ช่วงอายุ 17 ปี เด็กไทยส่วนใหญ่อาจกำลังจะง่วนอยู่กับการเรียน เตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย หรือทดลองทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ แต่ ปันปัน-อัษฎา อิสราพานิช (Atsada Israpanich) นอกจากเรียนกับทำกิจกรรมแล้ว อีกหนึ่งงานอดิเรกที่เขากำลังมุ่งมั่นอย่างตั้งใจ คือการเดินทางเข้าไปในชุมชนห่างไกลหลายแห่ง ทั้งในภาคเหนือและภาคกลางเพื่อแนะนำวิธีเก็บเมล็ดพันธุ์และตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ระดับชุมชน (The Seed Bank Set) เพื่อส่งเสริม ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ (Food Security) ให้เกิดขึ้น
จุดเริ่มต้นจากน้ำท่วมใหญ่
อะไรทำให้เด็กหนุ่มวัยมัธยมสนใจประเด็นนี้?
ปันปันเฉลยว่า จุดประกายเริ่มต้นที่ทำให้เขาหันมาสนใจเรื่องความยั่งยืนของอาหาร เกิดขึ้นในตอนที่เขายังเด็กกว่านี้ ช่วงนั้นประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่บ้าน ปัน ก็ไม่รอดเช่นกัน การต้องติดอยู่ในบ้านที่น้ำท่วม การเดินทางค่อนข้างยาก ทำให้ความลำบากจากการขาดอาหารในช่วงนั้น เป็นจุดประกายให้เขาคำนึงถึงความสำคัญของเรื่องนี้
“ตอนนั้นปันยังเด็กอยู่ แล้วน้ำท่วมบ้านชั้นล่าง หมดเลย ที่บ้าน ซื้อ บะหมี่ สำเร็จรูปมาตุนไว้เยอะมาก ทำให้เด็กตัวเล็กๆคิดว่าจะไม่มีข้าวกินแล้วเหรอ และ ในขณะนั้น ก็กิน บะหมี่สำเร็จรูปหลายมื้อ ด้วย เลยกลายเป็นความจำฝังใจมา” จากประสบการณ์ผู้ประสบภัยในครั้งนั้น นำมาสู่การตระหนักถึงปัญหาของความขาดแคลนอาหาร ซึ่งในวัยนั้นของปันปัน อาจไม่ได้หมายความถึงโปรเจ็กต์ใหญ่ระดับช่วยโลก แต่หมายถึงเรื่องง่ายๆ ระดับพื้นฐานอย่างการมีอาหารอย่างเพียงพอสำหรับทุกวัน หิวก็มีอาหารให้กิน ไม่ต้องอด
ความมุ่งมั่นเป็นจริงได้ด้วยแรงสนับสนุนจากครอบครัว
ความสนใจของเด็กชายอาจเลือนลางไปตามกาลเวลาหากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่สนับสนุน โชคดีที่ทางบ้าน พาไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมตั้งแต่เด็ก ทั้งไปเป็นอาสาช่วยมูลนิธิต่างๆ และทำสวนผักสำหรับชุมชนใกล้บ้าน บวกกับที่โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพฯ (ISB) ที่ปันปันเรียนอยู่ก็ปลูกฝังแนวคิดการเป็น Global Citizen และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) ทั้ง 17 ข้อเพื่อก้าวสู่อนาคตที่มั่นคงมากขึ้น
ปันปันจึงพุ่งเป้าความสนใจไปที่เป้าหมายที่ 2 ว่าด้วยการยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เพราะมองว่าหากทำให้เรื่อง ‘อาหาร’ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานมีความแข็งแรงแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาเป้าหมายอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ทำให้ต้นทางของความอุดมสมบูรณ์แข็งแรงขึ้น
เราสงสัยว่าประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณธัญญาหารมากมาย น่าจะห่างไกลความกังวลเรื่องอาหาร แต่ปันปันในฐานะผู้ทำโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์มาหลายปีมองต่างออกไป เขาเล่าให้ฟังว่า “พอมีปัญหาการเมือง ปัญหาความขัดแย้งขึ้นในโลก อย่าง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะเราเป็นผู้ผลิตอาหารของโลก และถึงแม้ว่าในตอนนี้เรายังไม่ได้รับผลกระทบเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่การเตรียมพร้อมเพื่ออนาคตยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการทำให้ภาคเกษตรแข็งแรงขึ้น ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้”
“และถ้ามองภาพใหญ่แล้ว จุดเริ่มต้นคือการนำเมล็ดมาปลูก ถ้าเรามีธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่มั่นคง ก็จะทำให้มี ความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้น วิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบกับการขาดแคลนอาหารเพราะ ชุมชนในแต่ละท้องที่จะมีแหล่งอาหารจาก การสามารถเพาะปลูกอาหารกินเองได้ ”
ตัดทอนวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ง่าย และมีประสิทธิภาพ
ปันปันเล่าว่า ได้เข้าไปอบรมความรู้จาก Echo Asia Impact Center ที่ เชียงใหม่ และได้ รู้ว่า ส่วนใหญ่แล้วการตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์มักใช้ต้นทุนสูงและต้องการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพราะต้องบรรจุเมล็ดในถุงปิดผนึกสุญญากาศและเก็บไว้บนชั้นวางในห้องควบคุมอุณหภูมิเพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้ยาวนาน เราจึงไม่ค่อยเห็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ระดับชุมชน แต่เอาเข้าจริงแค่ชุดอุปกรณ์ง่ายๆ อย่างขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วหรือขวดโหลแก้วสำหรับการบรรจุเมล็ดพันธุ์ เทปพันสายไฟ และไซรริงค์ ไว้ทำให้เกิดสุญญากาศก็เพียงพอแล้ว เพราะการเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้ยาวนานมีปัจจัยแค่ 3 ข้อ คือ ความชื้น ออกซิเจน และอุณหภูมิ
“ก่อนจะเก็บเมล็ดพันธุ์ต้องนําเมล็ดไปตากแดดให้แห้งสัก 2 -3 แดด เพื่อกําจัดความชื้น และป้องกันการเกิดเชื้อรา แล้วจึงนำไปบรรจุในขวดโหลแก้วหรือขวดพลาสติกที่ไม่มีรูรั่ว และมีฝาปิดมิดชิด จากนั้นใช้ไซริงค์ดูดอากาศออกให้หมด จนภายในขวดกลายเป็นสุญญากาศ เพื่อไม่ให้แมลงที่อาจซ่อนตัวอยู่ทําลายเมล็ด สุดท้ายแล้วนําขวดไปเก็บในที่ร่มๆ เย็นๆ และปราศจากแสงแดด เพียงแค่นี้ก็สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ได้ถึง 2-3 ปีด้วยขั้นตอนที่ง่ายมาก”
เริ่มต้นจากบนดอยขยายลงสู่ที่ราบ
ช่วงแรกของการเริ่มโครงการ เด็กหนุ่มหอบอุปกรณ์ชุดธนาคารเมล็ดพันธุ์ใส่ถุงสีเหลืองมุ่งหน้าขึ้นดอยก่อน โดยมีจุดหมายคือหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจว่าอยากเริ่มในพื้นที่เกษตรกรรมที่เข้าถึงยากก่อน แล้วจึงค่อยขยายลงสู่พื้นที่ราบลุ่ม
“ปันเริ่มต้นจากชุมชนชาวเขาก่อนครับ เพราะมองว่าเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ไม่ได้มีความช่วยเหลือเข้าถึงง่าย เพราะต้องเดินทางไกล หนทางก็ลำบากมากกว่า รวมทั้งชาวเขามีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหัวใจของเขาอยู่แล้ว เลยคิดว่าถ้าเอาธนาคารเมล็ดพันธุ์ไปเริ่มที่นั่น เราจะได้โปรโมทวงจรความยั่งยืน (Sustainability Cycle) ให้กับชุมชนเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขยายออกไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ”
