Type and press Enter.

KASHMIR GREAT LAKES

ปาลิตา ศรีรักษ์

‘Kashmir Great Lakes: ไปด้วยความไม่รู้กับใจที่ยังคิดถึงหิมาลัย’ ชุดภาพถ่ายบางส่วนจากทั้งหมด 36 รูป ที่บันทึกด้วยกล้องฟิล์มโดยไม่ผ่านการตกแต่งใด ๆ ของ ‘ดิว – ปาลิตา ศรีรักษ์ ‘

ดิว – ปาลิตา ศรีรักษ์ อินทีเรียดีไซเนอร์ และนักเดินทาง ผู้มีความชอบในการถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก ได้บอกเล่าประสบการณ์ผ่านรูปภาพที่บันทึกไว้มากมาย พร้อมเล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์ในภาพนั้น ๆ

ปาลิตา ศรีรักษ์

“หลังกลับมาจากเลห์ ภาพภูเขาธารน้ำแข็งยังวนเวียนอยู่ในหัวตลอดเวลา จนมาเจอทริปที่เขาจะไป trekking ที่แคชเมียร์ รู้แค่จะเจอหิมาลัยอีกครั้ง ก็ตกลงปลงใจไปแบบไม่รู้ข้อมูลใด ๆ”

ปาลิตา ศรีรักษ์

“แคชเมียร์คือที่ไหน? แคชเมียร์ก็อยู่ใกล้ ๆ กับเลห์ ทางเหนือของอินเดีย ติดกับชายแดนปากีสถาน เป็นเขตพื้นที่สีแดง สูงจากระดับน้ำทะเล 13,750 Ft. ซึ่งการไปครั้งนี้มีความท้าทายที่เพิ่มขึ้นมา คือต้องเดินเท้าตลอดระยะทางประมาณร้อยกว่ากิโลเมตร นอนเต็นท์ทุกวันไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นแบบไหน และไม่มีสัญญาณติดต่อใด ๆ ในใจก็คิดว่าใกล้ ๆเลห์ ผ่านเลห์มาแล้วแค่นี้สบายมาก”

“Kashmir Great Lakes เป็นเส้นทางที่เราจะเจอทะเลสาบ 7 แห่ง โดยการเดินเท้า ไปครั้งนี้เราเตรียมกล้องไปทั้งหมด3 ตัว DSLR / กล้องฟิล์ม SLR / กล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้ง ใช่แล้ว ทริปนี้สิ่งเดียวที่เราเตรียมตัวดีที่สุดคือกล้อง”

ปาลิตา ศรีรักษ์

“วันแรกหลังจากลงเครื่องก็นั่งรถต่อไปจุดเริ่มต้นแคมป์ที่ Sonamarg ตั้งแต่แคมป์แรกที่ยังไม่เริ่มเดิน ภาพภูเขา ธารน้ำแข็งไกล ๆ ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เจอ แต่เรากลับหยิบกล้องถ่ายภาพไม่เบื่อเลย”

“เช้าวันรุ่งขึ้นเราออกเดินจากแคมป์แรกไปแคมป์ที่สอง ยิ่งเดินสูงขึ้นภาพธารน้ำแข็งก็ใกล้ตัวมากขึ้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป แปรปรวนมากขึ้น ทำให้เราต้องใช้แค่กล้องฟิล์มในการเก็บภาพ”

“แม้จะดูเหมือนไฟล์ทบังคับ แต่เราก็ชอบถ่ายภาพฟิล์มอยู่แล้ว การเดินทางที่เจอทั้งพายุลูกเห็บ สภาพอากาศที่หนาวจัด แต่ไม่สามารถลบภาพความสวยที่อยู่ตรงหน้าได้เลย”

“เราเดินรั้งท้ายสุดของกลุ่ม บางครั้งก็หยุดนั่งมองภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าเฉย ๆ โดยไม่ได้ยกกล้องขึ้นมาถ่าย จนบางครั้งก็นึกขึ้นได้ว่าไม่รู้จะมีโอกาสมาอีกไหม ขอเก็บภาพไว้ในแมมโมรี่ที่เรียกว่าภาพถ่ายด้วยละกัน”

“การเดินใน 7 วันของเราในระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตร จนมาถึงแคมป์สุดท้าย ตื่นเช้าไปหาปลากับพ่อครัว โดยเราช่วยพ่อครัวขุดไส้เดือนเป็นเหยื่อ…หาปลา กินข้าวด้วยกัน นั่งมองภูเขา ธารน้ำแข็ง ก่อนที่จะบอกลาภูเขา ธารน้ำแข็ง ทุ่งหญ้า ความเงียบสงบของธรรมชาติ ก่อนที่จะลงกลับไปในเมืองอีกครั้ง”

ปาลิตา ศรีรักษ์

“วันนั้นมีสิ่งหนึ่งที่โผล่มาในความคิด คือบางครั้งชีวิตไม่ต้องการอะไรมากมายจริง ๆ”

ดิวบอกว่า “เวลามองอะไรจะมองเป็นเฟรมภาพ จะชอบคิดว่ามุมนี้ถ้าเป็นภาพถ่ายจะหน้าตายังไง โดยไม่มีความรู้หรือเทคนิคใด ๆ มีเพียงความรู้สึก จนได้มาเรียนที่สถาปัตยกรรมภายใน ลาดกระบัง”

ปาลิตา ศรีรักษ์

“มีวันหนึ่งน่าจะปี 3 เพื่อนยื่นกล้องฟิล์มให้ช่วยถ่ายภาพ จังหวะที่กดลั่นชัตเตอร์ เสียงของชัตเตอร์ทรงพลังมากจนสุดท้ายได้กล้องฟิล์มเป็นของตัวเองมา ประจวบเหมาะกับที่ภาควิชามีเรียนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งแต่ละปีจะมี field trip ไปเรียนนอกสถานที่ต่าง ๆ ทุกครั้งที่ไปทริปนอกจากได้เรียนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแล้ว อาจารย์จะสอนมุมมองต่าง ๆ visual design / spatial form ไปจนถึงสอนใช้กล้องฟิล์ม”

ปาลิตา ศรีรักษ์

“ด้วยความหลงใหลในกล้องฟิล์มมาก แม้แต่ทีสิสจบยังทำโรงแรมสำหรับคนรักกล้องฟิล์ม สำหรับเรากล้องฟิล์มทำให้การถ่ายภาพเราเปลี่ยน ก่อนถ่ายทุกครั้งจะคิดภาพที่จะได้ไว้ก่อน ตั้งใจในทุกภาพที่กดชัตเตอร์ แม้ในตอนนั้นจะถ่ายจากดิจิตอลก็ตาม และภาพเซ็ตนี้เป็นภาพจากกล้องฟิล์มทั้งหมด ไม่ผ่านการตกแต่งใด ๆ”

ปาลิตา ศรีรักษ์

[ EXPLORER ]
ดิว
Facebook: https://www.facebook.com/dpsphotography35
Instagram : @psphtgraphy | https://www.instagram.com/psphtgraphy/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *