ในค่ำคืนหนึ่งกลางป่า ใต้หลังคาผ้าใบที่ส่งเสียงบรรเลงด้วยทำนองของเม็ดฝน พวกเราสมาชิกของโรงเรียนนักเดินป่ารุ่นที่สอง กำลังนั่งล้อมวงกันที่เพิงชั่วคราวนี้อย่างใจจดใจจ่อ เพื่อเตรียมตัวฟังเรื่องราวของหนึ่งในบุคคลสำคัญที่อยู่ในแวดวงของการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าในเมืองไทยมาอย่างยาวนาน หม่อมเชน ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ คือแขกสุดพิเศษของค่ำคืนนี้
หม่อมเชนทำงานเป็นช่างภาพสัตว์ป่ามากว่าสามสิบปี ด้วยประสบการณ์จากการทำงานมายาวนานที่ได้เรียนรู้จากป่า ถูกรวบรัดและถ่ายทอดมาให้พวกเราฟังกันในคืนนั้น และประเด็นน่าสนใจเราได้เรียบเรียงผ่านบทความนี้เอาไว้แล้ว
เตรียมหลง
ถ้าเราจะเข้าป่าเราต้องทำอย่างไร ฟังดูเป็นคำถามสุดเบสิก แต่ก็เป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้ว่าบุคคลที่ทำงานในป่ามาครึ่งค่อนชีวิตจะมีวิธีอย่างไรในการเตรียมตัวบ้าง คำตอบที่เราได้รับเป็นสิ่งที่เราเองก็คิดไม่ถึง หม่อมเชนบอกว่าเมื่อเรารู้ว่าจะต้องเข้าป่าให้ ‘เตรียมตัวหลงทาง’ ไว้ก่อนเลย ความพร้อมในเรื่องนี้จะทำให้เรารอดในสถานการณ์ไม่คาดคิดนั้น
อุปกรณ์การดำรงชีพในป่าสมัยนี้ถูกพัฒนามาไกลมาก มันแตกต่างจากสมัยเมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเอาไม้มาถูกันเพื่อก่อไฟเหมือนมนุษย์ถ้ำถ้าเรามีไฟแช็ค อาหารแห้งสารพัด เตาหุงต้มพกพา และแก๊สกระป๋องจะช่วยเราให้พอที่จะดำรงชีพในป่าได้ระยะหนึ่ง และเราสามารถรู้ทิศทางได้จากนาฬิกาที่มี GPS ยิ่งสมัยนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ มีตัวเลือกเยอะแยะไปหมดทั้งคุณภาพและราคา เราสามารถเลือกได้ตามความพร้อมของเราได้เลยเราต้องปรับตัวไปกับโลก แต่ความรู้เรื่องการเอาตัวรอดแบบพื้นฐานติดตัวไว้ก็ยังเป็นสิ่งที่ดี แต่สุดท้ายแล้วการเตรียมความพร้อมนั้นคือสิ่งสำคัญที่สุด
สิ่งที่จำเป็นต้องมี
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าป่าไปทำงานหรืออะไรก็แล้วแต่ นอกจากสัมภาระที่เราต้องหอบแบกเข้าไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าจำเป็นอย่างมาก และทุกคนจำเป็นต้องนำติดตัวไปด้วยเสมอคือ “สามัญสำนึก” และ “ทัศนคติ” ที่ดีต่อสถานที่ เราต้องเข้าใจไว้เลยว่าพวกเรา “มนุษย์” นี่แหละคือสิ่งแปลกปลอมที่สุดของป่า เมื่อก้าวแรกของเราย่ำเข้าไป นั่นก็คือการรบกวนสัตว์ป่าที่เป็นเจ้าของบ้านแล้ว ไม่ว่าจะสัตว์เล็กใหญ่หรือแมลงตัวเล็ก ๆ เราก็ต้องเคารพมัน
ในความหมายของการเคารพที่หม่อมเชนพูดถึง มันคือเรื่องของทัศนคตินั่นเอง บางทีเราอาจกำลังทำลายธรรมชาติบางอย่างโดยที่เราไม่รู้อยู่ตัวก็ได้ หม่อมเชนยกตัวอย่างตอนที่พวกเราเดินเข้ามาในป่านี้ เราอาจเผลอเอามือไปปาดใยแมงมุมที่ขวางทางทิ้ง ทั้ง ๆ ที่มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่ตรงนั้นในที่ของมันเอง เราต่างหากที่เป็นผู้บุกรุกไม่ได้รับเชิญขี้ทำลาย แล้วก็เดินจากไปอย่างหน้าตาเฉยโดยไม่ได้รู้สึกรู้สาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่แน่นอนว่าในความเป็นจริงเจ้าแมงมุม มันคงไม่รู้สึกคิดมากอะไรหรอก มันก็เริ่มชักใยทำรังของมันขึ้นมาใหม่ไปตามสัญชาตญาณ เราแค่เพียงสังเกตรอบข้างให้ดี และพึงคิดไว้เสมอว่าเราจะรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุดก็พอ
แค่เพียงห่อลูกอมชิ้นเล็ก ๆ สักชิ้นที่หล่นอยู่ในป่า มันอาจจะทำให้เมล็ดพันธุ์ของต้นไม้สักต้นที่มากับขี้นก แทนที่จะหล่นลงดิน พลาดไปหล่นอยู่บนห่อลูกอมแทน เมล็ดพันธุ์นั้นก็อาจหมดโอกาสงอกงามและเจริญเติบโตไปเป็นไม้ใหญ่ให้สัตว์ป่าได้อาศัยต่อไปก็ได้ใครจะไปรู้ ดูเหมือนที่ว่ามามันเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ เท่านั้น แต่สุดท้ายมันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่อย่างแน่นอนถ้าเราทุกคนไม่ใส่ใจ
สัมพันธ์
