บอย – เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์ หรือ ‘JKBoy’ อดีตวิศวกรชาวไทยที่ค้นพบว่าตัวเองชอบการถ่ายภาพ แล้วใช้เวลากว่า 10 ปีในการออกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเก็บภาพความประทับใจที่ไม่สามารถวัดคุณค่าได้ จนเกิดเป็นนิทรรศการภาพถ่ายบุคคล ‘PEOPLE AND THEIR WORLD’ และนิทรรศการภาพถ่ายทิวทัศน์ ‘CREATION OF THE WORLD’ จัดแสดงอยู่ที่ RIVER CITY BANGKOK ขณะนี้
บอยเรียนจบและทำงานอยู่ในสายงานวิศวกรรม จนกระทั่งความเบื่อหน่ายเริ่มมาเคาะประตูเรียกหา ประกอบกับความชอบในการถ่ายภาพ เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานแล้วมุ่งหน้าสู่การเป็นช่างภาพ บอยเล่าว่า “เมื่อผมตัดสินใจได้(ว่าจะเป็นช่างภาพ) ผมก็ลงใต้เพื่อไปทำตามความชอบนั้นทันที” และนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของช่างภาพที่ใช้นามปากกาว่า ‘JKBoy’ ในเวลาต่อมา
PEOPLE AND THEIR WORLD
เมื่อการพูดคุยทำความรู้จักตัวตนและความเป็นมาของ JKBoy จบลง เขาก็อาสาเป็นไกด์พาเดินชมและเล่าให้พวกเราฟังถึงเรื่องราวแห่งการเดินทางของเขาในนิทรรศการ PEOPLE AND THEIR WORLD ซึ่งเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานภาพถ่ายบุคคลของบอยตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ได้เดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก
จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้เกิดจากความชอบในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ที่ค่อย ๆ หายไป จากปัจจัยความโดดเดี่ยวในการเดินทาง เขาจึงตัดสินใจหันมาลองถ่ายภาพบุคคลโดยเริ่มต้นที่ชายแดนมองโกเลีย-คาซัคสถาน บอยเล่าว่าในอดีตสมัยที่เขายังเป็นเด็ก เขาเป็นคนที่ชื่นชอบตำนาน เรื่องเล่า และนิยายเป็นอย่างมาก การได้ไปเยือนมองโกเลียจึงให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า ภาพในหัวที่เขาจินตนาการตอนอ่านนิยายหรือเห็นในเรื่องเล่านั้นได้มาอยู่ตรงหน้า
“ผมเป็นคนชอบตำนาน เรื่องเล่า นิยาย แล้ววันหนึ่งเราได้มาเห็นภาพในหนังสือที่เคยอ่าน พวกเขามายืนอยู่ตรงหน้าเราตัวเป็น ๆ มันเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้ดีมากสำหรับการเดินทางต่อไป”
สำหรับนักอ่านแล้วการได้พบเจอตัวละครหรือสถานที่จริงจากที่เคยอ่านในหนังสือ นับว่าเป็นความฝันที่เติมเต็มวัยเด็กได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่สิ่งพิเศษยิ่งกว่าคือ ชนเผ่าคาซัค ชนเผ่าแรกที่เขาพาเราชมในนิทรรศการ ซึ่งเป็น Eagle hunter หรือชนเผ่าที่ฝึกให้นกอินทรีทองออกล่าเหยื่อ เพื่อนำกลับมาเป็นอาหาร ทุกวันนี้พวกเขาและบอยแทบจะเป็นครอบครัวเดียวกันไปแล้ว เพราะว่าตลอด 7 ปีที่เขาเดินทางถ่ายภาพ เขามักจะกลับไปที่มองโกเลียปีละครั้งเสมอ จนชาวคาซัคตั้งตารอการมาของบอย เพื่อที่พวกเขาจะได้เผยแพร่วัฒนธรรม วิถีชีวิต พร้อมกับบันทึกสิ่งที่สวยงามเหล่านั้นผ่านรูปภาพช่วยถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของพวกเขาได้
หลังจากเดิมชมนิทรรศการไปสักพัก เราเกิดข้อสงสัยและตั้งคำถามกับบอยว่า มีวิธีการจัดการภาพถ่ายในแต่ละภาพ และการถ่ายภาพในแต่ละวันอย่างไรบ้าง
“ผมมักจะใช้เวลาหลายวันในการหามุมที่สมบูรณ์แบบในการถ่ายภาพ โดยมีองค์ประกอบของทิวทัศน์และผู้คนในภาพ” บอย อธิบาย
“บางภาพผมต้องตื่นเช้าเพื่อที่จะไปถ่าย บางภาพผมต้องเคาะตามประตูบ้านเพื่อขอยืมสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น ม้า เพื่อให้รูปภาพออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด อุปกรณ์ที่ผมเตรียมไปมีไม่เยอะมาก เนื่องจากการเดินทางที่ลำบาก จึงต้องเตรียมอุปกรณ์ให้สะดวกในการเดินทางด้วย”
จะเห็นได้ว่าเขาต้องทำการบ้าน ศึกษาสถานที่เหล่านั้นล่วงหน้า รวมถึงทำความรู้จักและสร้างความคุ้นชินกับผู้คนเหล่านั้นในระหว่างการเดินทางไปถึงสถานที่จริงด้วย
ต่อจากมองโกเลีย บอยพาพวกเราไปชมโซนต่อไปของนิทรรศการคือ ชาวชาตัน ชนเผ่าที่อาศัยอยู่บริเวณชายขอบรัสเซียและมองโกเลีย บอยบอกว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องขออนุญาตในการเข้าไปในพื้นที่ก่อน เนื่องจากเป็นเขตที่อ่อนไหว อีกทั้งระยะเวลาของการเดินทางนั้นตลอดทริปจะใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน พักอาศัยท่ามกลางสภาพอากาศที่บางคืนติดลบถึง 40 องศา
บอยเล่าเรื่องการเดินทางในครั้งนี้ให้ฟังว่า “การเข้าไปยังที่อยู่ของชาวชาตัน หนึ่งในสิ่งที่ผมได้เตรียมไปด้วยคือวอดก้า เพราะนอกจากจะช่วยให้เข้าสังคมกับพวกเขาได้แล้ว ยังสามารถคลายอาการหนาวได้อีกด้วย! อีกสิ่งหนึ่งคือกล้องโพลารอยด์ เพราะว่าผมอยากจะถ่ายภาพพวกเขาและมอบให้แก่พวกเขาได้ทันที”
เขายังเล่าอีกว่าการเดินทางครั้งนี้มีอุปสรรคอย่างหนึ่งที่อันตรายต่อร่างกายคือ ‘ความหนาว’ ที่ทำให้หูของเขาได้รับบาดเจ็บไปด้วย แต่ในความโหดร้ายของสภาพอากาศก็ยังมีความสวยงามซ่อนอยู่ ชาวชาตันนั้นนับถือชาแมน หรือ หมอผี จึงมีการทำพิธีกรรมในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำเผ่าบนยอดเขา ความโชคดีของบอยที่ว่า คือชาวชาตันได้ร่วมกันทำพิธีให้เขาได้บันทึกภาพอย่างเต็มใจ เพราะด้วยรูปแบบของพิธีกรรมเป็นการเต้นรำ ซึ่งปกติชาวชาตันจะไม่เต้นพร่ำเพรื่อ แต่จะเต้นในวาระสำคัญจริง ๆ เท่านั้น ถือว่าเป็นความสวยงามที่ต้องแลกมาด้วยความลำบากในการเข้าถึงและการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ แต่ถึงกระนั้นบอยก็ไม่หยุดที่จะเดินทางทำตามความชอบต่อไป
หลังจากพาเราไปยังสถานที่แสนหนาวเหน็บสองแห่ง บอยก็พาเรากลับมาสู่ละแวกอาเซียนอย่างประเทศอินโดนีเซีย ที่ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีชนเผ่ามากมาย คำถามแรกของพวกเราเลยเมื่อเห็นภาพถ่ายของชนเผ่านี้คือ “พวกเขามีนิสัยใจคอแบบไหน และพวกเขาน่ากลัวหรือไม่” บอยยิ้มพร้อมตอบว่า “พวกเขาเป็นชนเผ่าที่น่ารักมาก”
ชนเผ่าที่ได้รับคำชมนี้คือ ชนเผ่าเมนตาไว เป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในป่าลึก มีเอกลักษณ์ภายนอกที่จดจำได้ง่ายคือ รอยสักจากยางไม้ บอยเล่าว่า ในอดีตรอยสักตรงแขนจะแสดงถึงชีวิตของศัตรูที่พวกเขาได้ฆ่าไป เพราะที่นั่นมีการต่อสู่ระหว่างเผ่าบ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันการต่อสู้ระหว่างชนเผ่านั้นลดน้อยลงไปมากแล้ว
แม้ในการเดินทางครั้งนี้จะใช้เวลา 10-14 วันเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าสองสถานที่ก่อนหน้า แต่บอยบอกว่าที่นี่กลับอันตรายกว่ามาก เขาเล่าให้ฟังแบบติดตลกว่า ขณะที่เขาเดินทางไปนั้นรอบข้างก็เต็มไปด้วยจระเข้ที่พร้อมจะเปลี่ยนนักเดินทางให้เป็นอาหารเลยทีเดียว
แต่สำหรับการใช้ชีวิตกับเผ่าเมนตาไวแล้ว บอยได้เล่าให้พวกเราเห็นภาพถึงความน่ารักของชนเผ่านี้ว่า “พวกเขามีวัฒนธรรมที่น่าหลงใหล พวกเขาให้เกียรติพวกผมอย่างมาก อย่างเรื่องอาหารการกินก็ให้พวกผมรับประทานก่อน ส่วนพวกผมก็ได้นำหมูกับยาสูบติดเข้าไปด้วย เพราะได้ทำการบ้านมาก่อนว่าพวกเขาชื่นชอบยาสูบอย่างมาก และไม่ค่อยมีโอกาสได้กินเนื้อสัตว์เนื่องจากหายาก อาหารจานหลักส่วนมากจะเป็นอาหารจากพืชมากกว่า”
อุปสรรคเล็ก ๆ ของทริปนี้ เดิมทีบอยได้ติดต่อคนท้องถิ่นในอินโดฯ ให้เป็นผู้พาเข้าไปยังหมู่บ้านในป่าลึก แต่ท้ายที่สุดแล้วชาวอินโดฯคนนั้นเองกลับไม่เข้าใจในภาษาของชาวเมนตาไวเช่นกัน อุปสรรคครั้งนั้นนอกจากการเดินทาง จึงยังมีเรื่องภาษาเข้ามาอีกด้วย แต่ท้ายที่สุด บอยก็ใช้ภาษามือในการเจรจาจนเกิดมาเป็นภาพถ่ายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนเผ่าเมนตาไว ที่นำมาจัดแสดงให้พวกเราได้รับชมกันขณะนี้ บอยแอบกระซิบว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พบกับเรื่องราวลี้ลับด้วย ถ้าใครอยากรู้คงต้องไปตามรับชมและพูดคุยกับบอยในนิทรรศการนี้แล้วล่ะ
โซนต่อมาเป็นดินแดนดึกดำบรรพ์ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่าง ‘เอธิโอเปีย’ เพราะที่นี่ขุดค้นพบคุณป้าลูซี่ กระดูกมนุษย์คนแรก ซึ่งเผ่าแรกที่บอยไปถึงคือ ชนเผ่าซูริ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่เข้าถึงได้ยากที่สุด การเดินทางเข้าไปถึงได้ต้องนั่งทั้งเครื่องบินเล็กและรถยนต์โดยใช้เวลากว่า 2 วัน
“กลุ่มผมถือว่าโชคดีแล้ว เพราะยางแตกไปแค่ 3 เส้นเอง!” บอยกล่าวเสริม
เอกลักษณ์ของซูริคือทรงผมที่จะประดับด้วยดอกไม้ และบนตัวของพวกเขายังอาบไปด้วยด้วยดินโคลน หรือแร่หิน ผสมน้ำ เพื่อป้องกันแมลงวันมาดูดเลือดอีกด้วย
บอยเล่าว่า วันหนึ่งในขณะที่เขากำลังถ่ายรูปอยู่ข้างล่าง ก็มีเด็ก ๆ จากเผ่าซูริจำหนวนหนึ่งปีนขึ้นไปบนต้นไม้เพื่อดูการทำงานของเขา เมื่อหันไปเห็นลักษณะของต้นไม้แล้ว บอยก็เกิดไอเดียการถ่ายภาพนี้ขึ้นมา โดยขอปรับการโพสต์ท่าของเด็ก ๆ ดังภาพด้านบนจนออกมาเป็นภาพที่สวยมากทีเดียว แต่ซีนที่บอยชอบที่สุดในเอธิโอเปียคือภาพต่อจากนี้
“เป็นความบังเอิญ ในขณะที่เรากำลังถ่ายรูป จังหวะที่หันหน้าไปยังด้านขวา ผมเห็นชาวบ้านมามุงดูเยอะมาก จึงรีบหยิบกล้องในมือมากดแชะอย่างไว เป็นภาพที่ยากจะสามารถจัดระเบียบหรือรวมคนได้เยอะขนาดนี้ แต่สามารถถ่ายจบได้ในช็อตเดียว สามารถไล่น้ำหนักเป็นรูปตัว S จากใกล้ไปยังไกลสุด รูปนี้จึงเป็นความบังเอิญที่ชอบมากที่สุด”
จากซูริ บอยลงเขามาอยู่กับชนเผ่าฮามาร์ (Hamar) เอกลักษณ์ของชนเผ่านี้คือทรงผม ผู้หญิงทุกคนในชนเผ่าจะชโลมผมด้วยดินเหนียว แล้วใช้เนย หรือไขมันสัตว์ มาปั้นเป็นหลอด ทำให้ผมกลายเป็นสีแดง และอีกหนึ่งความเชื่อสุดแปลกคือ พิธีกรรมเต้น โดยผู้ชายเมื่อบรรลุนิติภาวะ จะมีการแก้ผ้าแล้วกระโดดขึ้นหลังวัว ส่วนผู้หญิงก็จะไปนำไม้เรียวมาให้ผู้ชายไล่เฆี่ยนตี หากสาวงามคนใดมีรอยเฆี่ยนมากที่สุด ก็แสดงว่าเธอคนนั้นเป็นหญิงงามที่สุด เพราะรอยเฆี่ยนแสดงถึงความอดทดและไว้เนื้อเชื่อใจในเผ่าตัวเอง หญิงคนนั้นก็จะได้ค่าสินสอดที่แพงกว่าใคร ส่วนใครที่แต่งงานแล้วก็จะสังเกตได้จากการสวมห่วงไว้ที่คออีกด้วย
มาต่อกันที่อีกหนึ่งชนเผ่าที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ใช้เรือในการทำประมง ซึ่งได้ชื่อว่า People of the river ก็คือ ชนเผ่าคาโร บอยเล่าว่า “จุดเด่นของเผ่านี้คือการแต่งหน้า พวกเขาจะนำดินมาทาตัว ทาหน้า เอาจริงๆ แถบนี้ก็ใช้ดินในการทาตัวเกือบทุกเผ่า อีกจุดสังเกตคือผู้ชายจะถือเก้าอี้ไม้ติดตัวเสมอ จะไม่นั่งกับพื้น แต่ผู้หญิงก็ไม่เห็นจะสนใจเรื่องนี้เท่าใด หรือย่างช่วงเช้าที่อากาศหนาว คนที่นี่จะต้องเอาผ้ามาห่มตัวไว้ ซึ่งผ้าที่เห็นก็ได้มาจากการบริจาคของรัฐบาล และ UN แต่ละเผ่าจะได้ลายผ้าที่ไม่เหมือนกัน แต่ผมว่ามันก็เป็นเอกลักษณ์ไปอีกแบบนะ คนละเผ่า คนละลาย”
อีกหนึ่งเรื่องตื่นเต้นระหว่างทาง บอยเล่าแบบติดตลกว่า “ตอนที่เดินทางไปยังเผ่าคาโร มีเหตุให้ต้องพักค้างแรมบริเวณริมน้ำ ซึ่งจากการเดินทางเนื้อตัวพวกเราเลอะเทอะมาก และต้องการล้างตัวอย่างมาก ผมและคณะจึงได้ลงไปล้างตัวในแม่น้ำก่อนจะเข้านอน พอตื่นเช้าขึ้นมามองลงไปในแม่น้ำอีกครั้ง พวกเราเห็นจระเข้ลอยอยู่เต็มไปหมดเลย โชคดีมากที่รอดมาได้!”
