‘Urban Ally’ (เออเบิ้น อัลไล) หลายคนน่าจะคุ้นชื่อนี้กันอยู่บ้าง ในฐานะทีมเบื้องหลังการจัดหลาย ๆ นิทรรศการน่าสนใจที่เกิดขึ้นในงาน Bangkok Design Week ปีที่ผ่านมา อย่างเช่นการพัฒนาพื้นที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมานมนานอย่าง ‘ประปาแม้นศรี’ ในโปรเจ็กต์ ‘มิตรบำรุงเมือง’ จนทำให้ หอเก็บน้ำประปาแห่งแรกของไทย แห่งนี้ ที่ปกติจะไม่เปิดให้คนนอกย่างกรายเข้าถึง กลายเป็นหมุดหมายยอดฮิตจุดหนึ่งของเหล่านักสำรวจประจำย่านพระนคร
คนดีไซน์ต่างรับรู้กันว่า ช่วงปลายเดือนมกราคมของทุก ๆ ปี เป็นช่วงเวลาที่หลายย่านในกรุงเทพฯ ถูกเนรมิตให้อบอวลไปด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์ งานออกแบบ นิทรรศการ กิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพื้นที่ซึ่งเหล่านักสร้างสรรค์มารวมตัวกันโดยนัดหมาย
แน่นอนว่าในปีนี้ Urban Ally ยังคงกลับมาตอกย้ำคุณค่าของการอนุรักษ์สถานที่รวยรุ่มเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่เมื่อรวมเข้ากับกระบวนการออกแบบอย่างเข้าใจ นั้นสามารถจุดประกายให้สังคมมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ ย่าน และเมือง ที่ยังสามารถพัฒนาไปได้ไกลยิ่งกว่าเพียงใด ถ้าเกิดทุกฝ่ายร่วมมือกัน
หากใครยังคงรู้สึกประทับใจ และมีภาพจำเมื่อนึกถึงงาน BKKDW 2023 เป็นภาพหอเก็บน้ำขนาดยักษ์ที่ถูกพาดด้วยวัสดุโปร่งแสงสีใส ผสานเข้ากับ Lighting Design แล้วทำการยิง Projector Mapping ลงไปจนเกิดเป็นนิทรรศการมีชีวิตอันตื่นตา แนะนำให้กลับมาเยี่ยมประปาแม้นศรีในเวอร์ชั่น BKKDW 2024 อีกครั้ง เพราะครั้งนี้ Urban Ally กลับมาในพื้นที่เดิม เพิ่มเติมคือยิ่งใหญ่และตระการตามากขึ้น
Urban Ally เป็นใคร มาร่วมทำความรู้จักตัวตน เบื้องหลังกลุ่มคนที่วางตนเป็นมิตรของเมืองกลุ่มนี้ให้ดียิ่งขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์ ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ หรือ พี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ก่อนจะไปชมสารพัดนิทรรศการสดใหม่ที่กระจายตัวอยู่ในบริเวณย่านเมืองเก่า เขตพระนคร ที่มาในคอนเซ็ปต์ “มิตรบำรุงเมือง Life” หนึ่ง Node สำคัญของงาน Bangkok Design Week 2024 กันในวันพรุ่งนี้ (27 มกราคม 2567)
ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง
Urban Ally คือศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือมีชื่อเต็ม ๆ ว่า ‘ASEAN Connection centre for Urban Design and Creativity’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของมิตรนักออกแบบเมือง นักวิจัยที่สนใจเรื่องเมืองผู้มองหาโอกาสในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
เพื่อให้การพูดคุยมีอรรถรส ที่สำคัญคือจะได้ลุยจัดงานต่อได้เลย ดร. พีรียา จึงนัดหมายเรามาเจอกันในพื้นที่จัดงานจุดหลักอย่างประปาแม้นศรี ที่จะเปิดให้ได้เข้ามาชมกันจริงๆ ในวันเสาร์นี้
Urban Ally คือศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือมีชื่อเต็ม ๆ ว่า ‘ASEAN Connection centre for Urban Design and Creativity’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของมิตรนักออกแบบเมือง นักวิจัยที่สนใจเรื่องเมืองผู้มองหาโอกาสในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
เมืองที่ต้องคิดและลงมือทำ
“Urban Ally เป็นศูนย์ฯที่พยายามจะหาวิธีการทำงานกับเมือง โดยมองสองมุม เราเป็น Think Tank ที่คิดเรื่องของเมืองผ่านการสนับสนุนเรื่องข้อมูล โดยร่วมมือกับชุมชนและภาคีต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งคือ Do Tank หรือการลงมือทำ โดยพื้นฐานเราคือคนทำงานวิจัย เราจึงพยายามทำให้ความร่วมมือเกิดขึ้นจริง ผ่านการทำงานทดลองรูปแบบต่างๆ”
“เราพยายามจะมองพื้นที่ของเมืองที่ไม่ได้มองในสเกลผังเมืองใหญ่ หรือการเปลี่ยนโครงสร้าง แต่เราสนใจพื้นที่เล็กๆ ในเมืองที่สามารถนำมาประกอบเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ การใช้ Creative Place Making การร่วมมือกับชุมชน สร้างพื้นที่ใหม่ๆ ในเมือง พื้นที่ที่ไม่ถูกใช้ก็สามารถถูกใช้งาน เราทำงานในหลายระดับ ตั้งแต่เรื่องของข้อมูล การวิเคราะห์ การวางแผนของย่าน ไปจนถึงการลงมือทำ หนึ่งในนั้นคืองาน BBKDW ก็เป็นการใช้เทศกาลเป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ หรือทดลองว่าพื้นที่นั้นๆ จะมีแนวทางในการพัฒนาอย่างไรได้บ้าง แล้วค่อยพัฒนาต่อไป เป็นบทบาทที่เรามองว่าเราอยากลงเข้าไปกระตุ้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเดินหรือการใช้พื้นที่”
กระตุ้นเมืองเก่าเพื่อก่อสิ่งใหม่
“เราเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองเก่า เราเห็นการเปลี่ยนผ่านของเมืองเก่ามาเยอะมาก แล้วก็เรารู้สึกว่าเมืองมีเสน่ห์ แล้วเราไม่อยากให้คนมองว่าเมืองเก่าคือของเก่า เราอยากให้เมืองเก่ามีชีวิตชีวา มีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้กิจกรรมใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ เข้าไปอยู่ในพื้นที่ได้ร่วมกับคนในพื้นที่เดิม ถ้าเราปล่อยเมืองให้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ เมืองก็จะมีอายุของมัน ไปต่อได้ แต่การเข้าไปกระตุ้น การสร้างชีวิตใหม่ๆ มันก็ก่อให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นได้ ดึงคนใหม่ๆ เข้ามาได้”
“แล้วกระบวนการดำเนินการของเมืองปกติทั่วๆ ไปจะเป็นในรูปแบบของ Top down แต่ถ้าเราสามารถทำการกระตุ้นจากชุมชน จากนักออกแบบหรือดีไซเนอร์แขนงต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม เราจึงพยายามจะเน้นการทำงานโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ มาทำงานร่วมกัน เช่น งานศิลปะก็เชิญศิลปิน งานแสงสีก็เชิญ Lighting Designer มา ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้แต่ละสาขาวิชาชีพเขามีจุดยืนในการจะเข้ามาทำงานร่วมกันได้ เพราะในหนึ่งโปรเจ็กต์มันไม่ได้มีแค่ Urban Designer แต่นักออกแบบผังเมืองยังมีหน้าที่ร้อยเรียงผู้คนแขนงต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในวงโคจรเดียวกันเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน”
เมืองเก่าที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อน
“จริงๆ ทุกเมืองมีศักยภาพในตัวของตัวเอง แต่อาจจะแตกต่างกันหลายด้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนในพื้นที่นั้นๆ มีความเข้มแข็ง มีใจที่พร้อมจะทำมากแค่ไหน มีความร่วมมือมากแค่ไหน จริงๆ แล้วหลายที่ก็มีคนที่อยากทำเมืองให้ดีขึ้น รักเมือง แต่ต้องมีคนจากมุมต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำ”
“การมองศักยภาพจึงเริ่มจากมีสินทรัพย์ หรือของที่พร้อมถูกต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นตึกเก่า อาคารที่มีคุณค่าแต่ไม่ถูกใช้งาน หรือโครงสร้างของเมืองที่แบบจริงๆ สองจุดนี้สามารถเดินเชื่อมถึงกันได้นะ แต่ตอนนี้มันอาจจะยังไม่ปลอดภัย เดินไปแล้วมันมีกิจกรรมที่เราสามารถทำระหว่างทางได้ มีตึกสวยให้เดินดูเรื่อยๆ หรือการมีรากบางอย่าง เช่น วัฒนธรรมที่สามารถจับต้องได้หรือกายภาพที่จับต้องไม่ได้ แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือคนที่พร้อมจะเข้ามาร่วมมือกับเรา ถ้าสองสิ่งนี้มาผนวกกันแล้วมีกลไกบางอย่าง”
ผู้คนคือหัวใจสำคัญในการพัฒนาเมือง
“กลไกที่ Urban Ally พยายามจะทำ ไปกระตุ้น ไปรวมกลุ่ม ไปหาแพลตฟอร์มที่ดึงหลายๆ หน่วยเข้ามา อาจจะลองให้เกิดขึ้นชั่วคราวก่อน อย่างเช่นผ่านเทศกาล เมื่อเห็นศักยภาพของพื้นที่แล้วก็จะไปต่อข้างหน้าได้ แต่การจะไปต่อก็มีอีกส่วนที่สำคัญ คือภาครัฐ หรือท้องถิ่นเข้ามาร่วมตั้งแต่ต้นแล้วทำมันต่อไป จากที่เราเริ่มกระตุ้น”
“หนึ่งคือการหาโปรแกรมว่าอะไรที่จะเหมาะสม สองคือพื้นที่นั้น ชุมชนนั้นขาดอะไร แล้วเราจะเอาอะไรเติมเข้าไป นี่คือเลนส์ที่ Urban Ally ถูกเทรนด์มาให้มองเรื่องนี้ มันมาจากฐานข้อมูลด้วย การพูดคุยกับคน การมองหาศักยภาพ”
“ยกตัวอย่างโปรเจ็กต์ที่ตรัง เราลงไปสำรวจพื้นที่ เราเจอคลองห้วยยางที่อยู่กลางเมือง แต่ปัจจุบันนี้ทุกคนหันหลังให้คลองหมดแล้ว ซึ่งจริงๆ สภาพแวดล้อมมีความสวยงาม แล้วชุมชนก็อยากกระตุ้นคลองนี้ แต่มันไม่มีแพลตฟอร์มหรือโครงการอะไรที่จะกระตุ้นให้คนมาร่วมมือกันได้ เราก็เลยร่วม Curate งาน “มาแต่ตรัง” ผ่านการใช้พื้นที่คลองนี้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมสินทรัพย์ต่างๆ ที่เขามี ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ ศาลเจ้า ร้านอาหาร เริ่มต้นจากต้องหาหัวใจของมันให้เจอก่อน พอเจอศักยภาพแล้วทุกอย่างจะเชื่อมกันเอง แค่มันไม่เคยถูกทำมาก่อน สินทรัพย์จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นมรดกสวยงามอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในพื้นที่นั้นที่รอวันให้คนเข้าไปกระตุ้นให้สวยงาม ให้ถูกใช้มากขึ้น”
“หรือโครงการก่อนหน้านี้ ที่เราได้รับความไว้วางใจและโอกาสจากสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ให้เข้ามามีส่วนร่วมในหลายๆ งาน เช่น งาน Unfolding Bangkok โดยแนวคิดคืออยากให้คนเข้าไปเที่ยววัดในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ เราพูดถึงมุมมองทางวิชาการแล้วทำให้เนื้อหาทางวิชาการมันมีความสนุกสนานมากขึ้น ตอนที่เราเริ่มทำงานนี้ เราร่วมมือกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย ในการเอาเรื่องสถาปัตยกรรมหรือพุทธคติอะไรมาบางอย่างมาเล่าร่วมกับดีไซเนอร์ เช่น การทำ Projection Mapping การทำ Lighting ซึ่งก็จะมีฐานคนกลุ่มหนึ่งที่เราคิดว่าเขาตามเราไปทุกโครงการ