“ซึ่งการเดินทางไปบนดอยทำให้เราได้รู้จักกับหัวหน้าชุมชน ซึ่งเขาใจดีมาก พร้อมสนับสนุนโครงการของเรา และยังช่วยแนะนำหัวหน้าชุมชนอื่นให้มาร่วมกิจกรรม มาฟังเวิร์คช็อปของปันที่ทำครั้งแรก หลังจากนั้นปันก็ได้รู้จักหัวหน้าชุมชนอื่นๆ มากขึ้น จนนำไปสู่การออกทริปอีกหลายหมู่บ้านในอำเภอแม่แจ่ม”
โครงการนี้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมา 2-3 ปี จากจุดเริ่มต้นในชุมชนบนภูเขาของภาคเหนือ ก็เริ่มขยายมาสู่ชุมชนในจังหวัดที่ราบภาคกลางอีกกว่า 10 ชุมชน โดยมีหัวหน้าหรือตัวแทนชุมชนเป็นผู้นำความรู้ไปส่งต่อให้ชุมชนใกล้เคียงต่อกันไปเป็นทอดๆ เสมือนการส่งต่อเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทางอาหารที่กลายเป็นวงจรต่อกันไปไม่รู้จบ
มากกว่าการเรียนรู้คือความภาคภูมิใจในตัวเอง
“ปันอยากจะขยายธนาคารเมล็ดพันธุ์ให้กระจายออกสู่ชุมชนทั่วประเทศ เมื่อทุกชุมชนมีธนาคารเมล็ดพันธุ์ของตัวเองก็อาจถือได้ว่าบรรลุเป้าหมายที่เราหวังว่าอย่างน้อยพวกเขาก็มีความมั่นคงด้านอาหาร แม้อนาคตจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ แต่ก็ยังมีอาหารสำหรับการดำเนินชีวิตต่อไปได้”
สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้จากการพูดคุยกับเด็กหนุ่มผู้นี้ คือ ความตั้งใจดีที่อยากเริ่มต้นทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อสังคม และเพื่อนมนุษย์ แล้วสำหรับปันปันเอง คิดว่าการทำโครงการเหล่านี้ให้อะไรกับเขา “ตั้งแต่เข้ามาทำโครงการนี้ทำให้ปันได้เรียนรู้เยอะเลยครับ เวลาที่อยู่ในกรุงเทพฯ เราได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีมากใช่ไหมครับ แต่ตอนออกเดินทางไปชุมชนต่างๆ เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับเขา ทำให้ปันเข้าใจวิถีชุมชนมากขึ้นว่า ถ้าเรามีแค่ปัจจัยพื้นฐาน เราก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยี ไม่ต้องติดโทรศัพท์ ไม่หลงใหลตามกระแสสังคมจนเราสูญเสียตัวตน เพราะถูกสังคมกดดัน พอได้ไปอยู่กับชุมชน ทำให้เราก็ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง ภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำ”
น่าสนใจมากว่า ด้วยพลังของวัยหนุ่ม บวกกับความฝัน และความตั้งใจจริงของ ปันปัน จะพาโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่เขาริเริ่มขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้า จะนำพาชุมชนทั่วประเทศไทยไปสู่ความมั่นคงทางอาหารได้เมื่อไหร่?
ซึ่งเราคิดว่าฝันนี้คงจะเป็นจริงในอีกไม่นาน เพราะการเดินทางสายนี้ของเขา ไม่เพียงทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ และมีอาหารการกินที่ยั่งยืน แต่ยังทำให้ “หัวใจ” ของเด็กหนุ่มคนนี้แข็งแรง พร้อมออกเดินทางไปสู่ถนนอีกหลายสาย หรือแม้กระทั่งถางทางขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเขาเอง
EXPLORER: ปันปัน
AUTHOR: นุ้ย