เป็นคนที่มากับดวงจริง ๆ นะ พวกเราแอบคิดในใจ
เผ่าต่อมาคือ เผ่าอาร์โบเร ชนเผ่านี้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะไว้ผมยาว นอกนั้นจะโกนผม เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ และทุกคนจะมีผ้าดำคลุมตัวเพราะแดดแรงมาก บอยกล่าวว่า “ชนเผ่านี้ผมชอบเป็นพิเศษ เพราะเขามีรูปร่างหน้าตาที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์”
บอยเล่าต่ออีกว่า “ระหว่างทางไปทริปเอธิโอเปีย ผมจะต้องนำของติดตัวไปเพื่อเป็นค่าผ่านทางด้วย ส่วนมากจะเป็นน้ำ หรือขวดน้ำที่ดื่มหมดแล้วห้ามทิ้ง เพราะมันคือสมบัติล้ำค่าของพวกเขา ตอนไปจำเป็นต้องมีการ์ดถือปืน 2 คน เดินประกบเพื่อความปลอดภัย และการจะให้ของใครต้องให้ผ่านหัวหน้าเผ่าเท่านั้น เพราะเขาจะเป็นคนแจกจ่ายเอง ถ้าใครเป็นแบบให้ถ่ายภาพ เราก็จะให้ของเป็นรางวัลเพื่อทำให้มีคนอยากมาเป็นแบบ นอกจากนี้ยังเตรียมกล้องโพลารอยด์ไป เพื่อถ่ายภาพแล้วให้พวกเขาเก็บเป็นที่ระลึกได้ในทันที”
และเผ่าสุดท้าย คือ เผ่ามูร์ซี เป็นชนเผ่าที่บอยคิดว่าน่ากลัวที่สุด ด้วยลักษณะของผู้คนที่มีความก้าวร้าว (มักมีการปะทะกับเผ่าอื่น ๆ บ่อยครั้ง) การกรีดร่างกายและการเจาะปากนับเป็นเอกลักษณ์ของเผ่านี้ ซึ่งบอยบอกว่าจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมนี้มาจากการค้าทาสในอดีต ซึ่งคนในเผ่าต้องสร้างภาพลักษณ์ให้น่ากลัว เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องถูกจับไปเป็นทาส ภายหลังสิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อและปฏิบัติตามกันเรื่อยมา จนกลายเป็นวัฒนธรรมปกติที่พบได้ในชนเผ่านี้
“หญิงสาวที่สวยที่สุด อาจจะเป็นสิ่งที่น่าตกใจที่สุด แต่พวกเขาคือคนเดียวกัน” บอยพูดถึงการตั้งชื่อภาพด้านบนนี้ว่า ‘Signs of Beauty’
“เสน่ห์จากลวดลายและการเจาะปากเพื่อใส่จานดินเผา ซึ่งจานจะขยายใหญ่ตามอายุ การเจาะหูก็เช่นกัน หน้าจะถูกแต่งด้วยการทาลวดลายจากดิน เขาสัตว์และดอกไม้เป็นหนึ่งในเครื่องประดับของสาว ๆ”
Signs of Beauty สำหรับบอย เป็นภาพที่เขาชอบมากที่สุดภาพหนึ่ง เขาจึงจัดแสดงให้เห็นถึงความสวยงามที่มีหลากหลายอยู่บนโลกใบนี้ให้เราได้เห็น
จากการเดินทางไปยังสถานที่หลาย ๆ แห่ง ไม่เพียงแค่บอกจะได้รูปสวย ๆ มาสร้างนิทรรศการของตัวเอง แต่ยังสามารถสร้างรายได้และอาชีพให้คนในท้องที่ได้อีกด้วย บอยเล่าว่า “อย่างมุมที่ได้ไปสำรวจเพื่อที่จะถ่ายภาพบนเขาที่มองโกเลีย ไกด์ที่นำเที่ยวของผมกำลังตกงานอยู่พอดี เขาจึงใช้มุมที่ผมถ่ายไปรูปนี้ไปแนะนำนักท่องเที่ยวต่ออีกที การถ่ายภาพจึงกลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่เขาใช้เลี้ยงครอบครัวเลยทีเดียว นอกจากนี้ภาพถ่ายของผมยังทำให้ชาวคาซัคเริ่มกลับมาเป็น hunter มากขึ้น”
เมื่อเดินชมมาจนถึงโซนสุดท้าย พวกเราก็เกิดความสงสัยว่า กว่าบอยจะได้ภาพหนึ่งภาพต้องใช้เวลาแค่ไหน และต้องทำอย่างไรในการซื้อใจคน หรือทำให้เกิดการไว้วางใจจากคนในเผ่า “หนึ่งอาทิตย์เป็นเวลาที่ดี” เป็นคำตอบที่ได้
บอยบอกว่า “เราต้องเข้าไปอยู่กับเขา กินแบบเขา และนอนกับเขา เพื่อให้เขาเกิดความคุ้นชิน อาวุธลับที่สำคัญเลยคือกล้องโพลารอยด์ ใคร ๆ ก็อยากมีรูปภาพตัวเอง เมื่อเราถ่ายปั๊ป ก็สามารถเอารูปให้เขาได้เลย เขาก็ยิ่งอยากจะได้รูปตัวเอง และมันก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ยืนยันให้พวกเขารู้เลยว่าเรามาทำอะไรที่นี่”
ระหว่างที่เรากำลังชมนิทรรศการอยู่นั้น พวกเรามีความรู้สึกคล้ายกับว่า เหมือนถูกจ้องมองอยู่ตลอดเวลา บอยเสริมว่า “เราไม่ได้มาดูพวกเขา แต่พวกเขากำลังดูเราอยู่ต่างหาก สังเกตไหมว่าทุกสายตาของคนในรูปจะมองตรงมาที่เรา”
ความรู้สึกที่ว่านั้นเป็นความตั้งใจของบอยในการถ่ายทอดสิ่งที่พวกเรารู้สึกผ่านการชมนิทรรศการ เขายังเล่าให้ฟังต่อว่า “ตอนที่เดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ผู้คนในชนเผ่านั้น ๆ ทำการจับจ้องมองมาที่เราเสมอ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของคอนเซ็ปต์ที่กล่าวมาข้างต้น
CREATION OF THE WORLD
จากนั้นบอยยังชวนพวกเราไปดูอีกหนึ่งนิทรรศการของเขาอย่าง CREATION OF THE WORLD และอาสาเป็นไกด์ให้ข้อมูลพวกเราต่อในอีกห้องจัดแสดงที่อยู่ไม่ไกลกันนัก
นิทรรศการ CREATION OF THE WORLD คือ นิทรรศการภาพถ่ายทิวทัศน์ (Landscape) ที่มาจากความชอบในภูเขาและแม่น้ำของบอย ซึ่งเขาบอกว่ามีความท้าทายและยาก แตกต่างกับการถ่ายภาพบุคคล กล่าวคือการจะเก็บการเคลื่อนไหว เก็บแสง ภาพก้อนเมฆเพื่อสื่ออารมณ์นั้นยาก ต่างกับภาพคนที่แสดงอารมณ์ชัดกว่า
ถึงกระนั้น แม้จะเป็นการเก็บภาพธรรมชาติ แต่บอยก็ยังคงประสบเรื่องราวและอุปสรรคต่าง ๆ นานาอยู่เสมอ ทั้งการเจอเรื่องลี้ลับระหว่างเดินป่าที่อาร์เจนตินา การเกือบถูกขโมยกระเป๋ากล้องที่อิตาลี หรือแม้กระทั่งการโดนบอกทางผิดจนหลงทิศไปเป็นวัน แต่ถึงอย่างไร บอยก็ยังคงรักการเดินทางถ่ายรูปธรรมชาติเหมือนเคย เพราะมันทำให้เขาได้อยู่กับตัวเอง ได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งในส่วนของนิทรรศการนี้ เขาบอกว่าความจริงที่ชอบในทิวทัศน์ เพราะเขาหลงใหลในภูเขาและน้ำที่มีการเคลื่อนไหวที่ทำให้น่าค้นหาและอยากถ่ายเก็บไว้เป็นความทรงจำนั่นเอง
หากการเรียนประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดคือการได้ไปเห็นของจริง การได้เข้าร่วมนิทรรศการครั้งนี้ทำให้พวกเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ดียิ่งกว่าห้องเรียนเสียอีก เพราะบอยเล่าเรื่องได้สนุกและลื่นไหล เสมือนได้พาพวกเราไปร่วมผจญภัยด้วยจริง ๆ ตั้งแต่ภาพแรกจนภาพสุดท้าย ไม่มีภาพไหนเลยที่ไม่มีเรื่องเล่า และทุกเรื่องราวก็หวนทำให้บอยนึกถึงความทรงจำที่สนุกสนานจนสื่อออกมาผ่านแววตา เป็นสายตาที่เปล่งประกายทุกครั้งที่ได้บอกเล่าสิ่งที่เขาพบเจอจากการเดินทาง
มาร่วมเรียนรู้และรับแรงบันดาลใจ จากนิทรรศการที่อาจทำให้คุณรู้จักตัวตนของเพื่อนร่วมโลกของเรามากขึ้น ในนิทรรศการ PEOPLE AND THEIR WORLD และ CREATION OF THE WORLD เข้าชมได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ River city Bangkok
EXPLORER: ‘JKBoy’ เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์ | https://www.facebook.com/jkboyphoto
AUTHOR: ธนพนธ์ หัสกรรัตน์, ภิญญดา ยืนยงสวัสดิ์, กัญฐิสา หาญณรงค์
PHOTOGRAPHER: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม