เพราะว่า ‘คน-ป่า-อากาศ’ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกจาก ภารกิจร่วมใจทวงคืนอากาศสะอาดและฟื้นชีพผืนป่าของชาวบ้านปงที่เคยมอดไหม้จึงเกิดขึ้น ดูเหมือนว่าบรรดาต้นกล้าหลากสายพันธุ์ที่รอวันเติบใหญ่ ปอดในวันข้างหน้าของชาวเชียงใหม่ที่เหล่าอาสาร่วมแรงกันปลูกในโครงการ ‘ไม้ยืนต้น ป่ายั่งยืน’ คนละเล็กละน้อย กำลังสร้างความสุขให้กับผู้คนในชุมชนได้ไม่น้อย
แง่ดีของตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ คือขอบเขตพื้นที่เกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในหุบเขา ถูกโอบล้อมไว้ด้วยผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศตะวันออกติดเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ–ปุย ทาง ด้านทิศตะวันตกติดเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ท่าช้าง–แม่ขนิน และอุทยานแห่งชาติออบขาน ละลานตาด้วยสถานที่ท่องเที่ยวน่าดึงดูดใจ
ทว่า ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ พื้นที่หมู่ 7 บ้านปางยาง ตำบลบ้านปง ที่เรากำลังยืนอยู่ ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากปัญหาไฟป่าบ้านปง-แม่เหียะ-สุเทพ ลุกลามหนัก ถึงขนาดถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
เหตุเกิดจากคนแค่กลุ่มหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบวงกว้าง เพราะไฟป่าไม่เพียงคร่าชีวิตต้นไม้ ทำลายพื้นที่ต้นน้ำ แต่ยังพรากแหล่งพักพิงของสัตว์ พร้อมสร้างปัญหาฝุ่นควันมาทำลายสุขภาพของคน สร้างแรงกระแทกโดยตรงสู่ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศอย่างไม่อาจเลี่ยง ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับมหภาคนี้กำลังได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเชิงนโยบาย และการปฏิบัติ อย่างน้อย ๆ ก็ในภารกิจที่เรามาลงพื้นที่ครั้งนี้
บ้านและสวน Explorers Club ขอมาเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมภารกิจฟื้นฟูผืนป่ามอดไหม้ ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านปางยาง กับโครงการ ‘ไม้ยืนต้น ป่ายั่งยืน’ ที่จัดขึ้นโดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด , บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด และเครือข่ายสิงห์อาสา เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก่อน สิ่งที่เราได้เห็นจากงานอาสาครั้งนี้ คือความร่วมมือร่วมใจของคนในองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน ชาวบ้านในชุมชนบ้านปง และอาสาสมัคร พร้อมใจกันเข้าไปปลูกต้นไม้ให้ครบ 2,400 ต้น เพื่อทดแทนผืนป่าเดิมที่ถูกเผาทำลาย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ป่าต้นน้ำกลายเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ คืนอากาศอากาศบริสุทธิ์ให้คนเชียงใหม่
แม้ผืนป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่ถูกไฟเผาทำลายไปบางส่วนจะไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนที่พึ่งพาอาศัยผืนป่าผืนนี้ในการดำรงชีพ ก็พร้อมจะเป็นหูเป็นตา ปกป้องธรรมชาติหลังบ้านของพวกเขาด้วยความรักและหวงแหน
โครงการนี้ริเริ่มโดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่จำกัด โดยมี บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด บริษัทในเครือฯ และเครือข่ายสิงห์อาสา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคเหนือ และองค์กรจิตอาสาในเครือข่ายเข้าร่วม โดยมีคุณประโภชน์ เกิดเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท เชียงใหม่ เบเวอเรชฯ ในฐานะคนเชียงใหม่ที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าลำพังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากับชาวบ้านช่วยกันสองฝ่ายอาจไม่เพียงพอ นำทีมเข้ามามีส่วนร่วมภารกิจการฟื้นฟูพื้นที่ป่าด้วยอีกแรง
โดยคุณประโภชน์ ยังเล่าให้เราฟังอีกด้วยว่า “เชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันในทุกๆปี การรักษาป่าต้นน้ำ ทั้งการปลูกต้นไม้ ดูแลป่า หรือป้องกันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ จึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญและอยากร่วมดูแลแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งโครงการนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่องค์กรจะร่วมทำและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับป่าในเชียงใหม่ได้ โดยจากการสำรวจติดตามการปลูกต้นไม้ปีที่ผ่านมาพบว่าประสบความสำเร็จ พิจารณาได้จากอัตราการอยู่รอดของต้นไม้ และจะขยายความสำเร็จนี้ไปยังพื้นที่อื่นต่อไป เพื่อยืนยันแนวคิดเรื่องการเพิ่มอัตราอยู่รอดของต้นไม้ ซึ่งบ่งชี้ถึงการรักษาเขตแนวป่าในอนาคตด้วย”
สัก มะค่าโมง ประดู่ ไทร ไผ่รวก รวงผึ้ง พริกไทย มะไฟ มะขาม มะเกี่ยง มะคังดง ส้มสุก ฯลฯ เหล่านี้คือพรรณไม้พื้นถิ่นที่ให้ประโยชน์ทั้งคนและสัตว์ในคราวเดียวกัน ซึ่งชาวบ้านปางยางได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกสรรครั้งนี้ด้วย
ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เรายังได้พบกับ ผู้ใหญ่ต้อย – ลักขณา ไชยคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านปางยาง ชาวบ้านปางยางที่เปี่ยมด้วยมิตรไมตรี และมีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.บรรจง สมบูรณ์ชัย หมอต้นไม้ และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เข้ามาเป็นผู้ให้คำปรึกษาในโครงการ
ผศ.บรรจง กล่าวว่า “เรานำต้นไม้เหล่านี้ไปปลูกในพื้นที่ป่ารอยต่อเขตอุทยานฯกับชุมชน การขออนุญาตชนิดพันธุ์เราอ้างอิงจากผลการวิจัยของหน่วยป่าไม้ อุทยานฯ และหน่วยฟื้นฟูป่า เลือกชนิดตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปางยาง ซึ่งเรามีแหล่งน้ำในลำห้วยและลำธาร และเน้นที่พืชโตวัยให้ผลเร็วใน 3 ปี เน้นการลงมือทำต่อเนื่อง การร่วมมือกันของทุกฝ่ายในวันนี้เชื่อว่าจะช่วยให้การดูแลรักษาป่าเป็นอย่างยั่งยืนและช่วยชาวบ้านได้ในระยะยาว”
“เพราะบ้านปงเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาไฟป่าทุกปี แต่ก็มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกเผาไปด้วย เราจึงเริ่มวางแผนร่วมกับทางทีมบุญรอดฯ ในการสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมแทนที่ต้นไม้ถูกทำลายเพื่อให้เกิดความหนาแน่น แต่ไม่ถึงกับต้องปลูกต้นไม้เพิ่มทุกปี เพียงแต่ต้องรักษาป่าของเดิม และสร้างแนวกันไฟป่าไปพร้อมกัน”
เชื่อไหมว่าด้วยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ทำให้ภารกิจเร่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจก็คือ ต้นไม้ที่ได้รับการปลูกทดแทนในเฟสแรก จากที่คาดการณ์ไว้ว่ามีโอกาสรอดแค่ 20% กลับมีอัตราการรอดสูงถึง 70-80% เลยทีเดียว และนั่นคือเหตุผลของการจัดงาน ‘ไม้ยืนต้น ป่ายั่งยืน ปีที่ 2’ เพื่อเพิ่มจำนวนต้นกล้าที่รอวันเติบใหญ่อย่างต่อเนื่องในปีนี้
โครงการไม้ยืนต้น ป่ายั่งยืน เป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่เชียงใหม่ เบเวอเรช เข้ามาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมและรักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งได้ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี โดยเป็นการคิดและลงมือทำ เพื่อดูแล แก้ไข และป้องกันแบบ 360 องศา ตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้านตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การดูแลป่าต้นน้ำ ที่ได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคเหนือ ปลูกต้นไม้ในชุมชนในช่วงหน้าฝน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้พื้นที่ป่าต้นน้ำและฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย
และยามถึงใกล้ฤดูไฟป่า หรือในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ก็จัดฝึกอบรมชาวบ้านในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย ได้รู้จักวิธีป้องกันและรับมือกับไฟป่า พร้อมสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในภารกิจสู้ไฟป่า ผ่านโครงการสิงห์อาสาป้องกันไฟป่า และโครงการรองเท้าโรงงานสู่แนวหน้าอาสาสมัครดับไฟป่า ที่ได้นำรองเท้าเซฟตี้จากโรงงานในเครือทั่วประเทศกว่า 1,000 คู่ เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่าให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตลอดจนห่วงใยไปยังชาวบ้านและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ผนึกกำลังเครือข่ายสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น ในกว่า 10 โรงเรียนในพื้นที่จ.เชียงใหม่และใกล้เคียง เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนในช่วงวิกฤติฝุ่น และหมอกควันคุกคามพื้นที่
สังเกตได้ว่า ทุกโครงการที่เชียงใหม่ เบเวอเรช ทำล้วนมุ่งเน้นถึงการมีส่วนร่วมอยู่เสมอ ซึ่งโครงการ ‘ไม้ยืนต้น ป่ายั่งยืน’ ในมุมมองของ บ.เชียงใหม่ เบเวอเรช นั้น ตอกย้ำความเชื่อมั่นในเรื่อง ‘คน-ป่า-อากาศ’ ความสำคัญขององค์กรกับชุมชนที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง และทำให้ความเสียหาย (พื้นที่ป่าที่เคยเกิดไฟไหม้) กลายเป็นพื้นที่สร้างประโยชน์ ที่สร้างความสุขให้กับผู้คนในชุมชนได้
เพราะผืนป่าไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน