คนริมคลอง นักศึกษาสาขาประมง นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล นักอนุรักษ์พะยูน เจ้าของเรือแท็กซี่พลังงานแสงอาทิตย์ หลากหลายบทบาทที่เกี่ยวพันกับสายน้ำตลอดเส้นทางของ สุวรรณ พิทักษ์สินธร แห่ง Thai Solar Taxi Boat สามารถบ่งบอกสิ่งที่เป็นหรือสิ่งที่เขาทำได้อย่างดี หากแต่ทั้งหมดนั้น ได้หล่อหลอมขึ้นจากหัวใจที่รักในสิ่งแวดล้อม และอยากทำทุกวิถีทางให้โลกที่อยู่ ไม่แย่ไปกว่านี้
เรามาพบกับพี่สุวรรณที่ท่าเรือหน้าวัดอัมพวัน บางใหญ่ นนทบุรี เพื่อข้ามเรือเข้าไปยังตัวบ้าน เนื่องจากยังไม่มีถนนตัดผ่าน ซึ่งพี่สุวรรณได้ขับเรือมารับด้วยตัวเอง เราจึงรู้ทันทีในแว่บแรกถึงความเชี่ยวชาญตามวิถีคนริมคลอง นอกจากทักษะการขับเรือที่มีแล้ว ยังเห็นถึงความคล่องแคล่วกระโดดขึ้นลง เดินบนกาบเรือ ผูกเงื่อนอย่างทะมัดทะแมง ส่งสัญญาณถึงเรื่องที่จะคุยกันในวันนี้ต้องสนุกแน่ ๆ



Eco Trip ล่องลำน้ำ ท่ามกลางความสงบ
สำหรับการท่องเที่ยว ช้าเร็วอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างทาง สัมผัสแรกที่เรารู้สึกบนเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ‘ส.ทองประเสริฐ’ ของพี่สุวรรณ คือความเงียบสงบให้ได้ดื่มด่ำกับการเดินทางไปอีกแบบ บางจังหวะอาจได้ยินเสียงเบา ๆ ของมอเตอร์ไฟฟ้าขึ้นมาบ้าง แต่ระดับเดซิเบลก็ยังห่างกลับเรือเครื่องสันดาปอยู่มากนัก
ระหว่างที่นั่งตรงชานบ้านริมน้ำ มีเรือหลายลำผ่านมา ส่งเสียงอื้ออึงจนฟังกันไม่รู้เรื่อง พี่สุวรรณใช้โอกาสนี้เล่าว่า ถ้าเป็นเรือไฟฟ้า ก็จะไม่มีทั้งเสียง กลิ่น ควัน “คุณคิดดูนะ คลองแคบ ๆ มีเรือวิ่งเกือบทั้งวัน ไหนจะควัน ไหนจะคลื่น บางลำก็ขับเร็วและเสียงดังมาก เพราะในคลองมันไม่มีกำหนดความเร็ว แล้วชุมชนริมคลองเขาอยู่กับสิ่งนั้นตลอด ในแหล่งท่องเที่ยววันหนึ่งเขารับเรือ 30 เที่ยวเลยนะ ถ้าเรือแบบเรา (เรือไฟฟ้า) คลองก็จะเงียบสงบแบบที่นั่งมาเมื่อกี้นี้”

สำหรับ Thai Solar Taxi Boat คือเรือแท็กซี่นำเที่ยวในคลองอ้อมนนท์ ที่พี่สุวรรณได้นำมาเอาไอเดียเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งาน โดยไม่ได้ตั้งใจทำกำไรในเชิงธุรกิจ เป้าหมายเขาคืองานที่ทำแก้เหงาหลังเกษียณ ให้มีสังคมได้พูดคุยกับผู้คน และหวังให้เป็นที่ Showcase เรือไฟฟ้าที่จุดประกายให้ผู้คนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น
และในปัจจุบัน Thai Solar Taxi Boat กำหนดเส้นทางท่องเที่ยวชมบรรยากาศวิถีชีวิตริมคลองเอาไว้ 2 เส้นทางหลัก เริ่มต้นที่ท่าน้ำวัดอัมพวัน บางใหญ่ มุ่งหน้าไปทางวัดชะลอ บางกรวยแล้ววกกลับ และอีกเส้นทางคือวิ่งไปทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงแถวสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งเรือ ส.ทองประเสริฐ ของพี่สุวรรณรองรับได้ 10 ที่นั่ง แต่ถ้าจะให้สบาย เที่ยวละ 6 คนถือว่ากำลังพอดี
“พี่อยากให้คนมาเที่ยวคลองอย่างมีความสุข ไม่ใช่นั่งเรือ วู้ดไป วู้ดมา ตะโกนคุยกัน แล้วก็บอกเบื่อไม่อยากมาแล้ว จริง ๆ แต่ก่อนพี่ก็ไม่ชอบนั่งเรือนาน ๆ นะ เพราะเสียงมันดัง หนวกหู เหม็นน้ํามัน พี่จึงพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้คนมารู้จักคลองและได้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มาแล้วไม่อยากมาอีก เพจที่ทำขึ้นก็ไว้เป็นช่องทางการติดต่อ ไม่ได้ทำการตลาดอะไรเลย”


จาก ‘พิทักษ์สมุทร’ สู่ ‘ส.ทองประเสริฐ’
ย้อนกลับก่อนหน้านี้ พี่สุวรรณเล่าเรื่องราวที่มาของเรือ ส.ทองประเสริฐ ให้เราฟังว่า เรือลำนี้ไม่ใช่เรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ลำแรกที่เขาพัฒนาขึ้น เพราะบทบาทการเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ข้าราชการในสังกัดกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทำงานด้านอนุรักษ์อยู่กับท้องทะเล ซึ่งพี่สุวรรณนี้เองที่เป็นผู้ทำโครงการสำรวจจำนวนพะยูนและรณรงค์การอนุรักษ์อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2530 หลังจากที่ก่อนหน้านั้น ไม่มีรายงานการพบพะยูนในน่านน้ำไทยนานหลายปี
ซึ่งภารกิจทางทะเลที่ต้องใช้งานเรืออยู่เป็นประจำ ทำให้พี่สุวรรณคิดเรื่องเรือที่ตอบโจทย์การใช้งานอนุรักษ์มาหลายสิบปี เขารึเริ่ม คิดค้น ออกแบบ และแก้ไขอยู่หลายต่อหลายครั้ง จนได้เรือต้นแบบมาทดลองใช้ กระทั่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาคธุรกิจเอกชนรายหนึ่ง จนเกิดเป็นเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ‘พิทักษ์สมุทร’ ออกโลดแล่นทำภารกิจในทะเลไทยยาวนานหลายปี และยังได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย


“พูดถึงรางวัล พี่ก็รู้สึกผิดหวังนิด ๆ นะ (ยิ้ม) เรือพี่ได้รางวัลเกี่ยวกับด้านพลังงานมา 3 – 4 รางวัล แต่ความจริง เราคิดเรือแบบนี้ขึ้นมาเพราะต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี เรื่องพลังงานนั้นไม่ใช่เป้าหมายหลักเลย พี่ต้องการเรือที่ไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ปล่อยคาร์บอน ไม่ทิ้งคราบน้ำมัน เสียงเงียบ
“คิดดูนะ ก็เรามาปกป้องดูแลเขา (สัตว์ทะเล) แล้วทําไมเราถึงมาทําลาย มาทําบ้านเขาสกปรก พี่ว่ามันไม่ถูก ตอนแรกก็คิดถึงเรือใบ แต่คิดว่าคงใช้งานยาก ต้องมีเทคนิคการขับ คนทั่วไปไม่ใช่ขับง่าย ๆ ถ้าไม่มีลมก็ไปไม่ได้ จนวันหนึ่งนั่งหลบแดดกันอยู่ก็คิดว่า บ้านเราแดดเยอะ แดดแรง ทำไมไม่มีเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของเรือพิทักษ์สมุทร”



กลับบ้าน มุ่งหน้าสู่ชีวิตที่เรียบง่าย
จากตรงชานบ้าน พี่สุวรรณชี้มือไปยังบ้านหลังถัดไป พลางเล่าว่านั่นเป็นบ้านของครอบครัวเขา ที่ตรงนี้คือที่ที่เขาเติบโตมา เคยโดดเล่นน้ำ ดำผุดดำว่ายตามประสา และเป็นที่ที่ปลูกฝังให้เขารักน้ำและสนใจสิ่งแวดล้อม จนพาตัวเองไปเรียนคณะประมงและได้ทำงานที่รักมาจนถึงเกษียณ กระทั่งการกลับมาซื้อที่ดินปลูกบ้านอยู่ติดกันตรงนี้ก็กลายเป็นแผนเกษียณด้วยชีวิตสงบริมคลองที่เขาหลงเสน่ห์มาโดยตลอด
และการกลับมาใช้ชีวิตริมคลองหลังเกษียณเป็นความต้องการของเขาและพี่อ๋อย-ภรรยา ด้วย เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าของเรือสักลำก็สอดคล้องกับวิถีริมคลอง ซึ่งเรือ ส.ทองประเสริฐ ที่ได้นำเอาแนวคิดเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ได้ตอบโจทย์หัวใจเขาได้ครบถ้วน


“จุดมุ่งหมายของเรือลำนี้ ไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเราอยู่กับมัน หน้าบ้านเรา ตำบลเรา เราควรคิดว่าเราจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีหรือไม่ ไม่มีใครอยากให้หน้าบ้านเป็นคลองน้ำเน่า หรือถนนที่มีแต่ฝุ่น เรื่องพะยูนเราทําอะไรไม่ได้แล้วเพราะมันอยู่ไกลเกินไป แต่เรายังมีความรู้ด้านนี้ เรื่องเรือไฟฟ้าเราทําได้เลย อยู่หน้าบ้านเรา
“อยู่ริมคลอง เราได้เห็นอะไรที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่เปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ ไหลเอื่อย ๆ ชีวิตมันจะช้า ๆ เย็น ๆ ไม่มีไอร้อน ไม่มีฝุ่น มีต้นไม้เยอะ มันคือเสน่ห์ของชุมชนริมน้ํา ที่ยังพอเห็นคนใช้ชีวิตแบบเก่าอยู่ คือคนเราโดยปกติถ้าเห็นอะไรที่เราไม่เคยรู้จักมันจะมีความแปลกตาอยู่แล้ว ตั้งแต่เด็ก พี่ชอบน้ํา ชอบเรือแต่ไม่ได้รู้ลึกมาก แค่รู้หลักการทําเรือว่าต้องเป็นอย่างไร ใบจักรเรือพี่ก็ใช้แบบที่ชาวบ้านใช้ ถึงมันจะมีหลายแบบเราก็แค่ไปเลือกมาใช้ให้ถูก ทดลองไปเรื่อย ๆ ก็เจอแบบที่เหมาะกับเรือเราเอง”

ความรู้ที่มี ยินดีแบ่งปัน
ตลอดการพูดคุยมากว่าชั่วโมง ใจเราเริ่มสัมผัสได้ถึงหัวใจที่รักสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงของพี่สุวรรณ จนเผลอคิดได้ว่า เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เขาเล่าถึงนั้นเป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าคือสิ่งแวดล้อมที่ดี และเขามองว่าการท่องเที่ยวชุมชนในแบบที่ทำอยู่นี้ก็ยังมีความท้าทายรออยู่อีกมากหากจะขยายไปในวงกว้าง เป้าหมายที่ว่านี้ยังต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจอย่างมหาศาลจากทุกคน
ส่วนที่พี่สุวรรณทำได้ ทำอยู่ และจะทำต่อไป คือการแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ออกไปเรื่อย ๆ แก่ทุกคนที่ต้องการ “พอพี่ทําเรือแบบนี้ได้แล้ว ก็คิดว่าถ้าใครอยากทําเรือไฟฟ้าติดต่อมาได้เลย พี่ยินดีให้คำปรึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตอนนี้ก็เป็นที่ปรึกษาให้โครงการเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี อยู่ด้วย และอีกสองรายที่บางน้ำผึ้งกับที่วัดไร่ขิง ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา”
หลังจบบทสนทนา เราแอบคิดไปว่า หากในคลองทุกคลอง แม่น้ำทุกสาย มีแต่เรือไฟฟ้าวิ่งกันไปมากันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ความสงบเงียบน่าจะช่วยเติมเต็มเสน่ห์ของการเดินทางทางน้ำให้เพิ่มขึ้นอีกมากมายเลยทีเดียว

EXPLORER: สุวรรณ พิทักษ์สินธร
AUTHOR: เอ็กซ์-พงษ์อมร ต้นสายเพ็ชร
PHOTOGRAPHER: ต้น-ศุภกร ศรีสกุล