หนึ่งในรายการวิ่งเทรลที่จัดมาตั้งแต่ปี 2010 กำลังเข้าสู่ The Last Episode แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ชวนมาฟังบทสนทนาระหว่างผู้จัดงานกับนักวิ่งสูงวัย ที่จะไขคำตอบถึงเรื่องสนามแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของรายการ Columbia Trail Masters Thailand
หากพูดถึงรายการวิ่งเทรลในประเทศไทยที่ดูดีตั้งแต่สถานที่จัดงาน สนามวิ่ง อาหารการกิน ของรางวัล และการปฐมพยาบาลเมื่อเกิดเหตุที่คาดไม่ถึง หนึ่งในรายการที่ดีที่สุดต้องมีชื่อของ “Columbia Trail Masters Thailand” หลายคนคงคิดว่านี่เป็นรายการวิ่งที่จัดโดยคนต่างชาติแน่ ๆ เพราะแม้แต่ผมเองที่เคยลงสมัครรายการนี้ไปแล้วสองครั้งยังคิดเช่นนั้น
จนกระทั่งผมมีโอกาสได้รับเชิญให้ไปวิ่งรอบทดสอบสนามใหม่ของรายการนี้ ที่สวนละไม จังหวัดระยอง แล้วได้รู้จักกับ แก๊ป-ฐาปนะ วงศ์ไพบูลย์วัฒน รองประธานกรรมการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท สตาร์แฟชั่น (2551) จำกัด ผู้จัดรายการโคลัมเบีย เทรล มาสเตอร์ ไทยแลนด์ (Columbia Trail Masters Thailand) ถึงได้รู้ว่านี่คือรายการที่จัดขึ้นโดยคนไทย ที่มีศักยภาพเท่ากับนานาชาติ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสที่จะได้พูดคุยกันถึงเรื่องรายการวิ่งเทรลนี้จริงๆ สักที เหตุเกิดจากภาพโปรโมทงานวิ่งเทรลนี้เด้งขึ้นมาหน้าเฟชบุ๊คของเรา จึงนึกขึ้นได้ว่ารายการนี้จะจัดช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นประจำทุกปี ทำให้ผมอยากคุยเรื่องที่คาใจจึงได้นัดหมายแก๊ปไปพบกันที่ออฟฟิศของเขาย่านพระราม 3
แก๊ปไม่ใช่นักวิ่ง แต่เป็นคนปั้นแบรนด์ วิ่งไม่เก่ง เต็มที่สิบกิโลเมตร แก๊ปเป็นคนขายเสื้อผ้าสปอต เอาต์ดอร์ ของแบรนด์โคลัมเบีย ที่เคยประสบปัญหากับยอดขายช่วงฤดูร้อนไม่ตรงตามเป้า ในฐานะที่เขาเป็นหัวหน้าทีม จึงต้องมาหาจุดบกพร่องว่าเขาพลาดตรงไหน และต้องทำอย่างไรถึงจะผลักดันให้เสื้อผ้าช่วงฤดูร้อนขายได้
และนี่คือจุดเริ่มต้นงานวิ่ง Columbia Trail Masters Thailand
“ย้อนกลับไปตั้งแต่ผมเริ่มทำแบรนด์ บริษัท สตาร์แฟชั่น (2551) จำกัด นำแบรนด์ Columbia Sportswear Company เข้ามาทำเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในเมืองไทย และเป็นผู้บุกเบิกตลาดในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2008 Columbia เป็นแบรนด์อเมริกา จากพอร์ตแลนด์ โอเรกอน ช่วงที่ทำตลาดสองปีแรกนับว่าดีมาก ช่วงวินเทอร์ผมขายดีมาก แต่พอช่วงซัมเมอร์ ยอดขายตก ผมเลยมาดูว่าเพราะอะไรยอดขายถึงตก ทั้งๆ ที่เรามีเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ที่ดี”
“เราพบว่า คนไทยไม่ได้มีเอาต์ดอร์สไตล์อย่างต่างประเทศ หรือเรื่องการแต่งตัวแบบใช้เสื้อผ้าแบรนด์เอาต์ดอร์แบบนี้ ตอนนั้นผมคิดว่า แล้วเราจะให้ความรู้ผู้บริโภคอย่างไรที่จะช่วยให้เขาเกิดความเข้าใจในคุณภาพและการใช้งานกับเสื้อผ้าช่วงซัมเมอร์ ตอนนั้นปี 2009 รายการ Trail Running ยังไม่มีในเมืองไทย แต่ถ้าจะมีก็จะเป็นกลุ่มเล็กๆ ของชาวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตในเมืองไทย จัดวิ่งกันเอง เราก็เลยคุยกันว่า Trail Running น่าจะเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ในการเล่าเรื่องราวจุดเด่นต่าง ๆ ของโปรดักต์แบรนด์โคลัมเบีย โดยเฉพาะเทคโนโลยีในหน้าร้อนต่าง ๆ”
“ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีของแสงแดด UPF (Ultraviolet Protection Factor) คือค่าความสามารถป้องกันรังสียูวีของสิ่งทอ เทคโนโลยีของโคลัมเบียมีเยอะมาก การที่เราจะเดินไปบอกกับกลุ่มผู้บริโภคว่าคุณซื้อของเราสิ มีเทคโนโลยี หนึ่ง สอง สาม สี่ ดีแบบนี้นะ มันเป็นเรื่องยากที่จะเดินไปบอก การที่จะให้ลูกค้ารู้ถึงข้อดีของสินค้าเรา คือการให้เขาลอง Trail Running นี่แหละเป็นคำตอบ”
Columbia Trail Running ครั้งแรกในปี 2010
“หลังจากที่ตกลงแล้วว่าจะจัดงานวิ่งเทรล ทีมงานจึงมองมาที่ภาคตะวันออกก่อนเลย เพราะว่ามีความสะดวกและมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายด้าน เราจึงจัดขึ้นที่เขาไม้แก้ว พัทยา ในเดือนมกราคม ยุคนั้น ยังไม่เคยมีใครจัดงานวิ่งแบบนี้ที่เขาไม้แก้ว จำได้ว่าจัดครั้งแรกมีคนมาร่วมงาน 500 – 600 คน ดีใจแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักวิ่งต่างชาติ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ผลตอบรับดีมาก ทำให้เราจัดปี 2011 และในปี 2012 ต่อเนื่อง ก่อนเราจะเปลี่ยนชื่อเป็น Columbia Trail Masters Thailand หลังจากนั้นเราพัฒนารูปแบบการจัดงาน และเริ่มทำเป็น series เพื่อที่จะได้มีหลายครั้งในหนึ่งปี มีการไปจัดที่ภูเก็ต แก่งกระจาน เขาอีโต้ ปราจีนบุรี บ้าง”
จัดงานวิ่งเทรลที่ยังไม่มีใครรู้จัก เพื่อแก้ปัญหาขายเสื้อผ้าไม่ได้
“พอรอดพ้นจากขายเสื้อผ้าไม่ได้ ก็มาเจอศึกของการจัดงานวิ่งอีก ตั้งแต่จัดงานมาขาดทุนทุกปีครับ ถ้าผมตั้งโจทย์ว่า เราต้องกำไรจากการจัดงานวิ่งนี้ตั้งแต่ต้น งานนี้ไม่ได้เกิด เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำงานให้กำไรตั้งแต่ต้น การที่เราจะไปขอสปอนเซอร์มาร่วมสนับสนุน เขาก็จะถามกลับมาว่า Trail Running คืออะไร ทำไมเราต้องสนับสนุนคุณ คุณไม่มีตัวอย่างอะไรให้ดูเลย เราจะมั่นใจได้อย่างไร กลุ่มลูกค้าเป็นใคร เราจะได้อะไรจากการสนับสนุนนี้ และการตัดสินใจครั้งนั้น เราคิดไม่ผิดเลย ถ้าวันนั้นเราไม่ทำ เราจะไม่มีโอกาสเล่าเรื่องราวแบรนด์ของเราให้ผู้บริโภคเข้าใจ เราจะไม่มีโอกาสให้กลุ่มลูกค้าของเราได้ลองหรือมีประสบการณ์จากการใช้สินค้าของเรา”
“จุดประสงค์ของเราคือ หนึ่ง เราต้องมีคนมาร่วมงานที่เราสร้างไว้ สอง เราต้องทำแบรนดิ้งของเราผ่านงานนี้ให้เป็นที่ยอมรับให้ได้ สาม เราต้องให้ความรู้เรื่องสินค้า เทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมให้มากที่สุด”
“เรายอมขาดทุนเพื่อให้กิจกรรมการวิ่งเทรลมันเกิด แต่การขาดทุนมันจะขาดทุนตลอดไปไม่ได้ เราจึงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ปี 2019 ด้วยการเปลี่ยนสนามวิ่ง เราจะไม่วิ่งซ้ำที่เดิมนานๆ หลายครั้ง มันน่าเบื่อ และต้องมีอะไรใหม่ๆ มาให้นักวิ่งเสมอ อย่างเช่นเรามีชาเลนจ์ให้กับนักวิ่ง ว่าถ้าใครวิ่งจากตีนเขาไปจนถึงจุดสูงสุดในระยะ 50 กม. ใครใช้เวลาน้อยที่สุด 3 ตำแหน่ง และจบการแข่งขัน คุณจะได้รางวัลเพิ่มอีกนอกเหนือจากที่ประกาศไว้”
การปรับตัวช่วงโควิด
“ช่วงนั้นมันคาบเกี่ยวกับโควิดยังไม่มา เรามีจัดรายการปกติในปี 2020 ตั๋วขายหมดปรากฎว่า โควิดมา ทางทีมงานมีความเห็นว่าควรเลื่อนงานวิ่งออกไป แล้วเสนอคืนเงินให้นักวิ่งเต็มจำนวน ในวิกฤตเราเห็นตลาดที่ชัดขึ้น นักวิ่งขอคืนเงินน้อยมาก กลายเป็นว่าเราแค่เลื่อนงานจากเดือนกรกฎาคม ไปจัดเดือนกันยายน มีอุปสรรคพอควร และเป็นหนึ่งในสนามที่โหดที่สุดเท่าที่จัดมา และเชื่อว่านักวิ่งหลายคนคงจำได้กับสนามนี้ ที่บ้านค่าย จ.ระยอง DNF (Did Not Finish / วิ่งไม่ถึงเส้นชัย) เยอะมาก เราได้เรียนรู้สิ่งที่ดี และสิ่งที่ผิดพลาดจากสนามนี้หลายอย่าง”
“พอเข้าปี 2021 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งกับการจัดงานของเราไม่ว่าจะเป็นการจัดงานในช่วงสถานการณ์โควิดก็ตาม หรือการเพิ่มสนามใหม่ และในปี 2021 เป็นปีแรกที่ขายตั๋วแล้วเราไม่ได้จัดงาน เพราะสถานการณ์โควิดแรงมาก ต้องเลื่อนงานออกไปเรื่อยๆ จนเราต้องประกาศคืนเงินเต็มจำนวนอีกครั้งไม่หักใดๆ ทั้งสิ้น เราเห็นใจนักวิ่งที่รอเรา และเสียเงินจำนวนมากมากับเรา อีกอย่างเราอยากยกระดับผู้จัดงานให้เป็นมาตรฐานถ้าความผิดพลาดไม่ได้เกิดจากนักวิ่ง เราก็ควรเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด”
“ปี 2022 เป็นปีแรกที่เรากลับมาจัดงานมากกว่า 1 งาน เราเริ่มต้นจัดงาน CTM X WISDOM VALLEY 2022 เป็นงาน collaboration ที่กลับไปจัดที่เขาไม้แก้วในรอบ 8 ปี เรารู้แล้วว่า CTM ลูกค้าเราเป็นใคร หลังจากผ่านมา 10 ปี เรามีการจัดการเรื่องสถานที่จัดงาน อาหาร เครื่องดื่ม ความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกต่างๆ เราปรับปรุงจากอดีตที่ผ่านมาดีมากขึ้น ถึงแม้นว่ามันจะยังไม่ดียังต้องมีจุดที่พัฒนา แต่จุดผิดพลาด จุดด้วยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เราพยายามค่อยๆ ปรับพัฒนาให้ดีขึ้นไปทีละส่วน”
“ปีนี้ 2023 เราจัดที่ Brookside Valley Resort โดยงานครั้งนี้เราใช้ชื่อว่า CTM 2023 Presented by Isuzu V-Cross 4×4 Magic Eyes. กับ series The Last Episode”
ทำไมถึงเป็น The Last Episode
“คำถามนี้ ผมยังไม่เคยบอกหรือออกสื่อไหนเลย ที่นี่เป็นครั้งแรกเลยนะพี่ ที่มันต้องเป็น The Last Episode เพราะตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป รายการวิ่ง Columbia Trail Masters Thailand จะปรับรูปแบบการจัดงานของเรา คือเราจะพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ปัจจุบันเรามีหนึ่งรายการแข่งหลักคือ CTM กับงาน collaboration ร่วมกับคนอื่น เราจะไม่จัดภายใต้ชื่อ CTM อีกต่อไป เราจะจัดงานภายใต้ชื่อ Trail Masters Series”
Trail Masters Series
“ทีมงานผู้จัดยังเป็นทีมเดิม สปอนเซอร์ยังเป็นกลุ่มเดิม และยังเปิดโอกาสให้กับพาร์ทเนอร์กลุ่มใหม่ๆ ได้เข้ามาร่วมกันจัดงานให้ยิ่งใหญ่และดีขึ้น ความต่างของ CTM กับ Trail Masters Series ต่างกันยังไง แค่ชื่อก็ชัดเจนแล้วว่า ในหนึ่งปีเราสามารถมีหลายรายการได้ เพราะมันมีคำว่า Series พ่วงท้าย ซึ่งในปี 2024 เราวางแผนกันไว้ว่า เราจะมีรายการแข่งขันเทรลอย่างเดียว 3 สนามนั่นหมายความว่า นักวิ่งของเราจะได้เจอ 1 สนามใหม่แน่นอน และทุกครั้งที่เราเลือกสนามใหม่ รับประกันเลยว่าคุณจะต้องตื่นเต้น ท้าทาย และต้องมาพร้อมกับคำว่าสะดวก เข้าถึงง่าย ผมเชื่อว่าถูกใจนักวิ่งแน่นอน”
ทุกสนามยังคงเก็บแต้ม ITRA ได้เหมือนเดิม
“เป็นมาตรฐานของเราอยู่แล้วในการออกแบบสนามให้ตรงกับมาตรฐานของทาง ITRA โดยเรามีการแข่งขันอยู่ 4 ระยะ คือ 50 กม. 25-30 กม. 10 กม. และ FUN RUN ในระยะ 50 กม. 25-30 กม. นั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้เข้าหลักเกณฑ์ในเรื่องของความสูงชัน ความยากง่าย ตามมาตรฐานเขากำหนดมา”
การเลือกสนาม
“ผมดูภาพรวมของทั้งหมด แต่ผมจะมีทีม RD สำรวจเส้นทาง มีนักวิ่งเทรลอาชีพ และในการเลือกสนามเราจะมองจากสองมุม ๆของความซีเรียสของนักวิ่ง ว่าสนามนี้ท้ายทายพอไหม เป็น technical trail หรือไม่ ในแต่ละฤดูกาล มันเปลี่ยนสภาพของสนาม ท้าทายเพิ่มขึ้นไหม อีกมุมหนึ่งเป็นมุมของคนที่วิ่งไม่เก่ง วิ่งแบบ FUN RUN แบบครอบครัว ทั้งหมดทั้งมวลเราต้องดูและให้ความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักกีฬาเป็นสำคัญ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด การเข้าออกของหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่เร็วเข้าออกสะดวกไหม ถ้ามีความเสี่ยงแม้นแต่ 1% ที่รถฉุกเฉินเข้าออกไปได้ เราไม่ทำ”
“ดังนั้นสนามที่เราทำทุกที่รถบริการต้องเข้าได้ 100% รวมไปถึงการเลือกสถานที่จัดงาน สามารถรองรับนักวิ่งและผู้ติดตามได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งอำนวยความสะดวกเป็นยังไง ที่จอดรถเพียงพอหรือไม่ และที่สำคัญคือชาวบ้าน จะได้รับผลกระทบจากการจัดงานหรือไม่ บางครั้งการที่เราไปจัดงานในพื้นที่ไม่พร้อม แทนที่จะสร้างรายได้ สร้างโอกาส กลับกลายเป็นสร้างภาระให้ชาวบ้าน เรื่องพวกนี้เราเอามาประเมินหมด”
ทำไมถึงจัดแต่ภาคตะวันออก
“เราโตมาจากภาคตะวันออก เรารู้สึกว่าเราอยากพัฒนางานวิ่งเทรลให้เจริญถึงขีดสุดก่อนถึงค่อยไปจัดที่อื่น ที่ภาคตะวันออกนี้เองยังมีอีกหลายโลเกชั่นที่พัฒนาเป็นสนามวิ่งเทรลที่ดีได้ บวกกับท้องถิ่นเองก็ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกอย่างดี เราจึงมองที่นี่เป็น priority แรกเสมอ”
คนจัดงานที่ไม่ได้เป็นนักวิ่ง
“ผมมันคนทำแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น CTM หรือ Trail Masters Series พูดง่ายๆ มันคือลูกผมนี่แหละเราเลี้ยงจนโต เราก็มีความภาคภูมิใจในลูกคนนี้ เราอยากเห็นเค้ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าผมจะไม่วิ่งผมต้องอยู่กับเขาทุกวัน ในฐานะคนเป็นพ่อ เราจะทำยังไงให้คนรักลูกเรา ไม่ต้องชอบผมก็ได้ ไม่ต้องสนใจว่าผมวิ่งเก่ง หรือไม่เก่ง ผมอยากให้คนมองผมในฐานะคนจัดงานมากกว่า ที่จะมองว่าผมเป็นนักวิ่งเหมือนคุณ”
ไม่ว่าจะเป็นงาน Columbia Trail Masters Thailand หรือ Trail Masters Series สิ่งที่แก๊ปไม่เคยพลาดเลยคือเรื่องของการมีส่วนร่วมของครอบครัว แก๊ปเน้นเสมอว่าสถานที่จัดงานต้องดี พ่อ แม่ ลูก พักอยู่อาศัยด้วยความสะดวกสบาย การเดินทาง จอดรถ บริการรถรับส่ง อาหารการกิน รวมไปถึงระยะการแข่งขันในรายการที่จัด ทำให้ทุกคนในครอบครัวสามารถร่วมกันทำกิจกรรมในวันหยุดไปพร้อมกันได้
นี่แหละที่ผมมองว่ารายการวิ่งของครอบครัว ได้ท่องเที่ยว ได้สุขภาพที่ดีอีกด้วย ในฐานะนักวิ่งสูงวัย และในฐานะคนคุย ผมขอสนับสนุนให้ทุกคนออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง แบบนี้ดูสักครั้งครับ แล้วพบกันสนามหน้าครับ สนามนี้สมัครไม่ทัน
EXPLORER: ตู่, แก๊ป
AUTHOR: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
PHOTOGRAPHER: สหรัฐ ลิ้มเจริญ