ในป่ามีต้นไทรใหญ่ เวลามันออกผลแต่ละที ไม่ต่างอะไรกับงานปาร์ตี้ สัตว์น้อยใหญ่หลายสายพันธุ์มารวมตัวกัน บนต้นไทรมีสารพัดสัตว์เล็กใหญ่ขึ้นไปกินผล ลิงเขย่ากิ่งทำผลไทรหล่นลงดิน สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นก็ได้กินได้ดำรงชีพ หมูป่าที่ขุดดินรอเมล็ดพันธุ์จากนกที่ปล่อยลงมา สัตว์ใหญ่เท้ากีบมันทำหน้าที่เหยียบฝังเมล็ดให้จมดินรอวันเติบโต ปลวกในซากต้นไม้ที่ล้มอยู่กำลังย่อยสลายซากพืชให้กลายเป็นดิน ตัวอย่างนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติที่แสดงถึงความถ้อยทีถ้อยอาศัยและเชื่อมโยงกันไปหมด
ในป่านั้นทุกชีวิตล้วนมีความสำคัญและเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดี…เราได้อะไรจากเรื่องนี้ ในเรื่องนั้นไม่เห็นมีมนุษย์ มนุษย์ควรทำหน้าที่เฝ้ามองเรียนรู้ รักษา และก็มีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำเช่นกัน ในโลกของการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า หม่อมเชนบอกว่ามันเป็นมีถนนสองเส้นที่วิ่งขนานไปด้วยกัน
ถนนเส้นหนึ่งเป็นของคนที่อยากครอบครอง อยากได้ อยากล่า เหมือนที่เราเห็นในข่าวบ่อย ๆ เป็นจำพวกนั้น ส่วนถนนอีกเส้นจะทำสิ่งตรงข้ามกับถนนเส้นแรกทั้งหมด คนบนถนนเส้นนี้จะเหนื่อยหน่อย ถึงมันยากกว่าแต่จำเป็นต้องทำ แล้วพวกเราจะเลือกอยู่บนถนนเส้นไหนดี เรื่องการอนุรักษ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของเราทุกคน
ทัศนคติ
เราจะมองพวกสัตว์นักล่าจำพวกเสืออย่างไร ในภาพยนต์มันมักจะรับบทเป็นตัวร้ายที่เป็นนักสู้ ความจริงแล้วเสือเป็นนักล่าและมันก็ไม่ใช่นักสู้แบบที่เราเข้าใจ มันไม่ชอบการปะทะกันเสียด้วยซ้ำ พวกเสือมันดำรงชีพได้ด้วยการล่าที่สำเร็จเท่านั้น อาการบาดเจ็บจากการต่อสู้จะส่งผลอย่างมากกับการล่าเหยื่อเพื่อดำรงชีพของมัน เสือมันเกิดมาเพื่อควบคุมประชากรสัตว์บางจำพวกไม่ให้มากเกินไปเผื่อความสมดุลย์ มันเป็นเจ้าป่าก็จริงอยู่ แต่พอถึงจุดหนึ่งมันก็โดดเดี่ยว มันจะโดนขับไล่ออกไปนอกพื้นที่หากินเดิมด้วยเสือตัวผู้ที่แข็งแกร่งกว่าและใช้ชีวิตเป็นเสือชราเร่ร่อนยากลำบากจนสิ้นอายุไปในที่สุด
สุดท้ายแล้วเสืออาจจะไม่ใช่สัตว์ดุร้ายที่คอยแต่จะขย้ำกิน แต่สิ่งที่มันทำก็เพื่อการดำรงชีพตามปกติก็เท่านั้น สิ่งที่หม่อมเชนกำลังอธิบายให้พวกเราฟังก็คือ เราจะมองสิ่งนั้นเป็นแบบไหนมันก็อยู่กับว่าเราจะเปิดใจเข้าใจมันหรือไม่มากกว่า และอย่าลืมว่าเราคือแขกแปลกหน้าไร้บัตรเชิญในที่ของมัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าชนิดไหน เราควรมีระยะห่างไว้เสมอ นี่เป็นเพียงแค่บางส่วนจากเรื่องราวของหม่อมเชนที่พวกเราคิดว่าอยากแบ่งปันให้กับชาวบ้านและสวน Expolrers Club ได้รับรู้กัน และสามารถนำมาปรับใช้ได้กับชีวิตของพวกเราทุกคนได้บ้าง
บางครั้งข้อจำกัดของการดำรงชีวิตอาจทำให้เราหลงเดินผิดทางไปบ้าง เราเลยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมด้วย “สัมภาระสติ” เพื่อเอาตัวเองกลับสู่ทางที่ถูกต้อง ความจริงแล้วเราเองก็อาจจะมีความคล้ายกันกับพวกสัตว์ป่าอยู่บ้างตรงที่เราทุกคนต่างดำรงชีวิตกันในแบบของตัวเอง มีหน้าที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราแตกต่างจากสัตว์ก็ป่าก็คือพวกเรามี “สามัญสำนึก” และ “ทัศนคิต” หากเราได้ลองพินิจสิ่งรอบตัวให้ลึกขึ้นด้วยการเปิดใจให้กว้าง พยายามมองมันด้วยเหตุและผล เราอาจได้เห็นอะไรบางอย่างที่ไม่เคยเห็น บางทีป่าเมืองที่พวกเราอาศัยกันนี้อาจจะน่าอยู่มากกว่าเดิมขึ้นมาเป็นกองก็ได้
“ในป่านั้นทุกชีวิตล้วนมีความสำคัญและเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดี”
ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
EXPLORER: ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
AUTHOR: บดินทร์ บำบัดนรภัย
PHOTOGRAPHER: ศุภกร ศรีสกุล