Type and press Enter.

ลุยยุโรปฝั่งธนฯ ชุมชนกุฎีจีน

กุฎีจีน

ชวนมาเที่ยวชุมชนเก่าอายุมากกว่า 200 ปี ‘กุฎีจีน’ ไม่ไปจะไม่รู้เลยว่าที่นี่ของดีมีเพียบ

วันหยุดบางทีก็ไม่ต้องไปไหนไกล อย่างความสนุกของทริปวันเดียวในกรุงเทพฯ นี้ก็คือได้ใช้เวลาทั้งวันกับการค่อย ๆ เดินเล่นแล้วก็ค้นพบเรื่องราว ที่น่าสนใจเต็มไปหมด แบบเกินเลยความคาดหมายของพวกเราที่คิดไว้ไปหลายป้าย ใครจะไปคิดว่าบริเวณนี้มันจะอุดมไปด้วยความผสมกลมกลืนของวัฒนธรรมที่หลากหลาย สะท้อนออกมาผ่านวิถีชีวิต อาหารการกิน งานสถาปัตยกรรม รวมถึงความแตกต่างของความเชื่อ ความศรัทธาที่อยู่ร่วมกันอย่างลงตัวพอดี “อะไรจะเป๊ะ!” ขนาดนี้ ยิ่งเดินเล่นยิ่งน่าหลงใหล ถ้าคุณเป็นสายที่ชอบเดินเที่ยวแบบดูโน่นดูนี่ด้วยแล้วละก็ อย่าได้พลาดที่นี่เชียว ‘กุฎีจีน’

เริ่มมากจากทีมงานแจ้งว่าจะมีรถ ‘เปอร์โยต์ 2008’ ครอสโอเวอร์เอสยูวีคันสวยมาให้ทดลองขับ แต่ดันเป็นช่วงที่เราขับออกทริปไกล ๆ กันไม่ได้ เพราะเรามีงานบ้านและสวนแฟร์ ที่ต้องเลื่อนมาจัดในช่วงปลายเดือนธันวาคม ซึ่งเคยมีน้องในทีมพูดออกมาว่าเราจัดช่วงวันคริสต์มาสพอดี บก.เจเลยเกิดไอเดียทันทีว่าจะขับรถคันนี้ไปไหนดี

แน่นอนถ้าจะใช้รถคันนี้ ก็จะต้องขับมาทำงานที่ไบเทคสักวัน ทดสอบว่าขับในเมืองสนุกและขนของได้เยอะขนาดไหน จากนั้นก็จะขับไปย่านที่มีการประดับไฟต้นคริสต์มาสสวย ๆ แต่จะให้ขับไปดูตามห้างทั่วไปก็คงธรรมดาเกินไปสำหรับพวกเรา ในทริปนี้เราจะพาไปชุมชนเก่า ‘กุฎีจีน’ และ ‘กุฎีขาว’ สองชุมชนบนถนนอรุณอมรินทร์ที่เดินเชื่อมถึงกันได้ หลายคนจะรู้ว่าตรงนี้มีวัดเก่าแก่ที่สวยงามอย่าง ‘วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร’ มีโบสถ์คาทอลิกของ ‘วัดซางตาครู้ส’ ใกล้ ๆ กับ ‘ศาลเจ้าเกียนอันเกง’ แล้วก็ยังมี ‘มัสยิดบางหลวง’ มัสยิดทรงไทยแห่งเดียวในโลกอีกด้วย เท่ากับว่าผมชวนขับรถมาที่เดียว แต่จะได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมและแสดงความเคารพที่ศาสนสถานสำคัญแห่ง 4 ความเชื่อ 3 ศาสนาเลยทีเดียว

เรามาทำความรู้จักกุฎีจีนกันแบบพอสังเขปสักหน่อยดีกว่า ชุมชนกุฎีจีน หรือจะออกเสียงว่า “กะดีจีน” ก็ได้ไม่ผิดอะไร ที่นี่เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) จนมาถึงวันนี้ระยะเวลาก็ราว ๆ 200 กว่าปีเข้าไปแล้ว ถึงแม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน แต่มรดกทางวัฒนธรรมหลายอย่างของที่นี่ก็ยังมีให้ได้สัมผัสกันอยู่ อย่างขนมฝรั่งที่เป็นขึ้นชื่อของที่นี่ เขาบอกว่ารสชาตินี่ไม่ต่างจากรสชาติของสองร้อยกว่าปีที่แล้วเลยทีเดียว ความน่าสนใจของชุมชนนี้ไม่ได้มีดีแค่เรื่องขนม หรืออาหารอย่างเดียว แต่มันยังมีความน่าสนใจเชิงวัฒนธรรมชุมชนอื่น ๆ อยู่อีกเยอะแยะเต็มไปหมด

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

วัดโบราณเก่าแก่ของชาวฝั่งธนบุรี ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร (โต) ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียง สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2368 และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร”

ด้านในวิหารหลวงประดิษฐาน”พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่สีทองอร่ามงดงาม ชาวจีนก็จะเรียกว่า “ซำปอกง” นอกจากยังมีความงดงามของพระพุทธรูปแล้ว ก็ยังมีงานจิตรกรรมฝาผนังให้ได้ชมกันอีกด้วย ส่วนด้านนอกก็มีพื้นที่กว้างขวางสามารถเดินเล่มชมความงามของงานสถาปัตกรรมไทยได้แบบเพลิน ๆ มีหลายมุมสวย ๆ ให้สายถ่ายรูปได้กดชัตเตอร์กันมันแน่นอน

เมื่อเดินมาด้านหลังวัดกัลยาฯ ก็จะเจอกับซอยที่สามารถเดินทะลุไปชุมชน ‘กุฎีขาว’ ได้ ที่นี่เป็นชุมชนของชาวอิสลาม มีอาหารอิสลาม อร่อย ๆให้ได้ชิมกันและเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญอีกที่ ‘มัสยิดบางหลวง’

มัสยิดบางหลวง (กุฎีโต๊ะหยี หรือ กุฎีขาว)

เป็นมัสยิดหนึ่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทยแทนการออกแบบเป็นทรงโดมเหมือนทั่วไป ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนสีขาวทั้งหลัง สลับกับการทาส่วนที่เป็นไม้ด้วยสีเขียว การออกแบบภายในก็ถูกตกแต่งด้วยศิลปะแบบผสมผสานเข้าด้วยกันถึง 3 ชาติ คือ ไทย จีนและยุโรป ส่วนโครงสร้างภายในมีความใกล้เคียงกับโบสถ์ไทยสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ได้ดีทีเดียว คาดว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง ราว ๆ พ.ศ. 2328 โดยโต๊ะหยี พ่อค้าแขกที่เดินทางเข้ามาที่ประเทศไทย

สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ไม่ไกลจากวัดกัลยาณมิตรฯ เพียงข้ามฝั่งถนนมาหน่อยเดินตามป้ายมานิดเดียวก็ถึงเแล้ว บริเวณนี้เขาเรียกว่าชุมชนกุฎีขาวตามชื่อมัสยิด ตรงนี้มีอาหารอิสลามอร่อย ๆให้มาลองชิมกันอีกด้วย มัสยิดบางหลวงยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านครับ

ศาลเจ้าเกียนอันเกง หรือ ศาลเจ้าแม่กวนอิม

ถือได้ว่าเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ศาลหนึ่งของย่านฝั่งธนบุรีเลย อายุอานามก็ร้อยกว่าปี ภายในจะพบกับงานแกะสลักและจิตรกรรมฝาผนังแบบโบราณสุดปราณีต ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของตระกูล สิมะเสถียร หรือ แซ่ซิ้ม และตระกูล ตันติเวชกุล ซึ่งเป็นตระกูลที่เข้ามาก่อสร้างปรับปรุงศาลเจ้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และด้วยความสมบูรณ์ของการอนุรักษ์ดูแลเป็นอย่างดี จนทำให้ศาลเจ้านี้เคยได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์มาแล้ว

สามารถมาชื่มชมความสวยงามของศาลเจ้านี้ได้ทุกวันครับ เขาอนุญาตให้ถ่ายภาพแค่เฉพาะบริเวณด้านนอกเท่านั้นนะครับ ภายในขอสงวนสิทธิ์เอาไว้ ลองแวะมาชมกันได้ สวยงามมากเลยทีเดียว

โบสถ์ซางตาครู้ส

โบสถ์ซางตาครู้ส หรือจะเรียกว่าวัด กุฎีจีน ก็ได้ ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมกับกับชุมชนเลยจริง ๆ แล้วตัวโบสถ์ปัจจุบันที่เราเห็นอยู่นั้นได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่ทรุดโทรมลงไปในช่วงปี พ.ศ. 2459 (สมัยรัชกาลที่ 6) และก็ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่อีกทีในปี พ.ศ. 2539

รวม ๆ แล้วอายุอานามก็ร้อยกว่าปีแล้ว นับว่ายังสวยงามสมบูรณ์อยู่เลยทีเดียว ส่วนรูปแบบงานสถาปัตยฯ ก็ถูกผสมผสานด้วยความงดงามของศิลปะสองยุคสมัยเข้าด้วยกัน ระหว่าง เรอเนซอส์ และ นีโอคลาสสิคภายในประดับประดาด้วยลวยลาย และกระจกสีสวยงามที่บอกเล่าเรื่องราวของพระคัมภีร์ ส่วนยอดโดมก็เป็นสไตล์อิตาลีแบบเดียวกันกับมหาวิหารวิหารฟลอเรนซ์ และพระที่นั่งอนันตสมาคม

ที่นี่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน ทุกชาติ และทุกศาสนา สามารถเข้ามาชมความงดงามของโบสถ์กันได้ทุกวัน หรือถ้ามาช่วงเวลาสักประมาณ 5 โมงเย็น ก็จะได้เข้าไปชมความงามภายในของโบสถ์ด้วย เพื่อความชัวร์ก็โทรมาสอบถามรายละเอียดกันก่อนได้ที่ 02-472-0153

ส่วนการเดินทางถ้ามาด้วยรถส่วนตัวก็ให้ขับเข้ามาจอดได้ที่ลานจอดรถของวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร แล้วเดินเลาะเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาได้เลยจะสะดวกที่สุด โดยปกติโบสถ์จะเปิดตอน ห้าโมงเย็นนะครับ ไหน ๆ ก็มาเดินเล่นแล้วเห็นเขากำลังประดับไฟกันอยู่ก็เลยไปขอแจมกับเขาด้วย ถือเป็นการได้ร่วมกิจกรรมเล็ก ๆ น้อยกับชุมชน ก็ดีเหมือนกันครับ โอกาสแบบนี้ไม่มีง่าย ๆ

ระฆังการิย็อง (Le Carillon)

ความพิเศษของโบสถ์ซางตาครู้สอีกอย่างก็คือ “ระฆังการิย็อง” (Le Carillon) ซึ่งหมายถึง ระฆังที่ตีเป็นเพลงได้ ระฆังชุดนี้ถูกสั่งทำมาจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1924 ในสมัยนั้น คุณพ่อ กูเลียลโม กิ๊น ดาครู้ส เป็นเจ้าอาวาส จากตอนนู้นจนถึงตอนนี้ ปี 2021 อายุอานามของระฆังชุดนี้ก็ปาเข้าไป 97 แล้ว!!!! ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่เล่นระฆังการิย็องที่โบสถ์ซางตาครู้สได้ เหลือเพียงแค่สองคนเท่านั้น หนึ่งในนั้นก็คือลุงก๋อย สัวสดิ์ สิงหทัต ซึ่งเป็นผู้เล่นลำดับที่สี่นับตั้งแต่มีมาที่โบสถ์แห่งนี้ ลุงก๋อยเป็นทั้งผู้เล่นและคนที่คอยซ่อมแซมระฆังให้ใช้งานได้เป็นปกติเสมอมา


องค์ประกอบของระฆังชุดนี้ก็จะประกอบใบด้วยระฆัง 16 ใบ ที่มีเสียงของโน้ตที่ต่างกันสามารถเล่นเป็นเพลงได้ด้วยการกดแป้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับเปียโนลงไป สายสลิงที่โยงไว้กับแป้นจะทำหน้าที่ดึงค้อนที่แขวนอยู่ด้านในตัวระฆังให้กระทบกับใบระฆังจนเกิดเสียงขึ้นมา การเล่นแบบนี้ต้องออกแรงกดค่อนข้างมากเพราะตัวค้อนแขวนมีน้ำหนักเยอะพอสมควร

ปกติระฆังการิย็องจะเล่นในโอกาสพิเศษ หรือ สำคัญ ๆ เท่านั้น อย่างที่วันคริสต์มาส หรือวันขึ้นปีใหม่ สำหรับตัวระฆังชุดนี้จะถูกติดตั้งไว้ในส่วนโดมของบริเวณหน้าโบสถ์ หากสังเกตุจากด้านหน้าโบสถ์ให้มองขึ้นไปจะเห็นช่องลมกลม ๆ นั่นแหละ นอกจากตรงนั้นจะเป็นช่องลมแล้วก็ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนลำโพงกระจายเสียงได้ดีอีกด้วย สุดยอดจริง ๆ ครับ

ปกติหอระฆังไม่ได้อนุญาตให้ขึ้นมานะครับ อย่าได้เผลอเดินขึ้นมาเชียวเพราะต้องขึ้นบันไดวนและต้องปีนบันไดต่อขึ้นไปอีกต้องอาศัยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษเดี๋ยวจะตกมาแข้งขาหักเอา ต้องขอขอบคุณโบสถ์ซางตาครู้สอย่างสูงครับที่ได้อนุเคราะห์ให้เรามีโอกาสขึ้นมาถ่ายภาพความน่าทึ่งของวัตถุล้ำค่าทางประวัติศาสตร์นี้ให้ชาว บ้านและสวน Explorers Club ได้ชมกัน

ขนมฝรั่ง

เป็นขนมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานพอ ๆ กับชุมชนแห่งนี้ ได้รับอิทธิผลมาจากขนมของชาวโปรตุเกส เราต้องคุ้นชื่อกับ “ท้าวทองกีบม้า” หรือ มารี กีมาร์ภรรยาของขุนนางกรีกที่เข้ามารับราชกาลในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เธอผู้นี้ให้กำเนิดขนมไทยไว้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือขนมฝรั่งนี่แหละ โดยปกติสมัยก่อนขนมฝรั่งนี้จะถูกทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่กันในชุมชนในช่วงเทศกาลสำคัญของศาสนา เช่น เทศกาลคริสต์มาส
.
แต่ปัจจุบันสามารถมาหาทานกันได้ที่ชุมชนนี้ทุกวัน แต่ความพิเศษของขนมฝรั่งที่นี่ก็คือยังคงสูตรต้นตำหรับเดิมไว้อยู่โดยทายาทของคนที่ขนมฝรั่งในสมัยก่อน เรียกได้ว่าถ้าอยากสัมผัสรสชาติของประวัติศาสตร์ก็ให้ลองมาชิมขนมฝรั่งที่นี่ดูได้เลย

เรือนจันทนภาพ

บ้านโบราณเก่าแก่สไตล์ไทยวิคตอเรียตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของช่วงเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน” ในปี พ.ศ. 2494 และยังมีร่องรอยของกระสุนปืนจาการต่อสู้กันในสมัยนั้นทิ้งไว้ให้ได้เห็นกันอยู่ ปัจจุบันเรือนหลังนี้อยู่ในความดูแลของ ป้าแดง (คุณจารุภา จันทนภาพ)

ในทริปหนึ่งวันครั้งนี้เราได้พูดคุยกับผู้นำชุมชนหลายคน ได้สัมผัสวัฒนธรรมผ่านสถาปัตยกรรม การรับประทานอาหาร การฟังบทเพลง การเดินเท้าไปตามตรอกซอกซอย และผ่านการร่วมกิจกรรมชุมชมเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวของความศรัทธาและประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นหนึ่งวันง่าย ๆ ที่ประทับใจมาก ต้องขอบคุณโบสถ์ซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน เจ้าหน้าที่ และตัวแทนชุมชนทุกท่านมาก ๆ ครับ ที่อำนวยความสะดวกให้กับพวกเราในทริปนี้

ขอบคุณบริษัท MGC-เอเชีย ที่ให้รถ Peugeot 2008 มาให้ทดลองใช้ในหลายวัน เป็นเอสยูวีสำหรับชาวเมืองขาลุยที่รักการออกแบบดี ๆ เป็นรถที่สวยโฉบเฉี่ยวทันสมัย ขนาดกระทัดรัดเหมาะกับการลุยไกล ๆ และซอกแซกในเมืองมาก

Explorers : เจ, โก๋, บาส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *