เรื่องราวจาก อาสาสมัคร สมาคมสหพันธ์ช้างไทย อดีตน้องนักศึกษาฝึกงานของเรา แม็กเป็นช่างภาพฝีมือดี แต่ขอเลือกกลับไปทำงานช่วยช้างที่เชียงใหม่ บ้านเกิดของเขา
เพราะโควิดระบาด ช้างบ้านเลยต้องกระจัดกระจาย แยกย้ายกลับภูมิลำเนา การช่วยช้างจากอาการเจ็บป่วยคือภารกิจเร่งด่วนสุดหินของ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย ถึงจะบุกป่าฝ่าดงก็ต้องไป เพื่อรักษาชีวิตสัตว์ใหญ่ชนิดนี้เอาไว้ให้ได้
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นการช่วยชีวิตช้างผ่านตา ตามสื่อต่าง ๆ กันมาบ้างแล้ว แต่คราวนี้ บ้านและสวน Explorers Club ได้มีโอกาสพบกับบุคคลที่หลงใหลสัตว์ใหญ่ชนิดนี้เอามาก ๆ ‘แม็ก ณัฐกิตติ์ มีสกุล’ ทีมงานอาสาที่คอยตามบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงภารกิจช่วยชีวิตช้างนี้เอาไว้มากมายหลายต่อหลายเชือก
แม็กเล่าว่า การช่วยช้างบ้านแต่ละเชือกไม่ใช่อะไรที่ง่ายเลย ไม่เหมือนหมาแมวที่เวลาป่วยก็อุ้มไปหาหมอ แต่งานนี้ ต้องหอบเอาทั้งหมอทั้งทีมงานและเครื่องไม้เครื่องมือสารพัดบุกป่าเข้าไปหาช้าง ซึ่งการประสานงานในแต่ละทีก็ไม่หมู แค่นี้ก็เริ่มยากแล้ว
เริ่มต้นจากคนที่รู้ว่าช้างป่วยก็คือควาญหรือเจ้าของช้าง ประสานงานผ่านชุมชนติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ช่วยเหลือ ที่ถูกแบ่งการดูแลไปตามพื้นที่ กรณีของแม็กคืออาสาสมัครที่ติดตามไปกับศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากได้รับแจ้ง ทีมงานต้องเตรียมตัวแบบเร่งด่วนทันทีภายใน 48 ชั่วโมงช้างต้องได้รับการรักษา หากปล่อยให้นานกว่านั้นบางกรณีการรักษาก็จะยากขึ้น
การเดินทางไปหาช้างในที่ต่าง ๆ ก็ลำบากทั้งเส้นทาง ทั้งสภาพอากาศ อุปสรรคต่าง ๆ จัดกันมาเต็มทุกรูปแบบ ยิ่งในฤดูฝนเรียกได้ว่าถึงจะเละก็ทุกคนก็พร้อมลุย
การรักษาช้างหนึ่งเชือกไม่ใช่การรักษาแบบหนึ่งต่อหนึ่งแต่มันคือหนึ่งต่อสิบ ชนิดที่เรียกว่า ไม่ว่าคุณจะมา ด้วยตำแหน่งอะไรพอถึงหน้างานจริง เวลานั้นทุกคนในทีมมีหน้าที่ ที่ต้องช่วยกันหมด ความปลอดภัยของทีมงาน คือเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเพราะแรงสะบัดและแรงดีดของขาหลังช้างนั้นไม่ธรรมดา ฉะนั้นการล่ามโซ่และการบังคับด้วยควาญจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่จะให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
หลังจากที่สัตวแพทย์ตรวจอาการตามขั้นตอนแล้ว หากมีการขาดเหลืออุปกรณ์อะไร ก็จะมีทีมประสานงานมาสมทบอีกทีหนึ่ง และอุปกรณ์ที่เรียกได้ว่ามีบทบาทในการรักษาไม่แพ้อุปกรณ์ใด ๆ เลยก็คือร่างกายคนนี่แหละ
อาการท้องอืดฟังดูไม่เลวร้าย แต่สำหรับช้างก็ถือเป็นกรณีฉุกเฉินสุด ๆ การมีแก๊สสะสมเยอะในระบบทางเดินอาหารแล้วไม่สามารถระบายออกได้จะส่งผลกับช้างเป็นอย่างมากเพราะช้างเรอไม่ได้แบบคน แก๊สจะออกได้ก็ทางก้นทางเดียวเท่านั้นการสวนและล้วงขี้ช้างออกมาเพื่อช่วยระบายแก๊สที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ถือเป็นสิ่งที่ทำแทบจะทุกครั้ง คนที่มีรูปร่างสูง และแขนยาวเท่าไหร่ยิ่งดี และแน่นอน แม็กก็ได้รับสิทธิ์นั้น
เราขอข้ามการบรรยายการความรู้สึกแรกของแม็ก ที่ล้วงก้นช้างไปเลยจะดีกว่า เราขออธิบายสั้น ๆ ว่ามันไม่ได้แย่เหมือนที่ทุกคนจินตนาการไว้หรอก ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ มันไม่ง่ายเลย ด้วยกล้ามเนื้อของลำไส้ที่บีบรัดให้ความรู้สึกที่แน่นกว่าเครื่องวัดความดันที่เราเจอเกันตามโรงพยาบาล และขี้ช้างที่แข็งมาก ๆ จนทำให้การช่วยเหลือในแต่ละครั้ง ใช้เวลากันเป็นวัน ๆ และต้องช่วยกันหลายคนกว่าจะเสร็จก็เล่นเอาหมดแรง
หลังจากนั้น ต้องคอยดูอาการอีกระยะ ถ้าไม่มีอะไรที่น่าห่วงแล้วทีมงานก็เดินทางกลับ และคอยให้ควาญรายงานอาการกันอยู่ตลอดโดยการส่งภาพ และรายงานอาการผ่านโทรศัพท์มือถือ เราไม่อยากคิดเลยว่าก่อนหน้าที่จะมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถส่งรูปส่งข้อความกันได้เหมือนตอนนี้ เมื่อก่อนมันจะยากลำบากกันขนาดไหน
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ นั่นคือส่วนหนึ่งของการรักษาช้างเพียงแค่เชือกเดียวเท่านั้น แต่ในการปฏิบัติงานจริง มีขั้นตอน และรายละเอียดอีกมากมายในการรักษา บางครั้งไม่ได้มีแค่ช้างเชือกเดียวและในหนึ่งเดือนก็มีช้างหลายเชือกที่ต้องได้รับการรักษาเราต้องขอยกย่องและนับถือสัตวแพทย์และทีมงานทุกท่านที่ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อรักษาชีวิตสัตว์คู่บ้านคู่เมืองชนิดนี้เอาไว้ ทุกคนสุดยอดมาก ๆ
ณัฐกิตติ์ มีสกุล หรือ แม็ก ศิษย์เก่าสาขาวิชาออกแบบสื่อสาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อดีตน้องฝึกงานโครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย และบ้านและสวน Explorers Club
[ EXPLORER ]
แม็ก
สามารถติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ
เกี่ยวกับช้างจาก ‘แม็ก, ได้ที่
https://youtube.com/channel/UCSCZB4N7XuZtFTsImszALZg
ชวนคุย: บาส
ขอบคุณ: ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย