นี่คือบรรยากาศจากทริป พายคายัคเที่ยวชุมชนเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อย ที่มากด้วยเรื่องราวนับตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เริ่มจาก Amarin Head Office ไปเทียบท่าที่วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร แล้วเดินตามอาจารย์นัท จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา นำบรรยายไปชมจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถแสนงดงามของวัดสุวรรณ ย่ำเท้าไปบันทึกภาพตลาดไร้คานอายุกว่าร้อยปี พ่วงด้วยชมโรงงานขันลงหิน งานฝีมือประจำชุมชนบ้านบุที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นับแต่เข้ามาตั้งรกรากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากนั้นเดินไปชมหัวรถจักรไอน้ำ ประวัติศาสตร์แห่งการเดินทางของการรถไฟไทย ที่โรงรถจักรธนบุรี ก่อนปิดท้ายด้วยการนั่งเรือไฟฟ้าล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปชมพระอาทิตย์ตก ที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ส่องเพชรน้ำงาม
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ
วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
จุดหมายแรกที่เรือของพวกเราจอดเทียบท่า คือท่าน้ำวัดสุวรรณ จากนั้นอาจารย์นัท จุลภัสสร นำพวกเราไปชมจิตรกรรมฝาผนังจากยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำงามทางศิลปกรรม
วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโทที่ชาวบ้านบุเรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘วัดสุวรรณาราม’ บ้างก็เรียกสั้นไปอีกว่า ‘วัดสุวรรณ’ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชทานให้แทนนามเดิมที่ชื่อว่า ‘วัดทอง’ ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก ช่วงท้ายซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 เขตบางกอกน้อย ที่รถยนต์ยังสามารถวิ่งเข้าถึงได้ ก่อนต้องเดินเท้าเข้าชุมชนบ้านบุที่ตั้งอยู่ถัดเข้าไปด้านใน
จุดเด่นของพระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม คือระเบียงที่มีทั้งสองด้าน คือด้านหน้าและด้านหลัง พระอุโบสถโดดเด่นด้วยเสาทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองตามแบบแผนศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 ช่อฟ้าและใบระกาประดับด้วยกระจก ส่วนหน้าบันสลักลายรูปเทพนมและนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระศาสดา พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
สำหรับจิตรกรรมฝาผนังภาพพุทธประวัติ และภาพทศชาติ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำงามทางศิลปกรรมนั้น เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณาราม เป็นฝีมือการเขียนของสองจิตรกรเอกแห่งยุคสมัยนั้น คือ หลวงวิจิตรเจษฎา (ทองอยู่) และหลวงเสนีบริรักษ์ (คงแป๊ะ) เรียกว่าเป็นการประชันฝีไม้ลายมือกันของผู้เขียนเนมิราชชาดก กับผู้เขียนมโหสถชาดก รวมถึงจิตรกรมือฉมังในยุคนั้นอีกหลายชีวิตตามข้อสันนิษฐาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่สามารถระบุรายนามได้แน่ชัดว่ามีใครบ้าง
ตลาดไร้คาน
อาคารเปี่ยมประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ
ในวันที่พ่อค้าแม่ค้าเลิกขาย
ตลาดไร้คาน หรือ ตลาดวัดทอง นับเป็นตลาดค้าขายสินค้าอายุร้อยกว่าปีที่มีสำคัญอย่างยิ่งในฝั่งธนบุรี เมื่อครั้งกรุงเทพฯยังใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก
ทว่าปัจจุบันชาวชุมชนบ้านบุ มีทางเลือกในการไปจ่ายตลาดมากขึ้นทั้งที่ตลาดสถานีรถไฟธนบุรี หรือ ตลาดศาลาน้ำร้อน เดิม รวมถึงตลาดบางขุนนนท์ที่อยู่ติดถนนใหญ่ ประกอบกับเมื่อสำนักงานเขตบางกอกน้อย (เดิม) ย้ายออกไปด้วย ตลาดไร้คานในปัจจุบันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปิดตัวลงและไม่มีการค้าขายเหมือนเช่นในอดีต แต่เรายังสามารถเห็นเสน่ห์ของตลาดไร้คาน ชื่อที่มีที่มาจากเอกลักษณ์ทางโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ยังไม่เลือนหาย และวิถีชีวิตของชาวบ้านบุได้อยู่
ชมขันลงหิน
ความละเมียดละไมของงานฝีมือ
แห่งชุมชนบ้านบุ
บ้านบุ คือแหล่งทำขันลงหินแห่งเดียวในประเทศไทย โดยต้นตระกูลอพยพหนีกรุงศรีอยุธยา มาตั้งรกรากที่บางลำพูเป็นที่แรก ก่อนย้ายมายังบ้านบุจนถึงปัจจุบัน
งานขันลงหิน เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนั้นนิยมใช้ในหมู่ข้าราชการหรือขุนนางมากกว่าในหมู่ราษฎร มักใช้เป็นขันน้ำมนต์ ใช้ตักน้ำดื่ม หรือใช้ในพิธีมงคลต่าง ๆ การทำขันลงหินในสมัยโบราณจะใช้ทองม้าล่อจากเมืองจีน ปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตขันลงหินจะประกอบด้วย ทองแดง ดีบุก และสำริดเท่านั้น
ซึ่งกว่าจะมาเป็นขันลงหินที่สวยวิจิตรได้อย่างที่เห็นนั้น ข้อมูลจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ระบุว่าต้องใช้ช่างฝีมือถึง 6 ช่างใน 6 กระบวนการ ประกอบด้วย
‘ช่างตี’ ผู้รับหน้าที่นี้ต้องมีประสบการณ์บวกกับทักษะในการผสมโลหะและการตีโลหะอย่างช่ำชอง ช่างตีจึงนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการขึ้นรูปขันลงหินก็ว่าได้
ต่อมาคือ ‘ช่างลาย’ ความยากของผู้รับหน้าที่ตีขัน คือการวางขันกับกระล่อน หรือแท่งเหล็กสำหรับรองพื้น แล้วค่อย ๆ หมุนและตีให้มีเนื้อผิวสม่ำเสมอทั้งขัน
ส่วนขั้นตอนต่อไปคือ ‘ช่างกลึง’ ผู้ทำหน้าที่กลึงผิวและขัดสีขันให้เรียบสม่ำเสมอกันด้วยภมร หรือเครื่องกรึง จากนั้น ‘ช่างกรอ’ จะเป็นผู้รับหน้าที่ตะไบปากขันให้มีความเรียบสม่ำเสมอ ก่อนส่งต่อ ‘ช่างเจียร’ ผู้ทำหน้าที่ปิดรอยตำหนิที่เกิดจากกระบวนการก่อนหน้า และสุดท้ายคือ ‘ช่างขัด’ ผู้ทำหน้าที่เพิ่มความเงางามของขันลงหินให้สมบูรณ์
เยี่ยมโรงรถจักรธนบุรี
ชมเครื่องจักรแห่งประวัติศาสตร์การเดินทาง
ของการรถไฟไทย
โรงรถจักรธนบุรี หรือ โรงซ่อมรถไฟ สถานีรถไฟบางกอกน้อย (เดิม) สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2466 ก่อนได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันที่นี่คือศูนย์ซ่อมรถไฟ และสถานที่เก็บรักษาหัวรถจักรไอน้ำริมคลองบางกอกน้อย ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือ สถานีรถไฟหลวงบางกอกน้อย (เดิม)
หากมาที่นี่ต้องถ่ายรูปกับความงดงามของรถจักรไอน้ำ เครื่องจักรแห่งประวัติศาสตร์การเดินทาง ที่แม้การรถไฟแห่งประเทศไทย จะเลิกใช้งานอย่างถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยเปลี่ยนไปใช้รถจักรดีเซลแทนจนปัจจุบัน แต่ตัวรถจักรไอน้ำนี้เองก็ยังใช้งานจริงได้อยู่ โดยเฉพาะในโอกาสหรือวันสำคัญของประเทศ
ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของกิจกรรม ‘ลอยละล่อง ริมน้ำบางกอก’ (Kayak the Series) ที่พวกเรา บ้านและสวน Explorers Club ชักชวนช่างภาพจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย และทีม FeelFree ผู้สนับสนุนเรือคายัคของเราในทริปนี้ มาร่วมบันทึกภาพวิถีชีวิตสองฝั่งคลองบางกอกน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา วัดวาอาราม และชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งของงาน ‘Water Festival 2022’ หรือ ‘เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย’ ครั้งที่ 7 ซึ่งผ่านพ้นไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
แม้งานนี้จะจบลง แต่เส้นทางท่องเที่ยวนี้จะไม่จบไป ทุกคนสามารถพายเรือเที่ยวแบบเราได้ ชักชวนกันไปเป็นกลุ่มด้วยนะ รับรองว่าสนุกมาก
EXPLORERS: ทีมงานบ้านและสวน Explorers Club และพันธมิตร
PHOTOGRAPHERS: ฤทธิรงค์ จันทร์ทองสุข, อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม