กว่าจะมาเป็นช้อนส้อมน้ำหนักเบาด้วยวัสดุไทเทเนียม ที่ผลิตด้วยมือทุกขั้นตอนก่อนถึงมือคุณ งานแฮนด์เมดทุกคันรับประกันความไม่เหมือน
หากใครได้มาเดินงานบ้านและสวนแฟร์ โซน Explorers ที่ขายของเกี่ยวกับการใช้ชีวิตกลางแจ้งทุกรูปแบบ เชื่อว่าหลายท่านอาจจะคุ้นตากับบู๊ธเล็ก ๆ บู๊ธหนึ่งที่ขายมีด ช้อนไม้ และช้อนไทเทเนียม สำหรับทุกคนที่ชื่นชอบการเดินเท้าเข้าป่า
AHU เป็นแบรนด์สินค้าที่มาจากคำว่า “Active Homo sapiens union” เป็นแบรนด์ที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับการดำรงชีวิตในป่าเช่น ช้อน ส้อม ตะเกียบ ทัพพี ที่ออกแบบเองแล้วจ้างผลิต แต่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นกว่าสิ่งที่กล่าวคือ ช้อนไทเทเนียม ที่ผลิตและขึ้นรูปเองทุกขั้นตอนโดย กิ่ง-พงษ์ศักดิ์ วิวัฒน์โรจนกุล ออกแบบโดย พัด-พชร ตรีทิพย์ธนากูล จะว่าไปนับว่าเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกเลยก็ได้ที่ผลิตช้อนน้ำหนักเบาในราคาเบา ๆ เช่นกัน
ก่อนจะเป็น “โนอาห์”
แบรนด์ AHU ถือกำเนิดจากพัด ผู้ที่หลงใหลการเดินป่าแล้วรู้สึกว่าการกินอยู่มันยากถ้าไม่มีช้อนคู่ใจที่ทำได้ทุกอย่าง จึงพยายามออกแบบแล้วหาคนมาทำฝันให้เป็นจริง จนมาพบกับกิ่ง วิศวกรโครงสร้าง ถนัดสร้างแต่งานใหญ่ ๆ ที่มีความชอบส่วนตัวคืองานคราฟต์ที่ทำด้วยโลหะ และกล้าเรียกตัวเองว่าเป็น Blacksmith ตัวจริง พัดและกิ่งมีเป้าหมายเดียวกันในการทำงาน ทั้งสองจึงร่วมมือกันผลิต โนอาห์ ช้อนที่นำพาอาหารเข้าปากอย่างมีความสุข
กิ่งเล่าให้ฟังว่า “เดิมทีพัดทำช้อนไม้อยู่แล้ว ส่วนผมทำงานไทเทเนียมมาก่อน ทางพัดได้นำดีไซน์ช้อนไม้มาให้ผมลองทำ ว่าพอจะทำด้วยไทเทเนียมได้ไหม ผลงานที่เห็นนี้จึงมีที่มาจากช้อนไม้ เราทดลองทำอยู่หลายครั้งมากจนได้โนอาห์อย่างที่ขายในปัจจุบันนี้”
พัดบอกว่า “จริง ๆ แล้วเกิดจากการที่ผมชอบงานคราฟต์มาตั้งแต่เด็ก ๆ มีลุงช่างไม้ที่รู้จักกัน ให้ทำช้อนไม้ แก้วไม้ จนมาเจอพี่กิ่ง คุยแล้วถูกคอกัน เลยถามพี่กิ่งว่าเป็นไปได้ไหมที่จะทำช้อนไทเทเนียม คือเราเดินป่า ถ้าช้อนไม้มันจะมีข้อจำกัดที่ว่ามันเก็บกลิ่น ใช้ไม่ทน ไทเทเนียมน่าจะเป็นคำตอบของคนชอบเดินป่า เราลองผลิตออกมาใช้กันในกลุ่มคนเดินป่าด้วยกันแบบวงแคบ ๆ แล้วหลายคนชอบ จึงพัฒนามาเรื่อย ๆ จนเป็นช้อนที่มีรูปทรงเรียบง่าย แต่แฝงความเก่าแบบเรือโบราณที่นำพาอาหารเข้าปากได้”
กว่าจะเป็นโนอาห์
เริ่มจากนำไทเทเนียมความหนา 1 มิลลิเมตร มาวาดแบบลงบนแผ่นไทเทเนียม ด้วยความที่วัสดุไทเทเนียมแข็งมาก จึงต้องใช้ปากกาแบบเฉพาะในการวาดแบบลงไป นั่นคือต้องใช้ปากกาหัวเจียรคาร์ไบด์ จากนั้นนำไปตัดตามรูปทรงด้วยเลื่อยที่ใช้สำหรับตัดไทเทเนียมโดยเฉพาะ แล้วแต่งด้วยกรรไกรทีละนิด
จากนั้นแต่งขอบให้เรียบด้วยกระดาษทรายสำหรับขัดไทเทเนียมโดยเฉพาะ ลับคมที่เกิดจากการตัดแต่งเวลาขัดกระดาษทราย มีการหล่อด้วยน้ำเย็นเพื่อไม่ให้ไทเทเนียมเปลี่ยนสี หลังจากขัดเสร็จก็เตรียมตอกโค๊ด ขั้นตอนนี้จะขัดผิวเอาคราบออกไซด์ออกก่อน ผิวจะมีความเรียบเงา ด้านหนึ่งตอกชื่อแบรนด์ AHU อีกด้านหนึ่งตอกว่า Human-made in Thailand
หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการตีไทเทเนียม การตีมีสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือตีขึ้นรูปให้ช้อนมันเว้า ขั้นตอนที่สองคือตีเพื่อขึ้นลาย แล้วนำไปเจาะรูเพื่อให้ด้านหนึ่งเป็นช้อน ด้านหนึ่งเป็นส้อม ด้านที่เป็นส้อมก็ใช้ตะไบเก็บรายละเอียดไปเรื่อย ๆ จนเป็นช้อนโนอาห์ที่จะนำพาอาหารเข้าปากได้อย่างสมบูรณ์แบบ
“ภาพจำในวัยเด็กของผมคือเห็นครูช่างของไทยที่ควรจะได้รับการเทิดทูนมากกว่านี้ ผมจึงพยายามออกแบบแล้วส่งต่องานให้บุคคลเหล่านี้ทำ อยากเก็บเกี่ยวผู้คนที่ทำงานคราฟต์มาอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างงาน และการออกงานมันเป็นเหมือนการเติมกำลังใจ เติมไฟให้ตัวเอง ได้บอกเล่าเรื่องราวที่เราอยากบอกให้ผู้คนที่สนใจได้รับรู้เรื่องราวจริง ๆ ไม่ซื้อไม่เป็นไร ขอแค่ฟังเราก็ยังดี” พัด กล่าวเสริม
EXPLORERS: พัด, กิ่ง
AUTHOR: ตู่-ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ศิรภัสสร์ ลอยลม