“ทุกที่ที่เราไป แล้วกระตุ้นให้เกิดการใช้พื้นที่หรือการแสดงออกทางด้านศิลปะ งานนี้นับว่าเป็นงานที่จุดประกายเราเลยว่ามันสามารถทำได้ เราใช้วิธีการใหม่ๆ ในการเล่าได้ แล้วคนในชุมชนก็มามีส่วนร่วมด้วย มีการจัดตลาด มีหนังกลางแปลง เปลี่ยนจากวัดร้างให้มีคนเข้ามาใช้งานวันละเป็นพันคน นี่คือสิ่งที่ชุมชนขาด แล้วเราแค่เติมกิจกรรม เติมความงามให้พอเหมาะร่วมกับกิจกรรมชุมชนแบบบ้านๆ ตอนนั้นที่ประสบความสำเร็จคือการมองหาสมดุลของชุมชนและงานของนักออกแบบ มันก็กลายเป็นเลนส์ของเราที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง”
ความท้าทายในการจัดการพื้นที่เมืองเก่า
“เป็นประเด็นเรื่องเจ้าของพื้นที่ รวมถึงสภาพอาคารเก่าที่เราไม่ได้เข้าไปปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงให้พร้อมใช้งานขนาดนั้น แต่ทำอย่างไรให้ไม่ทำลาย ต้องรักษาของเดิมไว้ ไม่ทำสูญหาย หรือไม่ทำให้คุณค่ามันพังทลายลง ภายใต้โจทย์ของการสร้างชีวิตใหม่หรือวิธีการใหม่ๆ อันนี้คือความท้าทายที่อาจเสี่ยงกับความดราม่าบ้าง”
“แต่ อ.สิงหนาท (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท) ผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเมืองและประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ว่าเราจะเริ่มต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนเสมอ ว่าเดิมพื้นที่นี้เคยเป็นอะไรมาก่อน มีการใช้งานอย่างไร เล่าผ่านอะไร เราก็จะเตรียมข้อมูลชุดนี้ไว้สำหรับให้ดีไซเนอร์ที่จะเข้ามาร่วมออกแบบร่วมกับเรา สิ่งนี้เราจะส่งมอบให้ดีไซเนอร์ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมได้เคารพประวัติศาสตร์ของพื้นที่เดิมด้วย”
ผูกมิตร ปลุกเมือง ในงาน BKKDW 2024
“ปีนี้เราจัดเป็นปีที่สาม ที่เป็น Co-Host กับงาน BKKDW โดยปีที่แล้วเราใช้ชื่อว่า “มิตรบำรุงเมือง” ปีนี้เราใช้คำว่า “มิตรบำรุงเมือง LIVE” ก็คือพยายามทำให้มีความต่อเนื่อง เข้ากับธีมงานรวมคือ Liveable Scape เรื่องของการสร้างเมืองกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ขึ้น ในส่วนของธีมย่อยเราจะใช้ว่า Everyday Life Festival คือการทำเทศกาลที่เข้าไปแตะพื้นที่ที่คนใช้ชีวิตในประจำวัน เช่น สวนสาธารณะ หรือพื้นที่ที่คนไม่ได้ใช้อย่างประปาแม้นศรี ให้คนได้ลองเข้ามาใช้ชีวิตได้”
“โดยพื้นที่หลักๆ จะอยู่บนถนนบำรุงเมือง แล้วเพิ่มแกนถนนสนามไชยเข้าไป ศูนย์กลางจะอยู่ที่ประปาแม้นศรีที่เราอยากจะพัฒนาศักยภาพให้เป็น Creative Space ของเมืองเก่า มีพื้นที่ป้อมมหากาฬที่มีการไล่รื้อชุมชนเพื่อเป็นสวนสาธารณะ ก็จะมีการพูดถึงพื้นที่ที่คนสามารถเข้ามาใช้งานมากขึ้น”
“รวมถึงสะพานผ่านฟ้าฯ กับสะพานมหาดไทยอุทิศ ที่มีการทำ Lighting Design สวนรมณีนาถเราก็มีการดึงดีไซเนอร์มาร่วม โดยเขาก็มีไอเดียในการใช้หอคุมนักโทษเดิมเกิดเป็นอัตลักษณ์ใหม่ ชื่อน้องซูซาน ปรับภาพจำให้สถานที่ไม่น่ากลัวเหมือนเดิม มีตัวตนใหม่ใน Instagram พูดถึงสวนสาธารณะที่สามารถใช้งาน ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ในเวลากลางคืนด้วย มีห้างอีแอมกาติ๊บ ตั้งอยู่ต้นถนนบำรุงเมือง เป็นตึกเก่าที่ปิดร้างมานานมาก เป็นห้างที่ทันสมัยมากเมื่อก่อน ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของอาคารให้เปิดเป็นพื้นที่นิทรรศการ”
“และสุดท้ายเลยคือพื้นที่ในศาลา กทม. ที่เราพยายามพูดถึงบทบาทของศาลาว่าการ ที่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะย้ายออกไป มีการพูดถึงการใช้เป็นพื้นที่พลเมืองในเวลานอกราชการ อันนี้ก็เป็นคอนเซ็ปต์ของพื้นที่ 5 จุดของ “มิตรบำรุงเมือง LIVE” ที่เราทำ ซึ่งจะมีทั้งงานสร้างสรรค์ งานออกแบบต่างๆ
เดินชมพื้นที่ 5 จุด ภายในเวลา 20 นาที
“จุดจัดงานของเรามีทั้งหมด 5 จุด ซึ่งเรามองจากโครงข่าย โดยเริ่มจากถนนหลักสามสายที่เป็นถนนแรกของกรุงเทพฯ คือเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร เราเริ่มจากเลือกถนนบำรุงเมืองมาเป็นแกน เพราะชื่อมิตรบำรุงเมือง จุดเริ่มต้นมาจากชื่อถนน เราก็เริ่มดูโครงข่ายย่อยจากถนนบำรุงเมืองว่ามีอะไรบ้างที่เดินถึงได้ ตอนนี้ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรหรือใช้เวลา 15-20 นาที ก็สามารถเดินถึงได้ ตัดแกนกับถนนมหาไชยเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงท่าเรือสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีทางลัดที่เดินเป็นบล็อกเล็กๆ ได้ เราก็พยายามจะเชื่อมโครงข่ายนี้เข้าหากัน ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมืองในระยะที่คนสามารถเดินได้”
ทำเรื่องเมืองให้ยั่งยืน
“ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เราถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด อ.สิงหนาท ก็จะบอกเราว่าเทศกาลมันเป็นเพียงกระบวนการ แต่ไม่ใช้ผลลัพธ์ เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มที่ช่วยทลายข้อจำกัดหลายๆ อย่าง และได้ทดลองทำจริงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนั้นคือถ้าภาครัฐหรือเจ้าของพื้นที่เห็นคุณค่า มองเห็นศักยภาพของมัน ก็จะดำเนินการต่อได้ เราเป็นเพียงผู้สร้างกระบวนการนี้ให้มองเห็นภาพ เห็นความเป็นไปได้”
“อย่างแพลตฟอร์ม BKKDW ที่ผ่านมา เราก็มองว่าช่วยกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง เช่น โปรเจ็กต์ป้ายรถเมล์ของ MAYDAY หรือการใช้พื้นที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยถูกใช้ก็เป็นการทดลองผ่านเทศกาลนี้ ตอนนี้ กทม.ก็เริ่มมองเห็นประโยชน์ของการจัดนิทรรศการ อยู่ที่การผลักดันหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเทศกาลตามหลักการวิชาการ เป็นกลยุทธ์หนึ่งของการสร้างเมืองสร้างสรรค์ มันคือการรวมแพลตฟอร์มของผู้คน เหมือนการรียูเนียนของผู้คนให้มาทำงาน แลกเปลี่ยนความคิดกัน ได้รวมคนสร้างสรรค์ ผลักดันผลงานสร้างสรรค์ เชิดชูสินทรัพย์ที่อยู่ในย่านนั้นๆ ด้วย”
เป้าหมายของ Urban Ally
“เราตั้งศูนย์นี้มาเป็นเวลาสามปี ได้จัดเทศกาลในหลายๆ ครั้ง เราเริ่มมองว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำอยู่ยั่งยืนขึ้น กระบวนการตอนนี้มันเริ่มจากการวางกลยุทธ์มากขึ้น นำเอากระบวนการทาง urban design มาจับให้มากขึ้น มีการวางผังแม่บท ซึ่งการทำเทศกาลที่เราทำอยู่นี้ก็มาจากแผนพัฒนาทั้ง 26 ย่าน โดยเราหยิบมาเพียงบางพื้นที่มาทดลองทำช่วงเทศกาล แล้วดูผลตอบรับ เพื่อนำไปพัฒนาแผนต่อไป เพราะฉะนั้นต้องมีแผนระยะยาวของพื้นที่นั้นๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างที่เราทำยั่งยืนขึ้นนั่นเอง”
AUTHOR: เฟี้ยต-นวภัทร ดัสดุลย์, พริม-บราลี พงศ์พินทุกาญจน์
PHOTOGRAPHER: โก๋-สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, เฟี้ยต-นวภัทร ดัสดุลย์, แพรวา-กรานต์ชนก บุญบำรุง