นาวาอากาศโท นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ จิรสิริโรจนากร อดีตศัลยแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ที่วันๆ อยู่แต่ในห้องผ่าตัด รับราชการอยู่เกือบยี่สิบปี มีเหตุต้องตัดสินใจลาออกมาช่วยคุณพ่อบริหารงานธุรกิจป้ายโฆษณา
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องบอกลางานที่รัก มาทำในสิ่งที่ต้องทำ จากหมอเปลี่ยนมาเป็นคนทำป้าย หาความสุขด้วยการถ่ายภาพ ส่งประกวดจนได้รางวัลที่ 1 จากเวทีระดับโลก Wiki Loves Monuments 2022 มาการันตีความสามารถ
อะไรที่ทำให้ผมต้องมานั่งคุยกับพี่เคี้ยง?
เรื่องมันมีอยู่ว่า พี่เคี้ยงได้รับรางวัลที่ 1 ในงานประกวดภาพถ่ายระดับโลก รายการ Wiki Loves Monuments ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนก็ได้ที่จะได้รางวัลนี้ เหตุนี้เอง พี่เคี้ยงจึงเป็นที่สนใจจากบุคคลทั่วไปว่าเขาเป็นใคร นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากคุยกับพี่เคี้ยงถึงเส้นทางการถ่ายภาพของเขา
ระหว่างความรักและความต้องการ
พี่เคี้ยงเล่าว่า “อาชีพหมอนี่เป็นอาชีพที่ผมรักและใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กๆ ผมเลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สั้นๆ เข้าใจง่าย แต่ชีวิตมาถึงจุดเปลี่ยนตอนที่ทำงานมาได้ร่วมยี่สิบปี ต้องมีเหตุให้มารับช่วงต่อธุรกิจทำป้ายที่บ้าน ตอนนั้นอายุประมาณ 40 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ ต้องการให้ธุรกิจของคุณพ่ออยู่ต่อไป และต้องตัดสินใจ ต้องเลือก ท้ายที่สุดผมเลือกสานต่อธุรกิจป้าย เพราะผมเสียดายลูกค้าที่คุณพ่อสร้างเอาไว้”
ธุรกิจก็เรื่องหนึ่ง งานอดิเรกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
พี่เคี้ยงบอกว่า “ผมต้องหาวิธีมีความสุขครับ ไม่ว่าจะตอนเป็นหมอ หรือตอนที่ออกมารับช่วงทำป้าย ความสุขใกล้ตัวที่เรียบง่ายที่สุดสำหรับผมคือการออกไปเดินถ่ายภาพเล่นแถวๆบ้าน”
“ผมไม่ใช่ช่างภาพ ไม่ใช่คนเล่นกล้อง ผมมีกล้องก็เหมือนกับที่คนอื่นๆ มี กล้องธรรมดาๆ แค่ถ่ายเป็น ถ่ายสวยหรือไม่ ไม่รู้”
นี่คือสิ่งที่พี่เคี้ยงบอกกับผม ในฐานะที่ผมเองก็ชอบถ่ายภาพอยู่แล้ว การคุยกับคนที่ได้รับรางวัลถ่ายภาพระดับโลกมันเป็นเหมือนการเรียนถ่ายภาพหลักสูตรระยะสั้นที่สุดที่จะเรียนจากพี่เคี้ยง
เมื่อครั้งเริ่มเข้าวงการ
“ผมเริ่มมาถ่ายภาพก็ตอนเล่นเฟชบุ๊ค เมื่อปี 2017 นี่เอง ถ่ายแล้วก็โพสต์รูปที่ถ่ายมาอยู่เรื่อยๆ ลงเฟซบุ๊ค มั่วมากตอนนั้น ทีนี้เพื่อนๆ เห็นว่าเราชอบถ่ายรูปแล้วโพสต์ ก็เลยชวนเข้ากลุ่มถ่ายภาพ โดยส่วนตัวไม่เคยมีความคิดอยากเล่นกล้อง หรือเป็นนักถ่ายภาพมาก่อนเลย สิ่งที่ทำ ๆ เพื่อสนุก ๆ เท่านั้น”
มันเริ่มมาสนุกมาก ๆ ตอนที่สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ที่มีฟังก์ชั่นการถ่ายภาพดีขึ้น ผมว่ามันคล่องตัวและเหมาะสำหรับเรา ก็ได้มือถือนี่แหละเป็นตัวเปิดโลกการถ่ายภาพ หลังเลิกงานผมก็ออกเดินทางไปถ่ายตึก ถ่ายถนนยามค่ำคืน แล้วโพสต์”
“ตอนนั้นมีคนไลค์สองสามคนก็ดีใจแล้ว หลัง ๆ มาก็เริ่มดูว่าสไตล์ไหนที่เพื่อนๆ ชอบ เราก็พยายามมาพัฒนาแนวนั้น ด้วยการศึกษาจาก Youtube บ้าง ถามเพื่อน ๆ บ้าง ไปจนถึงการเอาตัวไปอยู่ในกลุ่มถ่ายภาพ เข้าไปศึกษาหาข้อมูลในนั้น แล้วนำมาปรับใช้กับตัวเอง เป็นการพัฒนาตัวเองไปในตัวด้วย”
ส่งภาพเข้าประกวด
“จริง ๆ ไม่ได้ล่านะ แค่เรามองแล้วว่ามันไม่ยุ่งยากจนเกินไปในการที่จะส่งงานเข้าไปประกวด ปี 2019 ปลายปี ผมได้เห็นข่าวเปิดรับภาพเพื่อการประกวดของ วิกิพีเดีย งานนี้เป็นเวทีแรกที่เริ่มส่งงานเข้าประกวดในหัวข้อ Wiki Loves Monuments ซึ่งภาพที่ส่งก็จะเป็นโบราณสถาน วัด ตามที่ต่างๆ จากทั่วโลก ผมก็พอมีถ่ายเก็บไว้บ้างก็เลยลองส่งดูปรากฏว่าผมได้รางวัลที่ 7 ของประเทศ ซึ่งเขามีทั้งหมด 10 รางวัล”
“จากนั้นทีมวิกิพีเดียจะส่งทั้ง 10 รางวัลนี้ไปเข้าประกวดระดับโลก ผมก็ได้รางวัลที่ 9 จากระดับโลกมาอีก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เข้าสู่เวทีประกวดแล้วได้เลย ผมก็คิดว่ามันคงฟลุ๊ค พอเริ่มได้รางวัลคราวนี้เริ่มสนุกใหญ่ ก็เริ่มมีส่งในประเทศบ้างแต่เราจะมองแค่รายการเล็ก ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่เราทำได้ เรารับได้ ถ้ารายการไหนยุ่งยากมากก็ไม่ส่ง ยังคงบอกคำเดิมว่าเราไม่ใช่มืออาชีพ เราไม่ใช่นักล่ารางวัล เราเป็นคนที่แสวงหาความสุขในรูปแบบที่เราสามารถทำได้แล้วคนอื่นไม่เดือดร้อน เพียงเท่านี้ผมก็โอเคแล้ว”
รางวัลชีวิต
“ต่อมาในปี 2020 ผมได้รางวัลจากรายการ Break Free with Olympus ของกล้อง Olympus ภายใต้คำว่าที่ไหน ๆ ก็ถ่ายภาพได้ โดยไม่ต้องพกอุปกรณ์กล้องหลายชิ้น ไปแบบเบา ๆ ตัวเปล่า ๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ ให้เราส่งภาพไปทางอินสตราแกรม ที่สำคัญเขาไม่จำกัดว่าคุณจะถ่ายด้วยมือถือหรือกล้องจากยี่ห้อไหน สามารถส่งได้ เข้าทางผมเลย งานนี้ผมได้ที่ 2 ของประเทศ เป็นภาพถ่ายที่สวนเบญจกิติเห็นตึกสะท้อนน้ำ และในปีนี้ผมได้ส่งรายการวิกิพีเดียอีกครั้ง ก็ได้ รางวัลที่ 3 กับ 5 ของประเทศ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ส่งอะไรอีกเลย”
“จนปี 2022 ส่ง Wiki Loves Earth ผมส่งภาพน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น ก็ได้รางวัลที่ 8 ระดับประเทศ และรางวัลล่าสุดคือปลายปี 2022 ผมส่ง Wiki Loves Monuments อีกครั้ง คราวนี้ผมได้ที่ 1 ระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งก็คือภาพพระปรางค์ แปดองค์ที่ตั้งเรียงรายอยู่ในวัดพระแก้ว ซึ่งมุมนี้มีช่างภาพหลายคนเขาถ่ายกันไปหมดแล้ว ซึ่งมุมนี้ผมก็เห็นมานานแล้วเพียงแต่ยังไม่มีโอกาสมาถ่าย จนมีรายการประกวดจึงออกมาถ่ายมุมนี้จริงจัง”
“ในการถ่ายภาพของผมแต่ละครั้งผมมักจะพยายามหามุมที่คนอื่นมองไม่เห็นและเขาคิดไม่ถึงว่ามันจะสวยเชื่อว่าหลายคนก็คงคิดแบบนี้ ส่วนมุมที่ผมได้รางวัลที่ 1 นั้นผมเห็นช่างภาพคนอื่นก็ถ่ายมุมนี้เหมือนกัน เพียงแต่เขาไม่ส่งภาพนี้กัน ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่า ผมฟลุ๊คแน่ๆ เลยที่ได้รางวัลมา”
เทคนิคของหมอ
“เมื่อผมได้ภาพที่ต้องการแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือ ปรับภาพ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเลย การโปรเซสภาพก็เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ผมใส่ใจมาก ผมจะมีภาพในหัวอยู่แล้วว่าจะออกมาเป็นแบบไหน โทนไหน แล้วก็ปรับด้วยแอพพลิเคชั่นอย่าง Lightroom และ snapseed ซึ่งทั้งสองแอพพลิเคชั่นนี้ผมใช้ตัวฟรีนะครับ”
ความในใจที่หมออยากบอก
“ความในใจผมนะ ทุกรางวัลที่ผมได้ ผมอายมากที่ได้รางวัลบางครั้งก็ไม่กล้าบอกใคร ไม่ได้อายที่ได้รางวัล แต่อายที่คนอย่างผมได้รางวัล เพราะว่ากล้องหรืออุปกรณ์ที่ผมใช้มันธรรมดามากๆ บางงานใช้สมาร์ทโฟนถ่าย มันเลยไม่รู้จะบอกอย่างไรเมื่อมีคนถามว่า ‘คุณหมอใช้กล้องอะไรถ่ายภาพ’ ผมเห็นคนอื่นมีกล้องดี ๆ มีเลนส์ดี ๆ ส่วนตัวผมไม่มีอะไรเลย นี่แหละครับที่อยากบอก”
“แต่มันมีสิ่งหนึ่งนะที่ผมใช้และปฏิบัติมาตลอดคือทุกครั้งที่จะออกไปถ่ายรูป ผมจะคิดไว้ก่อนว่า เราจะไปถ่ายรูปที่ไหน ถ่ายอะไร จากนั้นก็จะไปหามุมตรงจุดนั้น ที่เรามองแล้วว่าใช่”
“เรารู้ตัวว่าเราไม่เก่ง เราต้องเรียนรู้ และฝึกให้มากกว่าคนอื่น ถ่ายไป ศึกษาไป โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบถ่ายทุกแนว ไม่จำกัดแนวให้ตัวเอง”
หมอเคี้ยง / IG: @jirasirirojanakorn
EXPLORER: เคี้ยง – นาวาอากาศโท นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จิรสิริโรจนากร
AUTHOR: ตู่ – ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: ฟาง