การขี่รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นดอยขึ้นเขาเข้าไปในพื้นที่ห่างไกลเพื่อเอาของไปแจกและอาสาสอนหนังสือเด็ก ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวในแบบฉบับของ ‘บี – ปารวี โมรา’ เด็กสถาปัตย์ที่ตกหลุมรักการเดินทางไปเป็นจิตอาสาอย่างหัวปักหัวปำ
ถ้าไม่นับรวมถึงการที่ บี – ปารวี โมรา เป็นคนชอบเที่ยวและเดินทางที่เหมือนจะถูกถ่ายทอดมาจากคุณแม่ จุดเริ่มต้นของการออกไปเป็นจิตอาสาแบบจริงจังของผู้หญิงคนนี้มาจากโซเชี่ยลมีเดียล้วน ๆ ไหน ๆ ต้องออกไปเที่ยวอยู่แล้ว ก็ไปทำอะไรให้มันได้ประโยชน์กับคนอื่นด้วยทีเดียวเลยดีกว่า นั่นเลยทำให้การเดินทางของเธอมีอะไรมากกว่าการเดินทาง
การได้เข้ากลุ่มจุดกางเต็นท์ทำให้บีได้รู้จักกับเพื่อน ๆ หลายคน ดูเหมือนสังคมออนไลน์จะเป็นจุดรวมพลของคนที่มีความชอบเหมือน ๆ กัน และมันเป็นอะไรที่ง่ายมากสำหรับการรวมตัวที่จะทำอะไรร่วมกันสักเรื่อง ซึ่งแน่นอนมันรวมถึงเรื่องของการอาสาออกไปทำประโยชน์อะไรสักอย่างให้กับหมู่บ้านต่าง ๆ บนดอย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าหมู่บ้านไหน อำเภอไหน เขาต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการขอแรงจากจิตอาสาอย่างเรา….. “ถามคนในเพจแล้วก็ Google ค่ะพี่” นี่คือคำตอบสั้น ๆ ของเธอ
ตุ๊กตา ขนม อุปกรณ์การเรียน อาหารแห้ง ที่ได้จากการบริจาคของเพื่อน ๆ ในกลุ่ม รวมถึงเต็นท์และสัมภาระส่วนตัวถูกหอบเอาใส่ลังพลาสติกซ้อนหลังรถเครื่องแบบที่มอเตอร์ไซค์สายทัวร์ริ่งคันโต ๆ เครื่องใหญ่ ๆ ยังซู้ดปากแล้วบอกว่าสุดยอด แน่นอนว่าก่อนจะต้องไปไหนสักที่ บีจะทำการขออนุญาตและประสานงานกับครู หรือผู้ใหญ่บ้านให้ถูกต้องเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว และถ้าทุกอย่างพร้อมก็สตาร์ทเครื่องบิดคันเร่งมุ่งหน้าไปที่จุดหมายได้เลย
การเดินทางส่วนใหญ่ของเธอจะใช้เวลาประมาณ 4 วัน ถึงหนึ่งสัปดาห์ แน่นอนว่าเรื่องของถนนหนทางก็ไม่ปกติ ทางลูกรัง ถนนขาด หรือบางพื้นที่ในฤดูฝนถนนก็เปลี่ยนจากทางฝุ่นเป็นทางโคลนเละ ๆ แต่บีไม่สน ถ้ามอเตอร์ไซค์ไปได้เธอก็ไป การเตรียมตัวถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
สำหรับการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่จะต้องเดินทางคนเดียว แล้วถ้าหากเกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นมาอย่างเช่นรถเสียกลางทางที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์จะทำอย่างไร….ไม่ต้องห่วง เธอไปเรียนซ่อมรถมอเตอร์ไซค์เบื้องต้นไว้บ้างแล้ว ถึงจะทำอะไรไม่ได้เยอะแต่อย่างน้อยเราจะรู้ว่าหากเกิดอาการผิดปกติระหว่างใช้งาน หรือก่อนเดินทางเราก็จัดการให้เรียบร้อย ส่วนในวันเดินทางจะแจ้งกับพื้นที่ไว้เรียบร้อยว่าจะถึงช่วงไหนเวลาไหน หากมีสัญญาณโทรศัพท์ก็จะรายงานให้ปลายทางรู้เป็นระยะ
การออกไปแต่ละครั้งแน่นอนว่าเราต้องเจออาหารที่ไม่ถูกปาก ที่นอนแบบไม่สบาย เด็ก ๆ จะซนมากน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้ เพียงแค่เราเตรียมตัวจัดการเรื่องของตัวเองให้ดีเรื่องการกินการอยู่ นอกเหนือจากสัมภาระแล้ว ความคาดหวังทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่ควรต้องหอบมันไปด้วย เราก็จะเจอแต่ความสุขตลอดการเดินทาง
“การที่ได้ออกไปทำให้เราเห็นหลายอย่าง บางที่เขาไม่ต้องการเสื้อผ้าแล้วเพราะมีคนบริจาคมาเยอะมากพอ แต่เขาต้องการอย่างอื่นมากกว่า ซึ่งตรงนี้ก่อนที่จะไปเราก็สอบถามความต้องการของชุมชนที่เราจะไปก่อนว่าต้องการอะไร ไม่ใช่ว่าเอะอะจะหอบเอาทุกสิ่งอย่างไปทั้งหมด แต่สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือบุคลากรที่จะไปอยู่ตรงนั้นนี่แหละ”
….เราขอสรุปแบบสั้น ๆ ว่าอย่าแค่เอาของไปให้ ถามความต้องการเขาด้วยก็ดีว่าเขาต้องการอะไร ก็จะได้ประโยชน์ทั้งผู้รับและผู้ให้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี อะ ขอปรบมือสามสเต็ปให้ครับปารวี!!!!!!
การเดินทางออกไปท่องเที่ยวในแบบฉบับของบีเกิดขึ้นจากความต้องการจากตัวเองล้วน ๆ แน่นอนว่าการจะทำอะไรสักอย่างนั้นมันไม่ใช่แค่มีเป้าหมาย แต่มันต้องมีพลังในการไปให้ถึงด้วย “จริง ๆ เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเราจะทำไปได้อีกนานแค่ไหน วันนี้ยังชอบอยู่แต่วันหน้าก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าเราทำอะไรก็แล้วแต่ด้วยความชอบ เราจะนึกถึงความสุขก่อนความเหนื่อย ถ้ายังมีใจยังมีแรงอยู่ก็ทำไป ขอให้ระหว่างทางแรงอย่าตก และสนุกกับมันให้เต็มที่ก็พอ”
….ดูเหมือนว่าความชอบในสิ่งที่ทำมันก็คงเหมือนพลังงานอย่างหนึ่ง ที่คอยขับเคลื่อนให้กับอะไรก็ได้ที่ทำอยู่มันเดินหน้าต่อไป อันนี้ค่อนข้างจริงและเราก็เห็นด้วย แต่การจะให้ไอ้เจ้าความชอบหรือ Passion ที่ว่านั้นอยู่กับเราได้นานแค่ไหน อันนี้ก็สำคัญเหมือนกันจริงมั้ย…..
ก่อนที่จะเดินทาง บีจะทำการตรวจโควิด และเฝ้าระวังอาการป่วยทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบข้าง ส่วนเรื่องที่สงสัยว่าไปคนเดียวแต่เห็นมีรูปถ่ายเยอะแยะก็เพราะเธอมีขาตั้งกล้องกับรีโมต และก็มีคนแถวนั้นที่ช่วยถ่ายให้ ปกติถ้าไปอาสาทำอย่างอื่นก็จะไปกันเป็นกลุ่ม แต่ถ้าสอนเด็ก ๆ จะชอบไปคนเดียวเพราะสะดวกกว่าเรื่องเวลา และไม่ต้องการให้มีจำนวนคนเยอะมากเกินไป
ติดตามเรื่องราวการเดินทางของเธอเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/parawee.journey
[ EXPLORER ]
บี – ปารวี โมรา
ชวนคุย : บาส