คุยกับเจ้าของภาพถ่าย saveตึก ที่จบเต็ก* มาตามถ่ายรูปสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นมากกว่าพันแห่ง
[*เต็ก ย่อมาจากคำว่า อาร์คิเต็ก (Architect) แปลว่า สถาปนิก]
เบียร์ – วีระพล สิงห์น้อย สถาปนิกที่ผันตัวมาแบกกล้องถ่ายรูปเป็นอาวุธคู่กาย อดีตเด็กเต็กจากรั้วศิลปากร ปัจจุบันเป็นช่างภาพสถาปัตย์ฯ รับงานถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเป็นอาชีพโดยใช้นามปากกาว่า ‘Beer Singnoi’ แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็ออกท่องโลกไปตามบันทึกรายละเอียดของตึกจากยุคโมเดิร์นที่เขาหลงรัก ซึ่งยังคงหลงเหลือจากสมัยเฟื่องฟูทั้งในไทยและเทศ กลับมาถ่ายทอดในรูปแบบภาพถ่าย แล้วเผยแพร่ลงบนเพจ ‘Foto_momo’ หรือ Fotograph of the Modern Movement ที่เขาก่อตั้งขึ้น
เบียร์เล่าว่า “เคยลองเป็นสถาปนิกอยู่หนึ่งปี ทำงานด้านอนุรักษ์อาคาร เป็นผู้รับเหมาอยู่ไซต์ที่รีโนเวตอาคารเก่ามาทำเป็นธนาคาร ตอนนั้นต้องประสานงานกับผู้รับเหมาและช่างเยอะมากจนรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเอง เลยตัดสินใจลองเสี่ยงไปสมัครเป็นช่างภาพที่ Art4d เพราะอยากทำงานที่เราชอบ เป็นคนชอบทำงานเงียบ ๆ ไม่ชอบอยู่กับคนเยอะ ๆ เป็นนิสัยส่วนตัวของเราด้วย”
วางดินสอมาจับกล้อง
จุดเริ่มต้นจากความสนใจด้านการถ่ายรูปและการอนุรักษ์อาคารในวันนั้น ผลักดันให้เบียร์หันหลังให้วิชาชีพที่ร่ำเรียนเพื่อออกมาทำตามความชอบอย่างจริงจัง เบียร์บอกว่าเขาเรียนรู้และฝึกวิชาถ่ายภาพสถาปัตย์ฯด้วยตัวเอง ไปพร้อมเก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้รับจากช่างภาพสถาปัตย์ฯรุ่นพี่อย่างสมคิด เปี่ยมปิยชาติ จนก้าวมาถึงวันนี้ .“เมื่อก่อนเวลาไปเที่ยวที่ไหนเราก็จะถ่ายตึกถ่ายเมืองมากขึ้นเป็นการฝึกซ้อมสายตา แต่ว่าตอนนั้นตัวเองก็ยังไม่ได้มีทักษะมากนัก อุปกรณ์ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยเราสักเท่าไร จนได้มาทำงานที่สำนักพิมพ์ลายเส้น (Li-Zenn) เริ่มมีทักษะ เริ่มซื้ออุปกรณ์ ซื้อเลนส์ Tilt-Shift (เลนส์สำหรับถ่ายภาพสถาปัตยกรรม) เป็นของตัวเอง”
ธนาคารกสิกรไทย สาขาลาดพร้าว
ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนราชวงศ์
โรงพิมพ์ผ้าปีนัง (ท่องหล่อ)
นักอนุรักษ์ตึกโมเดิร์นที่ใช้ภาพถ่ายเป็นฝ่ายพูดแทนตัวเอง
วันนี้เบียร์ก้าวมาเป็นช่างภาพสถาปัตย์ฯมือดีคนหนึ่งของวงการ ในขณะที่ภาพถ่ายตึกยุคโมเดิร์นจำนวนมากที่เขาตามไปบันทึกสะสมไว้ก็มีน้ำหนักมากพอให้เบียร์ก้าวมาเป็นหนึ่งในแนวหน้าผู้อนุรักษ์คนหนึ่งเช่นเดียวกัน เขายอมรับว่าอุปกรณ์ถ่ายภาพคือความจำเป็นสำหรับการถ่ายงานสถาปัตยกรรมเป็นอาชีพ แต่สำหรับการถ่ายงานเพื่ออนุรักษ์ตึกเก่า ซึ่งทุกคนก็สามารถเป็นกระบอกเสียงคนหนึ่งได้ เบียร์บอกว่าอุปกรณ์ถ่ายภาพอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุด
“พอย้อนกลับไปคิดถึงตอนแรก ๆ ที่เราเริ่มถ่ายรูป เราก็ยังถ่ายตึกได้โดยใช้อุปกรณ์เท่าที่เรามีให้มันเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด บางทีไปไหนแล้วไม่ได้เอากล้องไป หรืออุปกรณ์มีจำกัด มีแค่โทรศัพท์มือถือ เราก็ใช้เท่าที่เรามีได้” สิ่งที่เบียร์ย้ำกับเรา มุมมองการถ่ายภาพก็สำคัญไม่แพ้อุปกรณ์
ตึกฟิสิกส์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
ถ่ายตึกจนแตะหลักพัน
จากแค่ขับรถผ่านระหว่างทางไปเที่ยว หรือค้นหาตึกจาก Google เบียร์ค่อย ๆ สืบค้นฐานข้อมูลของอาคารเก่าจากห้องสมุด วารสาร จนถึงการพูดคุยกับแหล่งข้อมูล แล้วนำทั้งหมดกลับมาปักหมุดลงใน Google Map ของตัวเองจนได้ปริมาณตึกมากพอที่จะทำให้การวางแผนไปถ่ายแต่ละที่ทำได้ง่ายขึ้น เบียร์ย้ำว่าข้อมูลที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือข้อมูลอ้างอิงจากสถาปนิกเจ้าของผลงาน.“เวลาจะไปทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ เราจะรู้ว่าตรงไหนมีตึกไหนอยู่ใกล้ ๆ ช่วงพักหรือช่วงที่เราพอมีเวลาว่างก็แอบไป Snap มาเก็บไว้ แต่บางทีมันก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนัก เช่นเราว่างตอนเที่ยง แสงมันก็จะแข็งและไม่สวยนัก ก็ต้องตัดใจรอโอกาสมาเก็บซ้ำ พอถ่ายมาได้ก็จะลงตารางเป็นข้อมูลเก็บไว้ว่าตึกนี้ชื่ออะไร สร้างปีไหน ตั้งอยู่จังหวัดอะไร มานั่งลองไล่นับตึกที่เคยถ่ายจริง ๆ น่าจะเกินหลักพันแล้ว แต่ตึกที่สวย ๆ ดี ๆ จริง ๆ น่าจะประมาณ 300 ตึกได้”
น้ำหนักของภาพถ่าย
แม้บางตึกที่รักได้หายจากไปแล้ว เช่น อาคารสถานทูตออสเตรเลีย (เก่า) อาคารรัฐสภา (เก่า) รวมถึงโรงหนังสกาลาที่เบียร์แอบบ่นว่าเสียดาย พลังของการลุกมาอนุรักษ์ของเขาและแนวร่วมคนอื่น ๆ อาจไม่มีแรงมากพอที่จะประสบความสำเร็จไปเสียทุกครั้ง แต่อย่างน้อยสิ่งที่เบียร์ทำ ภาพที่เบียร์ถ่าย ก็พอจะทำให้คนเริ่มตระหนัก มองเห็นคุณค่า และหวงแหนตึกที่เคยอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มากขึ้น
“สิ่งที่เราทำมันก็พอจะมีพลังอยู่บ้าง เราตั้งใจให้มันเกิดกระแสของการอนุรักษ์ตึก หรือมองเห็นคุณค่า ซึ่งมันได้ผลในระดับหนึ่งนะ คนเริ่มสนใจมากขึ้น แล้วก็จะมีเจ้าของตึกบางคนติดต่อมา ได้รู้จักกันโดยใช้ตึกเป็นตัวเชื่อม เพราะเขาเห็นคุณค่าสิ่งที่มีอยู่ บางทีจะปรับปรุงโรงแรมเขาก็มาถามเรา ช่วยกันแชร์ความเห็น เรียกว่านอกจากตัวตึกที่สำคัญแล้ว ตัวคนที่เป็นเจ้าของก็ต้องมีใจ มันไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียวแล้วจะทำได้ มันต้องอาศัยความอดทน ต้องรักจริง ๆ”
สนามม้านางเลิ้ง (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว)
อนุรักษ์อย่างมีเหตุผล
“แต่สุดท้ายเราก็คงไม่อยากไปแช่แข็งวัฒนธรรมทุกอย่างไว้” เบียร์ให้เหุตผล “มันคงยากเกินไปในยุคสมัยนี้ คนที่เขาเป็นเจ้าของก็ต้องคิดในแง่ของการลงทุน มันตอบไม่ได้ทุกอย่างหรอกว่าทุกอาคารมันควรจะต้องเก็บไว้ มันต้องชั่งน้ำหนักว่าอะไรที่สำคัญและมีคุณค่าจริง ๆ ต้องมาช่วยกันระดมความคิด ซึ่งคนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการที่รู้ลึกกว่าเรา เพราะเขาเห็นมาเยอะ”
“แต่สำหรับอาคารประเภท อาคารสาธารณะ มันต้องเป็นที่แรก ๆ ที่คนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น อย่างเช่นรัฐสภา หรือว่าอาคารในมหาวิทยาลัย”
เบียร์ทิ้งท้ายว่า ภาพถ่ายทุกภาพและความตั้งใจของเขา ไม่ใช่การอนุรักษ์แบบค้านหัวชนฝาว่าตึกนั้นไม่ควรทุบ หากแต่เป็นการบอกเล่าให้รู้ถึงคุณค่าที่แท้จริง เพื่อเป็นข้อพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป “เราแค่อยากให้คนรู้ว่าอาคารเหล่านั้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมยุคหนึ่งจริง ๆ แม้เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกมันจะขี้เหร่ ดูเทอะทะ แต่มันก็คือยุคสมัยที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวมาจนถึงยุคปัจจุบัน”
ลมหายใจสุดท้ายของสนามม้านางเลิ้ง
สกาลา ในวันที่ยังมีลมหายใจ
แม้บางครั้งภาพถ่ายของเบียร์จะช่วยยื้อลมหายใจสุดท้ายของตึกบางตึกเอาไว้ไม่ได้ก็ตาม แต่เขาก็ไม่ลดละความพยายามในการออกตามล่าตึก เพื่อถ่ายภาพ save ตึกที่คู่ควรกับการอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไปเช่นเดิม
ชมผลงานของเบียร์เพิ่มเติมจาก room กับชุดภาพถ่าย “ธนาคาร” สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่สะท้อนภาพสังคมในอดีต https://bit.ly/32YnjBd
อ่านบทสัมภาษณ์ตัวตน-ชีวิตของเบียร์ สิงห์น้อย จาก National Geographic Thailandhttps://ngthai.com/cultures/34945/beer-singnoi/
ติดตามผลงานภาพถ่ายสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของเบียร์ได้ที่เพจ Foto_momo | Fotograph of the Modern Movement https://www.facebook.com/fotomomo.project#ExplorersClub
ชวนคุย: เฟี้ยต
ภาพถ่ายเบียร์: จูน
ภาพถ่ายตึก: Beer Singnoi,
Foto_momo