คุยกับ สุริยา ใจจันทร์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ ถึงแรงบันดาลใจในการมาเป็นเจ้าหน้าที่ผู้เป็นแนวหน้าในการป้องกันไฟป่าและปัญหาสิ่งแวดล้อม ในฐานะลูกหลานชาวเหนือผมอยากดูแลบ้านตัวเอง คำตอบของสุริยาน่าสนใจมาก เขาเชื่อว่าลำพังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพอในการป้องกันไฟป่า นั่นคือเหตุผลที่เครือข่ายภาคเอกชน และประชาชนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ
ดับไฟด้วยใจคน
ในระหว่างที่เราเข้าร่วมสังเกตการณ์ ในกิจกรรมของโครงการ ‘สิงห์อาสาสู้ไฟป่า’* ที่สถานีควบคุมไฟป่าศรีลานนา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เราตั้งคำถามกับสุริยา ในฐานะหัวหน้าสถานีว่าวิธีดับไฟที่ได้ผลที่สุดต้องเริ่มจากอะไร เขาตอบว่า “การสร้างความเข้าใจ วางมาตรการ และจัดการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติการทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไฟป่า ให้กับประชาชนกับเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ”
“การทำงานของกรมอุทยานฯ นั้นมีหลายภารกิจ ซึ่งปัญหาไฟป่านั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้าน ภารกิจนี้เราได้รับมอบหมายในการเข้ามาดูแลควบคุมไฟป่า และช่วยชุมชนก็เป็นความภูมิใจของทีมนะ ถึงแม้จะแบ่งเบาได้ไม่มากก็น้อย แต่การเข้ามาพูดคุยและช่วยชาวบ้าน สร้างเครือข่าย สร้างความรู้และความเข้าใจให้กับชาวบ้านเป็นสิ่งสำคัญมาก”
“ในฐานะหัวหน้าสถานี ผมตั้งใจจะใช้การบูรณาการในทำงานในพื้นที่ หาเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์มาช่วยกันทำงาน เนื่องด้วยขนาดพื้นที่ที่เราต้องดูแลมีขนาดใหญ่ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีไม่อาจดูแลได้หมด แต่อย่างน้อยเจ้าหน้าที่ของเราเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าที่เข้าเผชิญเหตุกรณีเกิดไฟป่าในพื้นที่ แต่หากเกิดไฟป่ารุนแรง ก็จะมีการสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ที่สำคัญเลยก็คือต้องบูรณาการคนในชุมชนในพื้นที่ โดยการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครป้องกันไฟป่าของสถานี อย่างน้อยพวกเขาคือคนในพื้นที่ ชำนาญพื้นที่อยู่แล้ว”
“ซึ่งการเรียนรู้การป้องกันไฟป่า เหมือนการปลูกฝังและส่งต่อความรู้สู่รุ่นต่อรุ่น อาจใช้เวลาปรับเปลี่ยนความคิดของคนในชุมชน ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งมองแล้วปัญหาตรงนี้มีมานาน การที่เราจะมาเปลี่ยนความคิดในชุมชนเราต้องมีการวางแผนร่วมกัน ใช้ระบบ FireD* เข้ามาบริหารจัดการ และวงพื้นที่ให้ชุมชนได้มาใช้ประโยชน์ ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การทำแผนร่วมกัน”
“เราต้องวางแผนว่าพื้นที่ตรงนั้นเหมาะสมอย่างไร เป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซากหรือไม่ หรือว่าบริหารเพื่อป้องกันในส่วนอื่น ๆ ที่เราไม่สามารถเข้าไปป้องกันหรือบริหารได้ทั่วถึง เพื่อให้มันกลายเป็นแนวกันไฟของธรรมชาติ เป็นการแบ่งย่อย ซอยพื้นที่ ให้ชาวบ้านแต่ละชุมชนมีแนวกันไฟ ซึ่งทุกชุมชนจะต้องกำหนดขึ้นมา ทำแนวกันไฟ หรือทำเสวียนสำหรับชิงเก็บใบไม้ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ช่วยควบคุมไฟได้ในระดับหนึ่ง เพราะถ้าเราปล่อยให้ใบไม้หรือชีวะมวลสะสมทับถมไว้นาน ๆ เชื้อเพลิงก็จะเยอะ เมื่อเกิดไฟไหม้จะยิ่งรุนแรง การจัดเก็บแบบนี้ทำให้ในรอบปี เราสามารถใช้ประโยชน์ในการทำปุ๋ยหมัก หรือใส่ต้นไม้ได้ด้วย”
“เราอยากให้ทุกคนช่วยกันดูแลป่า เมื่อเราใช้ประโยชน์จากเขา เราก็ต้องช่วยกันดูแลเขา แล้วเขาจะได้ให้ผลประโยชน์กับเราต่อไปได้เรื่อย ๆ”
เผาให้ถูกที่ถูกเวลา
หากย้อนกลับไปในปี 2564 การเกิดไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ส่งผลให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองปกคลุมเมืองเชียงใหม่และภาคเหนือ จนทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ทะยานขึ้นอันดับ 1 ของโลก ทั้งยังส่งผลไปถึงการหายไปของพืชพันธุ์หายากบางชนิดจาก ความเสียหาย สัตว์บางอย่างหายไป สาเหตุหนึ่งก็เกิดจากการสะสมของชีวะมวลที่ไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง
จากปัญหานี้ เรายังมีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาระบุว่า บางครั้งควันจากไฟป่าก็มาจากป่าเพื่อนบ้าน การเผาชีวะมวลจากการเกษตร และมลพิษจากการคมนาคม
“ปัญหาการเกิดฝุ่นละอองนั้นมีปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ช่วงที่เกิดหมอกควันอาจเป็นช่วงสภาวะอากาศที่เหมาะสมต่อการขังของอากาศ การผักผันของอุณหภูมิ แรงประทะมาจากเพื่อนบ้าน หรือในภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา ก็ยิ่งเกิดได้ง่าย การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดคือการลดการเผา หรือเพื่อให้ควันกระจายออก เพื่อแบ่งเบาภาระให้เกิดความรุนแรงน้อยลง การจัดการให้ชีวะมวลน้อยลงในช่วงที่มีอากาศเปิดก็สามารถทำได้”
“ชีวะมวลที่เกิดการทับถมกันเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีการเผาทำลายบางส่วน หากเกิดปัญหาไฟลามจะดับยากมาก และเราจะเจอปัญหาใหญ่มาก นั่นคือข้อดีของการทยอยเผา และเผาในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาดูแลจัดการร่วมกัน”
“การเผาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ปัญหา Climate Change ยิ่งส่งเสริมให้เกิดมลพิษทางอากาศง่ายขึ้น ถามว่าทำไมต้องเผา การเผาเป็นการจัดการที่ง่ายและใช้งบประมาณน้อย เพราะการขนชีวะมวลจากป่าออกมาให้หมด ในความเป็นจริง หรือในเชิงปฏิบัติแล้วเป็นไปได้ยาก ทั้งในเชิงแรงงานและงบประมาณ กับพื้นที่ป่าที่กว้างมหาศาล ชีวะมวล ง่ายสุด คือทำเป็นปุ๋ย แต่เราไม่ได้ต้องการปุ๋ยจำนวนมากขนาดนั้น ท้ายที่สุด ต่อให้เราแก้ปัญหาภายในพื้นที่ได้ แต่ปัญหาเดียวกันที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็อาจส่งผลกระทบกลับมาไม่มาก ก็น้อย ในงานวิจัยของเราที่ทำกันในห้องแล็บ บางปีฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านก็ข้ามมาทำให้บ้านเราฝุ่นสูงขึ้นประมาณ 60% เลยทีเดียว”
สิงห์อาสาสู้ไฟป่า
จากคำตอบของสุริยา ที่ว่าลำพังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพอในการป้องกันไฟป่า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ประโภชน์ เกิดเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด หนึ่งในเครือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ตั้งใจเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะประชาชนชาวเชียงใหม่คนหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับการร่วมแก้ไขปัญหาไฟป่า และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับบ้านเมือง ซึ่งโครงการนี้ทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5
ประโภชน์ บอกว่า “เป้าหมายหลักของเราคือการส่งเสริมให้เพื่อให้องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน เราจึงอยากเข้ามาร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เราจึงนำอุปกรณ์ที่ใช้ในการดับไฟ พร้อมเสบียงอาหารน้ำดื่ม และนำรองเท้าเซฟตี้มากกว่า 1,000 คู่ที่ได้รับมาจากทุกบริษัทในเครือบุญรอดฯ ทั่วประเทศ มามอบให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับไฟป่า รวมถึงช่วยสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นควันภาคเหนือ”
นอกจากเครือข่ายภาคเอกชน ฝั่งประชาชนเองก็ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งในโครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า ยังได้จัดกิจกรรมอบรมชาวบ้านในพื้นที่ทั้งในภาคทฤษฎี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าศรีลานนา เป็นผู้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไฟป่า การป้องกันไฟป่า รวมถึงหลักวิธีป้องกันและดูแลตนเองเบื้องต้นจากปัญหาฝุ่นควัน PM.2.5 โดย ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่กู้ภัย อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ก่อนจะลงมือฝึกภาคปฏิบัติทำแนวกันไฟ เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ดับไฟ วิธีการทำแนวกันไฟเกิดประสิทธิภาพ
เพราะไฟป่าคือปัญหาระดับมหภาค เราไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยตัวคนเดียว หรือคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wide Fund for Nature – WWF ระบุว่า 75% ของปัญหาไฟป่ามีสาเหตุมาจาก ‘มนุษย์’ ดังนั้นการจะดับไฟป่าให้ได้ผล จึงต้องเริ่มต้นที่มนุษย์เป็นสิ่งแรก
แต่คำถามคือจะเริ่มอย่างไร และทำอย่างไรให้มนุษย์มองเห็น หรือตระหนักถึงปัญหาที่ตามมาหากไฟป่าเกิดขึ้น นั่นคือเหตุผลของการเกิดขึ้นของโครงการป้องกันและทำให้การจัดการเรื่องไฟป่าและฝุ่นควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราเชื่ออย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างเครือข่ายต่างๆ จะเป็นพลังในการป้องกันไฟป่าที่แข็งแรงยิ่งกว่าใครคนใดคนหนึ่ง
รู้หรือไม่อะไรคือ FireD
FireD (ไฟดี) เป็นแอพลิเคชั่นระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลโดยการใช้ไฟหรือการเผาในที่โล่ง และสนับสนุนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย ผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
FireD เป็นระบบที่บูรณาการข้อมูลตรวจวัด ข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลพยากรณ์จากแบบจำลองคุณภาพอากาศ WRF-Chem FireD ซึ่งเป็นระบบที่อ้างอิงหรือใช้หลักการข้อมูลทางวิชาการ ประกอบด้วยหนึ่ง ระบบลงทะเบียนคำร้องขอใช้ไฟเพื่อจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งผู้มีความจำเป็นต้องใช้ไฟสามารถยื่นคำร้องผ่านหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่เท่านั้น และสองระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการพิจารณาคำร้องขอใช้ไฟในการจัดการชีวมวล ซึ่งพิจารณาโดยหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่เท่านั้น
(ที่มาของข้อมูล: https://apps.apple.com/th/app/fired/id1567748564)
EXPLORERS: เฟี้ยต, กัน
AUTHOR: นวภัทร
PHOTOGRAPHER: นภสิทธิ์ ตันเสียดี, ณัฏฐพล เพลิดโฉม