Type and press Enter.

พลเรือนอาสาสมัคร ฝึกหลักสูตรกู้ภัยทางน้ำแบบมนุษย์กบ

สิงห์อาสา

ภารกิจของทีม บ้านและสวน Explorers Club ในครั้งนี้ คือการติดตามเหล่าอาสาสมัครเลือดนักสู้จากหน่วยกู้ภัยทั่วประเทศนับยี่สิบชีวิต ล่องเรือลงทะเลไปฝึกหลักสูตรกู้ภัยทางน้ำ กับครูฝึกจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือหน่วย ซีล (SEAL) หลักสูตรนี้มีความสำคัญอย่างไร แล้วทำไมอาสาสมัครจากหน่วยกู้ภัยถึงมีโอกาสได้ฝึกการกู้ภัยทางน้ำแบบเข้มข้นเช่นเดียวกับมนุษย์กบ ไปหาคำตอบพร้อมกัน

สิงห์อาสา
สิงห์อาสา

พลเรือนเลือดนักสู้

หลักสูตรกู้ภัยทางน้ำขั้นสูง เป็นการฝึกตั้งแต่การกู้ภัยระดับผิวน้ำ การจำลองสถานการณ์ดำน้ำในช่วงกลางคืน เพื่อทดสอบการใช้เครื่องมือกู้ภัยต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกกู้ภัยน้ำลึกระยะ 30 เมตร ฝึกการดำเรือจมแบบไม่เข้าไปในตัวเรือ 30 เมตร ในภารกิจครั้งนี้เราได้พบกับ โน้ต – จิรฐิพนธ์ นิ่มนุช อาสาสมัครจาก สมาคมอยุธยารวมใจ หน่วยกู้ภัยอยุธยา รู้ไหมว่าโน้ตเคยประสบอุบัติเหตุจนทำให้แขนซ้ายของเขาไม่สามารถใช้การได้ 100% แต่ที่น่าชื่นชมก็คืออาการบาดเจ็บนั้นไม่อาจหยุดหัวใจของเขาที่ยังคงมุ่งมั่นจะช่วยเหลือผู้คนได้

สิงห์อาสา
โน้ต – จิรฐิพนธ์ นิ่มนุช

อาสาหนุ่มจากตำบลบ้านสร้างบอกกับเราว่า “ผมทำงานรับจ้างเป็นพนักงานบริษัทเอกชน แต่ผมประสบอุบัติเหตุ ผมโดนยิงเข้าที่แขนซ้ายจนใช้งานไม่ได้เลย ระหว่างต้องนอนโรงพยาบาลมันทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจ ทำให้ผมอยากช่วยเหลือผู้อื่น”

โน้ตเป็นอาสากู้ภัยมานานมากกว่า 5 ปี จากแขนที่ใช้การไม่ได้เลย ก็ค่อย ๆ กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง เขาเคยมีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่า และเรือล่มหน้าวัดพนัญเชิงฯ ภารกิจนี้โน้ตบอกว่าเขาสมัครมาเพราะต้องการอัพเกรดความรู้ และผ่านการฝึกดำน้ำขั้นแอดว้านซ์เพื่อช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น

“การดำน้ำได้ลึกว่าเดิม จะทำให้เราสามารถช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น ผมอยากช่วยเหลือและนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาคนในทีมครับ ตลอดหลักสูตรทั้ง 5 วัน ผมรู้สึกดีนะ จากที่ไม่เคยรู้เทคนิค หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกก็ทำให้เราได้รู้ ผมประทับใจการฝึกหอดำของหน่วยซีลที่ใช้ฝึกกับทหาร ต้องดำลงไปอยู่ก้นถังน้ำใหญ่ลึก 14 เมตร ซึ่งคนธรรมดาน้อยคนที่จะได้เข้าไปในนั้น ผมถือว่าเป็นโอกาสดีที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเราได้สัมผัส”

สิงห์อาสา
การฝึกดำลงไปอยู่ก้นถังน้ำใหญ่ลึก 14 เมตร

“สำหรับผมการช่วยเหลือผู้คนเป็นสิ่งสำคัญ แม้แขนซ้ายจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าผมทำได้ อย่างน้อยผมก็ยังได้ช่วย ต่อให้อดหลับอดนอนก็ไม่หวั่น ทุกวันนี้ผมอยากให้ครอบครัวมีความสุขกับสิ่งที่ผมทำ และผมตั้งใจจะเอาความรู้ทั้งหมดไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ และช่วยพัฒนาทีมจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปครับ”

สิงห์อาสา
หริด – สฤษดิ์ ทาทอง

โน้ตมาร่วมฝึกในโครงการนี้ ร่วมกับ หริด – สฤษดิ์ ทาทอง อีกหนึ่งอาสาสมัครจาก มูลนิธิพุทธธรรม 31 หรือ หน่วยกู้ภัย ฮุก 31 จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งครั้งนี้หริดมาต่อยอดความรู้ในภารกิจร่วมอบรมจากรุ่นที่ 3 ในขั้นโอเพ่น หริดทำงานรับเหมาก่อสร้าง แต่เขามีจิตใจงามและชอบช่วยเหลือคนอื่นเสมอ กระทั่งวันหนึ่ง

หริดบอกกับเราด้วยความผิดหวังว่า “มีวันหนึ่งผมเห็นเด็กน้อยจมน้ำต่อหน้าต่อตา ผมอยากลงไปช่วยแต่ผมก็ทำอะไรได้ไม่มากกว่าโทรไปขอความช่วยเหลือ ผมเลยสมัครเป็นหน่วยกู้ภัย เพราะรู้สึกว่าถ้าเราว่ายน้ำเป็น มีทักษะ มีอุปกรณ์ติดตัว เราก็คงจะช่วยเขาได้ในทันที”

หริดเป็นอาสาสมัครอีกหนึ่งคนที่เรียนดำน้ำแบบพี่สอนน้องมาก่อน เขาผ่านประสบการณ์ในหลาย ๆ เหตุการณ์น้ำท่วมทั้งไทยและต่างประเทศ เขาดำน้ำจนป่วย ร่างกายทรุดแต่ไม่อาจหยุดหัวใจเขาได้ หริดบอกว่า

“ผมรักการดำน้ำ ผมรู้ว่าต้องทำอะไร ภรรยาสั่งให้เลิกก็ไม่เลิก เพราะผมรักที่จะดำน้ำช่วยเหลือชีวิตคน ที่ไหนร้องขอมา ผมไปหมด เพราะทีมเราอุปกรณ์พร้อม คนพร้อม ทั้งงมเครื่องบินที่แม่น้ำโขง หรือเหตุการณ์เขื่อนแตกที่ปากเซผมก็ไปร่วมมา ภารกิจนี้ผมได้โอกาสจากสิงห์อาสา ผมอยากเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ซึ่งหลักสูตรนี้ทำให้ผมได้รู้จักการวางแผน ได้เทคนิคใหม่ ดำได้ความลึกมากขึ้น ได้ฝึกความแข็งแรงอีกด้วย”

“การที่เราเป็นพลเรือนแต่ต้องมาฝึกแบบทหาร มันเหนื่อยมาก แต่มันคือโอกาสที่จะได้ช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น ผมจึงตั้งใจจะเอาความรู้กลับไปให้มากที่สุด โดยจะนำความรู้นั้นไปช่วยชีวิตคนและส่งต่อกู้ภัยรุ่นต่อไป”

สิงห์อาสา
สิงห์อาสา

ประโยชน์ของการฝึกพลเรือนให้เหมือนหน่วยรบพิเศษ กองเรือยุทธการ

ใครก็รู้ว่าการฝึกแบบ มนุษย์กบ หรือ ซีล นั้นโหดขนาดไหน แต่พลเรือนเลือดนักสู้ทั้งหมดไม่มีใครยอมถอย เพราะพวกเขามาเพื่อต่อยอดความรู้ ผ่านการฝึกดำน้ำเข็มทิศ ฝึกดำน้ำกลางคืน และฝึกการดำน้ำลึก 30 เมตรในสภาวะแวดล้อมเดียวกับทหารต้องผ่านมัน หรือนักดำน้ำขั้นแอดว้านซ์ทุกคนต้องผ่านมันให้ได้

สิงห์อาสา
นาวาเอก สุริยัน สำราญใจ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ ๑ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ

นาวาเอก สุริยัน สำราญใจ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ ๑ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ บอกกับเราว่าอุบัติเหตุและภัยพิบัติทางน้ำเกิดขึ้นได้เสมอ ในแต่ละที่มีความห่างไกล ถ้าหากมีทีมกู้ภัยเหล่านี้คอยสแตนด์บาย ในกรณีเกิดเหตุก็จะสามารถช่วยผู้ประสบภัยได้ทันที นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก

“วิธีการฝึกสอนอาสากู้ภัยครั้งนี้เราทำแบบเดียวกับการฝึกหน่วยซีล การได้ฝึกระดับนี้กลับไปทำให้อาสาสมัครได้ความมั่นใจ ได้ความคุ้นเคย มีขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น สิ่งที่ผมอยากฝากไปถึงอาสาสมัครกู้ภัยทุกคน คือ อยากให้ทุกคนดูแลตัวเอง รักษาสมรรถภาพ หมั่นฝึกฝน และทบทวนสิ่งที่ได้รับจากการฝึกครั้งนี้ เพื่อจะได้มีความสามารถมากขึ้น ที่สำคัญคือความไม่ประมาท การดำน้ำทุก ๆ ที่มีความเสี่ยง และมีอันตรายที่แตกต่างกัน ต้องวางแผนให้ดี ทุกชีวิตมีค่า เราต้องช่วยผู้ประสบภัยได้ และนำชีวิตของตนเองกลับไปหาครอบครัวด้วย”

สิงห์อาสา
สิงห์อาสา
สิงห์อาสา
สิงห์อาสา

ตลอดเวลาที่เราติดตามภารกิจหลักสูตรกู้ภัยทางน้ำขั้นสูงที่ได้รับความร่วมมือจาก สิงห์อาสา และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ เราเห็นความเหน็ดเหนื่อยของเหล่าอาสาสมัครที่แสดงออกผ่านภาษากาย แต่เราเชื่อลึก ๆ ว่าภาษาใจของพวกเขาคงอิ่มเอมด้วยความสุขอย่างแน่แท้ ความเหนื่อยที่แลกมาด้วยความรู้และทักษะที่มากขึ้นมันคุ้มค่ามาก เพราะถ้าหากวันหนึ่งพวกเขาจะต้องเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ต้องดำน้ำลงไปช่วยชีวิตใครสักคนที่รอความช่วยเหลือ เท่ากับว่าเราได้เพิ่มความหวังในการอยู่รอดให้ชีวิตหนึ่งชีวิตหรือมากกว่านั้น พวกเขาทุกคนเป็นพลเรือนที่เปี่ยมไปด้วยความหาญกล้า และเป็นความหวังของชีวิตอีกหลายชีวิตที่ไม่สามารถประเมินค่าได้หมดในหนึ่งหน้ากระดาษ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *