Type and press Enter.

เอม ลี กับความท้าทายที่นำทางไปหาประสบการณ์ใหม่จากโลกใต้ทะเล

เอม ลี

บ้านและสวน Explorers Club คุยกับ เอม ลี ซึ่งเสียงปลายสายของเขาดังมาจากบนเรือที่จอดเทียบท่าอยู่ที่หมู่เกาะอาดัง-ราวี ใจกลางทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล

เอม ลี เป็นนักดำน้ำมืออาชีพ ลงสำรวจโลกใต้ทะเลในฐานะ Recreational Divemaster จากเรือ Aruna Voyager ที่มีประสบการณ์มากกว่า 7 ปีจากทั้งทะเลไทยและฟิลิปปินส์ แต่เชื่อไหมว่า แม้เขาจะผ่านการดำน้ำติดต่อกันมานานจนไม่สามารถนับจำนวนไดฟ์ได้หมด แท้จริงแล้วเขากลับไม่ได้วางแผนทำอาชีพนี้ไว้ตั้งแต่แรก

เอม ลี

“จริง ๆ แล้วผมไม่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่แรกนะว่าจะทำอาชีพนี้ ย้อนกลับไปน่าจะเกือบ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบ แล้วมีช่วงเวลาเว้นว่างหนึ่งปี ตั้งใจไว้ว่าจะเดินทางไปตามสถานที่ท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่ง จนได้มาเจอหมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งเป็นที่แรกที่ผมได้เริ่มดำน้ำ scuba จากนั้นพอเริ่มเรียนดำน้ำแล้วเกิดชอบ ก็เลยไปต่อกับการทำโปรแกรม Divemaster จากนั้นทำงานไปเรื่อย ๆ มาจนถึงตอนนี้ เป็นเวลา 7-8 ปีได้”

นับจากบรรทัดนี้เป็นเรื่องราวจากความสนใจ และมุมมองของเอม ลี ที่มีต่อวิชาชีพ Divemaster และบทบาทในการอนุรักษ์ทะเลที่เขาเชื่อว่า นักดำน้ำมีส่วนในการช่วยทำให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติให้ที่น้อยที่สุดได้เช่นกัน

“ที่ผ่านมากิจวัตรส่วนใหญ่ของผมจะอยู่กับทะเล ช่วงแรก ๆ จะอยู่ดำน้ำบนเกาะ เป็นช่วงที่เรียน Divemaster ดำน้ำวันละ 1-2 ไดฟ์เป็นขั้นต่ำ อยู่ที่หมู่เกาะอาดัง-ราวี ได้ประมาณ 2 ปี แล้วก็ได้งาน ย้ายไปอยู่ที่ฟิลิปปินส์อีกประมาณ 2 ปี ที่เกาะ Malapascua ตรงหมู่เกาะ Cebu อยู่ที่นั่นเราจะดำน้ำมากกว่าเนื่องด้วย dive side ด้วยตัวของเกาะเองทำให้เราต้องตื่นเช้า ไดฟ์แรกประมาณตี 5 เพื่อไปดูฉลามหางยาว อยู่ที่นั่นได้ประมาณ 2-3 ปี เราก็กลับมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราเปลี่ยนจากการอยู่เกาะมาเป็นอยู่ทะเลจนถึงทุกวันนี้”

เอม ลี

“ธรรมชาติที่นั่นแตกต่างจากสิ่งที่เราเจอ สำคัญที่สุดคือเพื่อนร่วมงานที่แตกต่างกันไปด้วย อย่างเกาะที่ผมอยู่ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นบ้านอาศัยอยู่เกาะอยู่แล้ว ถ้าเรามองกลับมาในบ้านเรา คนส่วนใหญ่ถ้าเป็นคนที่อยู่เกาะก็จะทำอาชีพการประมงเป็นส่วนใหญ่ หรือย้ายถิ่นฐานไปอยู่บนฝั่งทำอาชีพอื่นก็ว่าไป”

“แต่เรื่องที่ประทับใจก็คือคนที่อยู่เกาะเขาประกอบอาชีพเป็น Divemaster เป็นครูสอนดำน้ำ เขาวาดรูปอาชีพนี้ไว้ค่อนข้างดี มี mindset ที่ดีต่ออาชีพนี้ มันเลยทำงานกันได้ค่อนข้างลื่นไหล สนุก และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน คนที่นั่นเขาก็สอนงานเราว่าต้องไปดูอะไร ไปดำน้ำที่ไหน ก็ได้รับประสบการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงในท้องทะเลในแต่ละปี มันมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นไหม หรือมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงหรือเปล่า แล้วสาเหตุมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร”

เอม ลี

“ที่จริงแล้วส่วนตัวของผมเอง ผมชอบหมดเลยนะไม่ว่าจะเป็นสัตว์ใหญ่หรือว่าสัตว์เล็ก แต่ก็ต้องมองว่าในแต่ละสถานที่ ในแต่ละ dive side มันก็มีเอกลักษณ์ มีเสน่ห์ของมันว่าในหนึ่งไดฟ์ที่เราจะไปดำน้ำ เราต้องการจะดูอะไร ส่วนใหญ่มันอยู่ที่ความเหมาะสมในการเลือกจุดที่เราไปดำน้ำมากกว่า”

“ภาพที่ผมถ่ายมากที่สุดจะเป็นสัตว์ตระกูลทากทะเลเป็นส่วนใหญ่ เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์ของจำนวนทากทะเลที่เราสามารถพบเจอได้ในประเทศไทยนั้น สำหรับตัวผมคิดว่าค่อนข้างดีเลยที่เราสามารถเจอพวก nudibranch พวกทากทะเลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งอ่าวไทย หรือทะเลอันดามัน แล้วสังคมที่นี่ค่อนข้างแข็งแรงในระดับหนึ่ง เรามีฐานข้อมูลที่ดีที่เรียกว่ากลุ่ม Sea Slug Thailand คอยอัพเดตข้อมูลว่าสิ่งที่เราเจอเป็นทากตระกูลอะไร ชนิดไหน”

“การถ่ายภาพสำหรับผมมันเรียกว่าเป็นงานอดิเรกเสียมากกว่า เนื่องจาก Divemaster เป็นงานหลัก หน้าที่ของเราต้องดูแลความปลอดภัยให้คนที่เราพาไปดำน้ำมากกว่าที่เราจะถ่ายรูป ซึ่งรูปที่ถ่ายส่วนใหญ่ เราจะถ่ายพวกสิ่งมีชีวิตตัวเล็กในทะเลไทย เพราะว่าเป็นหนึ่งในความชอบส่วนตัว เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาตั้งแต่เริ่มต้นเรียนดำน้ำกับครู ซึ่งเขาก็มีความชอบส่วนตัวในพวกสิ่งมีชีวิตตัวเล็กเช่นกัน”

“โดยพื้นฐานแล้วเราเป็นคนชอบทะเลนะ ไม่ได้กลัวหรือมีความคิดแง่ลบกับทะเล หรือว่าเราต้องเอาชนะทะเลอย่างไร ทะเลมันก็เป็นธรรมชาติของมัน เราแค่มองว่าการที่เราอยู่อย่างนี้แล้วเราสบายใจ เราชอบที่จะทำมัน รักที่จะทำมัน อยู่กับมันได้ก็อยู่ไป ก็ไม่ได้วางแผนไว้ว่าจะอยู่มาได้เนิ่นนานขนาดนี้ อาจจะต้องเรียกว่าเป็นความท้าทายมากกว่า เมื่อเราดำไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีสิ่งที่ท้าทายเข้ามา อยากไปดำน้ำในที่ที่ไม่เคยไป อยากเห็นอะไรที่ยังไม่เคยเห็น อยากมีประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แตกต่างไปเรื่อย ๆ”

“แต่ถ้าถามว่าชอบที่ไหนที่สุดอาจจะยังไม่สามารถพูดได้ครอบคลุม เพราะว่าประสบการณ์ของผมก็ยังไม่ได้ดำน้ำที่หลากหลาย หรือในด้านจำนวนของสถานที่ก็ตาม แต่เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เราเปลี่ยนชุดดำน้ำลงทะเล หรือเปลี่ยนสถานที่ที่เราเคยดำน้ำ การได้เจอสิ่งใหม่ทำให้เรารู้สึกว่ามันประทับใจทุกครั้ง เพราะสิ่งที่เราจะเจอเราไม่เคยคาดหวังอยู่แล้วว่าเราลงไปเราจะเจออะไร เราแค่คาดการณ์ได้ก่อนว่าเราจะเห็นอะไรมากกว่าเท่านั้น”

“ถ้าพูดถึงเรื่องมลพิษทางทะเลหรือในทางสิ่งแวดล้อม ก็อย่างที่เราเห็น ๆ กันว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมนุษย์กระทำ เช่น มีขยะในทะเลมากขึ้น แต่ว่าในบางพื้นที่ สิ่งที่มนุษย์ทำมันก็มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ใช่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลงเสียทั้งหมด”

เอม ลี

“หนึ่งสิ่งที่ผมคิดก็คือ สิ่งที่มีผลกระทบต่อธรรมชาติมากที่สุดก็ไม่พ้นมนุษย์ ถูกไหมครับ ฉะนั้นมันก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่แบบนี้ ในเมื่อเรายังเข้าถึงสถานที่มันยังเป็นธรรมชาติอยู่แบบนี้ มันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้วไม่ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง”

“ถ้าในบทบาทของ Divemaster ผมคิดว่าการดำเนินการ จัดเตรียม และดูแลลูกค้าให้เขาพร้อมมากที่สุดในการไปดำน้ำ ถ้าลูกค้าพร้อมก็จะไม่เป็นอันตรายต่อตัวเอง และจะไม่ไปรบกวนสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลเหมือนกัน นั่นจะเป็นการช่วยทำให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติที่น้อยที่สุดและดีที่สุดสำหรับนักดำน้ำ”

เอม ลี

“เพราะการที่เรายังดำน้ำอยู่ทุกวัน เรายังพาคนไปดำน้ำอยู่ทุกวัน บางทีเราพาคนหลายรูปแบบลงไปดำน้ำใต้ทะเล เราก็ควรจัดการและควบคุมทุกอย่างให้มันอยู่ในภาวะที่ดีที่สุด ถ้าทุกอย่างมันพร้อม การรบกวนมันก็จะน้อยลงไปด้วยเช่นกันในมุมมองของผม”

การถ่ายภาพใต้น้ำของเอม ก็เหมือนกับ SEIKO PROSPEX SOLAR DIVERS WATCH : SNE571P เรือนนี้ ที่ใช้แสงเป็นสื่อนำไปสู่ความงดงามในทุกแห่ง SNE571P เป็นนาฬิกาดำน้ำระบบ Solar ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ โดยมีการเก็บพลังงานจากแสงทุกชนิด ที่สำรองพลังงานได้สูงสุดถึง 10 เดือน ตัวเรือนสแตนเลสมาพร้อมกับกระจกแซฟไฟร์กันรอย ทำให้มีความแข็งแรงและป้องกันรอยขีดข่วนได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

เอม ลี
เอม ลี

เข็มนาที ชั่วโมง และอินเด็กซ์เคลือบสารลูมิไบรท์มองเห็นชัดเจนแม้ในที่มืด เพิ่มความน่าสนใจด้วยการตกแต่งขอบตัวเรือนเป็นสีน้ำตาลตัดกับหน้าปัดสีน้ำตาลเหลือบสีดำ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักดำน้ำ กับความสามารถในการดำดิ่งลงไปใต้ท้องทะเลได้ 200 เมตร ในการกันน้ำได้ลึกถึง 200 เมตร สวมใส่ด้วยสายสเตนเลสสตีลพร้อมบานพับแบบนิรภัยเหมาะกับบุคลิกผู้ชื่นชอบความวินเทจ และคลาสสิค

การคุยกับเอม ลี เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่บ้านและสวน Explorers Club และ Seiko Thailand ชักชวนนักดำน้ำทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ของเมืองไทย 10 ชีวิต มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการสำรวจท้องทะเลลึกในอีกมุมมอง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก และชวนชาว Explorers ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเล็ก ๆ ไป Save The Ocean พร้อมกับพวกเขาอีกแรง ในการปกป้องรักษาแนวปะการังใต้ผืนทะเลให้ยังคงงดงามและน่าค้นหาต่อไปหลังจากนี้

เอม ลี

พบกับบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของนักท่องโลกใต้น้ำทั้ง 10 คน ได้ทุกสัปดาห์ทาง Facebook: บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand

[ EXPLORER ]
เอม ลี
ภาพถ่ายเอม: พิชิต จึงชัยชนะ
ภาพถ่ายฉลาม: ฉัตรนริศ รุ่งเรืองกนกกุล
ชวนคุย: เฟี้ยต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *