Type and press Enter.

อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ ในบทบาทนักเล่าเรื่องผ่านเลนส์

ณภัทร เวชชศาสตร์

เราได้พบและพูดคุยกับ ต้าร์ – ณภัทร เวชชศาสตร์ ในทริปที่ SEIKO ชวนไปดำน้ำเกาะแสมสาร ล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนที่เขาจะเดินทางไปเป็นหนึ่งในทีมปฏิบัติภารกิจกู้ซากอวนยักษ์คลุมแนวปะการังที่เกาะโลซิน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ต้าร์ – ณภัทร เวชชศาสตร์ เป็นอดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญเงิน ฟรีสไตล์ 50 เมตรชาย ในซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2558 จากฉลามหนุ่มที่มุ่งหมายแตะขอบสระเป็นคนแรกเพื่อชาติ ต้าร์กระโจนลงสู่ผืนทะเลกว้างใหญ่และเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นการทำเพื่อโลกบ้าง

ณภัทร เวชชศาสตร์

“ผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สนใจการถ่ายภาพใต้น้ำ ยิ่งพอมีประเด็นเรื่องพะยูนมาเกี่ยวด้วย เลยตัดสินใจเรียนดำน้ำ เพราะอยากต่อยอดไปทำสายอาชีพช่างภาพใต้น้ำ” เขาบอกเหตุผล

ต้าร์เริ่มเข้าสู่วงการดำน้ำเต็มตัวสมัยยังเป็นนิสิตชั้นปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ เอกภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความสนใจเรื่องพะยูนที่ทำให้เขาเลือกเป็นหัวข้อ Thesis ของตัวเอง แล้วทุ่มเวลาตามบันทึกชีวิตพะยูนนานเป็นสัปดาห์ บนเกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งจุดเริ่มต้นความสนใจในวันนั้นเอง ทำให้เขาก้าวมาเป็นช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์อย่างเต็มตัวในวันนี้

ณภัทร เวชชศาสตร์

“ตอนเริ่มประเด็นเรื่องพะยูน ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศไทยมีพะยูน แค่รู้สึกว่าอยากเอาสกิลที่ตัวเองรักในเรื่องการอยู่ในน้ำมาผูกพันกับประเด็นที่ตัวเองเคยสนใจตอนเด็ก ก็เลยรับมาทำโดยที่ตัวเองไม่ได้มีความรู้” ต้าร์ เล่าย้อนไปถึงการตัดสินใจเลือกหัวข้อ Thesis อันเป็นจุดเริ่มต้นของการดำน้ำอย่างจริงจังสมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ ปีสุดท้าย

“ตอนนั้นผมยังไม่แน่ใจเลยว่าจะถ่ายรูปเชิงสารคดีออกมาอย่างไร แค่รู้สึกว่ามันท้าทายและเป็นช่วงเวลาที่เริ่มดำน้ำเป็นพอดี ผมจึงนำเงินที่เก็บมาตั้งแต่ปี 1 ทุ่มไปกับการทำ Thesis หมดเลย ไปอยู่ที่เกาะลิบงเป็นอาทิตย์ ใช้ชีวิตอยู่กับชุมชนเพื่อหวังว่าจะถ่ายรูปพะยูนใต้น้ำให้ได้”

ณภัทร เวชชศาสตร์

“ที่นั่นผมพบว่ามันน่าสนใจดีที่ได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับคนในหมู่บ้านที่เขาอยู่กับทะเลตั้งแต่เกิด ได้ฟังเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลที่เขาเจอมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยิ่งพอมีเวลาทำ Research มันเหมือนได้เอาตัวเองออกมาจาก Comfort zone ไปเจอผู้คนที่เขาทำงานด้านอนุรักษ์จริง ๆ ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แบบที่เราคิด มันไม่ได้ขาวใสแบบ Positive แต่มันมี Conflict ในการทำงานที่ยากลำบากจนมันให้ Inspire ตัวเรามาก ๆ”

“ตอนทำ Thesis ผมมีโอกาสรู้จักกับพี่ชิน (ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดี) ที่เป็นเมนเทอร์ให้ผมตั้งแต่ตอนนั้น ผมเลยได้ตามพี่ชินไปทำประเด็นเรื่อง MPA (Marine Protected Area / พื้นที่คุ้มครองทางทะเล) หลาย ๆ ที่ แล้วมันก็ค่อย ๆ Inspire ค่อย ๆ ซึมซับมาจนเราก็รู้สึกว่าอยากมาสายนี้อย่างจริงจัง อยากนำเสนอเรื่องราวของคนกับทะเล แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองก็ยังมีอะไรต้องพัฒนาอีก”

ณภัทร เวชชศาสตร์

“เรียกได้ว่าเหมือนไปเข้าค่ายสารคดี ได้เป็นสนามให้ตัวเองฝึก ได้มาเริ่มทำเรื่องราวอุตสาหกรรมทางทะเล ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ได้เข้าไปอยู่กับชาวประมงมากขึ้น ได้ดำน้ำมากขึ้น ได้เห็นผลกระทบของการทำประมงจาก Ghost gear ประกอบกับอยากพัฒนาสกิลตัวเองให้มากขึ้นอีก ก็เลยไปเรียนต่อที่อเมริกา”

“ผมยังคงทำประเด็นเรื่องนี้เวลามี Assignment หรือว่าต้องทำ Long term project ก็ยังทำประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่ ไม่ใช่แค่ทะเล แต่เริ่ม Expand ไปเรื่องสัตว์ที่อยู่บนบกด้วย แต่หลัก ๆ ก็ยัง Collaborate กับ Marine Rescue Center อยู่ที่นิวยอร์ก แล้วพอกลับมาก็ต่อยอดต่อไปเรื่อย ๆ” ต้าร์แอบบอกถึงเหตุผล ที่กลับจากอเมริกาหลังจากไปเรียนและฝึกงานอยู่ช่วงหนึ่งเพราะหนีโควิด แต่ถึงต่อให้ไม่มีโควิด เขาก็อยากกลับมานำเสนอประเด็นโลกใต้น้ำในประเทศไทยมากกว่าอยู่อเมริกาต่ออยู่ดี

ณภัทร เวชชศาสตร์

“ก่อนหน้านี้ผมเป็นนักข่าวทั่วไป ถ่ายเหตุการณ์โควิด ถ่ายเหตุการณ์ประท้วง แต่ก็มีช่วงที่โควิดรอบแรกมันเริ่มซา ก็ทำ Road trip เดินทางไปตามภาคใต้ ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในทะเล แล้วก็มาเริ่มทำงานกับพี่สิงห์ (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) ทำงานกับ Environmental Justice Foundation (EJF) แล้วก็เพิ่งออกมาเป็นช่างภาพอิสระตอนนี้”

“นอกจากรับ Assignment จากองค์กรต่าง ๆ ตอนนี้ผมกำลังเรียนต่อปริญญาโทด้าน Environmental Social Science สาขาวิชาสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ผมสนใจอยากจะนำการเรียนปริญญาโทของตัวเองมารวมเข้ากับเรื่องการถ่ายภาพใต้น้ำ โฟกัสที่ Film maker มากกว่า Conservation นำเสนอเรื่องของทะเลกับชุมชน วิธีการจับปลาของคนที่เขาใช้ชีวิตโดยฝากท้องไว้กับทะเล มันเป็นสิ่งที่ตัวผมเองอยากจะ Explore”

ณภัทร เวชชศาสตร์

“เพราะจากการที่ได้เดินทางไปตามพื้นที่ต่าง ๆ วัฒนธรรมของชาวประมงมันมีความน่าสนใจ เช่น ตอนเดินทางไปปัตตานี มันมีวิธีที่เขาเรียกว่า ‘ดูหลำ’ หรือการใช้หูในการจับปลา มันเจ๋งดีนะ เราไม่เคยได้ยิน ซึ่งวิธีนี้ที่เขาบอกมันก็มีที่พัทลุง กับที่ปัตตานี แล้วคนที่ทำก็มีไม่กี่คน เลยอยากจะลอง Explore ลอง Research ดูว่าในพื้นที่ที่อยู่ติดทะเล มีวิธีอะไรบ้างที่เขาใช้ในการจับปลา เป็นวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ ผมคิดว่ามันต้องเป็นสตอรีที่น่าสนใจ”

ต้าร์เป็นอีกหนึ่งนักดำน้ำรุ่นใหม่ที่พยายามนำเสนอมุมมองใต้ทะเลในเชิงสารดคี เพื่อให้คนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาสำคัญของโลก เช่นเดียวกับ Seiko ได้ร่วมมือกับ PADI (Professional Association of Diving Instructors) สมาคมการดำน้ำเพื่อการสันทนาการ และมูลนิธิ PADI AWARE Foundation ในโครงการ Marine Debris Program เพื่อกำจัดขยะทะเล (marine debris*) อีกด้วย

ณภัทร เวชชศาสตร์

หัวใจสำคัญของโปรแกรม Marine Debris Program ของมูลนิธิ PADI AWARE Foundation คือการเคลื่อนไหวด้านวิทยาศาสตร์ และความคิดริเริ่มในการทำความสะอาดท้องทะเลที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลก หรือที่เรียกกันว่า Dive Against Debris® ซึ่งมีนักดำน้ำมากกว่า 70,000 คน ได้ร่วมกันการสร้างฐานข้อมูลใต้น้ำเกี่ยวกับเศษซากขยะที่อยู่ใต้ทะเลของโลกที่ครอบคลุมมากที่สุด โดยมีการแบ่งปันข้อมูลกันอย่างจริงจังกับองค์กรพัฒนาเอกชน รัฐบาล และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำงานเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการขยะในระยะยาว

Seiko ได้ตั้งจะสนับสนุนงานของชุมชนนักดำน้ำของ PADI ทั่วโลก เพื่อทำความสะอาดและป้องกันเศษซากขยะในทะเล และทำให้โลกของมหาสมุทรสะอาดและมีสุขภาพดีขึ้น โดยมีความคิดริเริ่มในการดำเนินการตามเป้าหมาย Sustainable Development Goal 14 เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง

ต้าร์ใส่นาฬิกา SEIKO PROSPEX PADI Special Edition SRPG21K ที่ SEIKO ร่วมมือกับ PADI หน้าปัดโดดเด่นด้วยลวดลายรูปโลกเหมือนพื้นหลังของโลโก้ PADI ในขณะที่ตัวเรือนเป็นทรงซามูไรตามเอกลักษณ์ของ SEIKO ขอบตัวเรือนเป็นวัสดุเซรามิก และฝาหลังประทับค้าว่า Special Edition

ส่วนตัวเครื่องเป็นระบบอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 4R35 ที่มีฟังก์ชันบอกวัน เดือน ปี มีกระจกแซฟไฟร์ช่วยป้องกันรอยขีดข่วน สามารถดำน้ำลึกได้ถึง 200 เมตร จึงใส่ด้าน้้าได้ทั้งแบบ Free dive และแบบ Scuba อีกทั้งยังเหมาะเมื่อแมทช์กับเสื้อผ้าลุคปกติที่ใช้ในชีวิตประจ้าวันได้เช่นกัน รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook: Seiko club by Seiko Thailand หรือเว็บไซต์ https://www.seikowatches.com/th-th

ณภัทร เวชชศาสตร์

การคุยกับต้าร์เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ บ้านและสวน Explorers Club และ Seiko Thailand ชักชวนนักดำน้ำทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ของเมืองไทย 10 ชีวิต มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการสำรวจท้องทะเลลึกในอีกมุมมอง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก และชวนชาว Explorers ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเล็ก ๆ ไปพร้อมกับพวกเขาอีกแรง ในการปกป้องรักษาแนวปะการังใต้ผืนทะเลให้ยังคงงดงามและน่าค้นหาต่อไปหลังจากนี้

พบกับชุดภาพถ่ายและบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของนักท่องโลกใต้น้ำทั้ง 10 คน ได้ทาง Facebook: บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand ตลอด 10 สัปดาห์ต่อเนื่องนับจากนี้

[ EXPLORER ]
ต้าร์

ชวนคุย: มิ้ง
เรียบเรียง: เฟี้ยต
ภาพถ่ายต้าร์: จูน
ภาพถ่ายใต้ทะเล: ต้าร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *