Type and press Enter.

ล่องแคนูไปกินอยู่แบบบ้านบ้าน กับวิสาหกิจชุมชนแคนูแม่น้ำน่าน อำเภอเวียงสา

แคนูแม่น้ำน่าน

น่าน เมืองเล็ก ๆ ในหุบเขา เป็นเมืองที่มีเรื่องราวและวัฒนธรรมที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวบ้าน แม้กระทั่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงาม น่านขึ้นชื่อในเรื่องของดินดี น้ำดี และอากาศดี

น่านมีพื้นที่ราบสองแห่งที่เหมาะกับการสร้างเมือง คือที่ราบทางเหนือที่เมืองปัว และที่ตั้งเมืองน่านในปัจจุบัน นอกเหนือจากวัฒนธรรมและธรรมชาติแล้ว เกลือที่อำเภอบ่อเกลือยังเป็นสิ่งสำคัญและมีค่ามาก ๆ ของคนน่าน ถึงขนาดมีสงครามแย่งชิงบ่อเกลือกันทีเดียว เพราะเป็นแหล่งเกลือสินเธาว์เพียงแหล่งเดียวทางภาคเหนือ น่านเป็นรัฐอิสระ ที่มีเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายเป็นของตัวเองอย่างเช่น เงินท้อก เป็นแผ่นโลหะกลมเจาะรูไว้เพื่อร้อยเชือกเวลาพกพาไปใช้จ่าย

ในอดีตน่านเป็นเมืองประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ จะต้องมีการนำถวายเครื่องราชบรรณาการ ทุก ๆ 3 ปี ก็จะมีต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ผ้า งาช้าง และเกลือจากอำเภอบ่อเกลือ เวลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต้องเดินทางทางน้ำอย่างเดียว จัดกันมาเป็นขบวนใหญ่ครั้งละ 60 – 70 คน ด้วยการล่องเรือไปตามแม่น้ำน่าน ใช้เวลาเดินทางไปหนึ่งเดือน กลับสองเดือนเพราะต้องพายทวนน้ำ

แคนูแม่น้ำน่าน

ทริปพายเรือแคนูแม่น้ำน่านครั้งนี้เป็นทริปที่อยากให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของแม่น้ำ ธรรมชาติ ป่าเขา ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ หากทุกคนมุ่งแต่จะหาประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่รักษา ไม่นานธรรมชาติที่สมบูรณ์ก็จะหายและหมดไป เพื่อเป็นการตอกย้ำคำว่า “ดินดี น้ำดี และอากาศดี” ออกเดินทางไปพร้อมกับพวกเราเลยครับ

วันพุธกลางสัปดาห์ของเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 พวกเราออกเดินทางอีกครั้ง และเป็นทริปแรกของปี โดยตั้งใจไว้ว่าจะไปพายเรือแคนูกันที่กลางแม่น้ำน่าน ทั้งยังเป็นทริปที่เราตั้งท่ามานานปีแล้ว แต่ยังหาเวลาลงตัวพร้อมกันยังไม่ได้ .จุดหมายปลายทางอยู่ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแคนูแม่น้ำน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้แหละเหมาะสมที่สุด น้ำในแม่น้ำไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป อีกทั้งยังไม่มีฝนอีกด้วย เมื่อเวลาที่มีกับและสถานการณ์จากโรคระบาดเอาอยู่ ทุกอย่างพร้อมพวกเราก็เตรียมตัวออกเดินทาง

วิสาหกิจชุมชนแคนูแม่น้ำน่าน เกิดจากรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำมาทั้งชีวิตอยู่แล้ว บางคนเป็นถึงทายาทของคนเรือที่ช่ำชองในการควบคุมเรือในแม่น้ำน่านในอดีต ก่อนจะมีถนนยางมะตอย การใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำจึงเป็นทางหลักในการไปมาหาสู่กันระหว่างคนน่าน และคนทางตอนล่างอย่างสุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และนครสวรค์ แม่น้ำน่านยังเป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่งที่ก่อให้เกิดเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทยคือแม่น้ำเจ้าพระยา

ย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีที่แล้ว การเดินทางสัญจรทางเดียวที่สำคัญก็คือทางน้ำ ว่ากันว่าเส้นทางที่เรากำลังจะไปพายเรือแคนูนี้เคยเป็นเส้นทางการค้า และเส้นทางที่ผู้ปกครองเมืองน่านใช้เดินทางเข้าเมืองกรุง เราชาวบ้านและสวน Explorers club กับทริปแคนูแคมปิ้ง จะพาทุกคนออกไปชมความงามของธรรมชาติตลอดสองข้างทางของแม่น้ำน่าน ด้วยการพายเรือแคนูระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร เปิดประสบการณ์ใหม่ให้ตัวเองได้ลองทำ

แคนูแม่น้ำน่าน
แก่งแรกก็หัวจมแล้วครับ

วันแรก

ทริปนี้เรามากัน 4 คน โดยใช้เรือแคนูเพียงสองลำ ลำละ 3 คน รวมนายท้าย เรือแต่ละลำจะบรรจุสัมภาระของพวกเราได้คนละไม่เกิน 25 กิโลกรัม ฉะนั้นการบรรจุสิ่งของลงในเป้จึงต้องคิดใคร่ครวญให้ดีว่าอะไรสำคัญ จากจุดเริ่มต้นที่ วิสาหกิจชุมชนแคนูแคมปิ้ง ไปเกาะละกอซึ่งเป็นเกาะร้างเกาะแรกที่พวกเราจะค้างแรมกัน ระยะทาง 13 กิโลเมตร เกาะนี้มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ก็เหมาะสำหรับพักค้างแรมได้ไม่ลำบาก

เกาะละกอ ที่ค้างแรมสำหรับคืนแรก
เกาะละกอ ที่ค้างแรมสำหรับคืนแรก
กางเต็นท์เสร็จโดดน้ำเล่นคลายเหนื่อย
กางเต็นท์เสร็จโดดน้ำเล่นคลายเหนื่อย

พวกเราถึงเกาะละกอสามโมงเย็น ระหว่างทางมีเรื่องราวจากปากของนายท้ายที่คอยคัดท้ายเรือให้พวกเราขำกันไม่มีเบื่อ ไม่ว่าจะเรื่องของการสังเกตท้องฟ้าว่าวันนี้จะจับปลาได้ไหม ไปจนถึงเรื่องของปลาปักเป้าที่ชอบแกล้งปลาเล็กปลาน้อยด้วยการบอกว่าที่ตัวเองท้องป่องนั้นเพราะตัวเองกินเกลือที่มาจากบ่อเกลือ ท้องเลยป่องกินจนอิ่มแปล้ ปลาเล็กปลาน้อยหลงเชื่อก็เลยลอยคอมาผิวน้ำเพื่อจะกินเกลือบ้าง เลยโดนมนุษย์จับไปเป็นอาหาร ที่ไหนได้ปลาปักเป้าเป่าให้ลมอยู่ในท้องมันเอง (เกลือจะช่วยให้ปลาปรับสมดุลเกลือจะไปช่วยลดแรงดันของน้ำที่จะเข้าสู่ตัวปลา ทำให้ปลามีพลังงานเหลือไปใช้ในการต่อสู้กับเชื้อโรค หรือช่วยลดความเครียด)

พี่ขจรกับพี่โชคออกไปหาปลาสำหรับมื้อเย็น
พี่ขจรกับพี่โชคออกไปหาปลาสำหรับมื้อเย็น
บรรยากาศโดยรวมบนเกาะแก่งเล็ก ๆ กลางแม่น้ำน่าน
บรรยากาศโดยรวมบนเกาะแก่งเล็ก ๆ กลางแม่น้ำน่าน
เสวนารอบกองไฟ
เสวนารอบกองไฟ

วันที่สอง

ตื่นเช้ามาพบพี่ขจร พี่โชค ออกไปเก็บข่ายเก็บแห แต่เช้ามืดที่วางไว้ตั้งแต่เมื่อคืน
ตื่นเช้ามาพบพี่ขจร พี่โชค ออกไปเก็บข่ายเก็บแห แต่เช้ามืดที่วางไว้ตั้งแต่เมื่อคืน
ส่วนพวกเราก็ปาร์ตี้กาแฟ ไม่ต้องรีบร้อนครับ
ส่วนพวกเราก็ปาร์ตี้กาแฟ ไม่ต้องรีบร้อนครับ

ออกจากเกาะละกอสิบโมงเช้า ขอบอกก่อนว่าการมาท่องเที่ยวลักษณะนี้ไม่ควรรีบ เราต้องปล่อยให้เวลามันไหลไป เราแค่มีหน้าที่ซึบซับความงดงามของธรรมชาติ แล้วกลั่นออกมาเป็นความสุขที่สัมผัสได้ด้วยการมอง ฟัง ดม และใช้ชีวิตแบบที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่ การออกจากเกาะแรกในตอนสาย ๆ จึงไม่ทำให้เสียเวลาหรือเสียโอกาสแต่อย่างใด

เกาะเต่าเป็นเกาะที่สองที่จะพักค้างแรมคืนที่สอง เกาะนี้มีขนาดใหญ่กว่าเกาะละกอมาก ที่เรียกเกาะเต่าก็ด้วยรูปทรงของเกาะคล้ายเต่า ช่วงที่สามารถเที่ยวได้อย่างปลอดภัยจะอยู่ช่วงเดือนธันวาคม ถึงเมษายน ฉะนั้นถ้าใครเห็นบทความนี้แล้วมีความสนใจอยากท่องเที่ยวแบบนี้ละก็ยังพอมีเวลานะครับ

แคนูแม่น้ำน่าน
ถึงเกาะเต่าบ่ายสามโมงต่างจับจองพื้นที่นอน
แคนูแม่น้ำน่าน
ระหว่างรอแดดร่มๆ

วันนี้เราถึงเกาะสามโมงเย็นเหมือนเดิมครับ พี่ขจรนายท้ายของเราบอกว่า เราจะได้มีเวลาและมีแสงในการหาที่ทางสำหรับกางเต็นท์นอน เวลามันมืดมันจะมืดสนิทมาก เมื่อถึงเกาะต่างคนต่างแยกย้ายกันหาพื้นที่ส่วนตัวในขณะเดียวกันก็หาห้องน้ำสำหรับตอนรุ่งสางด้วย หลายคนที่ไม่เคยออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งแบบนี้อาจสงสัยว่าเข้าห้องน้ำยังไง “ขุดหลุม” เท่านั้นครับทั้งชายและหญิง ผนังห้องส้วมก็คือพุ่มไม้ เมื่อทำธุระเสร็จก็กลบให้เรียบร้อย นี่แหละครับเที่ยวแบบไร้ร่องรอย

แคนูแม่น้ำน่าน
จุดตั้งแคมป์บนเกาะเต่า
แกงส้มปลาแค้แบบบ้านบ้าน

คืนนี้พี่ขจรกับพี่โชคทำแกงส้มปลาแค้ให้เรากินเป็นมื้อเย็นกับข้าวเหนียว ปลาแค้นี่เป็นปลาขนาดใหญ่ที่ชอบอาศัยอยู่ในแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ ถ้าแม่น้ำไหนมีปลาแค้อาศัยอยู่ นั่นบ่งบอกได้ถึงระบบนิเวศและความสะอาดของแหล่งน้ำนั้นมีคุณภาพสูง เป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่าแม่น้ำน่านเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สะอาดที่สุดแห่งหนึ่งเลยในบ้านเรา

แกงส้มปลาแค้แบบบ้านบ้าน
แกงส้มปลาแค้แบบบ้านบ้าน
แคนูแม่น้ำน่าน

วันที่สาม

อ้อยอิ่งไม่อยากกลับ นี่ถึงกำหนดครบวันแล้วหรือ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงเวลาแห่งความสุขทำไมเร็วจัง วันแรกที่เกาะละกอไม่มีสัญญาณโทรศัทพ์ทำให้ทุกคนวางโทรศัพท์โดยไม่มีใครบังคับ แต่พอถึงเกาะเต่าสัญญานเริ่มมีบ้าง ก็เริ่มจับโทรศัพท์ แต่จุดประสงค์ที่จับนั้นก็อยากให้คนทางบ้านที่ไม่ได้มาด้วยได้เห็นในความสวยงามของธรรมชาติที่เราพบเจอไปพร้อมกับเรา อยากให้คนที่ไม่ได้มาด้วยเห็นความมัน ความตื่นเต้นไปด้วยกัน สุดท้ายเราทำได้แค่ถ่ายคลิปสั้นๆ รวมทั้งภาพถ่าย เมื่อถึงฝั่งจะส่งต่อให้คนทางบ้านทันทีเหมือนกับว่าได้มาด้วยกัน

แคนูแม่น้ำน่าน

เช่นเคย เราออกจากเกาะเต่าประมาณสิบโมง เพื่อมุ่งหน้าลงใต้ไปยังแก่งหลวงพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่านเพื่อจะไปกินข้าวเที่ยวที่แก่งหลวง ระหว่างทางล่องไปแก่งหลวง จะมีสะพานชมวิวแม่น้ำน่าน ก่อนถึงสะพานชมวิวตอนที่นั่งอยู่ในเรือ จุดนี้สวยงามมากจริง ๆ ครับ วันนี้เราจบทริปแคนูแม่น้ำน่านที่แก่งหลวง ทริปนี้ใช้เวลาประมาณ 2 คืน 3 วันไม่มากไปไม่น้อยไป

แคนูแม่น้ำน่าน
แคนูแม่น้ำน่าน
กินข้าวกลางวันที่แก่งหลวง

สำหรับใครที่สนใจทริปแบบนี้ผมจะใส่รายละเอียดไว้ตอนท้ายนะครับ สำหรับตอนนี้ขออนุญาตไปแบกเรือขึ้นรถก่อนครับ

หลังจากแวะรับประทานอาหารกลางวันที่แก่งหลวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว เวลายังเหลือพอที่จะเยี่ยมชมชุมชนวัดนาส้าน ที่เราทราบมาว่าที่นี่จะมีประเพณีแข่งเรือช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ชาวบ้านได้ต้นสักมาจำนวนหนึ่งเพื่อเตรียมจะขุดเป็นเรือยาวสำหรับไว้ซ้อม การขุดต้นไม้ให้เป็นเรือเป็นหนึ่งในกฎกติกาการแข่งขันเรือยาวของที่นี่ว่าเรือจะต้องได้จากการขุดและทำมือเท่านั้นถึงจะนำมาแข่งขันได้ เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจครับ

ประเพณีแข่งเรือยาวเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้พวกเราชาวบ้านและสวน Explorers club เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย คนสูงวัยและเด็ก ผมเห็นบรรยากาศการพูดคุยแล้วอบอุ่นจะว่าไปฮีลใจได้ดีมากกับภาพชุมชนที่น่ารักแบบนี้ ที่นี่เป็นกิจกรรมปลอดแอลกอฮอลส์ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ

แคนูแม่น้ำน่าน
แคนูแม่น้ำน่าน

และถ้าหากท่านใดที่เห็นบทความนี้แล้ว ผมขออนุญาตบอกบุญเลยครับ ที่วัดนาส้านกำลังระดมปัจจัยเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ หากพุทธศาสนิกชนท่านใดอยากร่วมบุญก็สามารถบริจาคได้ตามหมายเลขบัญชีนี้เลยนะครับ บ้านและสวน Explorers Club ขอเป็นสะพานบุญ บัญชีธนาคารกรุงไทย กองทุนสร้างอุโบสถวัดนาส้าน 676 21652 0 6

รายละเอียดทริปพายแคนูแม่น้ำน่าน

● สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งละ 10 คนเท่านั้น
● นักท่องเที่ยวควรมีเวลาอย่างน้อย 5 วัน รวมวันที่เดินทางไปและกลับ จะได้ไม่เหนื่อย
● ราคาค่าลงเรือลำละ 7,500 บาท รวมค่ารถรับส่ง รายได้ทั้งหมดเข้าชาวบ้านที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนแคนูแม่น้ำน่าน
● อาหารเตรียมไปเอง ขาดเหลือสามารถร่วมกินกับพี่ ๆ ที่พายเรือให้เราได้
● ช่วงเวลาที่เที่ยวได้ตั้งแต่ ธันวาคม ถึง เมษายน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 099 472 3566 พี่ขจร วิละขันคำ

EXPLORERS: เจ, ตู่, บาส, กัน
AUTHOR: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: นภสิทธิ์ ตันเสียดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *