่สามารถไปบอกว่า เธอ หยุดใช้ครีมกันแดดเดี๋ยวนี้ เธอ หยุดใช้พลาสติกแบบนี้นะ ผมว่าการบังคับมันยากมาก แต่ถ้าทำให้เขารัก ทำให้เขาเห็นว่าทะเลมันสวยงาม ทะเลมันเป็นมรดกของพวกเรา เขาก็จะรัก”
ในวันที่ บ้านและสวน Explorers Club ชวนเกมกิมาร่วมทริปดำน้ำด้วยกันที่เกาะแสมสาร เขามาพร้อมนาฬิกา Seiko Prospex Save The Ocean เจเนอเรชั่นที่ 3 ที่ได้นำเอาแรงบันดาลใจมาจาก “ฉลามขาว (Great White Shark)” หรือนักล่าแห่งท้องทะเล โดยฉลามขาวนี้อยู่ในรายชื่อสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธ์ที่ถูกคุกคามโดยมนุษย์ ในลิสต์รายชื่อขององค์กร International Union for Conservation of Nature (IUCN) หรือ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ
โดย Seiko เองก็มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จึงได้มอบรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนาฬิกา Save The Ocean ให้กับศูนย์วิจัยและเรียนรู้ทางทะเล ที่ทำการศึกษาหนทางฟื้นฟูและปกป้องมหาสมุทร จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และจากการกระทำของมนุษย์
SEIKO Save the Ocean เจเนอเรชั่นที่ 3 นี้โดดเด่นด้วยขอบตัวเรือนที่ผลิตจากสเตนเลสสตีลแบบเซาะร่อง เคลือบสีเทาตัดกับน้ำเงิน หน้าปัดลวดลายคลื่นทะเล พร้อมซ่อนครีบฉลามเอาไว้บนลวดลาย ตัวเรือนทรงเต่าตามเอกลักษณ์เฉพาะของ Seiko ตัวเครื่องระบบอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 4R36 มีฟังก์ชั่นบอกวันและวันที่ ฝาหลังประทับคำว่า Special Edition รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook: https://www.facebook.com/SeikoThailandOfficial
และเว็บไซต์ https://www.seikowatches.com/th-th
การคุยกับเกมกิ เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่บ้านและสวน Explorers Club และ Seiko Thailand ชักชวนนักดำน้ำทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ของเมืองไทย 10 ชีวิต มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการสำรวจท้องทะเลลึกในอีกมุมมอง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก และชวนชาว Explorers ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเล็ก ๆ ไป Save The Ocean พร้อมกับพวกเขาอีกแรง ในการปกป้องรักษาแนวปะการังใต้ผืนทะเลให้ยังคงงดงามและน่าค้นหาต่อไปหลังจากนี้
พบกับบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของนักท่องโลกใต้น้ำทั้ง 10 คน ได้ทุกสัปดาห์ทาง Facebook: บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand
[ EXPLORER ]
เกมกิ
ภาพถ่ายเกมกิ: จูน
ชวนคุย: มิ้ง
เรียบเรียง: เฟี้ยต