“ไม่มีอะไรเหมือนเดิม”
วิทยา มงคลงาม อดีตชาวประมงพื้นบ้านวัยกลางคนแห่งลุ่มน้ำสงคราม บ้านปากยาม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม หนึ่งในแม่น้ำสาขาของ แม่น้ำโขง เล่าว่า เขาเริ่มเรียนรู้และออกจับปลาด้วยเครื่องมือประมงพื้นบ้านอย่างตาข่ายหรือโต่งมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษา

ทุกเช้าเขาจับปลาได้หลากหลายชนิด พอเข้าฤดู หนาว น้ำสงครามเริ่มไหลลงโขงเขาจับปลาได้เกือบเต็มลำเรือ แม่ของวิทยาจะคัดแยกปลาหนังราคาสูงออกไปขาย ส่วนปลาเกล็ดปลาเล็กปลาน้อยจะถูกนำไปหมักเป็นปลาร้า จนกลายเป็นอาชีพและเป็นอุตสาหกรรมทำปลาร้าที่ใหญ่ที่สุดของหมู่บ้าน โดยมีไหหมักปลาขนาดใหญ่เท่าตุ่มใส่น้ำมากกว่า 200 ใบ รายได้จากอาชีพดังกล่าว สามารถเลี้ยงดูครอบครัวและญาติพี่น้องได้ไม่มีขัดสน
แต่น่าเสียดายที่วิมานปลาร้าของครอบครัวประมงลุ่มน้ำสงครามช่างแสนสั้นเพียงชั่วรุ่นเมื่อปลาที่เคยมีเริ่มหายไป
“ราว 25 เปอร์เซนต์” วิทยา ประเมินปริมาณปลาที่เหลืออยู่ในลุ่มน้ำสงครามในช่วง 5 – 7 ปีที่ผ่านมา

ในราวเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายนช่วงฤดูน้ำโขงเท้อหนุนน้ำสงครามเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ป่าบุ่งทาม ฝูงปลาจำนวนมากจากแม่น้ำโขงอพยพเข้าสู่แม่น้ำสายย่อยเพื่อวางไข่ ลูกปลาจะถูกฝูมฟักในอ้อมกอดของบุ่งทามที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ริมน้ำราว 3-4 เดือน ก่อนที่น้ำจะเริ่มลดระดับ และลูกปลาที่แข็งแรงเพียงพอจะอพยพลงสู่แม่น้ำโขงเมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน
แต่ระบบการขึ้นลงของน้ำปีละหลายรอบ จากการเปิดปิดน้ำของเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่สร้างเสร็จแล้ว 12 เขื่อนในจีน และใน สปป.ลาว อีก 2 เขื่อน ทำให้ลูกปลาที่ยังเล็กเกินไปต้องอพยพลงโขงก่อนวัยอันควร เป็นผลให้จำนวนปลาลดลงอย่างรวดเร็วในที่สุด อดีตพรานปลาตั้งข้อสังเกต
หลังจับปลาได้แค่พอกิน วิทยา แม่ และครอบครัวต้องทิ้งอาชีพจับปลาและกิจการปลาร้า หันหน้าเข้าไปหางานทำที่กรุงเทพ ไหปลาร้าทรงก้นสอบแบบฉบับของลุ่มแม่น้ำโขงของไทยถูกปลดระวาง และทยอยขายออกไปเป็นสินค้าตกแต่งบ้าน..
“รอบนี้ข้อยสิยกให้เจ้าเด้อ”
ในวันที่คลื่นความร้อนบุกทะลวงประเทศสยาม นายหัว คำใส เกษตรกรวัยห้าสิบต้น ๆ แห่งอำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ ใช้ช่วงว่างเว้นจากงานไร่งานนา ขับเรือฝ่าไอร้อนออกไหลอวนจับปลาในแม่น้ำโขง ตะโกนแข่งเสียงเครื่องยนต์เรือที่กำลังครางลั่นลำโขง


ในวันที่คนลุ่มน้ำสาขาและคนสองฝั่งโขงกำลังเข้าสู่ความตกต่ำในอาชีพ คนหาปลากลางลำน้ำโขงอย่างนายหัวกลายเป็นคนเดียวที่กำลังเผชิญปัญหาปลาล้นลำเรือ
“เจ้าเอาไปปลดเอง ข้อยขี้คร้านปลดแล้ว”
หลังออกเรือปล่อยตาข่ายไหลไปในแม่น้ำโขงที่ใสจนดูไร้ตะกอนอย่างผิดปกติมาแล้ว 5 – 6 ปีเพียง 3 รอบนับแต่ช่วงสาย นายหัวและครอบครัวต้องเรียกระดมทีมงานเกือบ 10 คนมาช่วยกันปลดปลาปากออกจากอวนมือเป็นระวิงบนแพปลาริมฝั่ง

หลังน้ำโขงใสขึ้น ตะกอนทรายเริ่มหายไปจนสังเกตได้ หาดทรายใต้ท้องน้ำยาวเหยียดกลายเป็นหาดหินกรวดไปในหลายพื้นที่ หาดหินกลายเป็นที่ยึดเกาะ แหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ของหอยแมลงภู่เล็กจำนวนมาก และพวกมันกำลังสร้างปัญหาหนักอกให้คนหาปลาในแม่น้ำโขง
การระบาดของหอยและสาหร่ายน้ำจืดที่แพร่ขยายพันธุ์ได้ดีในน้ำโขงที่ใสผิดปกติจะพันติดอวนจนทำให้คนจับปลาต้องกลับบ้านมือเปล่า รอบแล้วรอบเล่าจนชาวประมงแม่น้ำโขงจำนวนมากจำใจจอดเรือและหันไปหางานอื่นที่ดีกว่า
เว้นไว้แค่นายหัวเพียงคนเดียว ที่เป็นตัวแทนคนหาปลา ที่คิดแก้ปัญหาหอยติดพันอวนได้ในขณะนี้ด้วยการคิดวิธีติดตะกั่วถ่วงตาข่ายแบบใหม่ ให้ตาข่ายสามารถหลบหลีกไม่เกี่ยวติดหอยที่เกาะกันเป็นกลุ่มตามกรวดหินก้อนเล็กก้อนน้อยใต้ท้องน้ำ

ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงหลังการปล่อยอวนไหลไปตามสายน้ำโขง นายหัวก็เริ่มสาวอวนที่เต็มไปด้วยปลาปากขนาดฝ่ามือเล็ก ๆ รวมเกือบร้อยกิโลกรัมขึ้นบนเรือและนำกลับเข้าฝั่ง 2 ชั่วโมงหลังจากนั้นคือการระดมคนนับสิบมาช่วยกันปลดปลาจากตาข่ายให้เสร็จก่อนที่ปลาปากมูลค่า 3 กิโลกรัม 100 บาทจะทยอยส่งกลิ่นเน่าคาอวน
“ปลาแข้ ปลาคัง หายากแล้ว ปลาเกล็ดพอหาได้ ” นายหัวสะท้อนสถานการณ์ที่ปลาในกลุ่มปลาหนังในแม่น้ำโขงที่ราคาสูงกว่าหลายเท่าตัวค่อยๆลดจำนวนลงไปมากในช่วงไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ต่างจากคำบอกเล่าของคนหาปลาตลอดสองฝั่งโขงที่จับปลาได้น้อย ไม่คุ้มค่าออกเรือ จนต้องเปลี่ยนแนวทางทำมาหากิน
กลางเดือนกันยายน ที่กัมปงเคลียง ชุมชนชาวประมงในโตนเลสาบที่สร้างบ้านเรือนเสาสูงกว่าสิบเมตรเพื่ออยู่อาศัยกับน้ำในฤดูน้ำเอ่อท่วม คือช่วงเวลาที่น้ำในโตนเลสาบควรจะเริ่มเอ่อสูง และแผ่ขยายออกไปกว้างไกลครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 15,000 ตารางกิโลเมตร คนประมงควรได้ออกเรือจับปลาแล้วในช่วงนี้ แต่ราว 10 ปีต่อเนื่องมาจนวันนี้ ที่น้ำจากแม่น้ำโขงไม่เอ่อเข้ามาที่โตนเลสาบ ปรากฎการณ์นี้รุนแรงมากขึ้นไปอีกในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา คนในชุมชนประมงยืนยันสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ “น้ำตื้นเกินไป เอาเรือออกไปไม่ได้”
ชีวะมณฑลอันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งขยายพันธุ์ วางไข่ อนุบาลลูกปลาและแหล่งอาหารโปรตีนของคนมากกว่า 60 ล้านคนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังเผชิญปัญหาใหญ่เกินคาดเดา
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็อาจจะใช่ แต่เขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนกักน้ำเอาไว้ คือสิ่งที่เราไม่อยากจะพูดถึง” ชาวบ้านในโตนเลสาบลงความเห็นไปในทางเดียวกัน

แม้ว่าที่ผ่านมาตัวเลขยอดปริมาณปลามากกว่า 300,000 ตันต่อปีที่จับขึ้นมาจากโตนเลสาบและส่งไปขายทั้งในกัมพูชา เวียดนาม ลาว และไทย คือฉากทัศน์ความอุดมสมบูรณ์และสะท้อนภาพหลังบ้านของอาณาจักรเขมรโบราณอันรุ่มรวยได้ดีที่สุด
ทว่าในช่วงสายของวัน บนเรือนำเที่ยวที่กำลังมุ่งหน้าไปตามลำคลองออกสู่โตนเลสาบอันเป็นเมืองหลวงของปลาแห่งลุ่มน้ำโขง ลี จอง ปรี ประธานเครือข่ายชาวประมงขนาดเล็กแห่งนิคมกำปงเคลียง ประมาณการตัวเลขของปลาและรายได้จากการออกจับปลาในโตนเลสาบที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมาว่า
“เหลือน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ครับ” ลี จอง ปรี ยืนยัน ขณะที่ครอบครัวคนหาปลาบางส่วนเริ่มหันไปบุกเบิกโค่นป่าชุ่มน้ำในโตนเลสาบ จับจองที่ดินสันดอนที่โผล่มาใหม่เอี่ยมอ่อง เพื่อเพาะปลูกข้าวโพดและถั่วลิสง คนหนุ่มสาวจากครอบครัวประมงต่างพากันโยกย้ายไปเป็นแรงงานในตัวเมืองหวังสร้างอนาคตใหม่ที่ดีกว่า
สายลมแรงพัดแผ่นน้ำสีโคลนเป็นระลอกใต้ท้องฟ้าหลัว “ได้ไกลแค่นี้ครับ” คนเรือแจ้งลูกเรือทุกคนพร้อมหันหัวกลับก่อนที่เรือจะถลำเข้าไปติดสันดอน

ฉากทัศน์ใหม่ของผู้คนในโตนเลสาบดูไม่ต่างจากผู้คนตลอดลุ่มน้ำโขง ในวันที่โครงการเขื่อนหลวงพระบางที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ณ ตอนนี้ โดยจะมีเขื่อนภูงอย เขื่อนปากแปง และอีกมากกว่า 4 โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่กำลังจะตามมาขวางกั้นแม่น้ำโขงตลอดทั้งสายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโดยการลงทุนจากกลุ่มทุนพลังงานของไทยเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสีย
ถึงวันนี้ ในวันที่มีการเซ็นต์สัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยที่ยังไม่มีการก่อสร้างใดๆ ในวันที่ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นระบบที่ร้อยละ 40 – 60 และคนไทยถูกบังคับให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจเป็นวันเดียวกันกับที่ระบบนิเวศของแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดสายหนึ่งกำลังพังย่อยยับลงในช่วงชีวิตของเรา

เรื่อง: เริงฤทธิ์ คงเมือง
ภาพ: MAEW/Roengrit Kongmuang