Type and press Enter.

เด่นช้างนอน ความงามบนเส้นทางชัน

หากพูดถึง เด่นช้างนอน นักผจญภัยหลายท่านที่ชื่นชอบการเข้าป่าคงจะนึกถึงความชันก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของเส้นทางทั้งเดินขึ้น และลงชันจนทำให้หลาย ๆ ท่านที่เคยมาเดินรู้สึกท้อไปบ้าง หรือลาดดิ่งจนทำให้ลื่นล้มกันมานักต่อนัก อย่างไรก็ตามเด่นช้างนอนได้กลายเป็นอีกหนึ่งเส้นทางเดินป่าที่หลายคนอยากมาพิสูจน์กำลังขากัน

ผมถูกเชื้อเชิญให้มาเดินเส้นทาง เด่นช้างนอน จังหวัดน่าน นี้ตั้งแต่ช่วงปีก่อน แต่ด้วยติดภารกิจส่วนตัวหลาย ๆ อย่าง ปีนี้มีโอกาสได้มาร่วมเดินในเส้นทางดังกล่าวร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยาน และชาวบ้าน ซึ่งเป็นทีมรัฐวิสาหกิจท้องถิ่น เพื่อสำรวจ เก็บข้อมูล และปรับปรุงเส้นทางก่อนเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเดินป่ากันในช่วงปลายเดือนกันยายน

เด่นช้างนอน
ชันแบบไม่หยุดหย่อน
เด่นช้างนอน
เขียวชอุ่ม สดชื่น กับป่าฤดูฝน

การเดินป่าในครั้งนี้เป็นการเดินในช่วงหน้าฝน ซึ่งช่วงที่มามีพายุเข้าพอดี ทำให้การเดินป่าในครั้งนี้เส้นทางอาบไปด้วยโคลน ประกอบกับสายน้ำของฝนที่ไหลลงมาตามทางเดิน เส้นทางจึงลื่นมากเป็นพิเศษ แต่ถึงอย่างนั้นการเดินในช่วงที่มีฝนมากแบบนี้ก็ทำให้เจอประสบการณ์ และเสน่ห์ของธรรมชาติ ทั้งความเขียวขจีของผืนป่า สายน้ำที่ไหลสร้างความชุ่มฉ่ำ หรือไอหมอกจากสายฝนที่ปกคลุมไปทั่ว เด่นช้างนอน มีระยะทาง 18 กิโลเมตร แบ่งการเดินออกเป็น 3 วัน

เด่นช้างนอน
ดอกไม้ริมทาง
เด่นช้างนอน
พืชพันธุ์บางชนิดอาจสะท้อนความสมบูรณ์ของป่า

‘วันแรก’

ทางจะชันและเดินขึ้นเป็นหลัก เพื่อไปนอน ที่แคมป์ด้านบน จุดเริ่มเดินจะอยู่ที่ฝายน้ำย่าง บริเวณทางเข้าน้ำตกศิลาเพชร เดินข้ามฝางไป หลังตัดเข้าป่าทางจะเริ่มชันไปจนถึงแคมป์ ซึ่งแคมป์นี้ไม่มีแหล่งน้ำใครที่มาควรเตรียมน้ำไว้สำรองให้เพียงพอ มิเช่นนั้นอาจต้องลงไปตักน้ำที่ด้านล่างซึ่งใช้เวลานานกว่าจะกลับมาถึง โดยแคมป์วันแรกนี้จะแบ่งย่อยเป็น 3 จุด หากใครต้องการดูวิวทิวทัศน์แนะนำจุดที่ 3 เมื่อตื่นมาหากโชคดีอาจจะเจอทะเลหมอกรออยู่ด้านหน้า แต่ใครที่กลัวความหนาวเย็นแนะนำพักจุดที่ 1-2 เนื่องจากฝนตกหนักผมเลยตัดสินใจพักที่จุด 2 เพื่อหลบลมฝน โดยช่วงเย็นพบประสบการณ์แปลกใหม่ปนสยองเนื่องจากเพื่อนที่มาด้วยกันถูกทากเข้าไปในตา จึงต้องช่วยกันหาวิธีเอาทากออก ต้องขอบคุณหลาย ๆ คนที่เสนอแนะวิธีกันจนนำทากออกมาได้อย่างปลอดภัย หลังมื้อเย็นทุกคนต่างแยกย้ายเข้านอนเพื่อหนีความหนาวเย็น เช้าวันถัดมาฝนยังโปรยปรายลงมาเป็นระยะ ทำให้รอบ ๆ แคมป์มีเพียงไอหมอกขาวจากฝน

เด่นช้างนอน
เส้นทางช่วงเปิดฤดูกาลยังคงสดดิบ

เด่นช้างนอน
ณ จุดแคมป์
เด่นช้างนอน
เวลาที่หมอกหนา

‘วันที่สอง’

ช่วงแรกจะเป็นทางค่อนข้างราบ อาจมีสลับเดินขึ้นลงบ้างเล็กน้อย ในวันนี้ควรเดินอย่างระมัดระวัง เนื่องจากต้องเดินบนสันเขาที่มีความแคบ บางช่วงเป็นสันคมมีด (หน้าผาทั้ง 2 ข้างของทางเดิน) หรือบางช่วงเป็นสะพานไม้ข้ามหน้าผา แต่การเดินแบบนี้ก็ทำให้ได้เห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามจากทั้ง 2 ฝั่ง ที่มีความงดงามของทิวเขา หรือวิวมุมสูงเห็นหลาย ๆ หมู่บ้านด้านล่าง โดยในวันนี้จุดไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดเก็บภาพคือก่อนถึงจุดพักที่ 1 เมื่อหันกลับไปจะพบกับวิวเขาสวยงามที่เราเดินข้ามมา โชคดีที่ช่วงนี้ฟ้าเป็นใจให้เราได้มองเห็นและเก็บภาพกันอยู่สักพัก และที่จุดพักแรกจะมีทางแยกไปยังจุดสูงสุดของเส้นทางเด่นช้างนอน เรียกว่า “ยอด 1900” เหมาะกับสายลุย สายพิชิตที่อยากเดินขึ้นไปจุดสูงสุดของเส้นทาง เนื่องจากทางรัฐวิสาหกิจต้องเคลียร์พื้นที่หลักก่อนทำให้ครั้งนี้ยังไม่ได้เดินขึ้นไปบริเวณยอด 1900 กัน ส่วนเส้นทางที่เหลือเพื่อไปยังแคมป์วันนี้ค่อนข้างจะเป็นทางดิ่งลงเป็นส่วนใหญ่ อาจทำให้ใครหลาย ๆ คนลื่นล้มได้ จึงควรหาจุดจับ หรือจุดยืน เพื่อเดินลงไปให้มั่นคง ที่แคมป์วันนี้จะมีธารน้ำไหล สามารถใช้ดื่ม ประกอบอาหาร หรือจะเล่นน้ำอาบน้ำให้สบายตัวกันก็ได้

เด่นช้างนอน
ในช่วงฤดูฝนฟืนอาจชื้นบ้าง
เด่นช้างนอน
น้ำท่ามาเต็ม
เด่นช้างนอน
ดัชนีชี้วัดความชุ่มชื้น

‘วันที่สาม’

ของเส้นทางจะเป็นการเดินดิ่งลงไปยังจุดที่เราเริ่มเดิน โดยช่วงป่าไผ่จะเป็นช่วงที่ชันที่สุดของวันนี้ หลังผ่านป่าไผ่จะถึงจุดที่มีธารน้ำไหลมาจากน้ำตกแนะนำให้หยุดพัก เก็บบรรยากาศกันก่อนจะเดินต่อ เพราะทางเดินต่อไปของข้างจะเป็นป่าทึบและบรรจบกับเส้นทางเดิมที่เราเดินขึ้นมา ในส่วนของวันที่ 2-3 เนื่องจากเพื่อนร่วมทีมบางคนต้องรีบกลับก่อน ผมที่เป็นคนชวนมาจึงเดินกลับด้วยพร้อมกัน ทำให้การเดินค่อนข้างยาวนาน แต่โชคดีที่เราลงกันมาถึงด้านล่างก่อนฟ้าจะมืด

เด่นช้างนอน
บางเวลาก็ฟ้าเคลีย บางเวลาฟ้าเต็มไปด้วยหมอก
เด่นช้างนอน
เขียวไปทั้งภู

ประสบการณ์ในรอบนี้ที่ได้มาเดินกับทั้งเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจ ทำให้เห็นความตั้งใจของชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้น ทั้งการจัดเก็บขยะออกจากพื้นที่ การทำทางเดินไม่ให้รกทึบ การทำราวจับ สะพานข้ามหน้าผา ตลอดจนจุดนั่งพัก และจุดแคมป์ ข้อดีของการมีรัฐวิสาหกิจคือการกระจายรายได้ให้ชุมชน ทั้งจากการที่นักท่องเที่ยวสมัครเข้ามาเดินป่า หรือจ้างลูกหาบ และชาวบ้านในระแวกยังได้รับรายได้จากที่พัก การขายข้าวของ น้ำดื่ม หรือของฝากอีกด้วย นอกจากนั้นผืนป่ายังได้รับประโยชน์จากการถูกบุกรุกลักลอบเข้าพื้นที่มาหาของป่าที่ลดลง เพราะกลุ่มรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นคนในพื้นที่จะช่วยกันดูแลรักษาป่าให้คงความงดงาม เพื่ออยากให้นักท่องเที่ยวประทับใจจนอยากกลับมา หรือชวนคนรู้จักมาท่องเที่ยวกันอีก และนี่คงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้คนและป่าอยู่คู่กันไปได้อย่างยั่งยืน

หากคุณสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของโรงเรียนนักเดินป่าสามารถติดตามได้ที่
The Outdoor Education – ร่วมสร้างวัฒนธรรมการเดินป่าที่ดี (nationalparkoutdoor-edu.com)
และสามารถติดตามข่าวสารของโรงเรียนนักเดินป่าทุกสาขาได้ที่ FACEBOOK : โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education 

EXPLORER / PHOTOGRAPHER / AUTHOR : นุ๊ก – ณัฐพล ขำอิง
GRAPHIC DESIGNER : ตูน – เรืองเพชร เวชวิทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *